http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (26 มกราคม 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสถานและตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาต
ขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงขุมทองเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
9. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพรายปี พ.ศ. ....
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
12. เรื่อง รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เพื่อเร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
13. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
14. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 (เพิ่มเติม)
15. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต
16. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน
17. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 และวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
18. เรื่อง การกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
19. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
20. เรื่อง สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และปี 2563
21. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2563
22. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลที่มีระยะเวลาการชำระหนี้เกิน 12 เดือน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
23. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
24. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2563
25. เรื่อง โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน (พ.ศ. 2564 – 2565)
26. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
27. เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 ระลอกใหม่และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก
28. เรื่อง มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปี 2564
29. เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
30. เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens)
31. เรื่อง การเตรียมการด้านงบประมาณสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย ปี 2565
32. เรื่อง การรับรองแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ (The Sub – Regional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Security) ครั้งที่ 3
33. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
34. เรื่อง ผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
35. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม และรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม
36. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
37. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
40. เรื่อง ผลการสรรหากรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
41. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เพิ่ม 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี ให้มีผลบังคับใช้ตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 (โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรไม่เกิน 75 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 75 คน) และโรงงานจำพวกที่ 3 (โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 75 แรงม้า และมีคนงานมากกว่า 75 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ) ทุกขนาด ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ขยายโรงงาน ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการแจ้งกรณีได้รับยกเว้นการขยายโรงงานหรือกรณีลดหรือเพิ่มเครื่องจักรแต่ไม่เข้าข่ายขยายโรงงาน หรือการเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงานหรือการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มขึ้น และค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามกำหนดเวลาที่ต้องชำระ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
3. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
4. ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเกี่ยวกับการจัดตั้งทุนหมุนเวียน โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. .... ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน โดยปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 และ
ให้โอนบรรดากิจการของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาที่สังกัดกระทรวงการคลัง (กค.) เป็น จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้การบริหารงานเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนให้ครอบคลุมอาหารนักเรียนนอกเหนือจากอาหารกลางวันและให้รวมถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยามคำว่า “กองทุน” “โรงเรียน” “นักเรียน” “อาหาร” “คณะกรรมการ” “ประธานกรรมการ” “ผู้บริหารกองทุน” และ “รัฐมนตรี”
2. กำหนดให้
จัดตั้งกองทุนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียกว่า “ กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์ (1) แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร และส่งเสริมภาวะโภชนาการในโรงเรียน (2) สนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารสำหรับนักเรียนในโรงเรียน (3) ส่งเสริมผลผลิตโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน (4) ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ (5) ส่งเสริมพัฒนาการดำเนินงานกองทุน (6) ประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนและการดำเนินงานของกองทุน
3.
กำหนดให้เงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
4.
กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย (1) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ (2) ผู้แทน กค. ผู้แทนสำนักงบประมาณ (สงป.) ผู้แทน สพฐ. เป็นกรรมการ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ กค. จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ และให้ผู้บริหารกองทุนเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้บริหารกองทุนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทุนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ไม่เกิน 2 คน
5.
กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน (2) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้บริหารกองทุนและพนักงานโดยความเห็นชอบของ กค. (3) พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณรายรับและรายจ่ายประจำปีและแผนการดำเนินงานของกองทุน (4) พิจารณาจัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนตามระดับอายุของนักเรียนโดยคำนึงถึงเด็กเล็กและพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม ฯลฯ
6. กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ภาระผูกพัน พนักงาน และลูกจ้างของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 ไปเป็นของกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียนตามพระราชบัญญัตินี้
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยเป็นการกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้าและให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาล องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้
1.
กำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินคดี แต่ทั้งนี้จะให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินการโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ ไม่ว่าทางใด
2. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีระบบติดตามตรวจสอบหรือแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบโดยจะต้องเป็นระบบที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
3.
กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และให้ผู้รับผิดชอบดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน และแจ้งผลการตรวจสอบ รวมทั้งเหตุแห่งความล่าช้าไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง
4.
กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติระยะเวลาของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในกรอบระยะเวลา พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนทราบทุกปี
5.
กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ว่าเป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม ตลอดจนวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรให้มีมาตรการเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานโดยเร็ว ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสถาน และตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสถาน และตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. กรมทางหลวงมีความจำเป็นต้องสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของ ในท้องที่ตำบลสถาน และตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมสาย R3E ระหว่างประเทศที่สำคัญจากสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายังประเทศไทย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จึงเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยว เป็นเหตุให้ทางหลวงแผ่นดินหมาย 1020 และ 1290 มีการจราจรหนาแน่นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกและไม่ปลอดภัยในการเดินทาง
2. การสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการสร้างทางหลวงแผ่นดินสายดังกล่าวโดยการเวนคืน ฉะนั้น เพื่อให้การสร้างทางหลวงแผ่นดินสายดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้มีมาตรฐานเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด
3. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของ มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0+00.000 – กม.9+103.567 รวมระยะทาง 9.103 กิโลเมตร วงเงินการก่อสร้าง 1,100,000,000 บาท มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย ที่ดินประมาณ 180 แปลง สิ่งปลูกสร้างประมาณ 103 ราย และต้นไม้ยืนต้นประมาณ 108 ราย ค่าทดแทนและค่าเสียหายอื่น ๆ และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด รวมค่าทดแทนในการเวนคืนรวมเป็นเงินประมาณ 167,670,000 บาท
4. สำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นว่า กรมทางหลวงจะดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดของปริมาณการจราจร และรองรับการเดินทางไปยังสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านแดนและขนส่งสินค้าที่สำคัญระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนโครงข่ายทางหลวงอาเซียนหมายเลข 3 ไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมืองคุณหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 133,047,700 บาท โดยกรมทางหลวงมีแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเบิกจ่ายค่าทดแทนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2567 ซึ่ง สงป. จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว
5. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
6. คค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของ ตามแบบฟอร์มที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วยรายละเอียดโครงการ แผนบริหารจัดการประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสถาน และตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสถาน และตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1423 สายเลี่ยงเมืองเชียงของ
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป รวมทั้งรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1.
วันใช้บังคับ กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้ ส.อ.ท. มีระยะเวลาเตรียมความพร้อม เช่น การออกกฎหมายลำดับรอง
2.
บทนิยาม แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “อุตสาหกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยครอบคลุมถึงการประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
3.
วัตถุประสงค์ของ ส.อ.ท. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ ส.อ.ท. เพื่อให้ครอบคลุมการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มิใช่เฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้น
4.
การเรียกชื่อกลุ่มสมาชิกของ ส.อ.ท. แก้ไขเพิ่มเติมการเรียกชื่อสมาชิกของ ส.อ.ท. โดยกำหนดให้ ส.อ.ท. อาจจัดให้สมาชิกที่ประกอบอุตสาหกรรมหรือส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ เรียกว่า “กลุ่มอุตสาหกรรม” และอาจจัดให้สมาชิกที่ประกอบอุตสาหกรรมหรือส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมในเขตท้องที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันอยู่ในกลุ่มสมาชิกเดียวกันได้ เรียกว่า “สภาอุตสาหกรรมจังหวัด”
5.
องค์ประกอบคณะกรรมการ ส.อ.ท. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการ ส.อ.ท. โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ส.อ.ท. มีจำนวนไม่เกิน 251 คน (เดิมกำหนดไว้ในข้อบังคับ ส.อ.ท.)
6.
การได้มาซึ่งประธาน ส.อ.ท. และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งประธาน ส.อ.ท. แต่งตั้ง แก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งประธาน ส.อ.ท. โดยกำหนดให้ประธาน ส.อ.ท. อาจมาจากผู้แทนสมาชิกสามัญซึ่งมาจากการเลือกตั้งของกรรมการประเภทเลือกตั้ง หรือมาจากการเลือกกันเองของกรรมการประเภทเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ประธาน ส.อ.ท. ต้องเคยดำรงตำแหน่งกรรมการ ส.อ.ท. ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม หรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสองวาระและต้องเป็นกรณีที่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระด้วย และกำหนดหลักการเพิ่มเติมให้ประธาน ส.อ.ท. มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่ง เช่น รองประธาน เลขาธิการ เหรัญญิก และนายทะเบียน
7.
วาระการดำรงตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมให้การนับวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ส.อ.ท. เริ่มนับเมื่อคณะกรรมการมีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
8.
เหตุพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ส.อ.ท. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระบุเหตุการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ส.อ.ท. ต้องเป็นกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ ส.อ.ท. มีมติให้ออก เช่น เหตุบกพร่องต่อหน้าที่
9.
การพ้นจากตำแหน่งของประธาน ส.อ.ท. แก้ไขเหตุในการพ้นจากตำแหน่งของประธาน ส.อ.ท. โดยกำหนดให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อกรรมการประเภทเลือกตั้งมีมติให้ออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่
10.
การพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งที่ประธาน ส.อ.ท. แต่งตั้ง เพิ่มเหตุการพ้นจากตำแหน่ง เช่น รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก ที่ประธาน ส.อ.ท. แต่งตั้ง ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อประธาน ส.อ.ท. พ้นจากตำแหน่ง
11.
การแต่งตั้งประธานกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในกรณีที่ประธานพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ กำหนดให้มีกระบวนการในการแต่งตั้งประธาน ส.อ.ท. ขึ้นใหม่แทนประธาน ส.อ.ท. ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระหรือถูกกรรมการประเภทเลือกตั้งมีมติให้ออกจากตำแหน่ง
12.
การพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการทั้งคณะ แก้ไขเพิ่มเติมให้ในกรณีกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง นอกจากพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยให้ประธาน ส.อ.ท. กรรมการ และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่ประธาน ส.อ.ท. แต่งตั้งยังคงรักษาการในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการของ ส.อ.ท. ต่อไปเท่าที่จำเป็นจนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่
13.
การกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ แก้ไขเพิ่มเติมขั้นตอนการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ส.อ.ท. ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ส.อ.ท. ก่อน และการกำหนดหรือแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้วจึงให้ใช้บังคับได้
14.
ผู้รักษาการแทนประธาน ส.อ.ท. กำหนดให้กรรมการประเภทเลือกตั้งที่มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้รักษาการแทนประธาน ส.อ.ท. และกำหนดให้มีผู้รักษาการแทนประธาน ส.อ.ท. โดยมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับประธาน ส.อ.ท. ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.
15.
การแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้คณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลจากสมาชิกสามัญของ ส.อ.ท. เป็นคณะกรรมการชั่วคราวในวันเดียวกันกับวันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง และจะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราว
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดนิยามคำว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” “เมืองเก่า” “คณะกรรมการ”
2.
กำหนดให้เพิ่มพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์)
เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยาย บริเวณที่ 4 พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก
3.
กำหนดให้มีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 2 คน
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีแผนการยกระดับการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ให้เป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์เพื่อให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) ของหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบครบวงจรที่ biz.govchannel.go.th โดยไม่จำเป็นต้องไปติดต่อที่หน่วยงานราชการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลในการลดภาระด้านเอกสาร และสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานด้วยตนเองได้ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 เมษายน 2562 เห็นชอบในหลักการการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล โดยอาจพิจารณาให้มีการนำร่องดำเนินการในภารกิจของหน่วยงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเป็นสำคัญก่อน ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องออก/ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวก็ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) สำนักงาน ก.พ.ร. จึงขอให้กรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ เป็นหน่วยงานนำร่องในการดำเนินการออกใบอนุญาตดังกล่าวผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
2. กค. พิจารณาแล้ว เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ เพื่อกำหนดช่องทางการดำเนินการเพิ่มเติมทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการขออนุญาตและการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ให้สอดคล้องตามแผนการยกระดับการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา พ.ศ. 2560 ดังนี้
1.1 กำหนดเพิ่มช่องทางการดำเนินการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ยื่นคำขอกับเจ้าพนักงานสรรพสามิตในการแจ้งผลการตรวจสอบคำขอ การแก้ไขเพิ่มเติมคำขอ การส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งการแจ้งผลการพิจารณาคำขอ ให้มีการแจ้งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ยื่นคำขอทราบ
1.2 กำหนดวิธีการแจ้งการอนุญาตและวิธีการรับใบอนุญาตของผู้ยื่นคำขออนุญาตให้เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งภายหลังกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ กรมสรรพสามิตจะมีการกำหนดให้สามารถแจ้งการอนุญาตและรับใบอนุญาตผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
2.
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ พ.ศ. 2560 ดังนี้
2.1 กำหนดเพิ่มช่องทางการดำเนินการสำหรับการยื่นคำขอ ได้แก่ สถานที่อื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
2.2 กำหนดเพิ่มช่องทางการดำเนินการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ยื่นคำขอกับเจ้าพนักงานสรรพสามิตในการแจ้งผลการตรวจสอบคำขอ การแก้ไขเพิ่มเติมคำขอ การส่งเอกสาร หรือหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงการแจ้งผลการพิจารณาคำขอ ให้มีการแจ้งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ยื่นคำขอทราบ
2.3 กรณีการขอต่ออายุของใบอนุญาต โดยให้ตัดเรื่องกำหนดเวลาในการยื่นคำขอใบอนุญาตล่วงหน้าเก้าสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการขอต่อใบอนุญาต
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างถนนขุมทอง – ลำต้อยติ่งกับทางหลวงชนบท สป. 1006
เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว
9. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มเติมมาตรการควบคุมอาหารเพื่อควบคุมอาหารตามระดับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบต่อผู้บริโภค เพิ่มหมวดกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร กำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาอาหารกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2.
ยกเลิกบทนิยามคำว่า อาหารควบคุมเฉพาะ ตำรับอาหาร และโรงงาน และ
เพิ่มเติมนิยามคำว่า วัตถุสัมผัสอาหาร เอกสารกำกับอาหาร ข้อความ โฆษณา สถานที่ กระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และอาหาร เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
3.
กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดกลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารควบคุมเฉพาะ อาหารควบคุม และอาหารจดแจ้ง กำหนดอาหารที่ต้องประเมินความปลอดภัย และกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วัตถุสัมผัสอาหาร การจำหน่ายอาหาร การขนส่ง และการโฆษณา
4.
แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอาหารให้สอดคล้องกับการแก้ไขอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดกลุ่มอาหาร และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฉบับอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
5. กำหนดให้สถานที่ผลิตอาหารต้องขอใบอนุญาตผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใบอนุญาตและการขอผ่อนผัน การขอต่อใบอนุญาต
6.
เพิ่มหมวด 2/1 กระบวนการพิจารณาอนุญาต
6.1 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร
6.2 กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
6.3 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร
6.4 กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด
7. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออกต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นให้ผู้อนุญาต และต้องจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดห้ามจำหน่ายอาหารเพื่อการส่งออกในราชอาณาจักร
8.
กำหนดการควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพ แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของอาหารปลอมและอาหารผิดมาตรฐาน และแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเกี่ยวกับการออกคำสั่งเพื่อควบคุมอาหารและประกาศผลให้ประชาชนทราบ
9.
กำหนดมาตรการควบคุมอาหารในแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดให้อาหารเฉพาะต้องขึ้นทะเบียน อาหารควบคุมต้องแจ้งรายการ และอาหารจดแจ้งต้องจดแจ้ง และกำหนดการขอรับใบแทนใบสำคัญของอาหารดังกล่าว รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบสำคัญการจดแจ้ง รวมทั้งกำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาอาหาร กำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณา และกำหนดให้การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารต้องได้รับใบอนุญาต
10.
แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดอาหาร ภาชนะบรรจุ หรือวัตถุสัมผัสอาหารที่มีเหตุสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม อาหารผิดมาตรฐาน หรืออาหารเสื่อมคุณภาพ
11. กำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือดำเนินการสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ รวมทั้งกำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 120 วัน หรือกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิด และมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีผู้รับอนุญาตกระทำความผิดหรือผู้รับอนุญาตได้กระทำความผิดและเคยสั่งพักใช้ใบอนุญาตซึ่งกระทำผิดนั้นอีกภายใน 3 ปี นับแต่ถูกพักใช้ใบอนุญาต
12. กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และ
แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษตามระดับการควบคุมอาหารในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
13.
บทเฉพาะกาล
13.1 กำหนดให้ใบอนุญาตผลิตอาหารที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
13.2 กำหนดให้คำขออนุญาต คำขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร คำขอประเมินเอกสารวิชาการ หรือคำขอใด ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ และหากมีคำขอดังกล่าวแตกต่างไปจากคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้
13.3 กำหนดให้ดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีเป็นระยะเวลาหนึ่งปีแก่ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม โดยกิจการสปาปีละ 1,000 บาท และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ปีละ 500 บาท
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมา สธ. ได้มีประกาศ เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โดยรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึ่งรวมถึงสถานประกอบการนวด สปา ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป แม้ปัจจุบันได้มีข้อกำหนดออกตามในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 10) อนุญาตให้สามารถดำเนินกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากในหลาย ๆ ประเทศยังคงมีการแพร่ระบาด ของโรคดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมีรายได้ลดน้อยลง
2. คณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ในการประชุมครั้งที่ 38 – 9 /2563 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
3. ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี พ.ศ. .... ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ เพื่อเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี ซึ่งผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมีหน้าที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ดังนี้ กิจการสปา ปีละ 1,000 บาท กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ปีละ 500 บาท
4. สธ. ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่า ข้อมูลการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีประเภทกิจการสปา จำนวน 869 ร้าน กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงาม จำนวน 9,918 ร้าน ดังนั้น ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,828,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและลดภาระและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญในการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายนายจ้าง ส่งเงินสมทบอัตราเดิม ร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 46 วรรคสาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงแรงงานจึงเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ให้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินสมทบในบัญชี ก. ท้ายกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563
(2) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของรัฐบาลปรับเป็น ร้อยละ 2.3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ในส่วนของนายจ้างปรับเป็น ร้อยละ 2.7 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนปรับเป็นร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของรัฐบาล ร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
ตามบัญชีอัตราเงินสมทบ บัญชี ก.
12. เรื่อง รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เพื่อ
เร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เพื่อเร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ที่มา
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการสรรหา การสอบคัดเลือก และการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ หรือปฏิบัติงาน
ในหน่วยงานของรัฐเพื่อทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณอายุและอัตราตั้งใหม่ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้
มีการบรรจุแต่งตั้ง แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น
เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงาน ก.พ. ขอรายงานการดำเนินการ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 การเร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ กับเรื่องที่ 2 แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของส่วนราชการ จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
ผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.
เรื่องที่ 1 เรื่อง การเร่งรัดการดำเนินการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
1. แนวทางการเพิ่มโอกาสและช่องทางการสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ประจำปี 2564
สำนักงาน ก.พ. จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ร่วมจัดสอบให้ดำเนินการ
เสร็จสิ้นในช่วงกลางปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการทางสาธารณสุข โดยสำนักงาน ก.พ.
จะเร่งตรวจและประกาศผลสอบภายในเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ได้มีแผนการเพิ่มจำนวนที่นั่งสอบจากปีที่แล้วให้สามารถรองรับจำนวนผู้สมัครสอบในปีนี้ในภาพรวมได้ถึง 847,528 ที่นั่ง (โดยยังไม่นับรวมการจัดสอบภาค ก. พิเศษ ให้แก่ส่วนราชการที่ประสงค์จะเปิดรับสมัครสอบบุคคลเข้ารับราชการโดยไม่ต้องรอผลการสอบภาค ก. ตามความต้องการของส่วนราชการ)
2. แนวทางการเรียกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
สำนักงาน ก.พ. จะเร่งประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ให้เร่งรัดการเรียกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของส่วนราชการต่าง ๆ รวม 29,831 คน จาก 142 บัญชี ที่ส่วนราชการเองสามารถใช้เรียกบรรจุได้ทันทีเมื่อมีอัตราว่าง หรือส่วนราชการอื่นที่มีอัตราว่างในชื่อตำแหน่งเดียวกัน หรือต้องการผู้มีคุณวุฒิอย่างเดียวกันก็สามารถร่วมขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้จากส่วนราชการอื่น เพื่อนำไปพิจารณาประเมินความเหมาะสมและบรรจุผู้สอบผ่านการแข่งขันให้เข้ารับราชการได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดสอบแข่งขันเอง อันจะช่วยลดขั้นตอนการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ขณะนี้มีส่วนราชการที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสอบแข่งขัน จำนวน 35 ส่วนราชการ โดยประกาศจำนวนอัตราว่างที่จะบรรจุ จำนวน 885 อัตรา
3. การสนับสนุนการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการโดยวิธีอื่น นอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขัน
สำนักงาน ก.พ. จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจส่วนราชการถึงช่องทางและวิธีการอื่นที่ส่วนราชการสามารถเลือกใช้เพื่อการพิจารณาบรรจุบุคคลเข้ารับราชการนอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขันข้างต้น อันได้แก่ การบรรจุผู้ได้รับคัดเลือก การบรรจุผู้มีความรู้ความชำนาญงานสูง (Lateral Entry) การรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการ/พนักงานตามกฎหมายอื่น รวมทั้งการบรรจุกรณีพิเศษอื่น ๆ เช่น การบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล คนพิการ ทายาทของข้าราชการพลเรือนสามัญที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือพิการจนต้องออกจากราชการอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นทางเลือกในการสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์
ในงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนภารกิจของส่วนราชการเข้ารับราชการได้ทั้งในระดับแรกบรรจุ หรือสูงกว่าระดับแรกบรรจุ
4. การสำรวจสถานะอัตราว่างของทุกส่วนราชการ
เพื่อให้การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ก.พ. ได้ทำการสำรวจสภาพการบริหารจัดการอัตราว่างของข้าราชการของทุกส่วนราชการ (149 ส่วนราชการ) เพื่อให้เห็นถึงสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีตำแหน่งแรกบรรจุที่ว่างหรืออยู่ระหว่างการสรรหา ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างการเลื่อน โอน ย้าย หรือตำแหน่งที่มีแผนปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น หรือต้องยุบเลิกตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งเกษียณอายุที่อยู่ระหว่างเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงเพื่อพิจารณาจัดสรรคืนให้กับส่วนราชการ ตลอดจนสภาพปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและสนับสนุนการสรรหา การสอบคัดเลือก ตลอดจนแก้ปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับส่วนราชการ โดยได้กำหนดให้ส่วนราชการรายงานผลให้ทราบภายในวันที่ 21 มกราคม 2564 และจะได้วิเคราะห์สรุปรายงานผลให้ทราบในคราวต่อไป
เรื่องที่ 2แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของส่วนราชการ
1. การจ้างพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567)
คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ในการประชุมเมื่อวันที่
26 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567) จำนวน 219,849 อัตรา และกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ จำนวน 1,308 อัตรา (รวมทั้งสิ้น 221,157 อัตรา) โดยส่วนราชการได้จัดทำสัญญาจ้างพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติแล้ว และยังมีกรอบอัตรากำลังที่ว่างประมาณ 10,537 อัตรา ซึ่งส่วนราชการ
อยู่ระหว่างขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ และหากได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วก็จะสรรหาบุคคลเป็นพนักงานราชการต่อไป
2. COVID-19) ด้วยระบบพนักงานราชการ
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 มีมติรับทราบมติ คพร. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยระบบพนักงานราชการ เพื่อช่วยบรรเทาสภาวะเศรษฐกิจ การว่างงานภายในประเทศ เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาและอยู่ระหว่างหางานทำ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน และ/หรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคส่วนอื่นมีโอกาสได้รับการจ้างงานและสั่งสมประสบการณ์
การทำงานในหน่วยงานของรัฐ โดยมีหลักการสำคัญ คือ เป็นการจ้างงานระยะสั้น เพื่อบรรจุบุคคลเข้าปฏิบัติงานโดยเร็ว ซึ่ง คพร. จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565) เน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกำหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหาและการบริหารการจ้างเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว นั้น ขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ
เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างงานพนักงานราชการและหากได้รับงบประมาณแล้วจะเร่งดำเนินการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการให้แก่ส่วนราชการตามความจำเป็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อีกทางหนึ่ง
โดยสรุปการดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าว จะสามารถตอบสนองข้อสั่งการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคราชการพลเรือน และเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนเป็นช่องทางให้ส่วนราชการได้คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับความจำเป็นของภารกิจเข้าสู่ระบบราชการ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การบริหารอัตรากำลัง งบประมาณ และการขับเคลื่อนภารกิจของส่วนราชการ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ และการบริหารทรัพยากรบุคคลร่วมกันทั้งระบบ นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งการวางแผนการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ การใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารอัตรากำลังในภาพรวมต่อไป
13. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 เรื่อง เงินบำเหน็จ (โบนัส) ประจำปีของพนักงานและลูกจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สำนักงานสลากฯ)
2. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำของสำนักงานสลากฯ เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยปรับให้สำนักงานสลากฯ
จากเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 5 ประเภทจ่ายโบนัสพนักงานคงที่
เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส เนื่องจากมีกำไรจากการดำเนินงานตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ที่เห็นชอบการปรับปรุงระบบแรงจูงใจในส่วนค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ที่ประชุมระหว่างสำนักงานสลากฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำของสำนักงานสลากฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 โดยที่ประชุมมีมติ
เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำของสำนักงานสลากฯ ให้เชื่อมโยงกับผลงานของรัฐวิสาหกิจ โดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำสำหรับรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัสเนื่องจากมีกำไรจากการดำเนินงาน ทั้งนี้ ให้สำนักงานสลากฯ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของสำนักงานสลากฯ ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสอบถามความคิดเห็นของพนักงานก่อนนำเสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ความเห็นชอบและส่ง กค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ที่กำหนดให้ต้องมีพนักงานสมัครใจเข้าสู่ระบบการจ่ายโบนัสเชื่อมโยงกับผลงานในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของพนักงานและลูกจ้างประจำ โดยผลจากการทำแบบสอบถามความคิดเห็นประจำปี 2562 ของพนักงานและลูกจ้างประจำของสำนักงานสลากฯ พบว่า มีพนักงานและลูกจ้างประจำสมัครใจเข้าร่วมการจัดสรรโบนัสตามระบบประเมินผล จำนวนทั้งสิ้น 692 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 87.37 ของพนักงานและลูกจ้างประจำทั้งหมด ซึ่ง
คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสดังกล่าวด้วยแล้ว
2. สำนักงานสลากฯ ได้เสนอให้ กค. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำให้เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยใช้หลักเกณฑ์สำหรับรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัสเนื่องจากมีกำไรจากการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงระบบแรงจูงใจในส่วนค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
ผลการประเมินผล
การดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (คะแนน) |
วงเงินบนฐานของร้อยละ
ของกำไรเพื่อจัดสรรโบนัส
(ร้อยละ) |
แต่ไม่เกินจำนวนเท่า
ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(เท่า) |
5.0 (ดีเยี่ยม)
4.5
4.0 (ดีมาก)
3.5
3.0 (ดี)
2.5
2.0 (พอใช้)
1.5
1.0 (ปรับปรุง) |
11.00
10.50
10.00
9.50
9.00
8.50
8.00
7.50
7.00 |
8.00
7.00
6.00
5.50
5.00
4.50
4.00
3.00
2.00 |
หมายเหตุ : เป็นวงเงินสูงสุดที่ใช้ในการจ่ายโบนัสพนักงาน
3.
กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานสลากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2558 - ปี 2562) พบว่า มีกำไรสุทธิเฉลี่ย จำนวน 3,451 ล้านบาท และมีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินเฉลี่ย 2,480 ล้านบาท สำหรับในปี 2562 สำนักงานสลากฯ มีสินทรัพย์รวม 43,719 ล้านบาท หนี้สินรวม 29,494 ล้านบาท รายได้รวม 8,729 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 2,666 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาท และนำส่งรายได้แผ่นดิน จำนวน 4,933 ล้านบาท ทั้งนี้
จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบการจ่ายโบนัสพนักงานระบบเดิม (โบนัสคงที่) และกรณีการจัดสรรโบนัสตามระบบประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจกรณีรัฐวิสาหกิจมีกำไร สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท/เท่า
ปี |
กำไรสุทธิ |
ระบบเดิม |
ระบบที่ กค.
เสนอมาในครั้งนี้ |
เงินนำส่ง
รายได้
แผ่นดิน** |
คะแนน
ประเมินผล
การดำเนินงาน
รัฐวิสาหกิจ
(คะแนนเต็ม
5 คะแนน) |
กำไร
เพื่อการจัดสรรโบนัส |
โบนัส
พนักงาน |
กำไร
เพื่อการ จัดสรรโบนัส |
โบนัส
พนักงาน |
2559 |
2,695 |
2,464 |
94.06/4.0* |
2,464 |
139.20/6.0 |
2,232 |
4.0560 |
2560 |
3,955 |
3,795 |
96.12/3.75 |
3,795 |
136.24/5.5 |
3,243 |
3.9519 |
2561 |
3,768 |
3,642 |
97.02/3.75 |
3,642 |
156.12/6.0 |
3,093 |
4.1683 |
2562 |
6,063 |
5,848 |
101.52/3.75 |
5,848 |
188.51/7.0 |
4,933 |
4.6256 |
หมายเหตุ : *เป็นการปรับปรุงการจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำ
จาก 3.75 เท่าของเงินเดือนหรือค่าจ้าง
เป็น 4 เท่าของเงินเดือนหรือค่าจ้าง
ซึ่งมีผลบังคับใช้เฉพาะในปีงบประมาณ 2559 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (24 พฤศจิกายน 2558)
**เป็นตัวเลขที่คำนวณก่อนการคำนวณเงินจ่ายโบนัสพนักงานจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรโบนัส
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า
สำนักงานสลากฯ จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของโบนัสพนักงานและลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 62.40 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรสุทธิของสำนักงานสลากฯ และการจัดเก็บรายได้แผ่นดินของ กค.
14. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบค่าบริหารจัดการโครงการสำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ครัวเรือนละ 7 บาท กรณีถ้ามี
ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว 200,000 ครัวเรือน เพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณเดิมจากโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 วงเงินงบประมาณ จำนวน 3,440.05 ล้านบาท
2. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกรได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
3. เห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยปี 2563
จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563
เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2564
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. จากการดำเนินโครงการฯ พบว่า มีครัวเรือนเกษตรกรทั้งสิ้น 202,013 ครัวเรือน พื้นที่ 1,429,013.09 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2563) ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอน
ค่าเยียวยา ในกรอบวงเงิน 3,355.18 ล้านบาท โดยแบ่งการโอนเป็น 2 รอบ รายละเอียด ดังนี้
การโอน |
จำนวนครัวเรือน |
เนื้อที่ (ไร่) |
จำนวนเงิน (ล้านบาท) |
รอบที่ 1
(ดำเนินการแล้ว
ตามมติคณะรัฐมนตรี
วันที่ 25 สิงหาคม 2563) |
200,000 |
1,417,270.87 |
2,834.54 |
รอบที่ 2
(รอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ) |
2,013 |
11,742.22 |
23.48 |
รวม |
202,013 |
1,429,013.09 |
2,858.02* |
* รวม
ค่าเยียวยาที่จ่ายจริง
ต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (25 สิงหาคม 2563) อนุมัติไว้เดิม 497.16 ล้านบาท (3,355.18 – 2,858.02)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีจำนวนเกษตรกรที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยามากกว่าเป้าหมาย(200,000 ครัวเรือน) เป็นจำนวน 2,013 ครัวเรือน ทำให้มี
ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการโครงการสำหรับ ธ.ก.ส. ครัวเรือนละ 7 บาท
เพิ่มขึ้นจากที่คณะรัฐมนตรีเคยเห็นชอบไว้
เป็นจำนวน 14,091 บาท ประกอบกับ ธ.ก.ส. จะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบการดำเนินการข้างต้น ส่งผลให้การโอนเงินไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด จึงต้องขอขยายระยะเวลาโครงการฯ
จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563
เป็นสิ้นสุดวันที่
31 มกราคม 2564
2. คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 (นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน) และคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เห็นชอบค่าบริหารจัดการรวมทั้งการขยายระยะเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย 2563 ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 (เพิ่มเติม) มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตลำไยไม่ได้คุณภาพและเก็บเกี่ยวได้ช้าลงในบางพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลต่อการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ทำให้เกิดภาวะลำไยล้นตลาด คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 อนุมัติในหลักการโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 จำนวน 200,000 ครัวเรือน โดยมีอัตราการเยียวยาไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ แต่โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรมากกว่าที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้ จึงขอ
เปลี่ยนแปลงหลักการโครงการฯ ภายใต้กรอบวงเงินเดิม (3,440.05 ล้านบาท)
15. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และข้อเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 30กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 สรุปได้ ดังนี้
1.1 ปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม เช่น ข้าราชการบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจและมองข้ามความสำคัญของการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม การรณรงค์ส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องจริยธรรมขาดความต่อเนื่องและจริงจัง การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมจริยธรรม หัวหน้าส่วนราชการให้การสนับสนุนภารกิจด้านจริยธรรมน้อยหรือไม่เต็มที่ กลไกการขับเคลื่อนงานในระดับส่วนราชการยังมีปัญหา เนื่องจากไม่มีการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานด้านจริยธรรมที่ชัดเจนในส่วนราชการ
1.2 ปัจจุบันมีส่วนราชการตามประมวลจริยธรรม 218 ส่วนราชการ โดย
ส่วนราชการระดับกระทรวง/เทียบเท่าและมีการจัดตั้ง ศปท. ตามมติคณะรัฐมนตรีส่งรายงานฯ
38 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 100
ส่วนราชการระดับกรมส่งรายงานฯ 103 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99.04 (ยังไม่ได้ส่งรายงานฯ 1 ส่วนราชการ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 0.96) และ
จังหวัดที่ส่งรายงานฯ 76 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 100
1.3
มีส่วนราชการที่มีการกำหนดผู้รับผิดชอบตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ 17 ที่กำหนดให้จัดตั้งกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมขึ้นในทุกส่วนราชการขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรม ซึ่งมีความเป็นอิสระ
รวม 203 ส่วนราชการ โดยมี
ส่วนราชการที่มอบหมายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไปเป็นหัวหน้ากลุ่ม 199 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 98.03 และ
มีส่วนราชการที่ไม่ได้มอบหมายข้าราชการฯ เป็นหัวหน้ากลุ่ม 4 ส่วนราชการ (3 กรม 1 จังหวัด) ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวงชนบท กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และจังหวัดบึงกาฬ
1.4
การดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการ และกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม ตามประมวลจริยธรรม ข้าราชการพลเรือนภาพรวม สรุปได้ ดังนี้
1)
คณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ การควบคุม กำกับ ส่งเสริมและให้คำแนะนำในการใช้บังคับประมวลจริยธรรมในส่วนราชการ (เช่น การกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการ จัดเสวนา และอบรมให้ความรู้กับข้าราชการ) ร้อยละ 86.51 รองลงมาคือการสอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมในส่วนราชการ (เช่น การติดตามผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการ) ร้อยละ 85.11 และคุ้มครองข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ร้อยละ 79.07
2)
หัวหน้าส่วนราชการ พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และควบคุมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การกำหนดนโยบายในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการประกาศเจตจำนงการบริหารงานด้วยความมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ โปร่งใส และต่อต้านการทุจริต) ร้อยละ 99.06 รองลงมาคือ สนับสนุนและส่งเสริมผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความซื่อสัตย์ มีผลงานและมีความรู้ความสามารถ และปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การประกาศยกย่องข้าราชการที่มีความประพฤติดีและปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม) ร้อยละ 98.60 และส่งเสริมและเผยแพร่การปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การจัดโครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม) ร้อยละ 98.14
2)
กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ เผยแพร่ ปลูกฝัง ส่งเสริม ยกย่องข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดี (เช่น การจัดฝึกอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม) คิดเป็นร้อยละ 97.67 รองลงมาคือ ติดตามสอดส่องการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการในสังกัด (เช่น การจัดให้มีช่องทางการร้องเรียน) คิดเป็นร้อยละ 92.56 และให้ความช่วยเหลือและดูแลข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม คิดเป็นร้อยละ 78.60
2. ข้อเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต สรุปได้ ดังนี้
2.1
ข้อเสนอการปรับบทบาท ภารกิจของ ศปท. ระดับกระทรวง
1)
ปรับหน้าที่และอำนาจของ ศปท. ระดับกระทรวง โดยเพิ่มภารกิจด้านการส่งเสริมคุณธรรม ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ และภารกิจด้านการเสริมสร้างวินัยข้าราชการเพื่อบูรณาการงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการป้องกันทุจริตในภาพรวม ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานมีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน มีเอกภาพ ทั้งนี้ ศปท. ระดับกระทรวง จะต้องเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน การเสริมสร้างวินัยข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 ตลอดจนกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมการเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต รวมถึงทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานความร่วมมือตลอดจนติดตามการขับเคลื่อนงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง
2)
ปรับชื่อหน่วยงาน จาก “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ระดับกระทรวง”
เป็น “ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริต (ศจท.) ระดับกระทรวง” เพื่อให้สะท้อนถึงภารกิจทั้งในด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต ซึ่งหมายความรวมถึงงานด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และป้องปรามและปราบปรามการทุจริต
2.2
ข้อเสนอการปรับบทบาท ภารกิจของกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม
1)
เสนอให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริต (ศจท.)” ในระดับกรม โดยปรับบทบาท ภารกิจของ “กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม” ให้เป็นส่วนราชการในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 31 วรรคสอง และมีบทบาท ภารกิจในลักษณะเช่นเดียวกับ ศจท. ระดับกระทรวง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานในระดับกรม ทำหน้าที่ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต
2)
เสนอให้ส่วนราชการกำหนดกรอบอัตรากำลังในเบื้องต้น 2 – 5 อัตรา และให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังเพื่อปฏิบัติงานในเบื้องต้น 2 - 5 อัตรา โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของภารกิจ (ให้เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับการจัดโครงสร้าง ศปท. ระดับกระทรวง ที่โดยปกติจะมีการมอบหมายผู้ปฏิบัติงานเฉลี่ย 2 - 5 อัตรา) เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบและประสานการดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต จึงเป็นการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในภาพรวม และหากมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้นำเสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณา
2.3
ให้มีผู้บริหารของส่วนราชการระดับกระทรวง กรม หรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็น Chief Ethics Officer โดยต้องรับผิดชอบการขับเคลื่อนภารกิจทั้งด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต
2.4
ให้มีการวางกลไกระบบการทำงาน การรายงาน และการรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
2.5
ให้มีการจัดทำแผนการสร้างทางก้าวหน้าของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม การป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบตามโครงสร้างภารกิจใหม่ รวมถึงแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการขับเคลื่อนงานตามภารกิจใหม่ เช่น การพัฒนาผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมจริยธรรมและการป้องกันทุจริต และการปรับบทบาทภารกิจของคณะกรรมการจริยธรรม
2.6
ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และสำนักงาน ก.พ. สนับสนุน ประสานช่วยเหลือ กำกับและติดตามการดำเนินงานของ ศจท. ระดับกระทรวง และในระดับกรม โดยให้ ศจท. ระดับกระทรวงและในระดับกรม ประสานงาน ร่วมมือ หรือดำเนินการอื่นใดตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการป้องกันและต่อต้านการทุจริตสั่งการหรือร้องขอ
16. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอดังนี้
1. ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 (เรื่อง ขออนุมัติหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล)
2. หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน (หลักเกณฑ์ฯ) เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามข้อ 1
สาระสำคัญของเรื่อง
สมช. รายงานว่า
1. โดยที่หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เนื่องจาก (1) ได้กำหนดเงื่อนเวลาของบุคคลที่จะได้รับการกำหนดสถานะบุคคลว่าต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยจะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยภายในวันที่ 18 มกราคม 2538 และ (2) มีบุคคลที่ยังคงตกหล่นจากการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
การดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลกลาง |
จำนวนประมาณ (คน) |
กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด |
1,170,000 |
ได้รับการกำหนดสถานะให้อาศัยอยู่ในไทยอย่างถาวรแล้ว |
820,000 |
คงเหลือต้องพิจารณากำหนดสถานะ แบ่งเป็น 2 ส่วน |
400,000 |
1. กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ไม่ได้เกิดในไทยและรัฐบาลได้สำรวจจัดทำทะเบียนไว้ในอดีตภายใต้การอนุมัติของคณะรัฐมนตรี [ไม่รวมกลุ่มที่เกิดในไทยซึ่งจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2559)] |
350,000 |
2. กลุ่มที่ตกหล่นจากการจัดทำทะเบียนประวัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตแต่ได้รับการจัดทำทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ตามข้อ 2.1) |
50,000 |
2. ต่อมากระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัด (ตามข้อ 1) ในการกำหนดสถานะบุคคล ดังนี้
2.1 การจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นตามมาตรา 19/2 และมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่อ้างว่าตกสำรวจแต่มีภูมิลำเนาต่อเนื่องในประเทศไทยและไม่มีสถานะตามกฎหมาย และ (2) กลุ่มคนไร้รากเหง้า โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่อ้างว่ามีปัญหาสถานะและสิทธิที่มีภูมิลำเนาชัดเจนและอาศัยอยู่ในไทยต่อเนื่องสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนและรับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0) เพื่อแสดงตัวตนก่อนพิจารณาสถานะต่อไป
2.2 การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็กนักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรไทยตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2559) โดย มท. ได้เสนอหลักเกณฑ์ซึ่งแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่เกิดในประเทศไทยเป็นกรณีเร่งด่วน โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ให้บุตรของคนที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ครอบคลุมกลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่อง 15 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียนประวัติ และให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป
3. สมช. จัดทำหลักเกณฑ์ฯ ขึ้นโดยยึดกรอบหลักการเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2553) แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน รวมถึงสอดคล้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
กลุ่มเป้าหมาย |
2 กลุ่มหลัก ได้แก่
กลุ่มหลัก |
กลุ่มย่อย |
1. กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ไม่ได้เกิดในไทยและรัฐบาลได้สำรวจจัดทำทะเบียนไว้ในอดีต |
ประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย
- กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม)
- กลุ่มเด็กและบุคคลที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทยและกำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษา/จบการศึกษาแล้ว แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- กลุ่มคนไร้รากเหง้าที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย
- กลุ่มบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย |
2. กลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 19/2 (ผู้ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ) และมาตรา 38 วรรคสอง (คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้) แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
ประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย
- กลุ่มย่อยทั้ง 4 กลุ่มข้างต้นที่เข้ามาอาศัยในราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจจัดทำทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี (7 ธันวาคม 2553) ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในอดีต
- กลุ่มอื่น ๆ ยกเว้นผู้หลบหนีเข้าเมือง กลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ |
|
หลักเกณฑ์ทั่วไป |
เช่น
- มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
- มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก
- มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- มีความประพฤติดีและไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ไม่เคยรับโทษคดีอาญา ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
- หากได้รับโทษในคดีอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง เว้นแต่โทษในคดียาเสพติดฐานเป็นผู้ค้าหรือผู้ผลิตให้ขยายระยะเวลาจาก 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ประกอบอาชีพสุจริตโดยมีใบอนุญาตทำงานหรือหนังสือรับรองจากนายอำเภอท้องที่ ยกเว้นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่น ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และคนพิการ (แล้วแต่กรณี) |
หลักเกณฑ์เฉพาะกลุ่ม |
กลุ่มย่อย |
ตัวอย่างหลักเกณฑ์ฯ |
กลุ่มบุคคล
ที่อพยพเข้ามาอยู่
ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม) |
- ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง/ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทาง
- สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ |
กลุ่มเด็กและบุคคล
ที่ไม่ได้เกิดใน
ราชอาณาจักรไทย
และกำลังเรียนอยู่
ในสถานศึกษา
หรือจบการศึกษาแล้ว
แต่ไม่มีสถานะ
ที่ถูกต้องตามกฎหมาย |
- สำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือเทียบเท่าจากโรงเรียน หรือสถานศึกษาในไทยที่กระทรวงศึกษาธิการให้การรับรอง
- ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
|
คนไร้รากเหง้าที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย |
- มีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าจากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานสงเคราะห์กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ได้รับการศึกษาตามหลักสูตรที่ทางราชการไทยกำหนด หรือสามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีคนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทางการสื่อสารทางจิตใจ และทางพฤติกรรม |
บุคคลที่มี
คุณประโยชน์
แก่ประเทศที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย |
- เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีผลงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ เช่น การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
- มีหน่วยงานราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ากรม ที่เกี่ยวข้องรับรองคุณประโยชน์และผลงาน |
กลุ่มอื่น ๆ
ในกลุ่มหลักที่ 2 |
- ไม่เคยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
- สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ผู้ป่วยติดเตียง คนวิกลจริต คนพิการทางการได้ยิน หรือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในการสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ
- มีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือให้การรับรองความประพฤติ |
|
หมายเหตุ ให้กรมการปกครองกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของบุคคลดังกล่าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของประเทศ |
4. ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ (ตามข้อ 3) และมอบหมายให้ สมช. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
17. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 และวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดังนี้
1.
การปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากวงเงินเดิม 1,775.653 ล้านบาท เป็น 1,917.380 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 141.727 ล้านบาท)ตามมติคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563
2.
กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2,338.266 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563
(รวมเป็นภาระที่รัฐต้องรับชดเชยทั้งสิ้น 2,479.993 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ให้ ขสมก.รายงานให้ กค. [สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)] ทราบในโอกาสแรกด้วย เพื่อ กค. (สศค.) จะได้จัดเก็บข้อมูลยอดคงค้างให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ได้พิจารณาข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ของ ขสมก. โดยมีมติ
เห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ของ ขสมก. จำนวน 2,338.266 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนให้กับ ขสมก. ตามจำนวนส่วนต่างของประมาณการรายได้และต้นทุนของการให้บริการสาธารณะที่ ขสมก. ได้จัดทำข้อมูลสมมติฐานตามคู่มือในการขอรับการอุดหนุนบริการสาธารณะฯ โดยมีประมาณการรายได้ จำนวน 2,130.345 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะ จำนวน 4,468.611 ล้านบาท (ต้นทุนการให้บริการสาธารณะและต้นทุนการบริหาร เช่น เงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการ ค่าเช่าสถานที่ ค่าประกันภัย ค่ารักษาความปลอดภัย เป็นต้น) และให้ดำเนินการนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 จะปรับตามผลการดำเนินการจริงและตามบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะที่รัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะลงนามร่วมกัน
2. คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะตามบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ ขสมก. โดยมีมติ
เห็นชอบการปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากวงเงินเดิม 1,775.653 ล้านบาท เป็นวงเงิน 1,917.380 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 141.727 ล้านบาท) (ปรับลดค่าเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E - Ticket) และระบบ Clearing House จำนวน 205.882 ล้านบาท และปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายพนักงานในรายการค่าเงินเดือนค่าจ้าง จำนวน 347.609 ล้านบาท) เพื่อให้ครอบคลุมผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการยกเลิกสัญญาเช่าระบบ E – Ticket ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น และให้ดำเนินการนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
3. กรณีการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ขสมก. (ตามข้อ 1 และ ข้อ 2) เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 จกวงเงินเดิมจำนวน 1,775.653 ล้านบาท เป็นวงเงิน 1,917.380 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 141.727 ล้านบาท) และกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2,338.266 ล้านบาท
รวมเป็นภาระที่รัฐต้องรับชดเชยทั้งสิ้น 2,479.993 ล้านบาท ซึ่งภาระที่รัฐต้องรับชดเชยจากการดำเนินการดังกล่าวเมื่อรวมกับยอดภาระคงค้างที่มีอยู่เดิม ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ยังคงอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดให้ยอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่ง กค. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 27 และมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว
18. เรื่อง การกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแนวทางการกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติสภาพัฒนาฯ พ.ศ. 2561) ตามมติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้
1. การลงทุนแผนงาน/โครงการพัฒนาของส่วนราชการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท และไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากเงินงบประมาณ โดยการลงทุนจะใช้จ่ายจากแหล่งเงิน อาทิ เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุน และแหล่งเงินอื่น ๆ เห็นควรมอบหมายให้ส่วนราชการ โดยความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัด จัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการที่มีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอเสนอให้ สศช. พิจารณาก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
2. การลงทุนแผนงาน/โครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เห็นควรให้รัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัดต้องจัดทำงบลงทุนเต็มตามโครงการจัดส่งให้ สศช. พิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 อย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. ปัจจุบัน สศช. มีแนวปฏิบัติในการพิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม และของรัฐวิสาหกิจสรุปได้ ดังนี้
กรณี |
แนวปฏิบัติ |
1.1 การลงทุนของส่วนราชการ (ทั้งดำเนินการเองและให้เอกชนร่วมลงทุน) |
ส่วนราชการที่คาดว่าจะใช้จ่ายจากแหล่งเงินกู้และได้จัดส่งข้อเสนอการลงทุนให้ สศช. พิจารณา สศช. จะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการเสนอสภาพัฒนาฯ และนำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
1.2 การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ทั้งในส่วนที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการและให้เอกชนร่วมลงทุน) |
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจัดทำงบลงทุนเต็มตามโครงการเสนอให้ สศช. พิจารณา โดย สศช. จะจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการเสนอสภาพัฒนาฯ
· ในกรณีที่เป็นการลงทุนที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สศช. จะนำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
· ในกรณีที่เป็นการลงทุนที่มีวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท สศช. จะแจ้งให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป |
2. สภาพัฒนาฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม และของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้มาตรา 20 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 ตามที่ สศช. เสนอ ดังนี้
2.1
การกำหนดมูลค่าแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ได้แก่ เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และแหล่งเงินอื่น ๆ เช่น เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวง เป็นต้น นั้น สภาพัฒนาฯ เห็นว่า แนวนโยบายของรัฐได้มีการสนับสนุนให้ส่วนราชการพิจารณาแนวทางเลือกของแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นเพื่อลดภาระงบประมาณ ในขณะที่
กลไกการพิจารณาในปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ ดังนั้น เพื่อให้การเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรกำหนดให้ส่วนราชการที่จะดำเนินการในแผนงานและโครงการพัฒนาที่มีวงเงินลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 5,000 ล้านบาทและใช้จ่ายจากแหล่งเงินที่ไม่ใช่เงินประมาณแผ่นดินจัดทำข้อเสนอแผนงานและโครงการพัฒนาให้ สศช. พิจารณาก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
2.2
การลงทุนแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลไกการพิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการที่ใช้เงินงบประมาณมีสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดังนั้น ใน
กรณีที่เป็นการใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณแผ่นดิน จึงเห็นควรให้ สศช. ทำหน้าที่ในการพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์เสนอเรื่องให้สภาพัฒนาฯ พิจารณา (ยกเว้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้สภาพัฒนาฯ พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ)
2.3 การลงทุนแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินการตามแนวทางปัจจุบัน (ตามข้อ 1.2)
19. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
ภายในวงเงิน 198,891.7894 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สำหรับงบประมาณบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 2,203.1086 ล้านบาท นั้น มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับบุคคลในพื้นที่ และบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในส่วนบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ตามมาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแล สปสช. ให้บริหารกองทุนฯ ให้เป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
รายการบริการภายใต้งบกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 11 รายการ สรุปได้ดังนี้ 1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2. ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2.1 ค่าบริการรักษาฯ 2.2 ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 4. ค่าบริการเพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง 4.1 ค่าบริการเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง 4.2 ค่าบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (ทีม PHC) 7.1 ค่าบริการด้วยทีม PHC 7.2 ค่าบริการรับยาที่ร้านยา 7.3 ค่าบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล 7.4 ค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล 7.5 ค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน 8. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท. 9. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด 19 10. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 11. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ทั้งนี้ ข้อเสนองบกองทุนฯ ที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพในประเด็นหลักต่าง ๆ ดังนี้
1. การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โรคมะเร็งไปรับริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม (ไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้าน/ไม่ต้องรอคิวนานที่มีความพร้อมในการให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีฉายรังสีหรือเคมีบำบัด) รวมถึงบริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย
2. เน้นยุทธศาสตร์ เรื่อง ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเพื่อการวางแผนครอบครัว [ภายใต้ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 – 2562)] และการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง
1 [ตามยุทธศาสตร์ End TB Strategy ขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการเกิดวัณโรคให้ต่ำกว่า 10 : 100,000 ประชากรโลกภายในปี 2578]
3. สิทธิประโยชน์ใหม่ จำนวน 13 รายการ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย การตรวจคัดกรองยีนส์ HLA-B*5801 ก่อนเริ่มยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์ เพิ่มรายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ/ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทุกกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีเอกซเรย์ปอดและ Molecular Assay การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด และบริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นต้น
4. เพิ่มการเข้าถึงบริการนอกหน่วยบริการ (อยู่ในรายการค่าบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิฯ) ได้แก่ (1) บริการคลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ และคลินิกกายภาพบำบัด (2) การตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล (เช่น ตรวจเลือด) (3) ค่าบริการสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ผ่าน Application และ (4) การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์
-------------------------------------------
1 7 กลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วย 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ 3. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวีหรือกินยากดภูมิ 5. ผู้ป่วยเบาหวาน 6. ผู้สูงอายุ และ 7. แรงงานข้ามชาติ
20. เรื่อง สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และ
ปี 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง
1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนธันวาคม และปี 2563 ดังนี้
ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
ลดลงร้อยละ 0.27 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ จากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ นอกจากนี้ เครื่องประกอบอาหาร ปรับสูงขึ้นจากการส่งเสริมการตลาด สำหรับสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงแต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าผ่านทางพิเศษ ปรับลดลงตามมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิต ส่วน
เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว)
สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY)
การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการได้ผลดีและได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ในรอบ 19 เดือน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ยังเป็นปัจจัยทอนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากสถานการณ์สามารถกลับเข้าสู่ปกติได้เร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลกำหนดได้ในปีหน้า
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
ลดลงร้อยละ 0.27 (YoY) ตามการลดลงของ
สินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.24 ได้แก่
หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.07 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท
หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.26 (ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม)
หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.17 (เสื้อยืดบุรุษ เสื้อยืดสตรี)
หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.12 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาล้างจาน) และ
หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.06 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.11 สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.38 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 2.93 โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.43 โดยผัก สูงขึ้นร้อยละ 12.88 จากการสูงขึ้นของผักเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะพริกสด หัวหอมแดง และถั่วฝักยาว ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (กล้วยน้ำว้า ทุเรียน องุ่น) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.28 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (ไข่ไก่ นมผง) รวมทั้งอาหารบริโภค-ในบ้าน และอาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.38 และ 0.68 ตามลำดับ สำหรับสินค้าในกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับราคาลดลงร้อยละ 3.88 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลง ส่งผลให้สต็อกข้าวมีปริมาณมาก
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563
สูงขึ้นร้อยละ 0.15 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ลดลงร้อยละ 0.40 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (QoQ) และ
เฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.85 (AoA))
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยราคาสินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังคงหดตัว จากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 19 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดย
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อปริมาณผลผลิต สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลังสด ยางพารา มะพร้าวผล อ้อย และพืชผัก) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาตะเพียน ปลาทูสด ปลาลัง)
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์) และกลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) และ
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 23.0 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563
สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
(QoQ) และ
เฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.8 (AoA)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (YoY) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยปรับสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง
โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ)
หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุน
หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี)
หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ตามราคายางมะตอยที่ได้ลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ)
หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 0.1 (บานประตู วงกบหน้าต่าง)
ขณะที่หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.2 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์)
หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.8 (ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563
สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (QoQ) และ
เฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.8 (AoA)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2563 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 46.3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 39.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 (สูงกว่าระดับ 50) จากระดับ 51.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 สาเหตุสำคัญที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับที่ทรงตัวคาดว่ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าว และการแพร่ระบาดโดยคนในประเทศ อาจจะส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในระยะต่อไป
2. สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2563
เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.85 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7
และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.29 ทั้งนี้ โดยมี
ปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง นอกจากนี้ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ โดยเฉพาะค่าทัศนาจรต่างประเทศและค่าห้องพักโรงแรมปรับลดลง จากการจำกัดการเดินทางและการท่องเที่ยว สำหรับ
ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดอาหารสด โดยเฉพาะผัก ซึ่งราคาสอดคล้องกับผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมวดอื่น ๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
ชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2563 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงยอดการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 3 ของปี
3. แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2564
สถานการณ์เงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัย
ด้านอุปสงค์ ได้แก่
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน อีกทั้ง
ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ นอกจากนี้ อุปสงค์ด้าน
พลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะส่งผลต่อราคาพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมาก สำหรับปัจจัย
ด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามสภาพอากาศที่อาจกระทบต่อ
ผลผลิตทางการเกษตร รวมถึง
อุปทานด้านน้ำมันดิบ ที่มีการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
21. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2563 มาตรา 7 (6) ที่บัญญัติให้ กพต. มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
มติ กพต. |
เรื่องเพื่อทราบ |
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 |
รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้าฯ โดยกระทรวงพลังงาน (พน.) จะได้มีการกำหนดการประชุมคณะทำงานพิจารณากรอบแนวทางการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้าให้มีความชัดเจนต่อไป |
เรื่องเพื่อพิจารณา |
โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน และการจัดทำปะการังเทียมพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
- เห็นชอบในหลักการโครงการฯ จำนวน 622 ลำในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 - 2565 และอนุมัติกรอบงบประมาณสนับสนุนโครงการฯ ไม่เกิน 1,424.6638 ล้านบาท โดยให้ ศอ.บต. กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
- เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 844.2649 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นความเร่งด่วนลำดับแรก จำนวน 304 ลำ และเรือเป้าหมายตามข้อเสนอของสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี โดยนำไปใช้ประโยชน์จัดทำปะการังเทียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ส่วนเรือที่เหลือของพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และนราธิวาส รวม 318 ลำ ให้ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยให้ ศอ.บต. กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่อไป |
แผนปฏิบัติการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) |
- เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้เป็นแผนปฏิบัติการที่ทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานร่วมกันในลักษณะบูรณาการทุกระดับในระยะต่อไป
- ให้คณะกรรมการ กพต. ทุกท่าน จากกระทรวงต่าง ๆ และให้ ศอ.บต. เร่งประสานเพิ่มเติมไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ พน. เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการ/กิจกรรมให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ ตามที่ กพต. ได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว โดยอาจพิจารณาปรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ตามกฎหมายของรัฐบาล เพื่อให้การสนับสนุนแผนปฏิบัติการฯ และจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565เพื่อรองรับการทำงานกลุ่มเป้าหมายที่คงเหลือต่อไป ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการแก้ไข เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จำนวน 5,000 คน (เดือนธันวาคม 2563 - มีนาคม 2564) ระยะที่ 2 จำนวน 5,000 คน (เดือนเมษายน 2564 - กันยายน 2564) และระยะที่ 3 จำนวน 7,000 คน (เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565) ทั้งนี้ ให้กรรมการ กพต. ทุกท่าน พิจารณาสั่งการให้กระทรวง กรม ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับเร่งจัดส่งข้อมูลให้ ศอ.บต. เป็นการด่วนที่สุดเพื่อประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่สมบูรณ์และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายข้างต้น เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลำดับต่อไป
- ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศอ.บต. และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแหล่งงบประมาณจากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการตามการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป |
22. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลที่มีระยะเวลาการชำระหนี้เกิน 12 เดือน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลที่มีระยะเวลาชำระหนี้เกิน 12 เดือน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 24 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้ กค. รายงานการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่มีระยะเวลาชำระหนี้เกิน 12 เดือน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กค. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของรัฐบาลภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ วงเงินรวม 543,455.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ของวงเงินตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่มีระยะเวลาการชำระหนี้เกิน 12 เดือน จำนวน 483,455.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89 ของวงเงินที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
วงเงิน |
1. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ ประกอบด้วย |
277,204.00 |
1) หนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการกู้เงินที่มีระยะเวลาการชำระหนี้เกิน 12 เดือน (เงินกู้ระยะยาว)
2) หนี้ ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 ที่จะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าบางส่วนภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่หนี้ครบกำหนด โดยการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) |
167,685.00
109,519.00 |
2. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ด้วยเงินกู้ระยะยาว |
3,173.92 |
3. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ ประกอบด้วย |
41,610.36 |
1) หนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเงินกู้ระยะยาว
2) หนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าบางส่วนภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่หนี้ครบกำหนด โดยปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเงินกู้ระยะยาว |
31,610.36
10,000.00 |
4. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่ กค. กู้มาเพื่อชำระหนี้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย |
15,000.00 |
5. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 |
76,986.21 |
6. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 |
35,000.00 |
7. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ประกอบด้วย |
34,481.00 |
1) หนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเงินกู้ระยะยาว
2) หนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าบางส่วนภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่หนี้ครบกำหนด โดยปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเงินกู้ระยะยาวโดยการทำธุรกรรม Bond Switching |
24,000.00
10,481.00 |
รวม |
483,455.49 |
2. ในการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ข้างต้น กค. ได้ออกประกาศ กค. เกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 32 ฉบับ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
3. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาลจะช่วยลดความเสี่ยงในการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และลดการกระจุกตัวของหนี้ระยะสั้น โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หนี้เงินกู้คงค้างของรัฐบาลมีจำนวนรวม 6,734,881.76 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) 902,679.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 และหนี้ระยะยาว (อายุ 1 ปีขึ้นไป) 5,832,202.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.6 โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้อยู่ที่ 10 ปี 6 เดือน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ตามกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2567 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะให้ความเห็นชอบ
23. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 และครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ที่ให้ถือว่า การประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 (เรื่อง มติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 ครั้งที่ 11/2548 และครั้งที่ 12/2548) รับทราบมติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญ และเรื่องที่ กก.วล. พิจารณา ได้ข้อยุติแล้ว เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. มติ กก.วล. ครั้งที่ 5/2563 (7 เรื่อง)
เรื่อง |
มติ กก. วล. |
เรื่องเพื่อทราบ (1 เรื่อง) |
1. รายงานประจำปี 2562
กองทุนสิ่งแวดล้อม |
รับทราบรายงานประจำปีฯ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ความเป็นมาของกองทุนฯ ผลการดำเนินงานในปี 2562 รายงานงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ทิศทางการขับเคลื่อนกองทุนฯ และภาพรวมกิจกรรม |
เรื่องเพื่อพิจารณา (5 เรื่อง) |
2. ร่างแนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นแนวทางปฏิบัติงานที่ดำเนินการได้ในระยะสั้น (1-5 ปี) ตัวชี้วัดและเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแนวทางการขับเคลื่อน เช่น ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกและหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวและตระหนักในภูมิปัญญาท้องถิ่น |
- เห็นชอบร่างแนวทางฯ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 พร้อมทั้งรับความเห็นของ กก.วล. ที่เห็นควรให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืนอย่างเคร่งครัดไปประกอบการพิจารณาด้วย
- ให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อดำเนินการต่อไป |
3. การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบินจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ ภายใต้โครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway Partnership: EAAFP) เพื่อการอนุรักษ์นกอพยพและแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และให้มีการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนกอพยพ |
- เห็นชอบการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำฯ ภายใต้ชื่อ “พื้นที่เครือข่ายนกอพยพบุรีรัมย์” ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563
- ให้ ทส. โดย สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางโครงการความร่วมมือพันธมิตรฯ ปรับแก้ไขแบบฟอร์มรายละเอียดข้อมูลพื้นที่ (Site Information Sheet) และนำเสนอสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พิจารณาตรวจทานเนื้อหาให้สมบูรณ์ก่อนประสานสำนักเลขาธิการ EAAFP เพื่อดำเนินการต่อไป |
4. กรอบและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2564-2568 เพื่อให้เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญให้กับชุมชนและภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน 3 เขต ได้แก่ พื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่พัฒนา และมีแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ |
- เห็นชอบกรอบและแนวทางการอนุรักษ์ฯ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562
- ให้ ทส. โดย สผ. ประสานจังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบและแนวทางอนุรักษ์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ
- ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด บึงกาฬประสาน ติดตามผลการดำเนินงาน และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดบึงกาฬ ต่อไป |
5. แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
- เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ดังนี้
(1) เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ รวม 37 จังหวัด ดังนี้
(1.1) จังหวัดตามมาตรา 37 วรรค 1 (จังหวัดในท้องที่เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 43 หรือเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา
(1.2) จังหวัดตามมาตรา 37 วรรค 3 (จังหวัดที่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 43 หรือเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59) จำนวน 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิจิตร แพร่ สุโขทัย ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี หนองคาย ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ สกลนคร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ระนอง พังงา ปัตตานี และนราธิวาส
(2) เห็นชอบโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ในระดับจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 457,952,532.83 บาท ประกอบด้วย งบประมาณแผ่นดิน 411,657,279.55 บาท กองทุนสิ่งแวดล้อม 500,000 บาท และท้องถิ่นสมทบ 45,795,253.28 บาท
(3) เห็นชอบให้ สผ. ตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินการโครงการตามข้อ (2) และนำเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณสำหรับเงินสมทบจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 500,000 บาท
(4) ให้คณะกรรมการจัดทำและติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตจังหวัดที่ได้รับการแก้ไขตามแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงประเมินประสิทธิผลการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในเขตจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ที่ผ่านมา เสนอ กก.วล. เพื่อพิจารณา
- ให้ ทส. โดย สผ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่เป็นเกาะมีระบบการจัดการขยะมูลฝอยบนเกาะ โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านแผนปฏิบัติการฯ ในปีต่อไป |
6. โครงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาเพื่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี ของมูลนิธิข้าวขวัญ ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (1 พฤศจิกายน 2563-31 ตุลาคม 2566) โดยมีเกษตรกรระดับดี-ดีเยี่ยม 39 คน และมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ 1,000 ไร่ โดยไม่มีการเผาฟางข้าวและไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม |
- เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ในการอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม วงเงิน 8,998,000 บาท ให้แก่มูลนิธิข้าวขวัญเพื่อดำเนินโครงการฯ
- ให้มูลนิธิข้าวขวัญจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินที่เสนอไว้ในโครงการฯ โดยแบ่งเป็นรายไตรมาสให้มีความเป็นไปได้และสามารถเบิกจ่ายได้ตามกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้ สผ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม พิจารณาก่อนที่จะเสนอกรมบัญชีกลาง (ผู้จัดการกองทุน) ต่อไป ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจาก ทส. แจ้งมติ กก.วล. ให้ทราบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และเพื่อการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของ สผ. ต่อไป |
เรื่องอื่น ๆ (1 เรื่อง) |
7. รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (โครงการปรับปรุงกายภาพและก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่) ของกรมท่าอากาศยาน โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 23,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสาร 1,000 คน ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 3.4 ล้านคนต่อปี |
รับทราบมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศในการประชุมครั้งที่ 32/2563 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ในการให้ความเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงฯ โดยให้ กรมท่าอากาศยานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่เสนอในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด |
2. มติ กก.วล. ครั้งที่ 6/2563 (3 เรื่อง)
เรื่อง |
มติ กก. วล. |
เรื่องเพื่อพิจารณา (3 เรื่อง) |
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟรางเดี่ยว มีระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตร |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ต่อรายงาน EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ โดยให้ รฟม. ดำเนินการ ดังนี้
(1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ อย่างเคร่งครัด
(2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ |
2. รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ในการประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ต่อรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ และให้ รฟท. รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างอุโมงค์ การจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ การกำหนดให้มีการซักซ้อมในกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินภายในอุโมงค์ และการจัดทำระเบียบหรือคู่มือการปฏิบัติงานของรถไฟความเร็วสูง โดยให้ คค. โดย รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการ ดังนี้
(1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ อย่างเคร่งครัด
(2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ |
3. โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จังหวัดเพชรบุรี (โพไร่หวาน) ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งเป็นโครงการประเภทอาคารอยู่อาศัยรวมสำหรับเช่า มีห้องพัก 246 ห้อง รวม 6 อาคาร มีพื้นที่โครงการ 5-3-61 ไร่ (9,444 ตารางเมตร) โดยมีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการจัดการขยะมูลฝอย ระบบป้องกันอัคคีภัย |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ต่อรายงาน EIA โครงการฯ โดยให้ กคช. ดำเนินการ ดังนี้
(1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด
(2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ |
24. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ |
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งรวมถึงแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เช่น ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 23 ประเด็น และแผนในระดับที่ 2 เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้หน่วยงานของรัฐใช้ในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานเพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563) ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณของ สงป. ด้วยแล้ว
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือที่มีความชัดเจนและเข้าใจง่ายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
- ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีแผนระดับที่ 3 ที่ส่งให้ สศช. พิจารณารวมทั้งสิ้น 108 แผน แบ่งเป็น (1) ผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว จำนวน 70 แผน (2) อยู่ระหว่าง สศช. พิจารณากลั่นกรอง 25 แผน และ (3) ยกเลิกการดำเนินการ 2 แผน ทั้งนี้ มีแผนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาในรอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 รวม 11 แผน เช่น (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 (ฉบับปรับปรุง) และ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ในการพิจารณาทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อมิให้มีบทบัญญัติให้หน่วยงาน/คณะกรรมการต้องเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็น |
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ |
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2563) เห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว โดย สศช. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยมีผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกันจัดทำรายละเอียดแผนการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำแผนขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ และนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2564 |
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ |
- คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 ธันวาคม 2563) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) และ สศช. อยู่ระหว่างนำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาทราบ ทั้งนี้ การรายงานความคืบหน้าฯ ตั้งแต่รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 สศช. จะเร่งจัดทำรายงานโดยเร็วหลังจากสิ้นสุดแต่ละไตรมาส เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและรายงานรัฐสภาทราบ โดยในส่วนของการรายงานรอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 จะรายงานตามแผนการปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) ที่เป็นการรายงานเฉพาะ Big Rock ตามแผนการปฏิรูปฉบับปรับปรุง เพื่อให้เนื้อหาสาระของรายงานมีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
- ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำข้อมูลเข้าระบบ ประกอบด้วย (1) โครงการ/การดำเนินงานประจำปี 2563 ซึ่งต่อเนื่องจากปี 2562 รวมทั้งสิ้น 64,086 โครงการ และ (2) แผนระดับที่ 3 รวมทั้งสิ้น 672 แผน นอกจากนี้ สศช. ได้พัฒนาและต่อยอดระบบ eMENSCR เพื่อใช้สำหรับการรายงานผลการดำเนินกการตามแผนขับเคลื่อน Big Rock เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่าง ๆ รวมทั้งจะได้นำการรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวมาใช้ในการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ต่อไป
- อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Super eMENSCR) เพื่อสนับสนุนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเชื่อมโยงชุดข้อมูลสถิติและสถานการณ์ของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลและมีการรายงานการติดตามประเมินผลการบรรลุเป้าหมายต่อสาธารณะเป็นประจำ
- สร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและพลังความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา โดยรูปแบบการวาดภาพด้วยเทคนิคดิจิทัลอาร์ตเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการคิดและมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาด 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพมหานคร |
2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ |
ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงในการบรรลุเป้าหมาย คือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เกิดทักษะและความสามารถเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจนต่อไป ทั้งนี้ สศช. จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดประชุมศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป |
25. เรื่อง โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน (พ.ศ. 2564 – 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน (พ.ศ. 2564 – 2565) และมอบหมายให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด กองทัพเรือ และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ตามมติที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สมช. รายงานว่า ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน (พ.ศ. 2564 – 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียดโครงการฯ |
ความเป็นมา |
โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อนฯ เป็นการบูรณาการงานความมั่นคงควบคู่กับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ช่วงบ้านคลองใหญ่ถึงเขาหนองบัว ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ระยะทางประมาณ 3,200 เมตร เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคลองยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เดิม (คลองยุทธศาสตร์ดักรถถังตามแนวชายแดน) ให้เป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ และตอบสนองความมั่นคงทางทหารตามแนวชายแดน |
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคลองยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เดิมให้เป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่
(2) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของประชาชน โดยให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานอย่างสมบูรณ์
(3) เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่เชื่อมต่อกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาดเป็นตลาดจำหน่ายสินค้า และส่งเสริมการนำผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ของชุมชนไปเพิ่มมูลค่าทางการค้าบริเวณชายแดน
(4) เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพและเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบคลองยุทธศาสตร์ให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ |
วิธีการดำเนินงาน |
(1) เก็บกู้ทุ่นระเบิดที่อาจมีตกค้างหลงเหลือในพื้นที่บริเวณคลองยุทธศาสตร์
(2) เตรียมพื้นที่และขุดลอกคลองยุทธศาสตร์เดิมให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำมีความลึกไม่น้อยกว่า 6 เมตร กว้างด้านล่าง 5 เมตร กว้างด้านบน 10 เมตร มีความยาวประมาณ 3,200 เมตร ตั้งแต่คลองใหญ่-เขาหนองบัว
(3) ขุดคลองขนาดเล็กความยาวประมาณ 300 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างคลองยุทธศาสตร์ (ที่ขุดลอกแล้ว) กับแหล่งต้นน้ำ (คลองโอลำเจียก)
(4) สร้างถนนลาดยางความกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร ความยาวประมาณ 1,033 เมตร เพื่อใช้เป็นทางสัญจรในอนาคตเลียบขนานตามแนวคลองยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับถนนไปจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด
(5) ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำบ้านคลองใหญ่และขุดสระเก็บน้ำ (แก้มลิง) เพื่อกักเก็บน้ำจากคลองโอลำเจียก โดยสระเก็บน้ำได้ 80,254 ลูกบาศก์เมตรต่อปี มีปริมาณน้ำเพิ่มสำหรับการเกษตรประมาณ 304,900 ลูกบาศก์เมตร
(6) ปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำในคลองยุทธศาสตร์ให้ชุมชนมีแหล่งอาหารและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากจับสัตว์น้ำ และปรับปรุงทัศนียภาพถนนเลียบคลองยุทธศาสตร์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน |
พื้นที่ดำเนินการ |
คลองยุทธศาสตร์ช่วงบ้านคลองใหญ่-เขาหนองบัว ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ระยะทางประมาณ 3,200 เมตร |
ผู้รับผิดชอบ |
(1) หน่วยประสานงานหลัก : กองทัพเรือ (กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด)
(2) หน่วยงานดำเนินการ : กรมชลประทาน (สำนักงานชลประทานที่ 9 และสำนักงานชลประทานจันทบุรี) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และเทศบาลตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี |
ระยะเวลาดำเนินงาน |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 |
งบประมาณ |
37,057,885 บาท (จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลคลองใหญ่ |
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นควรให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดและกรมชลประทาน ร่วมกันจัดทำโครงการในลักษณะที่ต่อเนื่องกันเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่น โครงการแก้มลิงและประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง และผันน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูฝน รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงคลองยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนในลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นด้วย
26. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 ที่ได้พิจารณาความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ และพิจารณาความเหมาะสมของการขอยกเลิกการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) รวมทั้งการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการเราชนะของกระทรวงการคลัง (กค.) ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของกรมส่งเสริมการเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เนื่องจากกระทรวงฯ ได้ยืนยันว่าการเพิ่มหน่วยรับงบประมาณจาก “กรมส่งเสริมการเกษตร” เป็น “กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมปศุสัตว์ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ผลผลิตและผลลัพธ์โครงการฯ แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยิ่งขึ้น รวมถึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในโครงการอื่นๆ ที่มีกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการฯ จะสามารถขอรับการสนับสนุนโครงการฯ ได้ ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมฯ กำหนดกลไกการตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด
2.
มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ณ เดือนมีนาคม 2564 เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาแนวทางการปรับปรุงงบประมาณของโครงการฯ ให้เป็นไปตามผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.
อนุมัติให้จังหวัดหนองคายยกเลิกและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการภายใต้แผนงานพื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ ประกอบด้วย การยกเลิกโครงการย่อย จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการภายใต้แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญ จำนวน 3 โครงการ และโครงการภายใต้แผนงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จำนวน 1 โครงการ รวมวงเงิน 33,695,620 บาท
และการปรับลดวงเงินของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวร่วมกับปลานิลในบ่อดิน จาก 6,300,000 บาท เป็น 6,089,000 บาท ภายใต้แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญ ตามที่ กระทรวงมหาดไทยเสนอ
4.
มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด กำชับให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ เร่งดำเนินโครงการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายโครงการฯ ได้โดยเร็ว และในกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบมีความประสงค์จะขอยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโครงการฯ จะต้องระบุเหตุผลในการดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐภายใต้โครงการเราชนะในส่วนของการใช้ชำระค่าบริการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการชำระค่าบริการในระบบขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมระบบขนส่งทางอากาศ) พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งประสานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้สิทธิ์ภายใต้โครงการเราชนะให้สามารถรองรับการดำเนินการได้ตามที่เสนอ รวมทั้งกำชับให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะต้องปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดอย่างเคร่งครัด
6.
รับทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขรายละเอียดของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน (โครงการฯ) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากเดิมที่กำหนดให้ “ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ที่ได้มีการจองที่พักในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 สามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2564” เป็น “ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการฯ สามารถเลื่อนการจองที่พักสำหรับการเข้าพักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563เป็นต้นไป ซึ่งการเลื่อนการเข้าพักจะต้องไม่เกินระยะเวลาสิ้นสุดของโครงกรฯ คือวันที่ 30 เมษายน 2564” พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขรายละเอียดของโครงการเราเที่ยวด้วยกันตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเร็ว
27. เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คาดว่าจะตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษหรือดำเนินคดีเสร็จสิ้น จากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย (1.1) กลุ่มแรงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และ (1.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU จำนวน 434,784 คน ได้แก่ (2.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 119,094 คน และ (2.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
3. กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด- 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้วให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถร่วมตรวจโควิด-19 ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนดภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 โดยอัตราค่าตรวจโควิด-19 ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
สำหรับกลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่มีประมาณ 500 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ ให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป
28. เรื่อง มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย และการบรรเทาผลกระทบแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
2. เห็นชอบหลักการตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
3. เห็นชอบหลักการตามร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดินพร้อมอาคารฯ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย กรณีห้องชุดฯ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
4. มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสม
สาระสำคัญ
1.
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1.1
การดำเนินการ
1) เพื่อเตรียมการบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 สศค. เพื่อหารือแนวทางการบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 ในเบื้องต้น โดยที่ประชุมเห็นควร (1) ให้ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ การลดภาษีดังกล่าวควรให้เฉพาะผู้เสียภาษีที่ไม่ได้รับการลดภาษีตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนเกินกว่าระดับที่เหมาะสม และ (2) ให้ขยายระยะเวลาดำเนินการตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ของ อปท. ออกไปจากเดิมเป็นระยะเวลา 2 เดือน
2) ต่อมาประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและผู้ประกอบการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแนวทางการบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 อีกครั้ง โดยมีข้อสรุปให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2564 ในอัตราร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
1.2
วัตถุประสงค์: เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย จึงเห็นควรลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ให้แก่ผู้เสียภาษีเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
1.3
กลุ่มเป้าหมาย: ผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ณ วันที่ 1 มกราคม 2564
1.4
ระยะเวลามาตรการ: สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564
1.5
หลักการและสาระสำคัญ: ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ฉบับที่ (..) พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) มีหลักการและสาระสำคัญ ดังนี้
1) เนื่องจากในปี พ.ศ. 2564 การระบาดของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงเห็นควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม
2) ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
3) ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ดังต่อไปนี้
3.1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
3.2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
3.3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากตาม 3.1) และ 3.2)
3.4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
4) การลดภาษีข้างต้นไม่กระทบสิทธิในการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ
5) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
1.6
การสูญเสียรายได้: คาดว่าจะทำให้ อปท. สูญเสียรายได้ประมาณ 35,545 ล้านบาท จากประมาณจัดเก็บรายได้เดิมในปี 2564 จำนวน 39,515 ล้านบาท
2.
มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
2.1
การดำเนินการ: เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาภาระของประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีข้อสรุปให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563
2.2
วัตถุประสงค์: เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมขายเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมากและเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
2.3
กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
2.4
หลักการและสาระสำคัญ: ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ (1) ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือ (2) ห้องชุดจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอาคารชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
2.5
การสูญเสียรายได้: การดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ อปท. สูญเสียรายได้ประมาณ 5,900 ล้านบาท
3.
การบรรเทาผลกระทบแก่ อปท.
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 และมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ อปท. สูญเสียรายได้รวมประมาณ 41,445 ล้านบาท จึงเห็นควรมอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสมด้วย
29. เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการโดยทั่วไป กระทรวงการคลังจึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.1
วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
1.2
กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี
ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
1.3
ระยะเวลาดำเนินงาน ขยายระยะเวลา 3 เดือน (ถึงวันที่ 30 มิถุนายน
2564)
1.4
วิธีดำเนินงาน ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ของปีภาษี 2563 ที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ การขยายกำหนดวลาดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยออกประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ฉบับ
1.5
สูญเสียรายได้ ไม่สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลื่อนออกไป
1.6
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600 ล้านบาท
2.
การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และการนำส่งหรือการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1
วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
2.2
กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งยื่นแบบแสดงรายการหรือนำส่งภาษี
ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2.3
ระยะเวลาดำเนินงาน เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2564
2.4
วิธีดำเนินงาน
ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีของเดือนมกราคม 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นและนำส่งหรือชำระในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 แล้วแต่กรณี ออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับแบบแสดงรายการดังต่อไปนี้
1) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 1)
2) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 2)
3) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 3)
4) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ และการเสียภาษีตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 53)
5) แบบยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจำหน่ายเงินกำไร ตามมาตรา 70 และตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 54)
6) แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ. 30)
7) แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ. 36)
ทั้งนี้ การขยายกำหนดเวลาดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยออกประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ฉบับ
2.5
สูญเสียรายได้ ไม่สูญเสียรายได้ แต่ส่งผลให้กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเลื่อนออกไป
2.6
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น (1) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นเวลา 5 เดือน เดือนละประมาณ 21,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 107,500 ล้านบาท และ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเวลา 5 เดือน เดือนละประมาณ29,520 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 147,600 ล้านบาท
30. เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens) และอนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนของประเทศไทยรับรองร่างกรอบความร่วมมือฯ ในที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
(กปส. แจ้งว่า เบื้องต้นสำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนประเทศสมาชิกอาเซียนว่าจะมีการรับรองร่างกรอบความร่วมมือฯ ในที่ประชุมฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564)
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกรอบความร่วมมือฯ จะ
เป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมฯ ที่แสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนในการมุ่งเน้นให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ร่างกรอบความร่วมมือฯ เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ประเด็นที่จำเป็นในการพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก ดังนี้
1. แนวคิดหลัก ประกอบด้วย 3 แนวคิด
1.1)
การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
-
ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ความพร้อมในการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (เช่น คอมพิวเตอร์ และแล็ปท็อป)
ควรทำให้คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และคนพิการ
สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การมีโครงการสนับสนุน เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือราคาย่อมเยา ยังเป็นแนวทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล
1.2)
ทักษะความเข้าใจและเทคโนโลยีดิจิทัล
-
ประเทศสมาชิกอาเซียนควรกำหนดทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลที่ประชาชนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน
-
พลเมืองอาเซียนควรมีความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นของความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และการปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์และการโจมตีทางไซเบอร์
1.3)
การมีส่วนร่วมทางดิจิทัล
-
บริษัทต้องออกแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีความครอบคลุมและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ รวมทั้ง
รัฐบาลต้องผลักดันการใช้ดิจิทัลในองค์กรระดับชุมชน ธุรกิจ และองค์กรภาครัฐต่าง ๆ เพื่อการให้บริการทางดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน
2. ประโยชน์สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน
- พัฒนาขีดความสามารถของพลเมืองอาเซียนในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล
- ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ด้านดิจิทัล เช่น ข่าวปลอม
- สนับสนุนธุรกิจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ
3. ระยะเวลาดำเนินการ
- ร่างกรอบความร่วมมือฯ
มิได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการหรือกลไกในการติดตามความคืบหน้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำหนดแนวทางของแต่ละประเทศสมาชิก
31. เรื่อง การเตรียมการด้านงบประมาณสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย ปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อกรอบวงเงินงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 (เจ้าภาพเอเปค) ประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 940.82 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการที่รับผิดชอบภารกิจโดยตรงต่อไป
ทั้งนี้ หากในอนาคตกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีภารกิจที่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาความจำเป็น เหมาะสมของภารกิจและวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณมากเกินความจำเป็น ก่อนเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
ประเทศไทยจะต้องจัดการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคฯ ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – พฤศจิกายน 2565 ประกอบด้วย
ประเภท
การประชุม |
จำนวน
(ครั้ง) |
สาระสำคัญ |
1. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting – SOM) |
5 |
จัดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ประกอบด้วย การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting – SOM) การประชุมคณะกรรมการ (Committee) การประชุมคณะทำงาน (Working Group) และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในห้วงเวลาประมาณ 10 – 15 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน |
2. การประชุมระดับรัฐมนตรี
(APEC Ministerial Meeting – AMM) |
9 |
จัดขึ้นก่อนการประชุมระดับผู้นำ โดยมีการประชุมรายสาขาที่สำคัญ 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีการค้า (Ministers Responsible for Trade – MRT) และการประชุมรัฐมนตรีการคลัง (Finance Minister Meeting – FMM) นอกจานี้ จะมีการจัดประชุมรายสาขาอื่น ๆ ตามวาระหรือหัวข้อสำคัญที่ไทยต้องการผลักดัน เช่น การท่องเที่ยว SMEs และความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น |
3. การประชุมระดับผู้นำ
(APEC Economic Leaders’ Meeting – AELM) |
1 |
จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ใช้เวลาประมาณ 7 วัน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 10,000 คน โดยมีผู้นำเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้นำจากประเทศที่เป็นแขกรับเชิญของเจ้าภาพ องค์การระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ผู้เข้าร่วมการประชุมระดับต่าง ๆ และสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงการประชุมผู้นำจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค การประชุม APEC CEO Summit การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค |
นอกจากการประชุมข้างต้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและ/หรือกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การจัดกิจกรรมสัปดาห์ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Week) และการดำเนินโครงการโรงเรียนเครือข่ายเอเปค เป็นต้น
32. เรื่อง การรับรองแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ (The Sub – Regional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Security) ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ (The Sub – Regional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Security) ครั้งที่ 3 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1) การแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง |
การหารือเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากกลุ่มหัวรุนแรงทั่วโลกยังคงเผยแพร่อุดมการณ์ที่สุดโต่งและแสวงหาผลประโยชน์จากความแตกแยก โดยผนวกประเด็นปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ในเรื่องเล่าและการโฆษณาชวนเชื่อ โดยการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อให้กลุ่มก่อการร้ายและผู้มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงและสามารถเผยแพร่แนวคิดของตนทั่วภูมิภาคได้ |
2) การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายอย่างยั่งยืน |
เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องทุ่มเทในการตอบสนองต่อปัญหาแบบ องค์รวมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การริเริ่มนโนบายสร้างสังคมที่มีความยึดโยงระหว่างกันและทุกคนมีส่วนร่วม ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการตอบสนองที่เป็นไปตามหลักกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่มีความทันสมัยและเหมาะสม |
3) การหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามและแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการกลุ่มนักรบก่อการร้ายต่างชาติ |
- การเดินทางเข้า – ออก ภายในภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่ขัดแย้งของนักรบก่อการร้ายต่างชาติและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่คุกคามความมั่นคงของภูมิภาค
- ความท้าทายด้านสังคมและกฎหมายที่มีความซับซ้อน ซึ่งเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของนักรบก่อการร้ายต่างชาติและสมาชิกในครอบครัวรวมทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระบุตัวตน การย้ายที่อยู่ใหม่ การส่งกลับประเทศต้นทาง
- ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีรูปแบบการดำเนินคดี การบำบัดฟื้นฟู และการกลับเข้าสู่สังคมตามบริบทแต่ละประเทศ แต่การกำหนดแนวทางร่วมกันในการดำเนินคดี การหลุดพ้นจากกลุ่มและแนวคิดก่อการร้าย การบำบัดฟื้นฟู และการกลับเข้าสู่สังคมของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่และแนวปฏิบัติที่ดีในการตอบสนองภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายในภูมิภาค |
4) การมีส่วนร่วมของประชาชน |
- ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สตรี เยาวชน ชุมชน และผู้นำศาสนาในการป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และการสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัว
- บทบาทของภาคประชาสังคมในการช่วยเสริมงานของภาครัฐในการบำบัดฟื้นฟูและนำผู้ที่เคยมีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงและครอบครัวกลับสู่สังคม |
5) ความร่วมมือในการจัดตั้งเวทีหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านนโยบายการต่อต้านการก่อการร้าย |
จัดตั้งเวทีหารือด้านนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้การสนับสนุนของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ เพื่อหาแนวทางและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการประเด็นทางนโยบายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของรัฐและหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ อินโดนีเซียกับออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดประชุมด้านนโยบายครั้งแรกผ่านทางระบบออนไลน์ในปี พ.ศ. 2564 |
33. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2563 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประขุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องรวม 4 ฉบับ] โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 มีสาระสำคัญ เช่น
1.1
การเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG)
- การเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในลักษณะสองประเทศภายใต้ APG มีทั้งหมด 16 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 7,720 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บทโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ระยะที่ 3 ให้สอดรับกับเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนและรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในระดับพหุภาคีในอนาคต
-
เห็นชอบให้มีการขยายโครงการบูรณาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศไทย (ไทย) สหพันธรัฐมาเลเซีย (มาเลเซีย) และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์)
1.2
การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน
- การก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อเชื่อมต่อการส่งก๊าซธรรมชาติข้ามพรมแดน จำนวน 13 แห่ง รวมจำนวนที่สามารถผลิตได้ 38.75 ล้านตันต่อปี
- ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการแบ่งปันองค์ความรู้และยกระดับความสามารถทางเทคนิคแก่คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านปิโตรเลียม
1.3
ถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
เห็นชอบการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศด้านถ่านหินอาเซียนเพื่อรวบรวมข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินเป็นประจำทุกปีและการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งอาเซียนด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
1.4
ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
-
เห็นชอบการเพิ่มเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานลงในปี 2568 จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 32 โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการใช้พลังงานในภูมิภาค
- การสร้างมาตรฐานเดียวกันของระบบเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ส่องสว่างซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงานและส่งผลต่อการลดความเข้มการใช้พลังงานลงให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
1.5
พลังงานหมุนเวียน
- อาเซียนสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ร้อยละ 13.9 และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าที่ร้อยละ 26.8
-
เห็นชอบการเพิ่มปริมาณสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในกำลังการผลิตติดตั้งระบบสายไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 35 ภายในปี 2568
1.6
นโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาค
-
รับทราบสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 - 2563
-
เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2554 - 2568 ซึ่งได้จัดทำเสร็จแล้ว
1.7
พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน
รับทราบการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรประเทศสมาชิกอาเซียน
1.8
การรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38
ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมฯ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
2. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม [สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลี) และญี่ปุ่น] ครั้งที่ 17
2.1 ที่ประชุมมุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานสะอาดเพื่อผลักดันอาเซียนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2
2.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
3. การประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินเดีย นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย) ครั้งที่ 14
3.1
รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้ 1) ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน 2) การเพิ่มเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งและวัตถุประสงค์อื่น ๆ และ 3) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกและการหารือถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจาได้เสนอข้อริเริ่มด้านเทคโนโลยีพลังงานที่สำคัญแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การกักเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน
3.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
4. การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 ได้มีการหารือในประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดผ่านกรอบความร่วมมือและการสนับสนุนให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานได้ทันต่อเหตุการณ์ โดยมีการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 ต่อไป
5. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 4 ได้หารือเกี่ยวกับแนวโน้ม อนาคต และความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดของโลก ซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดในปัจจุบันได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พลังงานสะอาดมีราคาถูกลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากกว่าพลังงานสิ้นเปลืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศได้นำเสนอทิศทางของแผนปฏิบัติการและความก้าวหน้าในการปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรองรับความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอาเซียนให้ไปสู่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนร้อยละ 23 ภายในปี 2568 รวมทั้งได้นำเสนอแผนสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและแผนการจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในภูมิภาค เป็นต้น
6. การหารือทวิภาคีและพหุภาคีอื่น ๆ
6.1
การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
6.1.1
เห็นชอบการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงทางเทคนิคและการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน
6.1.2 รับรองถ้อยแถลงร่วมโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
6.2
การประชุมหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา)
ไทยได้เสนอแนวทางสนับสนุนการพัฒนาด้านไฟฟ้าในเมียนมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับทั้งสองประเทศและสามารถส่งเสริมนโยบายของไทยในการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต เช่น โครงการเชื่อมโยงจุดซื้อขายไฟฟ้าแม่สอด-เมียวดี โครงการลงทุนปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในกรุงย่างกุ้ง การเสนอให้เมียนมาพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานและด้านไฟฟ้าระหว่างไทย-เมียนมาฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิม และการแสวงหาโอกาสในการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-เมียนมา ในอนาคต ทั้งนี้ เมียนมาได้เชิญชวนให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม A6 ในเมียนมาด้วย
7. การประชุมภาคธุรกิจพลังงานอาเซียน ประจำปี 2563 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน และการค้าการลงทุนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต รวมถึงได้มีการประกาศรางวัลพลังงานอาเซียน ซึ่งไทยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 28 รางวัล
8. บทบาทของไทยในการประชุม
8.1 แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น อาเซียนควรให้ความสำคัญในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ การมีเสถียรภาพ มีราคาที่หาซื้อได้และยั่งยืน และสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ดังกล่าวไปด้วยกัน ทั้งนี้ ไทยมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากพลังงานหมุนเวียน โครงการนำร่องปริมาณรับซื้อเบื้องต้น 150 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและศักยภาพการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น
8.2 นำเสนอนโยบายและการพัฒนาพลังงานของไทยให้ที่ประชุมทราบโดยยินดีที่จะส่งเสริมการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบพหุภาคีในอาเซียนเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางพลังงานในภูมิภาคและสนับสนุนความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียนในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ
34. เรื่อง ผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.
ภาพรวม มาเลเซียกำหนดหัวข้อหลักของการประชุม คือ
“การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน การปรับเปลี่ยน การจัดลำดับความสำคัญ ความก้าวหน้า” โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาบริบทของการค้าและการลงทุน (2) การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และ (3) การขับเคลื่อนความยั่งยืนรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญรวม 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ. 2020) (2) วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040และ (3) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 (ตามข้อ 2)
2.
บทบาทของประเทศไทย (ไทย) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอปค ครั้งที่ 2 และร่วมกล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค” นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 โดยไทยเห็นความ จำเป็นของการผลักดัน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ความ
เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล (2) การ
เจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เน้นความสำคัญของการเข้าถึงเงินทุนและเตรียมความพร้อมให้แก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSMES) แรงานในภาคบริการ สตรี และคนหนุ่มสาว และ (3) การ
สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยึดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้ประชาชน โดยมุ่งขจัดความยากจน รวมทั้งเห็นว่า แนวทางความร่วมมือในอาเซียนและเอเปคสามารถสนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้
3.
ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับ ประกอบด้วย
3.1
ผลประโยชน์ด้านการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น การช่วยเหลือนักธุรกิจและ MSMEs การสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์และสินค้าที่จำเป็นของประชาชน การย้ำเจตนารมณ์การเคารพกฎระเบียบการค้าพหุภาคีและการให้สิทธิพิเศษแก่นักธุรกิจ โดยไทยได้เปิดให้นักธุรกิจจาก 10 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ใช้บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปคในการเดินทางเข้าไทยได้แล้ว
3.2
ผลประโยชน์จากนโยบายที่เอเปคผลักดัน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากแผนบทลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม
4. ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับ
ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิก ได้แก่
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
การร่วมมือกันต่อสู้ บรรเทา และฟื้นฟูภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
|
เร่งรัดการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า เวชภัณฑ์ บริการด้านการแพทย์และบุคลากรที่จำเป็น |
อนาคตของเอเปคภายหลังการสิ้นสุดของเป้าหมาย โบกอร์ |
ย้ำความสำคัญของการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้างมีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายใน ค.ศ. 2040 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุม |
การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโปร่งใส และคาดการณ์ได้ |
ยึดมั่นต่อกฎระเบียบทางการค้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน |
การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล |
ส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รับมือและป้องกันภัยด้านสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยพัฒนาทักษะให้ประชาชน โดยเฉพาะสตรี เยาวชน กลุ่มเปราะบางทางสังคม และ MSMEs นอกจากนี้ ควรสร้างสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ปลอดภัย เปิดกว้างเข้าถึงได้ และปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ให้สอดคล้องกัน |
การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน |
เน้นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ขยะทะเล และภัยฉุกเฉินต่าง ๆ การอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง |
5.
มาเลเซียได้ส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้แก่นิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพ คือ “ร่วมกัน ทำงาน และเติบโตไปด้วยกัน” โดยจะเน้นประเด็นการค้าและการลงทุนเป็นหลักเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิของชนกลุ่มน้อย และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
6.
การเตรียมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมาไทยได้รับหน้าที่สำคัญในกรอบเอเปค เช่น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับการประชุมเอเปคประจำ 2564 และ 2565และประธานคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการสำหรับการประชุมเอเปคประจำปี 2564 และสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยใน 2565 ทั้งนี้ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 เป็นยุคปกติใหม่ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก
ไทยสามารถส่งเสริมประเด็นสาธารณสุขที่ไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร (บทบาทการเป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลก) และการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โครงข่ายเศรษฐกิจดิจิทัลและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการนำผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การต่อสู้และบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 การส่งเสริมการค้าการลงทุน การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการดำเนินการตามวาระใหม่เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
35. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม และรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอการแต่งตั้งโฆษก วธ. และรองโฆษก วธ. ดังนี้
1.
นายประสพ เรียงเงิน รองปลัด วธ.
เป็นโฆษก วธ.
2.
นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัด วธ.
เป็นรองโฆษก วธ.
ซึ่ง วธ. ได้มีคำสั่ง วธ. ที่ 4/2564 เรื่อง การแต่งตั้งโฆษก วธ. และรองโฆษก วธ. แล้ว
36. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นายสอาด ตรีพงษ์กรุณา นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563
2.
นางสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง) โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา) โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
37. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง
นายสิทธินันท์ มานิตกุล ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองความมั่นคงภายในประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1.
นางชนิดา กมลนาวิน รองอธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี
2.
นางรุยาภรณ์ สุคนธทรัพย์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3.
นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
39. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1.
นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
40. เรื่อง ผลการสรรหากรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ รายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จำนวน 3 คน แทนรองประธานกรรมการและกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก (ตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560) ตามที่คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกแล้ว ดังนี้
1. นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์
2. นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล
3. นายรักษเกชา แฉ่ฉ่าย
41. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอเลื่อนข้าราชการขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง รวมจำนวน 3 ราย ดังนี้
1. เลื่อน
นางเทพวัลย์ ภรณวลัย รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการเด็กและเยาวชน ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. เลื่อน
นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3. เลื่อน
นางจตุพร โรจนพานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)