http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (22 ธันวาคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. ....
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ. ....
11. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
12. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
13. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
14. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ....
15. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
16. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
พ.ศ. ....
17. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564
18. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงยุติธรรม
19. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
20. เรื่อง รายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1
21. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563
22. เรื่อง รายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562
23. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ของกระทรวงคมนาคม
24. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพ การแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน
25. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
26. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
27. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568)
28. เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
29. เรื่อง การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
30. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประชาชน ปี 2564
31. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2564
32. เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564
33. เรื่อง ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 กระทรวงพลังงาน
34. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ ปี 2564 (กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง)
35. เรื่อง การลงนามหนังสือความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี
36. เรื่อง บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ของประเทศไทยสำหรับการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต
ค.ศ. 2003 รอบที่ 2
37. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
38. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 7 รวมทั้งการประชุมที่เกี่ยวข้อง
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
41. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
43. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
44. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (กระทรวงวัฒนธรรม)
45. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
46. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
47. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
48. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์
49. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง
50. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)
51. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ อว. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ อว. เสนอ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยสร้างกลไกให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
2. กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
3. กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
4. กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี
5. กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใด ๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ
6. กำหนดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัตินี้
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ สธ. เสนอ
3. ให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. ด้วยในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรบางท้องที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งได้มีการอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และได้ออกข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งตามพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อให้ส่วนราชการนำไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สามารถรองรับหรือใช้บังคับกับบางสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้ ทำให้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตามข้อ 1. แล้ว ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ได้ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกยกเลิกตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สามารถใช้ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้อย่างทันสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกัก หรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ
3. สธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้โดยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค (
www.ddc.moph.go.th) ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2563 และระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2563 และ สธ. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร
2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรค หรือผู้ที่เป็นพาหะ
3. กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกันหรือแยกกักโรค รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดดังกล่าวได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง
4. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใด ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
5. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
6. กำหนดให้ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้การแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใด ๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
8. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการหรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
9. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่งหรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ สผ. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 180 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ แต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 42 (2) บัญญัติให้การแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และมาตรา 86 บัญญัติให้การออกจากราชการของข้าราชการรัฐสภาสามัญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ออกจากราชการเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ กรณีจึงไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 180 เนื่องจากเป็นกฎหมายซึ่งตราขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลใช้บังคับ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ในมาตรา 42 และมาตรา 86 ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2563 วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภากฎหมายและระเบียบ (อ.กร. กฎหมายและระเบียบ) ด้วยแล้ว
3. สผ. ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์
www.parliament.go.th ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2563 และจัดให้มีการส่งความเห็นทางระบบสอบถามและระบบประเมินออนไลน์ของสำนักงานสารสนเทศ รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเกิดผลกระทบและประโยชน์ ดังนี้
3.1 ผลประโยชน์แก่ประเทศ สังคม และประชาชน ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการประชาชน และมิได้เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญดังกล่าว จะส่งผลให้ส่วนราชการมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะช่วยให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดปัญหาการตีความข้อกฎหมาย
3.2 ความพร้อมและต้นทุนของรัฐในการปฏิบัติตามและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีอัตรากำลังคนที่ต้องใช้เพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่ส่วนราชการต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับขั้นตอนในการดำเนินการหรือเสนอเรื่อง
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ดังนี้
1. กำหนดให้การบรรจุและแต่งตั้งให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาแล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
2. กำหนดให้การออกจากราชการของข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ดำรงตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออกจากราชการ เว้นแต่ออกจากราชการเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือออกจากราชการเพราะถูกลงโทษ
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้การใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี ถ้ายานยนตร์นั้นจะต้องผ่านสถานที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม ผู้ใช้ยานยนตร์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ณ สถานที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกบัตรไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าผู้ใช้ยานยนตร์นั้นได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว หรือชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรอัตโนมัติหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนด
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี สรุปได้ดังนี้
1.1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ใช้ยานยนตร์ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเงินสด
1.2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดเพิ่มวิธีการเสียค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์โดยการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติได้อีกวิธีหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าธรรมเนียมแก่ประชาชนผู้ใช้ยานยนตร์ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
1.3 กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี พ.ศ. 2558 ออกตามความในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ใช้ยานยนตร์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเงินสดหรือโดยชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติ
2. เนื่องจากปริมาณการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีปริมาณจราจรผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเฉลี่ยประมาณ 57,000 คันต่อวัน ในปี พ.ศ. 2562 มีปริมาณจราจรมากกว่า 300,000 คันต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด แออัด บริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียม กรมทางหลวงได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้เพิ่มจำนวนช่องจราจรและช่องเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง แต่การเพิ่มจำนวนช่องเก็บเงินมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ พื้นที่และการเวนคืนพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างขยายช่องเก็บเงินจนเต็มพื้นที่เขตทางเกือบทั้งหมดแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System) แบบมีไม้กั้นเรียกว่าระบบ M-Pass พร้อมทั้งได้เชื่อมต่อระบบ M-Pass เข้ากับระบบ Easy-Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถ (On Board Unit : OBU) ร่วมกัน นอกจากนี้ แม้จะได้ปรับปรุงสภาพทางกายภาพของด่านเก็บค่าธรรมเนียม การเพิ่มเจ้าหน้าที่บริหารจัดการการจราจรบริเวณหน้าด่านแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่หน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง
3. กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะ ผลการศึกษาเทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าความสามารถในการระบายรถของการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางในรูปแบบต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
3.1 การจัดเก็บด้วยเงินสด (Manual Toll Collection System : MTC) ระบายรถได้ประมาณ 400 – 550 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
3.2 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC) แบบมีไม้กั้น ซึ่งเป็นการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติ (M-Pass) ระบายรถได้ประมาณ 800 – 900 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
3.3 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบของช่องทางเดี่ยว (Single Lane Free-Flow : SLFF) ระบายรถได้ประมาณ 1,200 – 1,500 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
3.4 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบหลายช่องทาง (Multi Lane Free-Flow : MLFF) ระบายรถได้มากกว่า 2,000 คัน/ช่อง/ชั่วโมง
4. ที่ปรึกษามีความเห็นว่าแนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 แบบไม่มีไม้กั้น ซึ่งมีการปรับใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบการอ่านหมายเลขทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automatic License Plate Recognition : ALPR) ร่วมกับการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification : AVI) เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้บริการและมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางภายหลังการใช้บริการ (Post – Paid) ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการชำระค่าผ่านทางได้ผ่านหลากหลายช่องทางการชำระเงิน เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต การตัดเงินผ่านบัญชีธนาคาร แอปพลิเคชันของธนาคาร และการใช้ QR Code เป็นต้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมทางหลวง ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น จึงใช้ชื่อว่า “ระบบ M – Flow” โดยจะเริ่มดำเนินการนำร่องบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ที่ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 สำหรับรถยนต์ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางหลวงพิเศษ
5. กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินโครงการ “งานติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow System Infrastructure)” บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 รวมถึงโครงการ “งานจ้างบริหารจัดการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M – Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9” โดยว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมทางหลวงในด้านเทคนิคสำหรับการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นดังกล่าว ตามแผนจะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างเพื่อจัดหาและติดตั้งระบบงานต่าง ๆ และเปิดให้บริการระบบ M – Flow ภายในต้นปี พ.ศ. 2564 โดยใช้แหล่งเงินจากทุนหมุนเวียนค่าธรรมเนียมที่กรมทางหลวงจัดเก็บได้ ทั้งนี้ การนำระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) มาใช้ในการจัดเก็บและชำระค่าธรรมเนียมบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นการเพิ่มวิธีการเสียค่าธรรมเนียมโดยการชำระค่าธรรมเนียมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเก็บค่าธรรมเนียมแบบบัตรอัตโนมัติ M – PASS ตามกฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเสนอขอออกกฎกระทรวงนี้
6. คค. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ คค. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ คค. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตประกาศกำหนด สามารถเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ เพื่อรองรับธุรกรรม/นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ (Final Technology) ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลางที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อสามารถนำส่งข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มธุรกิจที่ตั้งต้นใหม่ (Start-up) ให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีข้อมูลประวัติทางการเงินในระบบ อันจะช่วยให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยลดการกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่ม Start-up ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เพราะไม่มีประวัติการขอสินเชื่อในฐานข้อมูลของระบบข้อมูลเครดิต
โดย คค. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ข้อมูลเครดิต” และบทนิยามคำว่า “สมาชิก” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ”
2. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการและข้อห้ามในการเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ ดังนี้
2.1 กำหนดให้บริษัทข้อมูลเครดิตแจ้งเป็นหนังสือแก่เจ้าของข้อมูลทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดเผยหรือให้ข้อมูล เว้นแต่เป็นข้อมูลโดยรวมของสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด (สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อที่บริษัทข้อมูลเครดิตรับเข้าเป็นสมาชิก) ให้แจ้งแก่สมาชิกผู้นั้นทราบ
2.2 ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูล
(1) บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ประมวลผลข้อมูล สมาชิก หรือผู้ใช้บริการ
(2) ผู้ซึ่งรู้ข้อมูลจากการทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ตาม (1)
(3) ผู้ซึ่งรู้ข้อมูลจากบุคคลตาม (1) และ (2)
3. กำหนดหน้าที่ของผู้ใช้บริการในการใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อ การออกบัตรเครดิต การนำข้อมูลของลูกค้ามาจัดทำแบบจำลองด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และต้องไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้อื่นที่ไม่มีสิทธิรับรู้ข้อมูล
4. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อไว้เป็นการเฉพาะ ดังนี้
4.1 กำหนดให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อแทนผู้จะให้สินเชื่อเท่านั้น
4.2 กำหนดให้สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อนำข้อมูลของลูกค้าของตนที่ได้รับจากบริษัทข้อมูลเครดิตมาใช้จัดทำแบบจำลองด้านเครดิตได้
4.3 กำหนดให้สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้บริการหรือการขึ้นค่าบริการโดยเหตุอันเนื่องมาจากการได้รับรู้ข้อมูลของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งแหล่งที่มาของข้อมูลดังกล่าว ให้ลูกค้ารายนั้นทราบเป็นหนังสือ
5. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อถือปฏิบัติ ดังนี้
5.1 กำหนดโทษสำหรับสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ หากนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในกรณีจัดทำแบบจำลองด้านเครดิตที่นอกเหนือจากเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อแทนผู้ที่จะให้สินเชื่อ และการบริหารความเสี่ยงในกิจการของผู้ที่จะให้สินเชื่อ
5.2 กำหนดโทษสำหรับสถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการ หากไม่แสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้บริการหรือการขึ้นค่าบริการโดยเหตุอันเนื่องมาจากการได้รับรู้ข้อมูลของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งแหล่งที่มาของข้อมูลดังกล่าว ให้ลูกค้ารายนั้นทราบเป็นหนังสือ
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย และให้ คค. ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างหรือขยายถนนโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อและตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2555 เพื่อสร้างทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับ 4 ปี (ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559) ได้สิ้นผลการบังคับใช้แล้ว ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาใช้บังคับได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนต้องดำเนินโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จึงได้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001
2. ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้รับงบประมาณในการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. สิ้นผลใช้บังคับแล้ว จึงได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนโลจิสติกส์ และการขนส่งในพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบกับพื้นที่สองข้างทางของถนนดังกล่าวมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาขนาดใหญ่ มีหอพักจำนวนมาก และมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่หลายโครงการ จึงต้องมีการพัฒนาโครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้วให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
3. กรมทางหลวงชนบทมีความจำเป็นจะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้การสร้างทางหลวงชนบทตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ และเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งทางบกอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด
4. กรมทางหลวงชนบทได้ศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 816.19 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 17.51 % อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.52 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต โครงการก็จะมีความเหมาะสมมากขึ้นอีก
5. ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างถนนสร้างใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ชนิดผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.00 – 3.00 เมตร พร้อมเกาะกลาง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 4.864 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ122 ไร่ มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมณ 65 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 2,625 ล้านบาท
แผนการดำเนินการ มีดังนี้ (1) กำหนดราคาและจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2565 - 2566 และ (2) เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2567 - 2569ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมมีผู้เห็นด้วยกับโครงการ ร้อยละ 68.97 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณแจ้งว่า จะจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 มีส่วนแคบที่สุด 200 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 1,600 เมตร
7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ อว. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 24 บัญญัติให้ผู้จ้างงานเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงานที่ผู้จ้างงานจัดหาหรือส่งมอบให้ หรือเนื่องจากผู้จ้างงานไม่จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน หรือกรณีอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ณ สถานที่ทำงาน ทั้งนี้ การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง รง. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพ ที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. .... เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และผู้รับงานไปทำที่บ้านมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเป็นธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับความคุ้มครองและมีสวัสดิการการรักษาพยาบาล รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. ในคราวประชุมคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทายาท ผู้จัดการศพ หรือผู้มีส่วนได้เสียแจ้งให้ผู้จ้างงานทราบโดยเร็ว เมื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย พร้อมทั้งแสดงเอกสารในแต่ละกรณี
2. กำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง
3. กำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
4. กำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าทำศพในอัตรา 40,000 บาท กรณีผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย
5. กำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือค่าทำศพ แล้วแต่กรณีโดยมิชักช้า นับแต่ได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กับร่างกฎกระทรวงฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ กษ. เสนอ เป็นการกำหนดให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้ อันจะทำให้การบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ สวพส. เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการทางปกครองแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ รง. เสนอ เป็นการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับการทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานที่ดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “ทำงานในที่สูง” “นั่งร้าน” และ “อาคาร”
2. กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานในที่สูง ที่ลาดชัน ที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ และที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรับวัสดุ โดยอย่างน้อยต้องระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน การวางแผนการปฏิบัติงาน และการป้องกันและควบคุมอันตราย รวมทั้งต้องอบรมหรือชี้แจงให้ลูกจ้างทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงานและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
3. กำหนดให้ในการประกอบ การติดตั้ง การตรวจสอบ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะ และคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย และจัดให้มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตราย
4. กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่สูง นายจ้างต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน เช่น จัดให้มีนั่งร้าน กรณีที่ลูกจ้างทำงานในที่สูงตั้งแต่สี่เมตรขึ้นไป ต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก ตาข่ายนิรภัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใด กรณีที่ลูกจ้างทำงานในที่สูงเกินหกเมตรขึ้นไปต้องใช้บันไดไต่ชนิดตรึงกับที่ที่มีความสูงเกินหกเมตรขึ้นไปต้องดูแลบันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ เป็นต้น
5. กำหนดให้กรณีที่มีการลำเลียงวัสดุสิ่งของขึ้นหรือลงจากที่สูง นายจ้างต้องจัดให้มีราง ปล่อง เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการลำเลียง เพื่อป้องกันอันตรายจากวัสดุสิ่งของกระเด็นหรือตกหล่น และต้องกำหนดเขตอันตรายในบริเวณพื้นที่ โดยติดป้ายเตือนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
6. กำหนดให้ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในบริเวณหรือสถานที่มีลักษณะที่อาจพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เช่น ถัง บ่อ กรวย และบนภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุที่มีความสูงตั้งแต่สี่เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้นที่มั่นคงแข็งแรง จัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มั่นคงแข็งแรงล้อมรอบภาชนะที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกลงไปได้ และต้องให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัย หรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงานด้วย
11. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. ตามที่พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.1 แก้ไขบทนิยามคำว่า “ข้าราชการ” โดยตัด “ข้าราชการฝ่ายตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และข้าราชการฝ่ายอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ” ออกจากบทนิยาม
1.2 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทางโดยพาหนะรับจ้างและพาหนะส่วนตัว
1.3 กำหนดชั้นโดยสารเครื่องบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. กค. พิจารณาแล้ว เพื่อให้การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาในข้อ 1. จึงดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น
จึงได้เสนอร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าสามารถอนุมัติระยะเวลาในการเดินทางไปราชการก่อนเริ่มปฏิบัติราชการหรือหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติราชการ ในกรณีผู้เดินทางมีความจำเป็นต้องเดินทางเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
2. กำหนดให้การเดินทางไปราชการในท้องที่ที่มีค่าครองชีพสูงหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้หัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลพินิจอนุมัติเบิกจ่ายค่าที่พักสูงกว่าอัตราที่ระเบียบกำหนด เพิ่มขึ้นอีกไม่เกินร้อยละ 25 เฉพาะการเบิกค่าเช่าที่พักแบบจ่ายจริง
3. กำหนดให้การเดินทางไปราชการให้ใช้ยานพาหนะประจำทาง และให้เบิกค่าพาหนะได้เท่าที่จ่ายจริงโดยประหยัด ไม่เกินสิทธิที่ผู้เดินทางจะพึงได้รับตามประเภทของพาหนะที่ใช้เดินทาง โดยให้เบิกค่าพาหนะได้ไม่เกินอัตราตามเส้นทางที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปราชการ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางในเส้นทางอื่น
4. กำหนดผู้เดินทางที่สามารถเบิกเงินค่ารับรองได้เท่าที่จ่ายจริง (ยกเลิกสิทธิในการเบิกค่ารับรองในการเดินทางไปราชการของผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา หรือประธานศาลอุทธรณ์ ออก เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560)
5. กำหนดค่าโดยสารเครื่องบิน กรณีผู้ให้ความช่วยเหลือไม่ออกค่าโดยสารเครื่องบิน หรือได้รับความช่วยเหลือค่าโดยสารเครื่องบินเพียงเที่ยวเดียว ให้เบิกค่าโดยสารเครื่องบินไป – กลับ หรือค่าโดยสารเครื่องบินอีกหนึ่งเที่ยว ได้ตามสิทธิของผู้เดินทาง หรือกรณีได้รับความช่วยเหลือค่าโดยสารเครื่องบินในชั้นที่นั่งต่ำกว่าสิทธิของผู้เดินทาง ให้เบิกค่าโดยสารเครื่องบินสมทบตามสิทธิของผู้เดินทาง
6. กำหนดการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ โดยการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับหัวหน้าคณะผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ และตำแหน่งตามที่กำหนด ต้องไม่เกินสิทธิของหัวหน้าคณะนั้น (ยกเลิกสิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการตุลาการและข้าราชการอัยการ และตัดตำแหน่งระดับ 9 ขึ้นไป ออก เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560)
7. ยกเลิกความในบัญชีท้ายระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และกำหนดบัญชีหมายเลขใหม่แทน
12. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้
รง. เสนอว่า
1. เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานโดยเฉพาะครอบครัวมีรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ ต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น ดังนั้น
เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยจ่ายให้กับผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 และผู้เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39
2. ในคราวประชุม
คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 20/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับเพิ่มประโชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เป็นเหมาจ่ายในอัตรา 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน โดยให้ดำเนินการเสนอเพื่อแก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และ
คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 และได้รับรองมติการประชุมแล้ว
3. รง. ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตร
โดยการจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 1 (รัฐบาล) ของค่าจ้าง มีการใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 0.62 ยังมีเงินคงเหลือในกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรในอัตราร้อยละ 0.38 การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.62 ของค่าจ้างเป็นร้อยละ 0.82 ของค่าจ้างในปี พ.ศ. 2564 ทำให้เหลือเงินสำรองสำหรับการจ่ายบำนาญชราภาพลดลงเหลือร้อยละ 0.18 ซึ่ง
การเพิ่มประโยชน์ทดแทนสงเคราะห์บุตรดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมในส่วนของเงินชราภาพอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้
การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนดีขึ้น และจะทำให้ค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเป็นเงิน “
จากเดิมในอัตรา
600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน”
เป็นในอัตรา “
800 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน”
2.
กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
3. ผู้ใดมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 และยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามกฎกระทรวงนี้ ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
13. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการล่วงหน้าแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 4 มกราคม 2564
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า เนื่องจากวันหยุดราชการประจำปี กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นวันหยุดสิ้นปี และวันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564 เป็นวันหยุดขึ้นปีใหม่ ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 รวม 4 วัน ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางซึ่งคาดว่าจะมีปัญหาจราจรติดขัดยาวหลายกิโลเมตร เนื่องจากประชาชนรอชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน การยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ Covid -19 รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ จึงเห็นสมควรให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 4 มกราคม 2564
14. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... สาระสำคัญ ดังนี้
1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2546 และยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2556
2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 ให้รัฐบาลนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.05 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 1.85 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลปรับเป็น ร้อยละ 1.45 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลปรับเป็น ร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตนตามบัญชี ก.
3) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ข.
15. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
ทั้งนี้ มท. เสนอว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 16/2563 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้เพิ่มระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวเป็นระยะเวลา 15 วัน สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามที่กำหนดในมาตรา 34 (4) (8) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ตามข้อ 13 (3) และ (4) แห่งกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 และมอบหมายให้ มท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
มท. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ทั้งประเภทที่ต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลและประเภทที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา ซึ่งมีระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยคนต่างด้าวดังกล่าวต้องเข้ารับการกักกันเป็นเวลา 14 วัน ทำให้มีระยะเวลาไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับการอนุญาต จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวประเภทดังกล่าวอีก 15 วัน รวมเป็น 45 วัน ตั้งแต่วันที่ .. ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
16. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ประกอบกับจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก โดยพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า 6 จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นจังหวัดพื้นที่โดยรอบจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนายจ้างทำให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราวและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง จึงเห็นควรนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร่งด่วน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
2. “เหตุสุดวิสัย” หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3. ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎกระทรวงนี้
4. ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผลกระทบให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีปฏิทินมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทุกครั้งรวมกันไม่เกินเก้าสิบวัน
17. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2564 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกและไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เผชิญข้อจำกัดมากขึ้นจากมาตรการคุมการระบาด (2) ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และ (3) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ e- Commerce และการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) หลังการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ยังเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลัง (กค.)และ ธปท. จะได้มีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานกันมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินของไทยที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยในปัจจุบัน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (Policy Trade – off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงพร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสานเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.
เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2564
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 - 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ เป้าหมายแบบช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง
3.
การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน
กค. และ ธปท. จะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไปอันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
4.
การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย
กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปจะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอมริกาและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
5.
การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
18. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงยุติธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งให้ใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รวมทั้งสิ้น 200 อัตรา ตามมติ คปร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ดังนี้
1. นร. (สำนักงาน ก.พ.ร.) จำนวน 30 อัตรา
2. นร. [สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)] จำนวน 94 อัตรา
3. ยธ. (กรมบังคับคดี) จำนวน 76 อัตรา
สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของส่วนราชการดังกล่าวให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนด
โดยการอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัด นร. (สำนักงาน ก.พ.ร. และ สทนช.) และ ยธ. (กรมบังคับคดี)
รวมทั้งสิ้น 200 อัตรา จะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 52,093,200 บาทต่อปี สรุปได้ ดังนี้
ส่วนราชการ |
ตำแหน่งข้าราชการที่ คปร. เห็นชอบ |
ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เพิ่มขึ้น |
ตำแหน่งข้าราชการ |
จำนวน
(อัตรา) |
ต่อเดือน
(บาท) |
ต่อปี
(บาท) |
(1) สำนักงาน ก.พ.ร. |
นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการหรือชำนาญการ |
30 |
624,900 |
7,498,800 |
รวม |
30 |
624,900 |
7,498,800 |
(2) สทนช. |
ระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการ |
นักวิเคราะห์
นโยบายและแผน |
54 |
1,124,820 |
13,497,840 |
นักวิเทศสัมพันธ์ |
2 |
41,660 |
499,920 |
วิศวกรชลประทาน |
18 |
374,940 |
4,499,280 |
นิติกร |
10 |
238,300 |
2,859,600 |
ระดับปฏิบัติงานหรือชำนาญงาน |
นายช่างโยธา |
10 |
155400 |
1,864,800 |
รวม |
94 |
1,935,120 |
23,221,440 |
(3) ยธ.
(กรมบังคับคดี) |
ระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการ |
|
นิติกร |
66 |
1,572,780 |
18,873,360 |
|
นักวิชาการเงิน
และบัญชี |
6 |
124,980 |
1,499,760 |
|
นักวิชาการ
คอมพิวเตอร์ |
4 |
83,320 |
999,840 |
รวม |
76 |
1,781,080 |
21,372,960 |
รวมทั้งสิ้น (1) + (2) + (3) |
200 |
4,341,100 |
52,093,200 |
ทั้งนี้ นร. (สำนักงาน ก.พ.ร) มีแผนการบริหารจัดการอัตรากำลังหมุนเวียนสำหรับการบรรจุข้าราชการผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) หมุนเวียนปีละ 3 รุ่น รุ่นละ 50 คน และ นร. (สทนช.) และ ยธ. (กรมบังคับคดี) มีแผนที่จะดำเนินการคัดเลือก การสรรหา บรรจุ และแต่งตั้งบุคคล เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงานภายในระยะเวลา 1 ปี
19. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 สิงหาคม 2560) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่งเป็นมาตรการที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ประกอบด้วย 1) มาตรการทางด้านการตลาด (Marketing) 2) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ออกแบบและบูรณาการระบบ (System Integrator: SI) 3) มาตรการสร้างอุปทาน (Supply) 4) มาตรการจัดตั้ง Center of Robotics Excellence (CoRE) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการส่งเสริมการใช้งานด้านต่าง ๆ และ 5) มาตรการด้านอื่น ๆ เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
2. ความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระหว่างปี 2561-2563 เช่น
2.1
การลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวมประมาณ 1.67 แสนล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ สถานประกอบการเดิมมีการลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 92 กิจการมูลค่ารวมประมาณ 13,894 ล้านบาท
2.2
การจัดตั้ง CoRE เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานชั้นนำด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศรวม 15 หน่วยงาน และรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี โดยในปี 2562 ได้มีการพัฒนาความพร้อมของ SI และผู้ใช้งานให้มีความสามารถทางวิศวกรรมระบบ รวม 770 คน และผลักดัน Startup ที่เป็น SI 35 กิจการ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SI และผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับประยุกต์ใช้ในโรงงานรวม 85 ต้นแบบ ต่อมาในปี 2563 ได้พัฒนา SI อย่างต่อเนื่องรวม 625 คน บ่มเพาะ Startup 35 กิจการ และพัฒนาหุ่นยนต์ จำนวน 100 ต้นแบบ
2.3
การฝึกอบรมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวม 2,612 คน และยกระดับ SI ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ CoRE กำหนด โดยปัจจุบันมี SI ที่ขึ้นทะเบียนกับ CoRE แล้วจำนวน 68 ราย
2.4
การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งใช้ในการบริหารจัดการเครือข่าย CoRE ในรูปแบบ Web Service ประกอบด้วย 1) ระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองคุณสมบัติของ SI 2) ระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม 3) ระบบการรับรองกิจการที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 4) ระบบเพื่อการใช้สิทธิยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 5) ระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2.5
โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) โดยการพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่เอื้อต่อการยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ทั้งในส่วนของการพัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
2.6
การร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SI ในประเทศ และผลักดัน SI ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต
2.7
การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Industrial Transformation Platform ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างครบวงจร
3. ปัญหา อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
3.1
ปัญหาและอุปสรรค ในปัจจุบันระบบอุตสาหกรรมภายในประเทศมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการใช้งาน SI เพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (มูลค่ารวมประมาณ 11,519 ล้านบาท) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศ ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญ ดังนี้
3.1.1 ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องการปรับปรุงระบบที่หลากหลายโดยไม่สามารถหา SI ที่ตอบสนองความต้องการแบบเบ็ดเสร็จได้
3.1.2 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องการใช้ระบบอัตโนมัติอย่างง่าย แต่ขาดการเชื่อมโยง SI ในภูมิภาคที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจ SMEs ธุรกิจชุมชนและอุตสาหกรรมการเกษตรในภูมิภาค รวมทั้งมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์
3.1.3 SI ในประเทศมีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถรับงานที่มีความซับซ้อนได้
2.1.4 ธนาคารพาณิชย์ขาดความรู้ในการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้การปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการลงทุนเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเกิดความล่าช้า
2.1.5 CoRE มีปัญหาในการบริหารจัดการเนื่องจากเป็นการรวมตัวของหน่วยงานต่าง ๆ ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือและต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาองค์กรของ CoRE และทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมขาดความต่อเนื่อง
3.2
โอกาสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คาดว่า จะทำให้การผลิตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้กันมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้หุ่นยนต์ในสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและภาคการบริการ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไทย ทั้งนี้ แผนการดำเนินการในระยะต่อไปจึงควรเน้นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการ SI ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น
4. แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระยะต่อไป
4.1 เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในประเทศอย่างครบวงจรเพื่อปรับระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยยกระดับระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ CoRE ให้เป็น Platform เพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ โดยเพิ่มกลไกการคัดเลือก SI การจัดทำสัญญาการควบคุมโครงการ และการบริหารโครงการ
4.2 พัฒนาระบบอัตโนมัติอย่างง่ายที่เหมาะสมกับบริบทของ SMEs ในภูมิภาค ซึ่งต้องการเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน บำรุงรักษาง่าย และมีมูลค่าต่อโครงการที่ไม่สูงมาก รวมทั้งเพิ่มจำนวน SI ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้มีจำนวนเพียงพอเพื่อรองรับการขยายตัวและความต้องการของระบบดังกล่าว
4.3 ส่งเสริมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้วยการเชื่อมโยงต้นแบบงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยจัดทำพื้นที่ซึ่งเรียกว่า Tech transfer to Commercial และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Testbed หรือ Sandbox เพื่อลดความเสี่ยงของ SI ในการทดลองรับงานนวัตกรรมใหม่ ๆ
4.4 บูรณาการการทำงานเครือข่าย CoRE กับผู้ประกอบการ SI เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในประเทศ และให้คำปรึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรวมทั้งยกระดับการทำงานของเครือข่าย CoRE ให้มีรูปแบบทางธุรกิจในการหารายได้ เช่น การขึ้นทะเบียน SI การตรวจสอบรับรองคุณสมบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ในอนาคต CoRE ควรมีสถานะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบองค์การมหาชนหรือกิจการเพื่อสังคมและพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีความยั่งยืน
20. เรื่อง รายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1 [เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45) มาตรา 6 ที่บัญญัติให้ในการกู้เงินในแต่ละคราวต้องรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันนับแต่วันทำสัญญากู้หรือวันออกพันธบัตรหรือตราสารอื่น] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กค. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45 ก่อนครบกำหนดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 โดยการ
ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching)
วงเงิน 4,277 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ กค. รับแลกเปลี่ยน (Source Bond) จำนวน 1 รุ่น คือ พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB236A ครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 และพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ กค. กำหนดเพื่อนำมาแลกเปลี่ยน (Destination Bond) จำนวน 2 รุ่น ประกอบด้วย
1.1 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ รุ่น LB256A อายุ 4.61 ปี จำนวน 1,767 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.950 ต่อปี
1.2 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ รุ่น LB29DA อายุ 9.12 ปี จำนวน 2,510 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.600 ต่อปี
2. กค. ได้ออกประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ดังกล่าวเพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วยแล้ว
21. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้า
ยุทธศาสตร์ชาติ
และการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ |
ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
- เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) ภายใต้แนวคิด “ล้มแล้ว ลุกไว” โดยมี 4 ประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานของรัฐใช้แผนดังกล่าวเป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็นต่อไป (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563)
- เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน ... ประกอบด้วย (1) หลักการ (2) ความจำเป็น (3) สาระสำคัญ (4) การดำเนินการภายหลังแผนได้รับการประกาศใช้ และ (5) การขอยกเว้นการเสนอแผนปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2560) |
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ |
- ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน โดยมีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวมทั้งสิ้น 62 กิจกรรม กฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุง รวมทั้งสิ้น 45 ฉบับ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อแผนประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
(1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกิจกรรมแผนปฏิรูปฉบับเดิม ในลักษณะภารกิจปกติของหน่วยงานควบคู่กับการดำเนินกิจกรรม Big Rock
(2) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักตามกิจกรรม Big Rock ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน
(3) ให้ สงป. ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้กิจกรรม Big Rock เพื่อให้เกิดการแปลงแผนการปฏิรูปประเทศไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
(4) ให้ สศช. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนและติดตามในระดับนโยบาย และให้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน/โครงการที่ดำเนินการภายใต้กิจกรรม Big Rock ของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อไป [คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563] |
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ |
- รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 และ 30 พฤศจิกายน 2563 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) โดยจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ชาติกับเรื่องและประเด็นปฏิรูปภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศและกิจกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลในเชิงปฏิรูป
- ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ eMENSCR พบว่า จำนวนแผนที่หน่วยงานนำเข้าแผนยังน้อยกว่าจำนวนหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ สศช. เร่งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากระบบ eMENSCR นอกจากนี้ สศช. ได้พัฒนาระบบ eMENSCR ในส่วนของการบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และประสานหน่วยงานซึ่งมีโครงการสำคัญประจำปี 2565 ให้จัดทำรายละเอียดโครงการให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อให้ สงป. ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณและติดตาม ตรวจสอบ และประเมิณผลการได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Super eMENSCR) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับต่าง ๆ
- อยู่ระหว่างจัดทำสื่อวีดิทัศน์โครงการสร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยถ่ายทอดเรื่องราวการทำความดีสอดแทรกแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จำนวน 5 ตอน ประกอบด้วย (1) สุดยอดวัยรุ่นยุคใหม่เมืองสุพรรณฯ ใช้เวลาว่างเป็นสัปเหร่อจิตอาสา (2) ศูนย์อาสาสมัครศิริราช (3) ตัดผมไปบริจาคเพื่อทำวิกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง (4) เปิดใจ “2 หนุ่มนักท่องเที่ยว” เดินหิ้วกระสอบ เก็บขยะตามชายหาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และ (5) อาสาตอบจดหมาย ตอบจดหมายนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์ |
2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ |
ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงในการบรรลุเป้าหมาย คือ การเร่งรัดปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการทำงาน สร้างความพร้อมให้แก่บุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติงานและการก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังกำหนดให้มีการจัดส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการต่าง ๆ เช่น เอกสารประกอบการประชุม การอนุมัติ ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
22. เรื่อง รายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 รวมทั้งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.
ผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562
1.1
การดำเนินการในปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจจำนวนรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง โดยระบบการประเมินผลฯ เป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำระบบคุณภาพมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ การยกระดับการบริหารจัดการข้าสู่มาตรฐานระดับสากล การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้กับระบบงานต่าง ๆ ขององค์กร การยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ และการพัฒนาระบบบริการสาธารณะจากการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง
1.2
สถานภาพและผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1.2.1
ณ สิ้นปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจในระบบประเมินผลฯ มี
สินทรัพย์รวม 15.90 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 4.37 มี
รายได้รวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.55 และค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 1.37 จากปี 2561 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม
ความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวม และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 6.46 และ 3.94 ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราส่วนร้อยละ 6.62 และ 4.37 ตามลำดับ
1.2.2
สาขาที่มีกำไรสุทธิมากที่สุด คือ สาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน และสาขาขนส่ง ตามลำดับ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
1.2.3
รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสุทธิ มีจำนวน 15 แห่ง (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมี 11 แห่ง) ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
1 บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การจัดการน้ำเสีย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การสะพานปลา องค์การคลังสินค้า (อคส.) การยางแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
2.
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผล
หัวข้อ |
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ภาพรวม |
· รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องทบทวนและปรับตัวให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติใหม่และความปกติรูปแบบถัดไป ทั้งในส่วนของกระบวนการทำงาน การให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และการวางแผนบุคลากร
· รัฐวิสาหกิจต้องเตรียมการรองรับหรือมีแผนสำรองทางธุรกิจ และเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงในมุมมองต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันกาลเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
· รัฐวิสาหกิจในสาขาขนส่ง สื่อสาร พลังงาน และสาธารณูปการ ควรศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนแทนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน และใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมจากภาคเอกชน |
สาขาเกษตร |
รัฐวิสาหกิจสาขาเกษตรทั้งหมดมีผลการประเมินในระดับต่ำ โดย อ.ต.ก. และ อคส. มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่ง อ.ต.ก. ประสบปัญหาสภาพคล่องและ อคส. มีปัญหาการจัดทำรายงานทางการเงิน รวมทั้งภารกิจด้านการบริหารตลาดสินค้าของ อตก. และการบริหารคลังสินค้าของ อคส. มีเอกชนดำเนินการได้ดี จึงต้องเร่งทบทวนบทบาทหรือพิจารณาการคงอยู่ของรัฐวิสาหกิจสองแห่งดังกล่าวก่อนที่จะเกิดความเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน |
สาขาทรัพยากรธรรมชาติ |
รัฐวิสาหกิจสาขาทรัพยากรธรรมชาติมีผลการประเมินดีขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คณะกรรมการมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วน และการบริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว |
สาขาสื่อสาร |
· บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) ต้องเร่งจัดทำแผนการบริหารตลาดและรายได้ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และพิจารณาความเสี่ยง ต่าง ๆ เพื่อรองรับการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการลงทุนในอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบ 5G และต้องร่วมกันวางแผนงานเกี่ยวกับระบบ 5G และการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรองรับกรณีการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 (เรื่อง การควบรวมกิจการของ บมจ. กสท. และ บมจ. ทีโอที) ด้วย
· บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต้องเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
· การทบทวนสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท.) เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบัน บมจ. อสมท. ประสบปัญหากระแสเงินสด ความสามารถในการแข่งขัน และการดำเนินกิจการ จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ |
สาขาพลังงาน |
· รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานและการให้บริการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และควรปรับปรุง/ขยายการดำเนินงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอนาคต
· การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้โดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว รวมถึงวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตในอนาคตด้วย |
สาขาขนส่ง |
ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
· การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมทั้งหมดให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรองรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ การเดินทางของประชาชน และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
· การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหรือการติดตามการดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและพัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความทันสมัย
· การเพิ่มการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
· รัฐวิสาหกิจที่มีสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น รฟท. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์ให้มีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อลดภาระการขาดทุน |
สาขาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ |
ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
· การมุ่งเน้นการพัฒนาบริการและขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
· การปล่อยสินเชื่อให้รอบคอบยิ่งขึ้นและการหาแนวทางป้องกันสินเชื่อเดิมไม่ให้เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น
· การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่น นำฐานข้อมูลที่มีมาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการติดตาม รวมทั้งควรรายงานผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี เพื่อให้สามารถติดตามและกำหนดนโยบายแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
· การบริหารเงินกองทุนและความเสี่ยงให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ และการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีการด้อยค่าของสินทรัพย์ และประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการบริหารความเพียงพอของเงินกองทุน
· การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความเข้าใจให้บุคลากรยอมรับต่อ การเปลี่ยนแปลงและการจัดการความรู้
· การเตรียมการรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยฉบับที่ 9
· การแบ่งปันทรัพยากรระหว่างรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบการทำงานพื้นฐานของธนาคารและระบบบริการธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ |
สาขาสาธารณูปการ |
ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
· การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายขอบเขตการบริการ รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และสร้างโอกาสให้กับประชาชน
· การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และยกระดับการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
· การบริหารโครงการลงทุนต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือ เช่น การบริหารโครงการและการป้องกันความเสี่ยง |
สาขาสังคมและเทคโนโลยี |
ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
· การเร่งติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย และการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
· การทบทวนทิศทางและเป้าหมายของการดำเนินงานให้มีความชัดเจน
โดยการเทียบเคียงคู่เทียบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่อไป
· การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจหลักให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
สาขาอุตสาหกรรม
และพาณิชยกรรม |
ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
· การพิจารณาทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
· การศึกษาความต้องการของตลาดหรือความต้องการของลูกค้าให้ชัดเจน ก่อนเริ่มการพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่องค์กร
· การทบทวนความเหมาะสมและความจำเป็นของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งเดิม |
_______________________
1 พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563
23. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ของกระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ของ คค.
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการขอรับการสนับสนุนตามที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.
ประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขของจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์โดยมีงบประมาณที่ทั้ง 2 จังหวัดเสนอมาเบื้องต้น 1,018.55 ล้านบาท ดังนี้
1.1
จังหวัดบุรีรัมย์
ประเด็นปัญหา |
แนวทางแก้ไขปัญหา |
การขอรับสนับสนุนงบประมาณ |
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน |
(1) การขาดแคลนน้ำบริเวณบ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก |
ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำบ้านท่าม่วงในรูปแบบผสมผสาน มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้ง และระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก |
- |
(2) การขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด |
- ก่อสร้างสถานีสูบน้ำใหม่ บริเวณฝายบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ
- ก่อสร้างคลองผันน้ำจากลำปะเทียมาเติมในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด |
863 ล้านบาท |
ด้านโลจิสติกส์ |
(1) การยกระดับจุดผ่านแดนถาวรช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด |
ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา (บางส่วน) เพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่ในพื้นที่ที่จะยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร |
15 ล้านบาท |
(2) พัฒนาโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 348 |
ขยายช่องจราจรเป็นแบบ 4 ช่องจราจรในช่วงที่มีปัญหาการจราจรติดขัด |
- |
(3) ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองประโคนชัย ทางเลี่ยงเมืองนางรอง และทางเลี่ยงเมืองบุรีรัมย์ |
ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) |
- |
ด้านอื่น ๆ |
(1) การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินบริเวณบ้านบัว ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ |
ตรวจสอบแนวเขตและเนื้อที่สาธารณประโยชน์ให้ชัดเจนก่อนออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน |
- |
(2) รายได้เกษตรกรลดลง (ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ) |
เร่งรัดการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวและการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ |
- |
(3) ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอย |
ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการขยะแบบรวมกลุ่มโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม |
- |
(4) การส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา |
ส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) |
- |
1.2
จังหวัดสุรินทร์
ประเด็นปัญหา |
แนวทางแก้ไขปัญหา |
การขอรับสนับสนุนงบประมาณ |
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน |
(1) การขาดแคลนน้ำที่อ่างเก็บน้ำสุวรรณาภา อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างอำปึล และฝายยางบ้านตระแสง |
- สูบน้ำจากลำห้วยเสนงมาเติมอ่างเก็บน้ำสุวรรณาภา
- ทำท่อระบายน้ำคอนกรีตรูปทรงสี่เหลี่ยมลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 24
- ปรับปรุงเสริมฝายพับได้บนสันทางน้ำล้นของอ่าง
- ขุดลอกอ่างเก็บน้ำให้มีความลึกจากแนวระดับน้ำเดิม
- ขอปรับปรุงฝายยางเป็นฝายพับได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านฝายได้ดียิ่งขึ้น |
135 ล้านบาท |
(2) ทางหลวงหมายเลข 2378 ตอนอำเภอจอมพระ – อำเภอสตึก และทางหลวงหมายเลข 226 ตอนสุรินทร์ – ห้วยทับทัน ยังมีบางช่วงที่ยังเป็น 2 ช่องจราจรทำให้เดินทางไม่สะดวก |
ปรับปรุงถนนและเพิ่มช่องทางจราจรเป็น 4 ช่องทาง และเร่งรัดการจัดทำ EIA |
- |
ด้านการค้าชายแดน |
(1) การเข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอมแห่งใหม่เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทับซ้อนของ 3 หน่วยงาน |
เร่งรัดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทบทวนการขออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อขยายพื้นที่ด่านศุลกากรและให้บริการประชาชนต่อไป |
- |
ด้านอื่น ๆ |
(1) ประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่ครอบครองอยู่ |
ขอให้พิจารณายกเลิกเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ |
- |
(2) ควาญช้างและช้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) |
แก้ไขปัญหาช้างตกงานจำนวน 180 เชือก เชือกละ 10,800 บาท/เดือน เป็นเวลา 8 เดือน |
15.52 ล้านบาท |
(3) เส้นทางที่ใช้ในการเดินทางเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยระไซร์เป็นถนนดินลูกรัง ทำให้มีความยากลำบากในการเดินทาง |
ปรับปรุงและซ่อมแซมถนนให้เป็นถนนลาดยางเพื่อสะดวกต่อการสัญจรเข้าแหล่งท่องเที่ยว |
25 ล้านบาท |
(4) รายได้เกษตรกรลดลง |
ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยให้ราคาข้าวเปลือกเพิ่มสูงขึ้น |
- |
(5) การช่วยเหลือครัวเรือนยากจนจำนวน 11,635 ครัวเรือน |
สนับสนุนให้เลี้ยงโคเนื้อ ไก่เนื้อพันธุ์พื้นเมือง และแพะ |
- |
(6) ส่วนราชการใช้พื้นที่ด้านฝั่งทิศใต้ของจังหวัดสุรินทร์โดยไม่ได้รับอนุญาต |
มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป |
- |
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ดังนี้
2.1
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 อย่างเคร่งครัด โดยให้ประเมินผลและรายงานให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบ รวมทั้งเร่งรัดการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มมีการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ โดยให้ประสานจังหวัดใกล้เคียงเพื่อร่วมกันจัดหาสถานที่กักตัวของรัฐและจัดการระบบการขนส่งผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2
ด้านภัยแล้ง ให้พิจารณาหาแนวทางการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจศึกษาต้นแบบการดำเนินการของจังหวัดเลยในเรื่องการกักเก็บและระบบการส่งน้ำมาใช้ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม และส่งเสริมให้หน่วยงานราชการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยรณรงค์การปลูกต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน และในพื้นที่ในความดูแลของหน่วยงานและพื้นที่ป่า
2.3
ด้านที่ดินทำกิน ให้พิจารณาหาแนวทางในการจัดสรรที่ดินทำกินตามนโยบายของภาครัฐ โดยเน้นการจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงชีพโดยแท้จริง
2.4
ด้านการท่องเที่ยว ให้พัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดให้มีความทันสมัยและน่าสนใจ เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดมากยิ่งขึ้น
2.5
ด้านความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้สำรวจข้อมูลและทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
2.6
ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ให้สำรวจพื้นที่ที่ยังมีความต้องการให้มีการพัฒนาเพิ่มเติมจากที่ คค. ได้ดำเนินการหรือมีแผนงานที่จะพัฒนาไว้อยู่แล้วและประสาน คค. ทราบต่อไป
2.7
ด้านอื่น ๆ ให้ คค.
ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่
คณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่ เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ และ
คณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการขอใช้พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอมแห่งใหม่ จังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ให้ทุกส่วนราชการในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและยึดแนวทางการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล
3. คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการนำผลการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ของ คค. ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
ตัวอย่างประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ |
กค. (เช่น กรมศุลกากร) |
· การเข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอม |
กก. (เช่น สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์) |
· การเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ |
กษ. (เช่น สำนักงานชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) |
· การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
· การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตร |
ทส. (เช่น สำนักงานทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) |
· การพิจารณาขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา (บางส่วน) เพื่อก่อสร้างอาคารช่วงรับการยกระดับจุดผ่านแดนถาวรช่องสายตะกู
· การแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอย
· การช่วยเหลือควาญช้างและช้างที่ได้รับผลกระทบจาก Covid – 19
· การแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ป่าของส่วนราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต |
พณ. (เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์) |
· การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยให้ราคาข้าวเปลือกเพิ่มสูงขึ้น |
มท. (เช่น สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์) |
· การแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน
· การซ่อมแซมถนนดินลูกรัง |
24. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพ การแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพ การแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพ การแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ
ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ผลกระทบจากการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร 2) ผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน และ 3) ผลกระทบจากการจำกัด เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีก (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสัเกตและข้อเสนอแนะดังกล่ว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ยธ. เสนอว่า ได้ร่วมประชุมหรือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรมการกฤษฎีกา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยพิจารณาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
1. ผลกระทบจากการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร
1.1 การยกเลิกไม่ให้พลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร โดยยกเลิกพระราชบัญญัติ กฏอัยการศึก พุทธศักราช 2557 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 7 ตรี เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฏอัยการศึกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน ซึ่งเห็นว่ากฎอัยการศึกป็นกฎหมายที่ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและความมั่นคงของรัฐ เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล โดยในเขตที่ประกาศใช้กฏอัยการศึกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะดดีอาญาบางประเภทที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือนเท่านั้นไม่ได้มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาทุกดดีความ นอกจากนี้ การพิจารณาคดีในศาลทหารยังมีหลักปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจาก พลเรือนเนื่องจากนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีรวมทั้งมีการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของพลเรือน เช่น สิทธิในการเข้าถึงทนายความ สิทธิในการได้รับการประกันตัว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นคงกฎอัยการศึกไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อย่างไร ก็ตาม หากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนในศาลทหาร เช่น การที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลทหารชั้นต้นต่อศาลที่ลำดับชั้นสูงขึ้นไป หรือการพิจารณาคดีที่ล่าช้ากระทบต่อสิทธิที่จะได้รับ การพิจารณคดีในเวลาที่เหมาะสมของจำเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันต่อไป
1.2 ยธ. เสนอว่า หากจะให้ศาลทหารมีอำนาจโดยเด็ดขาดในการพิจารณาพิพากษาคดีแก่พลรือน ควรกำหนดเฉพาะในความผิดอาญาบางประเภทที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และในส่วนกฎอัยการศึกนั้นเห็นว่ายังคงเป็นกลไกทางกฎหมายที่ยังมีเหตุผลความจำเป็นของการมีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2. ผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน
2.1 การใช้มาตรการทางปกครองที่เหมาะสม ทั้งการชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ การมีคำสั่งตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งการพิจารณากำหนดมาตรการทางปกครองต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายมีการคำนึงถึงความเหมาะสมกับพฤติการณ์และผลกระทบที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กระบวนการตามกฎหมาย รวมทั้งได้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาราณชนให้รับทราบ อันเป็นการดำเนินงานตามมาตรการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระเบียบว่าด้วยการรักษา
ความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 และระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและสืบค้นข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
2.2 ยธ. เสนอว่า การเสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เกี่ยวกับการกำหนดให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจใน การสั่งห้ามการเสนอข่าวแม้จะยังไม่ถูกยกเลิก แต่โดยปัจจุบันไม่มีเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยออกคำสั่งได้ซึ่งทำให้คำสั่งไม่มีสภาพบังคับ ส่วนกรณีให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการควบคุมและลงโทษสื่อซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ มีกระบวนการและกลไกทางกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการพิจารณา การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปโดยสุจริต
และได้ให้สิทธิแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการที่จะโต้แย้งการใช้อำนาจได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว รวมทั้งหากมีความจำเป็นจะต้องมีการพิจารณายกเลิกหรือแก้ไขประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. จะต้องดำเนินการโดยกระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นของการยกเลิก และดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติดังกล่าว
3. ผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน
3.1 การเสนอให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช. ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหลักการและแนวทางในการเสนอกฎหมายและการปรับปรุงแก้ไขหรือยกลิกกฎหมายไว้แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาเหตุผล ความจำเป็นและดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. และในส่วนของการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพิจารณาดำเนินการ หากกมีการแก้ไขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมจะต้องพิจารณาและดำเนินการให้เป็นไปตาม
กฎหมายนั้นต่อไป รวมทั้งการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวโดยมีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้ว
3.2 ยธ. เสนอว่า การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เมื่อพิจารณาถึงประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนจะมีการแบ่งประเภทของการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เป็น 3 ประเภท คือ การห้ามชุมนุมทางการเมือง การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวและการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวซึ่งประกาศและคำสั่งดังกล่าวได้มีการยกเลิกไปแล้วบางฉบับ แต่ปัจจุบันได้มีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. หรือคำสั่ง
หัวหน้า คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวแล้ว
25. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาธารณะ ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ รวม 7 ประเด็น ได้แก่ 1) หลักการและวัตถุประสงค์ของกฎหมาย 2) หน้าที่ของรัฐในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 3) การร้องขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ 4) ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยไม่ได้ 5) การร้องเรียนในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ให้ข้อมูลข่าวสาร 6) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 7) ระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สปน. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สปน. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และได้จัดทำสรุปผลการพิจารณาแนวทางความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยสรุปว่าร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเพิ่มบทนิยาม คำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาธารณะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กำหนดเพิ่มเติมในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทางระบบดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และให้บุคคลอาจยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารอื่นต่อหน่วยงานของรัฐได้ โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ขอภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับคำขอ นอกจากนี้ได้แก้ไขและกำหนดเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยไม่ได้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งครอบคลุมข้อมูลข่าวสารที่คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตแล้ว สำหรับประเด็นการพิจารณาความสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นั้น ได้มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายให้เชื่อมโยงสอดคล้องกันโดยโอนอำนาจหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาเป็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และในส่วนของการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย หากพบว่ากฎหมายมีปัญหาในการบังคับใช้ก็สามารถเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขได้
26. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 มาตรา 9 ประกอบพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 ที่บัญญัติให้ในการกู้เงินแต่ละครั้ง กค. ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญากู้) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program (Loan Numbers 3945/3949-THA) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เพื่อ
กู้เงินวงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยรายละเอียดสัญญาเงินกู้ดังกล่าวมีสาระสำคัญและเงื่อนไขเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ทุกประการ
2. กค. ได้ส่งประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการกู้เงินดังกล่าวไปเพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วยแล้ว
27. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณและการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.
สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2565 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 (ค่ากลางร้อยละ 3.5) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) สำหรับในปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) และจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 – 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ในปี 2567 และร้อยละ 3.2 – 4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) ในปี 2568 และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 ในปี 2566 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 ในปี 2567 และร้อยละ 0.9 – 1.9 ในปี 2568
2.
สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับ 2,400,000 2,490,000 2,619,500 และ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดทำประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายทางภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับ3,100,000 3,200,000 3,310,000 และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2565 - 2568 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 700,000 710,000 690,500และ 669,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 3.9 3.6 และ 3.4 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับร้อยละ 57.6 58.6 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ
3.
เป้าหมายและนโยบายการคลัง
การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ส่งผลกระทบให้ภาคเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังได้ดำเนินนโยบายและมาตรการทางการคลังโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเยียวยา พื้นฟู และกระตุ้นศรษฐกิจจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 ที่ก่อให้เกิดการขาดดุลเงินสดมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ และเงินคงคลังลดลง จึงต้องระมัดระวังการบริหารจัดการสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ภายใต้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลางจำเป็นต้องมีการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์ที่ผ่านมาและพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวยังควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด โดยมีประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลาง ดังนี้
ปีงบประมาณ |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 |
2568 |
รายได้รัฐบาลสุทธิ |
2,677,000 |
2,400,000 |
2,490,000 |
2,619,500 |
2,750,500 |
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
(2.0) |
(10.3) |
3.8 |
5.2 |
5.0 |
งบประมาณรายจ่าย |
3,285,962.5 |
3,100,000 |
3,200,000 |
3,310,000 |
3,420,000 |
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
2.7 |
5.7 |
3.2 |
3.4 |
3.3 |
ดุลการคลัง |
(608,962.5) |
(700,000) |
(710,000) |
(690,500) |
(669,500) |
ดุลการคลังต่อ (GDP)
ร้อยละ |
(3.7) |
(4.0) |
(3.9) |
(3.6) |
(3.4) |
หนี้สาธารณะคงค้าง |
9,081,326 |
9,772,428 |
10,409,697 |
10,971,967 |
11,458,221 |
หนี้สาธารณะคงค้าง
ต่อ (GDP) (ร้อยละ) |
56.0 |
57.6 |
58.6 |
59.0 |
58.7 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวม
ในประเทศ (GDP) |
16,550,200 |
17,328,000 |
18,090,500 |
18,940,700 |
19,906,700 |
ที่มา : กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะผ่านแนวทางการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 3Rs ประกอบด้วย (1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ (2) Reshape หรือการปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ และ (3) Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ ดังนี้
3.1
Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ โดยในระยะสั้น และระยะปานกลาง รัฐบาลควรมุ่งเน้นการทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในระยะยาวจะต้องวางแผนปฏิรูประบบภาษีอากร และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร เพื่อให้รายได้จากภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศต่อไป
3.2
Reshape หรือการปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ โดยดำเนินการควบคุมการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนสำคัญต่าง ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมทั้งชะลอ ปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรกำหนดกลยุทธ์ในการจัดโครงสร้างแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
3.3
Resilience หรือ การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะผ่านการกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อให้ Portfolio หนี้รัฐบาลมีภูมิคุ้มกันรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ในอนาคตได้ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศเพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ดำเนินกลยุทธ์การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงของเครื่องมือในการกู้เงินและตอบสนองนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม เป็นต้น
28. เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
ตามที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 16 และมาตรา 32 กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ซึ่งได้แก่งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับแผนงานบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 - 2565 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งหน่วยรับงบประมาณสามารถดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการให้แล้วเสร็จตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สำนักงบประมาณขอเสนอ ดังนี้
1. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงบประมาณได้พิจารณาแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ประเด็น จึงกำหนดให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 11 แผนงานบูรณาการซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
รายละเอียดแผนงานบูรณาการปรากฏตามเอกสารแนบ
ทั้งนี้ แผนงานบูรณาการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ปรับเปลี่ยนเป็นแผนงานยุทธศาสตร์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค
2. มอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการจำนวน 11 แผนงาน ดังกล่าว เห็นสมควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ต่อไป) รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ดังนี้
2.1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จำนวน 3 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
3) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
2.2 นายวิษณุ เครืองาม จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
2) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
2.3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
2) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
2.4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
2) แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
2.5 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โดยให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแผนงานบูรณาการตามที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่และอำนาจบริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้องปราศจากการทุจริตรวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 และระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
29. เรื่อง การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ มีรายละเอียด ดังนี้
1.
วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
2.
กลุ่มเป้าหมาย บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
3.
ระยะเวลาดำเนินงาน สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
4.
วิธีดำเนินงาน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5.
สูญเสียรายได้ คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 200 ล้านบาท
6.
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี จะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนหนึ่ง แต่จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการจัดการประชุมและนิทรรศการ รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
30. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับประชาชน ปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบของขวัญปีใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับประชาชน ปี 2564 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ปี 2564 ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ดังนี้
1. การพัฒนาที่อยู่อาศัย
1.1 โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” จำนวน 20,000 หน่วย โดยการสร้างบ้านเช่าราคาถูก สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ข้ารราชการชั้นผู้น้อย หรือข้าราชเกษียณอายุ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ ซึ่งมีค่าเช่าหลังละ 999 ถึง 3,500 บาท/เดือน โดยพิจารณาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีบ้านสำหรับพักอาศัยได้ในราคาประหยัด
1.2 ปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้าน สำหรับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 25,064 หลัง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ที่มีสภาพบ้านไม่มั่นคง ปลอดภัย โดยสนับสนุนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมที่อาจเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ในวงเงิน 20,000 - 40,000 บาท ต่อหลัง (ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน) ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ
2. 1300 ทั่วไทย สายด่วน พม. “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สร้างความอุ่นใจ อยู่ใกล้ประชาชน” มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ภายใน 24 ชั่วโมง โดยการขอความช่วยเหลือจะเป็นการต่อตรงไปยังจังหวัดนั้น ๆ หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ (ทีม One Home พม.) จะจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือในทันที ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ
31. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน ปี 2564 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงแรงงานขอมอบของขวัญปีใหม่ ปี 2564 ให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินของกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 และงวดที่ 13 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดสัญญา คิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลยื่นคำขอกู้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มบุคคลกู้ไม่เกิน 300,000 บาท กำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 สิงหาคม 2564 และทำสัญญากับกรมการจัดหางานให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 กรอบวงเงิน 7,000,000 บาท
2. การลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน โดยนำส่งในอัตราจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เป็นฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 486,192 แห่ง และผู้ประกันตน จำนวน 12.7 ล้านคน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลงรวมจำนวน 15,660 ล้านบาท
3. การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผ่านระบบ Online ฟรี พร้อมกันทั่วประเทศ หลักสูตรที่เปิดฝึกทักษะฝีมือ ได้แก่ การเขียนโปรแกรมประมวลผลภาพและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop การประยุกต์ใช้ Excel Advance การบริหารสินค้าคงคลัง การประยุกต์ใช้งาน Internet of Things (IOT) สำหรับการเกษตรเทคนิคการใช้ Excel Advance เพื่อจัดการฐานข้อมูล การสร้างช่อง YouTube for Marketing การขายสินค้าออนไลน์ การเขียนคอนเทนต์เพื่อเพิ่มยอดขาย และการสร้างอินโฟกราฟฟิก เพื่อนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ฯลฯ โดยฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ (Application Zoom Meeting)
4. การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการมีประสิทธิภาพ การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานลดลงหรือไม่เกิดขึ้น โดยประสานหน่วยงานฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงาน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายนายจ้าง/ลูกจ้าง โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564
5. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร/คลอดบุตร สำหรับผู้ประกันตน
(1) การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/เดือนต่อบุตร 1 คน เป็นเหมาจ่ายในอัตรา 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์จำนวน 1.362 ล้านคน เป็นเงิน 13,739 ล้านบาท/ปี
(2) การเพิ่มสิทธิกรณีคลอดบุตรและฝากครรภ์
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจากเดิมอัตรา 13,000 บาทต่อครั้ง เป็นเหมาจ่ายในอัตรา 15,000 บาทต่อครั้ง
- ค่าฝากครรภ์จากเดิม 3 ครั้งในอัตรา 1,000 บาท เป็น จำนวน 5 ครั้ง ในอัตรา 1,500 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร 293,073 คน/ปี เป็นเงิน 4,396 ล้านบาท กรณีฝากครรภ์ ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ 122,114 ครั้ง/ปี เป็นเงิน 36.6 ล้านบาท
32. เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวง โดยให้ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) โดยคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ประกอบรายงานการประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 24.00 นาฬิกา ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเสนอและอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำเรื่องการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษทั้งสองสายทางดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
33. เรื่อง ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 กระทรวงพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินการแผนงาน/โครงการในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 ดังนี้
1. การลด/ตรึงราคาพลังงาน
1.1 กำหนดตรึงราคาน้ำมัน โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่ รวมมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท
1.2 การขยายระยะเวลาการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กำหนดราคาที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมมูลค่า 1,890 ล้านบาท
1.3 การปรับลดอัตราค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จากเดิม -12.43 สตางค์ เป็น -15.32 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 2.89 สตางค์
ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 400 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท
1.4 ขยายเวลายกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ผู้ประกอบการ กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบ COVID-19 จะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 ได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่า 150 ล้านบาท
2. การมอบคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5
โครงการช้อปหารสอง โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจกคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว จำนวน 25,000 สิทธิ์ และคูปองส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าชุมชน กฟผ. จำนวน 17,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมมูลค่า 15.8 ล้านบาท
3. การมอบคูปองส่วนลดสำหรับที่พักที่เขื่อน กฟผ.
โครงการเที่ยวหารสอง โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจกคูปองส่วนลดครึ่งราคาที่พักเขื่อน กฟผ. จำนวน 10,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวมมูลค่า 23 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนงาน/โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 ของกระทรวงพลังงาน คิดรวมเป็นมูลค่า ประมาณ 3,829 ล้านบาท
34. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ ปี 2564 (กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2564 มอบให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ โดยมีโครงการ/กิจกรรมที่สำคัญ เช่น
กค. (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ)
สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้จัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2564 ดังนี้ 1. ธนาคารออมสิน มอบเงิน 500 บาท ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อ และเพิ่มรางวัลพิเศษของสลากออมสิน Digital “ฉลองปีใหม่ 64” จำนวน 20 รางวัล 2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ลูกค้าสำหรับหนี้เงินกู้ จัดชั้นปกติ และ NPLs 3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โอนเงินของขวัญปีใหม่จำนวน 1,000 บาท และ 500 บาท แก่ลูกค้าผู้ได้รับสิทธิ 4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน แก่ SMEs เติมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม และจัดมหกรรม “SMEs D Shopping” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มยอดขายสินค้าและช่องทางขายสินค้า 5. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ช่วยจัดสรรการผ่อนชำระ ลดอัตราดอกเบี้ย และลดค่างวดผ่อนชำระให้แก่ลูกหนี้ 6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยผู้ประกอบการเริ่มต้น ธุรกิจส่งออกและผู้ประกอบการ SMEs สามารถยื่นขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งยกเว้น/ลดค่าวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้เอาประกันรายใหม่/รายเดิม 7. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา และค่าประเมินหลักประกันสำหรับลูกค้าที่ขอใช้บริการสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และให้อัตรากำไรพิเศษสำหรับลูกค้าทั่วไป
กษ.
1. กิจกรรมมอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง ประชาชน และเกษตรกรได้รับประโยชน์ 1,776,595 คน เช่น โครงการชลประทานขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและระบายน้ำ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ให้กับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก “ช้อปวิถีใหม่ ส่งสุขทั่วไทยถึงหน้าบ้าน” 2. กิจกรรมเสริมพลังปีใหม่ จำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพ ประชาชนและเกษตรกรได้รับประโยชน์ 7,905 คน เช่น การจัดหาสินค้าดีมีคุณภาพ เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร 3. กิจกรรมเพิ่มสุขปีใหม่ เที่ยวทั่วไทย สุขใจไปกับ กษ. มี 3 กิจกรรมย่อย ดังนี้ (1) การเปิดสถานที่ราชการ ปรับภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว เช่น ศูนย์วิจัยข้าว แม่ฮ่องสอน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (2) การเปิดสถานที่ให้ประชาชนเข้าชมฟรี/ลดค่าบริการ เช่น สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ กทม. พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก (3) การให้บริการจุดบริการประชาชน เช่น จุดพักรถ ห้องน้ำ ขนมและน้ำดื่ม
ดศ.
1. บริการส่ง SMS เพื่อแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ไปยังประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2. บริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 3. บริการโทรศัพท์ประจำที่ของ บมจ. ทีโอที ทุกเลขหมาย (Fixed Line) ระหว่าง วันที่ 30 ธ.ค. 63 ถึงวันที่ 2 ม.ค. 64 4. บริการโทรหาหรือส่งคำอวยพรปีใหม่ให้ผู้ที่อยู่ในต่างประเทศได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถึง 00.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2564 5. โครงการส่งการ์ดอวยพรช่วงเทศกาลปีใหม่ 64 โดยงดเว้นค่าตราไปรษณียากร ผ่านบริการไปรษณีย์ 6. โครงการให้ส่วนลด ร้อยละ 20 สำหรับการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ จากผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าชุมชนบนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com
พณ.
1. พาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน “New Year Grand Sale 2021” โดยผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ มากกว่า 16,900 สาขา ทั่วประเทศ ลดราคาสินค้าสูงสุดร้อยละ 80 เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง และของใช้ประจำวัน 2. มหกรรมธงฟ้าต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 64 โดยนำสินค้าอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ร้อยละ 20-40 3. งานแสดงและจำหน่ายสินค้า เช่น (1) งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่มีคุณภาพโดดเด่นจาก Farm Outlet และ Organic Farm Outlet ที่เซ็นทรัลเวสต์เกต และเซ็นทรัลปิ่นเกล้า (2) ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาดชุมชนในพื้นที่ ส่วนภูมิภาคช่วงเทศกาลหยุดยาว ณ จ. นครศรีธรรมราช มหาสารคาม เลย ชลบุรี น่าน ชัยภูมิ และเชียงใหม่ 4. กิจกรรมส่งเสริมความรู้ในการประกอบธุรกิจ เช่น (1) สัมมนาตรวจสุขภาพ คู่ค้าเสริมคาถาธุรกิจ มอบโปรโมชันประกันการส่งออกในอัตราพิเศษ จาก Exim Bank (Exim for Small Biz) ในวงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาท (2) สอนใช้แพลตฟอร์ม Tik Tok ในการทำธุรกิจ โดยกูรูออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านกิจกรรม Workshop “ครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ ปี 64” รับผู้สนใจกว่า 400 ราย ณ อาคารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่
มท.
1. สถานธนานุบาลของ อปท. ทั่วประเทศ (251 แห่ง) พร้อมใจลดอัตราดอกเบี้ย เช่น (1) เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท 2 เดือนแรก ไม่คิดดอกเบี้ย หลังจากนั้นคิดอัตรา ดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน (2) เงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.0 ต่อเดือน 2. กทม. ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางและลดความแออัดของการรับบริการโดยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล โดยดำเนินการ เช่น (1) พัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ Mobile lab โดยการจัดบริการเจาะเลือด เก็บปัสสาวะถึงบ้าน (2) จัดยาไปมอบให้ที่บ้าน (3) นำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วย ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ 3. กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำโครงการเผยแพร่องค์ความรู้ตามกฎหมายควบคุมอาคาร (พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) ให้มีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว 4. พัฒนา Mobile Application ภายใต้ชื่อ “SmartLands” ที่รวบรวมช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการของกรมที่ดินไว้ที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 5. การประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวงลดค่าติดตั้งประปาใหม่ ร้อยละ 10 ระยะเวลา 2 เดือน สำหรับผู้ใช้น้ำรายใหม่
วธ.
วธ. ได้ดำเนินโครงการ “ส่งสุขวิถีใหม่ สืบสานวิถีไทย ปลอดภัยสร้างสรรค์” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ดังนี้ 1. กิจกรรมเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่น การงดเว้นค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การเปิดให้บริการหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินในวันหยุดสิ้นปี 2. กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ส่งความสุขแบบไทย เช่น การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้าน โครงการสืบศาสตร์ สานศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ กิจกรรมรณรงค์ปีใหม่ไทยใช้ของไทย ส่งความสุขแบบไทย เป็นของขวัญปีใหม่
ศธ.
1. การเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน โดยคำนวณเพิ่มค่าอาหารกลางวันที่เหมาะสมตามขนาดโรงเรียนในช่วง 21-36 บาท/คน/วัน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสม และแบ่งเบาภาระของครู ในการใช้งบฯ เพื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับอาหารกลางวันนักเรียน 2. กิจกรรมอาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยจัดบริการจุดพักคนและจุดพักรถ จำนวน 259 จุดบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ให้บริการเครื่องดื่ม กาแฟ ผ้าเย็น สอบถามข้อมูลเส้นทาง และตรวจสภาพรถ 3. โครงการปฏิบัติการตรวจเข้มข้นรถโดยสาร หมวด 2 และหมวด 3 เพื่อให้ประชาชนกว่า 1.6 ล้านคน มีความปลอดภัยในการเดินทาง และนักเรียน นักศึกษา จำนวน 9,500 คน ได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ จากการทำงานในสถานที่จริง
สธ.
โครงการคนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน เพื่อให้คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน (หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข หมอครอบครัว) ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา และฟื้นฟูสภาพ
อก.
1. กิจกรรมจัดงาน OUTLET มหกรรมสินค้าราคาโรงงาน ณ บริเวณโดยรอบ อก. (ระหว่างวันที่ 22-25 ธ.ค. 63) และส่วนภูมิภาค (ภายในเดือน ม.ค. 64) 2. การดูแลเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ เช่น โครงการเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย ระบบประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โครงการเหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน ปีที่ 4 3. การลดภาระ เสริมสภาพคล่อง และยกระดับผู้ประกอบการ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักร การลดค่าบริการการใช้ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี การลดหย่อนภาษี 1.25 เท่าสำหรับการซื้อพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ
กห.
กห. ได้กำหนดแผนงาน/โครงการ “เติมความสุขให้คนไทย ตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ จากใจทหาร” โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้ 1. การจัดเตรียมกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน 2. การจัดตั้งจุดบริการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น การจัดจุดพักรถ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การให้บริการข้อมูลการเดินทาง การบริการสุขาเคลื่อนที่ 3. การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวทางทะเล จำนวน 6 จุด 4. การจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคราคาถูกภายในพื้นที่ของหน่วยทหารทั่วประเทศ จำนวน 80 แห่ง 5. การเปิดแหล่งท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ในเขตทหาร 35 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าบริการ 6. การให้บริการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวทางศาสตร์พระราชา จำนวน 30 แห่ง ในหน่วยทหารทั่วประเทศ
กค.
1. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 โดยภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน 2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 โดยช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน 3. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนา ภายในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายตามจริง 4. โครงการกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส ที่ให้ความคุ้มครองทั้งอุบัติเหตุและโควิด-19 ในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน อัตราเบี้ยประกันภัย 10 บาท (รวมตัวกันเป็นกลุ่ม 10 คนขึ้นไป) 5. มาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางการเงิน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับผู้กู้ยืมเงิน ก.ย.ศ. เช่น มาตรการลดเบี้ยปรับ การเพิ่มอัตราการลดเงินต้น จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 6. โครงการไมโครไซต์ศูนย์รวมความรู้การระดมทุนผ่านตลาดทุน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
คค.
1. การยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทำงพิเศษที่กำหนด 2. โครงการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าผ่านทางสำหรับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง 3. การให้บริการเรือข้ามฟากฟรีจากท่าเรือปากคลองสานมายังท่าเรือกรมเจ้าท่า 4. การให้บริการรับ-ส่งฟรีระหว่างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) กับสถานีรถไฟฟ้า BTS และกรมการขนส่งทางบก 5. การปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครและขยายเวลาเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 6. การบริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย 7. การขยายเวลาเปิดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี และจัดกิจกรรม “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย ในช่วงเทศกาลปีใหม่” 8. โครงการ “คุ้มครองทั่วไทย คุ้มใจให้สุข” โดยมอบวัตถุมงคล จำนวน 999 เหรียญ ให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) 9. การจัดกระเป๋าส่งความสุข จำนวน 10,000 ใบ ณ สถานีหัวลำโพง
ทส.
1. ของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ สร้างสุขของคนไทย มีกิจกรรมและบริการ ดังนี้ (1) จุดบริการประชาชนทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล และจุดที่ตั้งอากาศยาน รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (2) กิจกรรมนันทนาการในพื้นที่โครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” จำนวน 55 แห่ง (3) การให้บริการและยกเว้นค่าเข้าแหล่งท่องเที่ยวสำหรับบุคคลชาวไทย เช่น พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา สวนพฤกษศาสตร์ (4) การลดราคาผลิตภัณฑ์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และมอบส่วนลดค่าบริการบ้านพักนักท่องเที่ยว ร้อยละ 20 ใน 4 สถานที่ท่องเที่ยว (5) โครงการบำรุงรักษารถยนต์เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป และมอบส่วนลดน้ำมันเครื่อง 2. ของขวัญสำหรับปี 2564 (1) การจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (2) การจัดทำโครงการ “พฤกษชาติมหามงคล” โดยพิธีเจริญพระพุทธมนต์ แจกกล้าไม้มงคล 10 ล้านกล้า 10 ชนิด (3) การจ้างงานในกิจกรรมการปลูกสร้างสวนป่า ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวน 5,500 คน (4) การจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อสนองความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่นอกเขตชลประทาน 32 จังหวัด จำนวน 65 แห่ง และพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่นอกเขตชลประทาน 40 จังหวัดจำนวน 117 แห่ง (5) การให้บริการจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลักทั่วประเทศ
กปส.
กปส. ได้จัดทำแผนงานโครงการที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2564 ดังนี้ 1. ศูนย์ข้อมูลต้นทางของประเทศในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพด้านข่าวสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน และเปิดช่องทางการสื่อสารให้แก่ประชาชนและสื่อมวลชนผ่านเพจ Facebook ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 2. การประชาสัมพันธ์แผนงานโครงการสำคัญภาครัฐที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ สื่อสังคมออนไลน์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน เครือข่ายสื่อมวลชน
สำนักงาน ป.ย.ป.
1. โครงการบัตรผู้พิการอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปแบบเหมือนกับบัตรผู้พิการแบบเดิมทุกประการ โดยผู้พิการสามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน แบบไร้กังวลการสูญหายหรือชำรุด และเป็นช่องทางหลักสำหรับการสื่อสารระหว่างภาครัฐและผู้พิการทั่วประเทศ 2. การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะ ในเขตพื้นที่ กทม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่ กทม. โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้พื้นที่สาธารณะ
35. เรื่อง การลงนามหนังสือความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี
คณะรัฐมนตรีรับทราบการลงนามหนังสือความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ทั้งฝ่ายไทยและสาธารณรัฐเกาหลีไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศเพื่อร่วมลงนามหนังสือความร่วมมือฯ ได้ ประกอบกับสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายลง กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้หารือกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ในประเด็นการลงนามโดยการส่งเอกสารระหว่างคู่ภาคีแทนการลงนามต่อหน้ากัน ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีไม่ขัดข้องในประเด็นดังกล่าว และทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การลงนามเอกสารความตกลงระหว่างประเทศด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน
ทั้งนี้ ยธ. โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับ 1) ขั้นตอนและวิธีการลงนามในเอกสารความตกลงระหว่างประเทศ
โดยการส่งเอกสารระหว่างคู่ภาคีแทนการลงนามต่อนามกัน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ให้ความเห็นว่า
ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เห็นชอบร่วมกัน 2) เนื้อหาในเอกสารความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับประเด็นลงนาม กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ให้ความเห็นว่า
เห็นควรให้แก้ไขถ้อยคำบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการลงนามโดยการส่งเอกสารระหว่างทั้งสองฝ่าย ในประเด็นการมีผลสมบูรณ์ของเอกสารข้อตกลงระหว่างประเทศเมื่อมีการลงนามโดยผู้ลงนามคนสุดท้าย การลงนามคู่ฉบับเป็นภาษาอังกฤษ และการเพิ่มวันที่และสถานที่ลงนามของแต่ละฝ่าย
ทั้งนี้ การแก้ไขถ้อยคำข้างต้นไม่ถือเป็นการปรับแก้สาระสำคัญของเอกสารและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ และเห็นควรนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
3) ระยะเวลาในการลงนาม ในเอกสารความตกลงหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ให้ความเห็นว่า การลงนามในความตกลงระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วนั้น
ส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถพิจารณาดำเนินการได้ในโอกาสที่เหมาะสม โดยมิได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
สาธารณรัฐเกาหลีได้แจ้งเปลี่ยนผู้ลงนามหนังสือความร่วมมือฯ จากนายคิม จุน ฮวอน รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ลำดับที่ 3) (Mr. KIM Joon Hwan, the 3
rd Deputy Director) เป็นนายพาร์ค จงฮยอน รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ลำดับที่ 2) (Mr. Park Jeonghyeon, the 2
nd Deputy Director) และไม่ขัดข้องต่อการแก้ไขถ้อยคำบางส่วนในหนังสือความร่วมมือฯ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 เลขาธิการ ป.ป.ส. (นายนิยม เติมศรีสุข ในขณะนั้น) ได้ลงนามหนังสือความร่วมมือฯ (ฝ่ายไทยลงนามก่อน) พร้อมส่งมอบให้นายชอย แจซอน (Mr. CHOI Jae Seon)
อัครราชทูตที่ปรึกษา ผู้แทนจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ประจำสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย โดยสาธารณรัฐเกาหลีได้ลงนามหนังสือความร่วมมือฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 นายชอย แจซอน ได้ส่งมอบหนังสือความร่วมมือฯ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามครบถ้วนสมบูรณ์แล้วให้ฝ่ายไทย จำนวน 1 ฉบับ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติดระหว่างทั้งสองหน่วยงาน
36. เรื่อง บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ของประเทศไทยสำหรับการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 รอบที่ 2
คณะรัฐมนตรีรับทราบบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ของประเทศไทยสำหรับการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รอบที่ 2 ตามที่ คระกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เสนอ
สาระสำคัญ บทสรุปผู้บริหารฯ ประกอบด้วย ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตและการติดตามทรัพย์สินคืนของประเทศไทย และข้อเสนอแนะจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เกี่ยวกับเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและการติดตามทรัพย์สิน รวมทั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
1.
มาตรการป้องกันการทุจริต
1.1
ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย เช่น
(1) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมาตรการและดำเนินการเชิงป้องกันหลายประการ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้บริหาร ตลอดจนหลักสูตรการศึกษาและความริเริ่มในการปลุกจิตสำนึกสาธารณะให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการทุจริต
(2) ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการและริเริ่มด้านการต่อต้านการทุจริตในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี ตลอดจนมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศรวมถึงหน่วยงานอื่นของต่างประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการต่อต้านการทุจริต
(3) ประเทศไทยไม่ได้นำกระบวนการพิเศษมาใช้ในการคัดเลือก การฝึกอบรม และการหมุนเวียนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนได้กำหนดให้นำการฝึกอบรมและมาตรการเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์และการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์มาใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกราย
1.2
ข้อเสนอแนะเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น
(1) ให้คงไว้ซึ่งการติดตามความมีประสิทธิภาพและผลกระทบที่ได้รับจากการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงปรับใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการประสานงานและลดความซ้ำซ้อนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับต่าง ๆ ของรัฐบาล
(2) ควรระบุตำแหน่งราชการที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการทุจริต และกำหนดกระบวนการในการคัดเลือก ฝึกอบรม และหมุนเวียนบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวตามความเหมาะสม
(3) พิจารณากำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานหรือเปิดเผยกิจกรรมนอกราชการ อันรวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์กับการปฏิบัติราชการ และกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการหรือจัดการกับการขัดกันของผลประโยชน์ดังกล่าวเมื่อมีการขัดกันเกิดขึ้น
(4) พิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างจากเดิมกำหนดไว้ 7 วัน และเสริมสร้างมาตรการควบคุมบุคลากรด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การเปิดเผยผลประโยชน์ในการจัดจ้างของรัฐ กระบวนการคัดกรอง และการฝึกอบรมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
(5) กำหนดบทบัญญัติห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่ใช้เป็นสินบนมาลดหย่อนภาษี
(6) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต
2.
การติดตามทรัพย์สินคืน
2.1
ข้อมูลการติดตามทรัพย์สินคืนของประเทศไทย เช่น
(1) อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางและผู้ประสานงานหลักในเรื่องความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทรัพย์สินคืนในเรื่องทางอาญา
(2) ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องการติดตามทรัพย์สินคืนร่วมกับ 14 ประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สาธารณรัฐฝรั่งเศส ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี) รวมถึงสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาในภูมิภาคอาเซียน
(3) ศาลไทยอาจมีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินตามคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจของต่างประเทศแม้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ และขณะนี้สำนักอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการร่างระเบียบในการรักษาทรัพย์สิน
2.2
ข้อเสนอแนะเรื่องการติดตามทรัพย์สินคืน
(1) ทำให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการใช้เงื่อนไขเรื่องหลักความผิดสองรัฐโดยเคร่งครัด และการให้อำนาจอย่างกว้างแก่นายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจเกี่ยวกับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ประสานงานกลางในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
(2) ทำให้แน่ใจว่า 1) สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการระบุตัวผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง 2) มีการควบคุมเกี่ยวกับผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงอย่างเพียงพอ 3) พยายามให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินและภาคส่วนต่าง ๆ ในการระบุตัวบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง การดำเนินการควบคุมที่เหมาะสม และการตรวจสอบในระดับที่เข้มข้นที่สุดสำหรับบัญชีที่เปิดหรือคงไว้ในนามของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองเพื่อระบุหาธุรกรรมต้องสงสัย 4) ยกเลิกข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองบางกลุ่มที่มิต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการรายงานธุรกรรมต้องสงสัย
(3) พิจารณาขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการริบทรัพย์โดยไม่มีคำพิพากษาคดีอาญาในกรณีที่ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้
(4) พิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการรักษาทรัพย์สินเพื่อนำไปสู่การริบทรัพย์ตามคำร้องขอจากต่างประเทศ
(5) กำหนดมาตรการซึ่งอนุญาตให้มีการคืนทรัพย์สินแก่รัฐผู้ร้องขอ
3.
ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตและการติดตามทรัพย์สินคืน
ประเทศไทย โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนจัดสัมมนาแก่สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งกำหนดให้มีการยื่นแสดงรายการทางการเงินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมหลักฐานพิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
37. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (MoU between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Socialist Republic of Viet Nam on Co-operation in the Field of Education) ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงศึกษาธิการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามที่กระทรวงศึกษาธิการการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในขอบเขตและรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การอำนวยความสะดวกในโครงการแลกเปลี่ยนผู้นำทางการศึกษาและฝึกอบรมครู ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา การส่งเสริมการเชื่อมโยงของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา การจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร การอำนวยความสะดวกด้านการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนาม การแลกเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์และข้อมูลทางการศึกษาตลอดจนการประชุม/สัมมนาและทุนการศึกษา เป็นต้น
38. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 7 รวมทั้งการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 14 (14th ASEAN Defence Ministers’ Meeting: 14th ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 7 (7th ASEAN Defence Minister’s Meeting Plus: 7th ADMM-Plus) ด้วยระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Teleconference: VTC) รวมทั้งประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน +1 อย่างไม่เป็นทางการ และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับแขกของประธานตามที่กระทรวงกลากโหม (กห.) เสนอ
ทั้งนี้ ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 14 14th ASEAN Defence Ministers’ Meeting: 14th ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 7 (7th ASEAN Defence Minister’s Meeting Plus: 7th ADMM-Plus) เป็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่งคงของอาเซียนให้เข้มแข็ง และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาที่มีพัฒนาการขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศประเทศสมาชิกที่ยึดมั่นในหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดัน เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิอย่างยั่งยืน
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563
2.
นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการปกครอง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นายอำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่งทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563
2.
นายเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยศาสตร์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
41. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการสำนัก 1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2563
2.
นายกฤษฎา อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนัก 6 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2563
3.
นายรุ่งศักดิ์ ปิยะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนัก 11 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง
นายบุญส่ง ศรีเจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา (นักวิชาการประมงเชี่ยวชาญ) กรมประมง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง (นักวิชาการประมงทรงคุณวุฒิ) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
43. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง
นายชาติชาย เกตุพรหม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด (วิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
44. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ
นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ต่อไปอีก (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 (นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2564)
45. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1.
นายณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นายสมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3.
นายธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4.
นายปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5.
นายพูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
46. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวม 5 คน แทนประธานกรรมการเดิมที่ลาออก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
1. นางสาวกุลยา ตันติเตมิท เป็นประธานกรรมการ
2. นายนราธร วงศ์วิเศษ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง
3. นายนิธิศวร์ ตั้งสง่า เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง
4. นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
5. นางสาวบัณฑรโฉม แก้วสอาด เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งตนแทน
47. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง
นายสมชาย พฤติกัลป์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
48. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ดังนี้
1. นายพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
2. นางมรกต กุลธรรมโยธิน ผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นางสาวอรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายสรณันท์ จิวะสุรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นายจาฤก กัลย์จาฤก ผู้ทรงคุณวุฒิ
7. นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ ผู้แทนสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย
8. นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง ผู้แทนสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย
9. นายเอกนรินทร์ ชูเลี่ยง ผู้แทนสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์
10. นางสาวชญาภัช แสงทับทิม ผู้แทนสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย
11. นายเรืองกิจ จึงทวีศิลป์ ผู้แทนสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ
12. นายสุพจน์ รัตนาพันธุ์ ผู้แทนสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
49. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง
นายพิบูลย์เขตร นิธิอนันตภร ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
50. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. โอน
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. โอน
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง
3. โอน
นางปานทิพย์ ศรีพิมล รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
51. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง
นายโสภณ เมฆธน เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)