วันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2563
รัฐบาลชี้แจงข้อวิจารณ์การบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำกลไกการแจ้งเตือนประชาชนให้เข้าถึงระดับพื้นที่มากขึ้น และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เน้นย้ำกลไกการแจ้งเตือนประชาชนให้เข้าถึงระดับพื้นที่มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำด้วย สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ในระยะยาว สทนช. ได้จัดทำแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เพื่อให้มือเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากนั้นทั้งการเร่งแผนงานโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการขุดคลองระบายน้ำใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมเป็น 750 ลบ.ม. ต่อวินาที นอกจากนั้นยังมีแผนงานโครงการที่ดำเนินการได้ในปี 2564-2566 อีก 63 โครงการ อาทิ อ่างฯคลองสีสุก จ.สุราษฎร์ธานี แก้มลิงฉลุง จ.สงขลา ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทลุง สงขลา ตรัง และ ยะลา และมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ขุดคลองผันน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) ให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองชุมพรเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นอกจากนั้น ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จแล้วทั้งสิ้น 66 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 แห่ง และตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง ด้วย
ขณะที่ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงประเด็นการแจ้งเตือนภัยว่า รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2563 เมื่อตรวจสอบและประเมินข้อมูลสภาพอากาศพบแนวโน้มมีภาวะฝนตกหนัก ปภ.ได้แจ้งเตือนให้พื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยล่วงหน้า เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด มีการดำเนินการในภาวะฉุกเฉิน ในระดับพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ดำเนินการบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้อย่างปลอดภัย โดยการจัดอาหารและน้ำดื่ม การแจกจ่ายถุงยังชีพ การอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวพร้อมดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในขณะเกิดภัย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ระดมทรัพยากรด้านสาธารณภัยของ ปภ. ทั้งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือไฟเบอร์ รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถสุขาเคลื่อนที่รถประกอบอาหาร รถไฟฟ้าส่องสว่าง ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย พื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่อื่น ๆ เข้าสนับสนุนจังหวัดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
ในการดำเนินการฟื้นฟู ส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจะดาเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยขณะนี้จังหวัดที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยและประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จะสำรวจความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบฯ หากอำเภอมีความจาเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเกินวงเงินของอำเภอจะเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ ต่อไป อาทิ ด้านการดำรงชีพ ด้านการประกอบอาชีพด้านการสาธารณสุข ด้านการเกษตร เป็นต้น
..................................
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน