วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563
กรุงเทพมหานคร เคลียส์ข้อสงสัยการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางเชื่อม
กรุงเทพมหานคร เคลียส์ข้อสงสัยการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางเชื่อม "หมอชิตคอมเพล็กซ์" เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน
วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การเวนคืนที่ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 เพื่อใช้ในการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต สืบเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตให้เป็นสถานีขนส่งกลาง (Inter – Model Terminal) โดยพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอีกส่วนหนึ่งเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด
การพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวได้มีการออกแบบทาง เป็นทางยกระดับเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งกับถนนวิภาวดีรังสิต และมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการเวนคืนที่ดิน ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการตามผลการประชุมดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินงานจัดกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยมีการเสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้ตราต่ออายุพระราชกฤษฎีกาต่อเนื่องมาอีก 2 ฉบับ ซึ่งฉบับปัจจุบันคือ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี
สำหรับผลที่จะได้รับจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าว โครงการก่อสร้างสายทางยกระดับเชื่อมระหว่างสถานีขนส่งหมอชิตกับถนนวิภาวดีรังสิต เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อรองรับโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิต (เดิม) ซึ่งในอนาคตจะเป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการบริหารจัดการจราจรรองรับระบบการคมนาคมดังกล่าว เมื่อก่อสร้างและเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนพื้นราบได้มาก เนื่องจากรถยนต์และรถโดยสารสามารถที่จะเข้าออกสู่บริเวณสถานีขนส่งได้โดยตรง โดยไม่ต้องวิ่งตรงไปสะสมกับปริมาณรถยนต์ในพื้นถนนแนวราบ ซึ่งหากไม่มีทางยกระดับดังกล่าว ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากในพื้นที่รอบโครงการดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนจะได้รับค่าทดแทนความเสียหายจากการถูกเวนคืนตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ไว้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562
...................