21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ชี้แจงว่า แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นมาตรการ หรือภารกิจในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้ทุกหน่วยงานพิจารณาดำเนินการตามภารกิจที่ได้เสนอมา และกรุงเทพมหานครได้เวียนแจ้งแผนดังกล่าวให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเด็นห้ามไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรกำหนดเวลาห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในเขตพื้นที่ภายในของถนนวงรอบพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ โดยเพิ่มรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปในข้อบังคับและออกข้อบังคับเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปเข้ากรุงเทพฯ จากถนนวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก
ส่วนกรณีข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้ศึกษาสัดส่วนการระบายฝุ่นละออง PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่าสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่งทางถนนมีการระบายฝุ่นละออง PM 2.5 มากที่สุดร้อยละ 72.5 (รถบรรทุก ร้อยละ 28 รถปิกอัพ ร้อยละ 21 รถยนต์นั่ง ร้อยละ 10 รถบัส ร้อยละ 7 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 5 และรถตู้ ร้อยละ 1.5) รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 5.5
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยบูรณาการความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ ในการควบคุมฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิด ด้วยการเข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท การประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมลดปัญหามลพิษทางอากาศ กรณีพบเห็นรถยนต์ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน หรือการเผาในที่โล่งให้แจ้งสายด่วน กทม. 1555 อีกทั้งได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมลดมลพิษทางอากาศ ด้วยการใช้รถส่งเอกสารร่วมกัน (Car Pool) การรณรงค์ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง การตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดมลพิษ เป็นต้น รวมถึงดำเนินการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเฝ้าระวังสุขภาพและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก แผ่นพับ และการลงพื้นที่ของสำนักงานเขต โดยประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ www.bangkokairquality.com, www.air4bangkok.com, www.prbangkok.com Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม Facebook : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อนำข้อมูลคุณภาพอากาศมาใช้ประกอบการตัดสินใจทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป
--------------------------------