วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจง ข้อห่วงกังวลที่ปรากฏในแถลงข่าวร่วม อาทิ เรื่องการจับกุม การใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฯลฯ ได้รับการชี้แจงในการบรรยายสรุปต่อคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปและตอบคำถามร่วมกับโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้แทนสำนักงาน OHCHR ประจำประเทศไทย ได้เข้าฟังด้วย ในวันเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่แถลงข่าวร่วม (22 ตุลาคม 2563) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้หารือกับนาง Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ผ่านการสื่อสารทางไกล เกี่ยวกับสถานการณ์ชุมนุมในประเทศไทย และการแถลงข่าวร่วมข้างต้น เพื่อชี้แจงเพิ่มเติม โดยเฉพาะการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 และได้ย้ำว่า (1) ไทยยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) (2) รัฐบาลไทยรับมืออย่างสมดุลระหว่างข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบ (silent majority) และ (3) ที่สำคัญคือกระบวนการทางยุติธรรมและศาลมีความเป็นอิสระ โดยล่าสุดศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อปิดสื่อบางแห่งแล้ว
ขณะเดียวกัน พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีบทกำหนดให้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลการชุมนมสาธารณะดังกล่าว ภายใต้ “แผนการชุมนุม 63” โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน หลักกฎหมาย และหลักปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนที่เป็นสากล ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป การชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ โดยเหตุดังกล่าวรัฐบาลได้พิจารณาแล้วและเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นไปโดยสงบอันอาจทำให้เกิดเหตุเงื่อนไขลุกลามบานปลาย จึงได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.63 โดยให้ใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ แม้ภายหลังจะได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค.63 ดังนี้แล้ว ถือได้ว่าสถานการณ์ตั้งแต่ 15-22 ต.ค.63 ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นการชุมนุมที่มีความร้ายแรง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็ยังคงยึดหลักการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้ “แผนการชุมนุม 63” ซึ่งเป็นแผนการปฏิบัติฉบับเดียวกันกับในสถานการณ์ปกติ และมีขั้นตอนตามหลักสากล ไม่มีการใช้กำลังเกินกว่าความจำเป็นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงการจับกุมและการควบคุมตัว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอาศัยอำนาจศาลในการขออนุมัติหมายจับ การควบคุม การคุมขัง ดังนั้น ในส่วนของการปล่อยตัวหรือการดำเนินการอื่นใดอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของศาลยุติธรรมในการดำเนินการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่อาจก้าวล่วงได้แต่อย่างใด
....................................................................................................................