วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ชี้แจงข้อเท็จจริง จากที่มีการวิจารณ์ทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ว่า แม้ที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าหรือต้นทุนการผลิตในแหล่งผลิตเดิมที่สูงเกินไป ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของอาเซียน ที่บริษัทข้ามชาติให้ความสนใจ เช่น ความเข้มแข็งของ Supply Chain ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ ทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งสนับสนุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ซึ่งจะเสริมบทบาทของไทยในฐานะ Logistics Hub อย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจของบีโอไอ พบว่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกรกฎาคม 2561-30 กันยายน 2563 มีทั้งสิ้น 170 บริษัท เม็ดเงินลงทุนประมาณหนึ่งแสนล้าน นักลงทุนเหล่านี้มาจากหลากหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และยุโรป ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 90 มาจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง สาขาอุตสาหกรรมหลักที่รองรับการลงทุนเหล่านี้ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์โลหะ
บีโอไอได้กำหนดมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุน โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีหลังจากสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ยังคงให้ความสำคัญแก่การลงทุนที่จะรองรับการสร้างฐานรายได้ใหม่หรืออุตสาหกรรมและบริการที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทยได้ ปรับรูปแบบกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น การเปิดประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ การออกมาตรการสนับสนุนแนวทาง BCG (Bio, Circular, Green Economy) และ การออกมาตรการระยะสั้นเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ มาตรการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมี 52 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 174 มูลค่าเงินลงทุนรวม 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และให้ความสำคัญเรื่องมาตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องโดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากบีโอไอ ส่วนมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปเพราะจะมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการให้แข่งขันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาใช้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าสามารถจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม โรงงานไม่ต้องหยุดการผลิตเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและได้มีการโยกย้ายยอดสั่งซื้อมาประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรมที่ความต้องการยังขยายตัวและต้องการแหล่งผลิตที่คล่องตัว
......................