วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง ความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัทร โพธสุธน)
ผู้ถาม : นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยเขื่อนภูมิพลเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคของประชาชน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ๒๒ จังหวัดโดยเขื่อนสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด ๑๓,๔๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ ๔,๔๓๗ ล้านลูกบาศก์เมตร และนำมาใช้ได้จริงเพียง ๖๓๖ ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ทั้งยังเหลือพื้นที่เก็บน้ำได้อีก จึงมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล โดยผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเก็บไว้ยังเขื่อนภูมิพล ซึ่งโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น ๓ งาน คือ งานเขื่อนน้ำยวม และอาคารประกอบงานสถานีสูบน้ำบ้านสามเงาและอาคารประกอบ และงานระบบอุโมงค์และถังพักน้ำ มูลค่า โครงการ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ ๕ ปี เมื่อโครงการนี้สำเร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่ เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้งได้ถึง ๑.๖ ล้านไร่ เพิ่มน้ำอุปโภคและบริโภคได้ ประมาณ ๓๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอีก ๒๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ จากผลการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์พบว่า มีความคุ้มค่าอยู่ที่ ร้อยละ ๑๑.๑๙ ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน ประกอบกับเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การชลประทานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปีของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อีกด้วย
ขอเรียนถามว่า รัฐบาลมีความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลหรือไม่อย่างไร และโครงการนี้มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดนอกจากนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแบบพวงหรืออ่างหลุมขนมครกในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัทร โพธสุธน) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายประภัทร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถามตอบชี้แจงว่า ในเวลาปกติเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กักเก็บน้ำได้รวมกันประมาณ ๒๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร นำมาใช้ได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรสามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่ ๒๒ จังหวัด และทำนาในเขตชลประทาน ได้ประมาณ ๑๒ ล้านไร่ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมีน้ำใช้ได้ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๓ เหลือน้ำใช้เพียง ๓,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่พื้นที่ทำนาเท่าเดิม ทำให้ปีที่ผ่านมาบางพื้นที่ไม่มีโอกาสทำนาหรือทำการเกษตรและปัจจุบันทำนาได้เพียง ๕ ล้านไร่ ดังนั้น การหาน้ำมาเติมให้เขื่อนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงาที่ไหลผ่านประเทศไทยประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มิได้มีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ จึงสมควรที่จะผันน้ำมาเติมให้เขื่อนภูมิพลโดยสร้างเขื่อนทดน้ำที่อำเภอขุนยวมและใช้เครื่องสูบน้ำ ๖ เครื่อง ซึ่งขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว ทำการปั๊มน้ำขึ้นไป ๑๗๐ เมตร ให้ไหลลงอุโมงค์ ใช้งบประมาณ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่า และขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งงบประมาณ โดยจะดำเนินการสร้างเขื่อน สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ตามลำดับ นอกจากนี้ เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านสมาชิกวุฒิสภา
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน