วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม)
ผู้ถาม : นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สายเหนือ บางซื่อ - รังสิตสายใต้ บางซื่อ - หัวลำโพง - มหาชัย สายตะวันออก บางซื่อ - มักกะสัน - ฉะเชิงเทรา และสายตะวันตกบางซื่อ - ตลิ่งชัน - ศาลายา โดยทุกเส้นทางเริ่มต้น ที่สถานีกลางบางซื่อซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และ บางซื่อ - รังสิต มีการก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดการเดินรถไฟฟ้า ทั้งนี้ จากความล่าช้าของโครงการเดินรถไฟฟ้าจะทำให้เสียโอกาสในทุก ๆ ด้าน
ขอเรียนถามว่า โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และ บางซื่อ - รังสิตเริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อไร ก่อสร้างเสร็จเมื่อไร และใช้งบประมาณจำนวนเท่าไร นอกจากนี้ ช่วงบางซื่อ - รังสิต มีแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการจากที่ใด กำหนดเปิดการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจะเริ่มได้เมื่อไรมีวิธีการบริหารการเดินรถอย่างไร และปัจจุบันมีความคืบหน้าในการเตรียมการเดินรถอย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมตอบชี้แจงว่า กรณีโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒ แล้วเสร็จเมื่อ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ งบประมาณเป็นเงิน ๙,๐๘๗ ล้านบาทเศษในส่วนความล่าช้าของโครงการ เกิดจากการเชื่อมต่อให้เป็นระบบเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อรังสิต ซึ่งเมื่อช่วงบางซื่อ - รังสิตยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้เส้นทางฝั่งตะวันตกบางซื่อ - ตลิ่งชัน จึงยังเดินรถไม่ได้ ในส่วนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต มีทั้งหมด ๓ สัญญา โดยสัญญาที่ ๒ งานแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ และสัญญาที่ ๑ กำหนดแล้วเสร็จวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ สำหรับสัญญาที่ ๓ กำหนดแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๓ กรณีปัญหาความล่าช้าของโครงการเกิดจากการเชื่อมการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงการประสานงานเพื่อเข้าพื้นที่ของผู้รับจ้าง (การส่งมอบพื้นที่) รวมทั้งการหากระแสไฟฟ้าเพื่อทดสอบระบบการเดินรถ ในด้านงบประมาณโครงการ ในสัญญาที่ ๑ และ สัญญาที่ ๒ ใช้เงินกู้จาก JICA ๙๑ % และการรถไฟแห่งประเทศไทย สมทบ ๙ % ในส่วนสัญญาที่ ๓ ใช้เงินกู้ JICA ๑๐๐ % โดยรวมใช้งบประมาณทั้งหมด ๙๓,๙๕๐ ล้านบาทเศษ ในส่วนการเดินรถภายหลังจากการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ จะเปิดการเดินรถไฟฟ้าได้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาซื้อรถไฟฟ้าทั้งหมด ๒๕ ขบวน และทยอยส่งมอบแล้ว ๑๕ ขบวน นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้ระบบการเดินรถแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา สำหรับกรณีความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองส่งผลให้ต้องสูญเสียโอกาสในด้านต่าง ๆ นั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการถอดบทเรียนดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความล่าช้าขึ้นมาอีก
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน