วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563 นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงประเด็นที่นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ คัดค้านการปรับแก้ผังเมืองจะนะเป็นสีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยรับผิดชอบและสนับสนุนผลักดันให้ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ได้มีกระบวนการขั้นตอนการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำคณะผู้แทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ในโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศมาเลเซียและจังหวัดระยอง ของประเทศไทย ในส่วนของท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ให้เห็นถึงผลดีและผลเสีย เพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจสู่การตัดสินใจในการดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งได้มีการ เคาะประตูบ้านนำโดยบัณฑิตอาสาในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจพร้อมสอบถามความคิดเห็นถึงการขับเคลื่อน มีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซด์ และที่สำคัญคือมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 3 ตำบล เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง และให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรในระดับต่าง ๆ รับทราบและตรวจดูรายละเอียดการดำเนินการของโครงการ เช่น เหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ สถานที่ที่จะดำเนินการ การวางผังเมือง แผนการลงทุนของภาคเอกชน ขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน หน่วยราชการทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น องค์กร เอกชน มาเป็นใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบการขับเคลื่อนแผน ในระยะต่อไป จากการกระบวนการทำงานของ ศอ.บต. ในทุกขั้นตอนนั้น ได้ดำเนินการร่วมกับประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด ซึ่งถือว่าประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่กับหน่วยงานภาครัฐอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามหากโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งจะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งเป็นกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าทางเศรษฐกิจจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 เพื่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จึงต้องดำเนินการขอแก้ไขกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผังสอดคล้องกับแผนงานโครงการ 4 ประเภทการลงทุน ได้แก่ สวนอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคตเมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด โดยต้องนำประเด็นการขอแก้ไขกฎกระทรวงฯ เสนอ คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา คณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยเมื่อคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องปิดประกาศ 30 วันโดยปิดประกาศแผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวมที่แก้ไขและรายละเอียดของการแก้ไขไว้ในที่เปิดเผยภายในเขตของผังเมืองรวม โดยในประกาศให้มีคำเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ skd เครือข่ายจะนะรักษ์ท้องถิ่น หากมีความเห็นต่างอย่างไร ก็สามารถแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้ (ยื่นคำร้อง(เดิม)) ตามกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดมีสิทธิในการแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่ระบุในประกาศ เพื่อให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาคำร้อง และจะได้มีการแจ้งผลการพิจารณาข้อคิดเห็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป
.................................................