วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง ปัญหาการดำเนินโครงการระบบตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ
(เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓)
ผู้ตั้งกระทู้ถาม พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม)
ผู้ถาม : พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนยังคงเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีความสะดวกสบายและระบบขนส่งมวลชนยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง ๒ ระบบขึ้นไปไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายสูง รัฐจึงได้มีแนวคิด ในการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ทุกระบบ ซึ่งระบบตั๋วร่วมจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทางโดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในการเดินทางมากกว่าหนึ่งเส้นทาง ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจัดการระบบตั๋วร่วมได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายครั้ง จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้าและไม่มีความต่อเนื่อง รวมถึงมีข้อครหาที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน
ขอเรียนถามว่า กระทรวงคมนาคมมีมาตรการแก้ปัญหาการดำเนินโครงการระบบตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะที่มีความล่าช้า และจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้เมื่อใด รวมทั้งจะมีมาตรการแก้ปัญหาการดำเนินโครงการระบบตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่ไม่เหมาะสมรวมถึงการดำเนินการที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมตอบชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่รัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๓ รัฐบาลได้มีการจัดประชุมผู้ประกอบการและได้มีข้อตกลงในเบื้องต้นว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ การเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วงและสายสีเขียว จะใช้บัตรโดยสารร่วมกันเพียงใบเดียวโดยอยู่ในขั้นตอนของการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำและทางราง จะใช้บัตรโดยสารร่วมกันเพียงใบเดียว อย่างไรก็ตามขณะนี้ คค. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการดำเนินการซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเวลา ๑๘ เดือน หรือ ๒๔ เดือน
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน