วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา – หนองคาย
(เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓)
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ)
ผู้ถาม : นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ตามที่กระทรวงคมนาคมมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา - หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศจีน โดยใช้งบลงทุนถึง ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท นั้น เส้นทางช่วงที่หนึ่ง กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ผ่านจังหวัดที่มีประชากรอาศัยจำนวนมาก จึงคาดได้ว่าเมื่อเปิดบริการจะมีประชาชนให้ความสนใจและใช้บริการจำนวนมาก ส่วนเส้นทางช่วงที่สอง นครราชสีมา - หนองคาย เห็นว่าเมื่อเปิดใช้บริการแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากประชาชนนิยมโดยสารเครื่องบินไปยังขอนแก่นหรืออุดรธานีมากกว่ารถไฟ อีกทั้งการเดินทางโดยรถไฟจากหนองคายผ่านประเทศลาวเพื่อไปยังประเทศจีน อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะโครงการรถไฟจีน - ลาว ที่ประเทศจีนสร้างให้ประเทศลาวเป็นเพียงรถไฟความเร็วปานกลางที่ใช้ขนส่งทั้งคนและสินค้า ผู้โดยสารจึงไม่ได้รับความสะดวกและรวดเร็วเท่าที่ควร นอกจากนี้ การระบาดของโควิด ๑๙ ส่งผลให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนลดลง และโอกาสที่ผู้คนจะเดินทางจากประเทศจีนมาประเทศไทยด้วยรถไฟความเร็วสูงก็จะน้อยลง
ขอเรียนถามว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา - หนองคาย ต้องใช้งบลงทุนทั้งหมดจนสามารถให้บริการลูกค้าได้จำนวนเท่าไร อีกทั้งปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าร้อยละเท่าไร และมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วเท่าไร รวมถึงมีการประเมินผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ก่อนเริ่มโครงการเท่าไร และปัจจุบันหลังจากปัญหาโรคระบาดโควิด ๑๙ คาดว่าผลตอบแทนการลงทุน (ROI) จะเป็นเท่าไรตลอดจนจะมีการทบทวนให้มีการควบรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ กับโครงการรถไฟทางคู่
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมตอบชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา - หนองคาย ใช้งบประมาณทั้งหมด ๔๓๑,๗๕๙ ล้านบาท โดยช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๓ กิโลเมตร ใช้งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบ ๑๗๙,๔๑๒ ล้านบาท และมีความคืบหน้าโครงการตามการแบ่งสัญญาเป็น ๑๔ สัญญาย่อย ดังนี้ ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ๒ สัญญา อยู่ระหว่างรอลงนาม ๘ สัญญา อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการรถไฟอนุมัติจ้าง ๒ สัญญา อยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารประกวดราคา ๑ สัญญา และอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ๑ สัญญา ส่วนช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง ๓๕๖ กิโลเมตร ใช้งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบ ๒๕๒,๓๔๗ ล้านบาท และโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดทั้งหมด สำหรับการประเมินผลตอบแทนการลงทุน (ROI) นั้น ในปี ๒๕๖๒ จากการทบทวนรายงานการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงินและรูปแบบการลงทุนโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ไทย - จีนพบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ ๑๒.๑๐ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ๓,๒๘๙.๗๐ ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C ratio) อยู่ที่ ๑.๐๑ ทั้งนี้ การเกิดโควิด ๑๙ มีผลให้การขนส่ง การนำเข้าวัสดุ และแรงงานล่าช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นแต่ไม่กระทบต่อการลงทุนและผลตอบแทน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย - จีน แล้ว การขอให้ทบทวนสัญญาที่ลงนามแล้ว อาจเกิดปัญหาต่อภาครัฐ ส่วนสัญญาที่ยังไม่ลงนามต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับการควบรวมกับโครงการอื่นอาจเกิดปัญหาตามมาหลายประการ เนื่องจากมีความแตกต่างทั้งในส่วนของระบบ การใช้งาน การเข้าพื้นที่ เทคโนโลยีขนาดทาง และการทำความเร็ว
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน