วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง ปัญหาการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายออน กาจกระโทก
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ถาม : นายออน กาจกระโทก ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ให้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนค่อนข้างมาก เนื่องจากการควบรวมโรงเรียนอาจส่งผลให้โรงเรียนมีคุณภาพลดลง อีกทั้งยังทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายในกำรรับ – ส่งบุตรหลานไปกลับโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น การควบรวมโรงเรียนจึงควรพิจารณาถึงประสิทธิภาพของโรงเรียนภายหลังการควบรวมแล้ว และพิจารณาด้วยว่าโรงเรียนลักษณะใดไม่ควรมีการควบรวม หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่มีการจัดการโดยชุมชนอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพก็ควรให้ดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องควบรวม และเพิ่มทรัพยากรให้โรงเรียนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ขอเรียนถามว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ เมื่อสถานการณ์การจัดการศึกษาของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวทางจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทุกขนาดให้เป็นปกติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือไม่ อย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตอบชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายทบทวนมติคณะรัฐมนตรี และจากการไปตรวจดูโรงเรียนขนาดเล็ก ๑๐๐ กว่าโรงเรียน พบว่ามีโรงเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ที่นักเรียนไม่ได้รับการเรียนการสอน ที่มีคุณภาพขั้นพื้นฐานและสามารถแข่งขันในโลกปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน จำนวนไม่เกิน ๑๒๐ คน ประมาณ ๑๕,๐๐๐ โรงเรียน โดยมีโรงเรียนที่จะไม่ควบรวม ๕,๐๐๐ โรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ควบรวมจะเป็นโรงเรียนที่มีสถานที่ใกล้กัน มีจำนวนครูกับนักเรียนไม่สอดคล้องกันไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะมีการจัดสรรงบประมาณให้แก่นักเรียนที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมถึงมีแนวทางบริหารจัดการให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ นั้น หากมีการแพร่ระบาดในวงกว้างโรงเรียนขนาดเล็กจะมีครูไม่เพียงพอที่จะสอนทุกชั้นเรียนและไม่ครอบคลุมการเรียนการสอนออนไลน์ได้ทั่วทุกโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนขนาดเล็กที่จะไม่ควบรวมจึงต้องเป็นโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณ มีครูสอนครบทุกชั้นเรียนหรือมีความสามารถในการสอนควบชั้นได้
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน