วันพุธที่ 30 กันยายน 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
เรื่อง การปฏิบัติรูปประเทศด้านการศึกษา ตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ถาม : นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อดำเนินการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะ และร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระได้กำหนดแนวทางปฏิรูปการศึกษาไว้ ๗ ประเด็น โดยที่ผ่านมาได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ จำนวน ๓ ฉบับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายลูก ในขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... แล้วเสร็จในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างแล้วส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทบทวนความสอดคล้องของร่างพระรำชบัญญัติ เมื่อวันที่ ๖ สิงหำคม ๒๕๖๒ โดยขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ
ขอเรียนถามว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... อยู่ในขั้นตอนใด และคาดว่าจะนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้เมื่อใด และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรายละเอียดที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษาใน ๗ ประเด็นปฏิรูปอย่างไร อีกทั้ง จะมีกลไกหรือระบบการคัดกรอง พัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพครูให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู อย่างไร รวมถึงหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองในศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา ด้วยระบบดิจิทัลซึ่งเกิดปัญหาในการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด ๑๙ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะมีแนวทาง ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร โดยไม่ต้องรอให้มีการตราพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผู้ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถามตอบชี้แจงว่า แต่เดิมมีการเสนอให้ตราเป็นพระราชกำหนดแต่มีการพิจารณาให้ออกเป็น พระราชบัญญัติการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สำหรับความล่าช้าในการนำเสนอต่อรัฐสภา นั้น เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดและกระบวนการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศในอนาคตเพื่อที่จะให้เป็นพระราชบัญญัติการศึกษาที่ครบถ้วนในทุกประเด็น ในส่วนกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานั้น ได้มีการนำมาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถนำผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ๑๙ รวมถึง เรื่องต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่าง ๆ มาพิจารณาประกอบเพื่อให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สำหรับกรณีในช่วงโควิด ๑๙ ได้มีการนำกลไกและใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้กับทั้งในส่วนของครูและนักเรียน ซึ่งอาจยังไม่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ครูได้รับโอกาสในการฝึกและพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในการสอนผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างศูนย์พัฒนาครูในทุกพื้นที่เพื่อให้ครูได้มีโอกาสรับความรู้ และเพิ่มทักษะในหลายเรื่อง รวมทั้งมีการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ต้องรอการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน