วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563
ดีอีเอส จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอม
ดีอีเอส จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมทุกภาคส่วน เผยสาเหตุหลัก 2 ข้อของการแพร่กระจายข่าวปลอม คือ 1.เจตนาสร้างความแตกแยกในสังคม/เพื่อผลประโยชน์ และ 2.รู้เท่าไม่ถึงการณ์
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การใช้งานระบบสำหรับผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอม เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน และวิธีการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม" ภายใต้โครงการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ซึ่งกระทรวงฯ จัดขึ้นวันนี้ (17 ก.ย.) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประสานงานเครือข่าย กลุ่มนิติกร สื่อมวลชน ตลอดจนเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม บทบาท ขั้นตอนของผู้ประสานศูนย์ฯ ให้สามารถตรวจสอบและการแจ้งกลับมาผ่านศูนย์ฯ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องตรวจสอบแล้วได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันการพิจารณาคะแนนผลการประเมินการตรวจข่าวปลอม (Anti Fake News) สำหรับผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการทั้ง 151 ส่วนราชการ ยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยคะแนนประเมินจะพิจารณาจากการให้ความร่วมมือกับศูนย์ฯ เพื่อให้ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขข่าวปลอมเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยมีการรายงานกลับไปยังศูนย์ฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (2 ชั่วโมง) หลังจากที่ได้รับแจ้งผ่านทางอีเมล์
“ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 63 พิจารณาเห็นว่าปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน รวมทั้งในบางกรณีกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นของศูนย์ฯ บรรลุผลและสามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดได้ ครม. จึงมีมติกำชับให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือแก่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” นายพุทธิพงษ์กล่าว
โดยให้ทุกส่วนราขการ/หน่วยงานของรัฐ แต่งตั้งผู้แทนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหายหรือเป็นเจ้าของข้อมูลที่มีการนำไปบิดเบือนเป็นข่าวปลอม และเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าวข้างต้น
ด้านภาพรวมการประเมินการตรวจสอบข่าวปลอม จากผลการปฏิบัติงานของ 151 ส่วนราชการ (1 เม.ย – 15 ส.ค. 63) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางเพื่อทำความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดความมั่นคงและความไว้วางใจ ต่อการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการตรวจสอบข่าวปลอม ที่ได้รับการ/พิสูจน์ยืนยันโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีประเด็นข่าวที่ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้น 773 ประเด็น โดยมีหน่วยงานที่มีการชี้ให้ตรวจสอบ มีทั้งหมด 74 หน่วยงาน ส่วนอีก 77 หน่วยงาน ยังไม่มีประเด็นชี้ให้ตรวจสอบ
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลายกรณี โดยมี 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.ผู้ส่งข่าวสาร “มีเจตนา” หวังผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน 2.ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวิจารณญาณ ในการตรวจสอบกลั่นกรองก่อนส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้ผู้อื่น
ทั้งนี้ ปัจจุบันการกระทำผิดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์/อินเทอร์เน็ต เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมซึ่งแนวโน้มการเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูลอันเป็นเท็จ การตัดต่อข้อมูล เนื้อหา การนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากข้อเท็จจริง เพื่อสร้างผลกระทบในทางลบต่อสังคมและประชาชนโดยรวม ศูนย์ฯ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้เน้นย้ำถึงกระบวนการทำงานที่กระชับรวดเร็ว
“ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขข่าวปลอมจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยจะมีทีมงานในฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ฝ่ายติดตาม และคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ ฝ่ายตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม ฝ่ายดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนฝ่ายประสานงานตรวจสอบข้อมูลและจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง” นายภุชพงค์กล่าว
โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ (17 ก.ย. 63) เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกัน และบทบาทของผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้อง และมีการฝึกปฏิบัติในการจัดการข่าวปลอม พร้อมทั้งวิธีการประสาน ตรวจสอบ และการแจ้งผ่านเครื่องมือของศูนย์ฯ บูรณาการการทำงานร่วมกันให้ได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน