เรื่อง การชุมนุมทางการเมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายคำนูณ สิทธิสมาน
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล)
ผู้ถาม : นายคำนูณ สิทธิสมาน ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชน นิสิตนักศึกษา เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากมีการเผชิญหน้าระหว่างผู้เข้าร่วมชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีการเผยแพร่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ปรากฏข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุมซึ่งได้สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจให้แก่ประชาชน
ขอเรียนถามว่า รัฐบาลมีความมั่นใจในการบริหารจัดการการชุมนุมให้มีความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่และจะสร้างความอดทนต่อการยั่วยุให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไร เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ตลอดจนมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และในระยะสั้นอย่างไร ไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับไปเป็นดังเช่นปี พ.ศ. ๒๕๕๗ อีก และจะมีการสื่อสารข้อความไปยังผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถาม ตอบชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น เนื่องจากเนื้อหาสาระและภาพกิจกรรมบางส่วนไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในการชุมนุม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ รัฐบาลได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้เจ้าหน้าที่มีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุของผู้ชุมนุม และมีการชี้แจงข้อกฎหมายว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ ตลอดจนมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยตลอด รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแนวทางในการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้ง ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และรัฐบาลได้พิจารณาข้อเรียกร้องของผู้เข้าร่วมชุมนุม จำนวน ๓ ข้อแล้ว โดยในเรื่องของการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณา ในเรื่องของข้อเรียกร้องไม่ให้มีการคุกคามประชาชน ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกรอบของกฎหมายและจะไม่ทำนอกเหนือจากหน้าที่ ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นได้รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นต่อเสรีภาพในการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยรวมทั้งต้องไม่มีการละเมิดสถาบัน
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)