วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563
ดัชนี RSI ก.ค.2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางแนวโน้มดีขึ้นทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนวโน้มรายภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันตก และภาคบริการของภาคตะวันออก ยังชะลอตัว
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะกระทรวงการคลัง นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนี RSI เดือนกรกฎาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางที่มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนวโน้มรายภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันตก และภาคบริการของภาคตะวันออก ยังชะลอตัว”
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 60.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากคาดหวังการช่วยเหลือของภาครัฐจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังรวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่คาดว่าเมื่อคลี่คลายแล้วจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากทั้งภายในและต่างประเทศ และภาคบริการจะขยายตัวจากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของจังหวัด ทำให้ธุรกิจภาคบริการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 59.9 สะท้อนถึงการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากแนวโน้มภาคเกษตรในระยะ 6 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต อาทิ ลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และข้าวเหนียว เป็นต้น อีกทั้งยังมีมาตรการรวบรวมและคัดกรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศ อาทิ งาน “เทศกาลลำไย OTOP สินค้าลดค่าครองชีพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ของจังหวัดลำพูน โครงการหอการค้าแฟร์ลำพูน ครั้งที่ 10 ประจำปี 2563 และมาตรการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 54.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่กลับมาขยายตัว โดยมีภาคการเกษตรและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ และปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย ทำให้ภาครัฐมีการผ่อนปรนมาตรการการควบคุมสถานประกอบการบางประเภท สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ 54.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้การขนส่งผลผลิตทำได้ง่ายขึ้น และการเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ตลอดจนนักท่องเที่ยวเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ 52.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศคลี่คลายลงมาก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงคาดว่าปริมาณความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และยังมีฝนตกตามฤดูกาลคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 51.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมตามแนวโน้มความต้องการผลผลิตยางพาราจากผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์การใช้ถุงมือยางแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศจากภาครัฐ การนำยางพารามาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางท้องถนน อาทิ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเช่นกันตามความต้องการน้ำมัน B10 และ B20 จากการคมนาคมขนส่งที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และโครงการจัดซื้อปาล์มน้ำมันผลิตพลังงาน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 48.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคบริการ
ตารางสรุปดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ปี 2563 (ณ เดือนกรกฎาคม 2563)
กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก
ภาพรวม
ดัชนีความเชื่อมั่น
อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 48.1 52.6 60.5 51.0 54.3 59.9 54.9
ดัชนีแนวโน้มรายภาค
1) ภาคเกษตร 54.5 67.3 69.0 55.3 54.8 66.0 72.8
2) ภาคอุตสาหกรรม 48.8 56.8 50.5 49.0 52.7 68.3 40.6
3) ภาคบริการ 52.8 40.9 62.8 51.8 59.8 54.9 54.6
4) ภาคการจ้างงาน 43.4 49.3 59.5 53.2 50.3 55.3 55.4
5) ภาคการลงทุน 41.2 48.8 61.0 45.5 53.8 54.9 51.4
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254 หรือ 3223
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน