เรื่อง มาตรการสื่อสารและการกำกับ สื่อมวลชน การสื่อสารออนไลน์ในภาวะวิกฤติสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ จังหวัดนครราชสีมา
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ผู้ถาม : นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
จากเหตุการณ์ร้ายแรงที่จังหวัดนครราชสีมา ถือได้ว่าเป็นภาวการณ์วิกฤติ ซึ่งได้มีการนำเสนอข่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ นั้น ขอเรียนถามว่ารัฐบาลมีนโยบายและมาตรการการจัดการเกี่ยวกับสื่อในภาวะวิกฤติอย่างไร รวมทั้งมีมาตรการในการกำกับสื่อมวลชนให้อยู่ในมาตรฐานอย่างไร นอกจากนี้มีมาตรการและแนวทางกำกับสื่อสังคมออนไลน์อย่างไร อย่างไรก็ตามจากการวิจัยในต่างประเทศพบว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตต้องคำนึงถึงการไม่มีการกระตุ้นภาวะอารมณ์ในการรายงานข่าวไม่พาดหัวข่าวให้ใหญ่ ไม่เร่งสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รายงานข่าวซ้ำไปซ้ำมา ไม่นำเสนอขั้นตอนรำยละเอียดอันจะนำไปสู่การเลียนแบบ นำเสนอรูปภาพ วีดีโอให้น้อยที่สุด และระมัดระวังการนำเสนอที่ให้ผู้กระทำผิดเป็นวีรบุรุษ นอกจากนี้เห็นว่าจากกรณีที่เกิดเหตุวิกฤติควรมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อให้รอบคอบ ส่วนการกำกับสื่อมวลชนรวมถึงสื่อออนไลน์ต้องมีการวางมาตรการกำกับดูแล โดยใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญและกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ทั้งนี้สังคมต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการรับข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ให้รอบคอบและอย่างถูกต้อง
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการสื่อได้อย่างดี อาทิ กรณีเด็กติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย มีการตั้งศูนย์สำหรับสื่อมวลชน รวมทั้งมีการกำหนดผู้แถลงข่าวอย่างชัดเจน และมีการแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้การควบคุม และกำหนดพื้นที่สื่อมีความยากลำบาก เนื่องจากมีสื่อหลายรูปแบบ และมีการเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งสื่อจะมีทั้งสื่อหลักที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสื่อที่ใช้ช่องทำงของเอกชน อาทิ Facebook Twitter โดยรัฐบาลได้ดำเนินการประสานงาน และขอความร่วมมือกับสื่อช่องทางดังกล่าวจากต่างประเทศ ในกรณีไม่นำเสนอข้อมูลภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้รัฐบาลได้พยายามดำเนินการจัดระบบระเบียบของสื่อ และสื่อออนไลน์ให้เหมาะสมมีการศึกษาเพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มโทษและเพิ่มอำนาจให้ไม่ละเมิดสิทธิ อันเป็นการปกป้องคุ้มครอง ประชาชนอย่างแท้จริง ประกอบกับเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างเสรีในทุกรูปแบบ การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมของสื่อต่าง ๆ รวมถึงการขายสินค้าที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)