เรื่อง ขอรับทราบแนวทางปฏิบัติของกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์ทหารกองประจำการ
ผู้ตั้งกระทู้ถาม ศาสตราจารย์ นิสดารก์ เวชยานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล)
ผู้ถาม : ศาสตราจารย์ นิสดารก์ เวชยานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยที่ผ่านมามีประเด็นที่เสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและใช้ระบบสมัครใจแทนการบังคับนั้น โดยปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาวิธีการคัดเลือกทหารแบบผสมทั้งความสมัครใจและเกณฑ์ควบคู่กัน แต่สังคมภายนอกยังไม่เข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีการเกณฑ์ทหาร ขั้นตอนและวิธีการเกณฑ์ รวมถึงแผนด้านกำลังพลสำรองของกองทัพ จึงขอเรียนถามว่าเหตุผลความจำเป็น ที่จะต้องมีการเกณฑ์ทหาร และกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์แผนกำลังพลสำรอง แผนการเรียกเกณฑ์และรับสมัครในแต่ละปี ตลอดจนตัวเลขสถิติของจำนวนทหารที่ต้องเรียกเกณฑ์และจำนวนของผู้สมัคร รวมถึงสถิติของผู้ที่ประสงค์สมัครเป็นทหารต่อเมื่อปลดประจำการแล้ว จำนวนกำลังพล และภารกิจของกองทัพสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้มีการพัฒนาปรับปรุงระบบการเกณฑ์ทหาร ระบบกำลังพลสำรอง และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของทหารกองประจำการให้มีความทันสมัยรองรับศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่ อย่างไร ประกอบกับระบบการเกณฑ์ทหารสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงหรือไม่ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกองทัพนั้น มีส่วนร่วมในการสร้างคนดี สู่สังคมอย่างไร ในส่วนระบบการเกณฑ์ทหารของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วมีข้อดี และข้อเสียอย่างไร นอกจากนี้ขอตั้งข้อสังเกต ๓ ประเด็น คือ ทักษะการออมของกำลังพล ความร่วมมือของกองทัพกับท้องถิ่นในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงวัยและผู้ถูกทอดทิ้งในสังคมชนบท และกรณีการไม่จำกัดผู้หญิงเพื่อเข้ารับราชการทหาร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล)ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายให้ตอบชี้แจง ได้ตอบชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๒ ประกอบกับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม การรับราชการทหาร รวมถึงกฎกระทรวงต่าง ๆ ได้ให้อำนาจในการจัดการกำลังพลสำรองสำหรับการจัดเตรียมกำลังพลเท่าที่จำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยคุกคามที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงให้มีระบบกำลังสำรองที่มีประสิทธิภาพในการพร้อมรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ภารกิจและขีดความสามารถเป็นตัวตั้งในการกำหนดโครงสร้างกำลังของกองทัพ อย่างไรก็ตามความต้องการทหารกองประจำการมีจำนวนปีละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งขณะนี้กองทัพอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกะทัดรัด ทันสมัย และคาดว่าในอนาคตจำนวนความต้องการทหารกองประจำการจะลดลง ปัจจุบันกำลังพลมาจากการคัดเลือก และการรับสมัคร โดยข้อมูล ในปี ๒๕๖๒ มีทหารกองเกินที่จะเข้ามาตรวจ เลือกประมาณ ๕๖๐,๐๐๐ คน เข้ารับราชการประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน มีผู้สมัครใจปีละ ๔๐% หรือ ๔๐,๐๐๐ คน เข้าตรวจเลือก ๖๐% หรือ ๖๐,๐๐๐ คน และเมื่อครบกำหนดปลดประจำการแล้วมีเข้าเป็นทหารกองประจำการ ประมาณปีละ ๒,๐๐๐ คน โดยแต่ละหน่วยจะมีบัญชีบรรจุกำลังพลสำรองไว้ และกำลังพลสำรองส่วนหนึ่งมาจากนักศึกษาวิชาทหาร เป็นกำลังสำรองระดับนายสิบ ส่วนพลทหารมาจากทหารกองประจำการ และทหารกองเกิน หรือกองหนุนประเภทต่าง ๆ ในประเด็นระบบการตรวจเลือกได้มีการปรับปรุง และกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม รวมถึงสนับสนุนให้ทหารกองเกินเข้ามาสมัครให้มากขึ้น ควบคู่กับการ พัฒนาระบบกำลังพลสำรองสำหรับหลักสูตร
การเรียนการสอนเป็นการฝึกเบื้องต้น ๑๐ สัปดาห์ และมีการฝึกทบทวนเพิ่มเติมประจำหน่วย ในกรณีการฝึกทหารใหม่จะให้ครอบครัวทหารเข้าเยี่ยมเยียนเพื่อรับทราบความเป็นอยู่ รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ระบบการตรวจเลือกทหารกองประจำการจะกำหนดไว้ในแผนย่อยในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ รองรับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ส่วนประเด็นการพัฒนา ทรัพยากรของกองทัพ ในกรณีทหารที่มีวุฒิต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาจะมีการเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มเติม นอกจากนี้เพื่อสร้างคนดีได้สนับสนุนให้มีการบำบัดฟื้นฟูกำลังพลที่ติดยาเสพติดเป็นการพัฒนาคนและกำลังพลเพื่อกลับสู่สังคม สำหรับข้อดีข้อเสียของระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีจะใช้ระบบสมัครใจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประเทศที่อยู่ระหว่างพัฒนาเศรษฐกิจจะใช้ทั้งระบบสมัครใจและตรวจเลือกสำหรับประเทศไทยจะใช้ระบบตรวจเลือกและสมัครใจควบคู่กันไป ทั้งนี้มีเป้าหมายให้มีผู้สมัครใจเข้ามาเป็นทหารกองประจำการมากขึ้น ส่วนการเลือกระบบการคัดเลือกทหารจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภัยคุกคาม ภูมิศาสตร์ประชากร และศักยภาพภารกิจของกองทัพ ในส่วนประเด็นเกี่ยวกับการออมเงินของกำลังพล ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการออมเงินในทุกหน่วยอยู่แล้ว และจะขยายผลมากขึ้น ในส่วนกรณีการดูแลผู้สูงอายุ กองทัพพร้อมดูแลและจะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป ส่วนกรณีการบรรจุทหารหญิงเข้ารับราชการ จะรับไปพิจารณาต่อไป
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)