วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓
เรื่อง นโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของประเทศ
ผู้ตั้งกระทู้ถาม พลตรี โอสถ ภาวิไล สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผู้ถาม : พลตรี โอสถ ภาวิไล สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาพ.ศ.๒๕๕๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทักษะความพร้อมทางกายภาพจิตสำนึกการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งยังเป็นการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬาจากการใช้สารต้องห้ามมีศูนย์ปฏิบัติการตรวจสารต้องห้ามอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นศูนย์เดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนโดยขณะนี้องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกหรือวาด้า มีมติให้ศูนย์หยุดปฏิบัติการชั่วคราวเป็นเวลา ๖ เดือน เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานทั้งวิธีตรวจ การส่งผลตรวจล่าช้า การขาดแคลนบุคลากรผู้ควบคุมคุณภาพและขาดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาการกีฬาแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดลต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ภายใน ๖ เดือน มิเช่นนั้นศูนย์จะต้องถูกยกเลิก จึงขอถามไปยังรัฐบาลว่ามีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหานี้อย่างไรและส่งผลกระทบต่อสมาคมกีฬาต่าง ๆ หรือไม่หากมีผลกระทบจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
การกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงสาเหตุการสั่งระงับศูนย์ตรวจสารต้องห้ามดังกล่าวพบว่าไม่สามารถตรวจสารต้องห้ามตามที่วาด้ากำหนด ๓๗๙ สาร ตรวจได้เพียง ๓๗๕ สาร /มีความผิดพลาดในการรายงานผล โดยตรวจสารที่วาด้าส่งมาให้ได้ ๙ ใน ๑๐ ตัวอย่าง /ศูนย์รายงานผลการตรวจล่าช้ากว่าที่องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) กำหนด โดย ๑ ตัวอย่างต้องใช้เวลา ๑๐ วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลา ๒๐ วัน รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรและการควบคุมคุณภาพซึ่งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษมาเป็นที่ปรึกษาและการขาดเครื่องมือที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการกีฬาแห่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะโอนเครื่องมือให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ติดระเบียบราชการไม่สามารถโอนรับข้ามกระทรวงได้ซึ่งจะหารือถึงทางออกของปัญหาและหากไม่สามารถกระทำได้ ก็จะตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือใหม่ พร้อมระบุว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ศูนย์อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและเคยของบประมาณ ๑๐ ล้านบาท แต่ได้รับ ๖ ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ การกีฬาแห่งประเทศไทยจะเข้ามาดูแลงบประมาณแทน และมีการเตรียมสำรองงบประมาณไว้ ๓๐ ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับศูนย์ตรวจสารต้องห้ามจะไม่กระทบกับการส่งนักกีฬาไปแข่งขันทั้งภายในและนอกประเทศของสมาคมกีฬาต่าง ๆ และมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา ๖ เดือน อย่างแน่นอน
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน