เรื่อง การบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ถาม : นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตจะทำให้เกิดการขยายของเมือง ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน จำนวนบุคลากรที่ติดตามผู้ใช้แรงงาน และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในปี ๒๕๘๐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ทั้งพลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก และคาดว่าจะเกิดของเสียและขยะมูลฝอยจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มจาก ๙.๔๑ ล้านตันในปี ๒๕๖๐ เป็น ๒๐.๐๘ ล้านตัน ในปี ๒๕๘๐ ขณะที่การกำจัดขยะติดเชื้อก็ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน อีกทั้งยังเกิดการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณขยะที่เกิดขึ้นกำลังเป็นปัญหาหนัก เพราะมีการกำจัดขยะไม่ถูกหลักวิชาการถึงร้อยละ ๔๐ นอกจากนี้ยังมีขยะตกค้างที่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ "เซาท์เทิร์นซีบอร์ด" เกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด จึงขอถามว่า ในระยะเร่งด่วนรัฐบาลจะดำเนินการกับขยะที่ตกค้างเดิมและตกค้างอยู่บนเกาะอย่างไร และในระยะยาวเมื่ออีอีซีพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบจะมีแนวทางการบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาขยะตกค้างสะสมให้เกิดความสมดุลในพื้นที่ได้อย่างไร รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการขยะอย่างไรบ้าง
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
การจัดการบริหารขยะตกค้างที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ได้รับทราบหลักการแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอโดย ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดการแผนสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และมีโครงการเร่งด่วน (Flagship Project) รองรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนขยะตกค้างเดิม ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการสำรวจปริมาณขยะในเบื้องต้น
โดยมีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากปัจจุบันได้มีการกระจายอำนาจการดูแลขยะในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามจะได้มีการประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางเร่งเก็บขยะตกค้างที่มีประสิทธิภาพต่อไป สำหรับแผนระยะยาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซีระหว่างปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔ ไว้เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ คือ ๑) การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ๒) การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่ ๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ ๔) บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ริเริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยขยะติดเชื้อ จังหวัดระยอง ส่วนนโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการกำจัดขยะเห็นได้จากการนำร่องโครงการระยองโมเดล ที่เป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับเอกชนด้วยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน มีการใช้นวัตกรรมรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ พร้อมเตรียมวางรากฐานการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดยเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการให้มีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากกว่านี้
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)