เรื่อง การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งนอกเขตชลประทานอย่างยั่งยืน
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ถาม : นายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะสามารถจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานได้หรือไม่ ทุกหมู่บ้านจะมีน้ำใช้เพียงพอได้อย่างไร หลังพบว่าแม้ที่ผ่านมาจะมีฝนจำนวนมาก แต่สามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้ไม่เกินร้อยละ ๓๐ ขณะเดียวกันพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ ๙๐ ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ยังต้องพึ่งพาน้ำฝนและน้ำบาดาล นอกจากนี้ ยังพบว่าการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า ๖ หมื่นล้าน แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะที่กำกับดูแลการจัดหาน้ำนอกเขตชลประทานได้รับงบประมาณไม่ถึง ๑ หมื่นล้าน จึงจะมีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะใช้โอกาสที่กระแสการเติมน้ำลงใต้ดินได้รับความสนใจจากสังคม ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในภาวะที่มีงบประมาณจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักการธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกในการแก้น้ำท่วมน้ำแล้งกักเก็บน้ำและเติมน้ำในบ่อบาดาลให้มีไว้ใช้ได้ตลอดปี
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ราว ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่นำมาใช้ได้จริง ๑๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบว่าสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในขณะนี้คือแผนที่น้ำใต้ดิน ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งสำรวจในพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนที่แจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปใช้งานต่อไป นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังมีโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ ๔๐ ไร่ ๑๐๐ ไร่ ครอบคลุมไปจนถึง ๕๐๐ ไร่ ประกอบกับมีการบริการกระจายน้ำ และพลังงานไฟฟ้า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์เข้าช่วยดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ๒๐ ปี ได้ตั้งเป้าขุดบ่อน้ำบาดาลให้ได้ ๓๑,๐๐๐ แห่ง เพื่อบริการเกษตรกรในหลายพื้นที่ ส่วนการจัดตั้งธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเติมน้ำใต้ดินและการนำน้ำใต้ดินมาใช้นั้นต้องคำนึงทิศทางไหลของน้ำ และแหล่งน้ำที่จะกักเก็บด้วย เพราะหากเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีก็จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนน้ำใต้ดินได้ และย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน โดยในส่วนของแผนบูรณาการจัดการระบบน้ำ ได้ประสานกับทุกหน่วยงานภายในกระทรวง และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บูรณาการงบประมาณทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับประสานกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ควบคู่กับการทำบ่อบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดินด้วย
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)