เรื่อง ปัญหาคุณภาพและประสิทธิภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM)
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ผู้ถาม : นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในการควบคุมติดตามผู้กระทำความผิดซึ่งถือว่าเป็นนโยบายส่งเสริมเพื่อบรรเทาลดจำนวนนักโทษไม่เด็ดขาดในเรือนจำหรือปัญหาความแออัดในเรือนจำ รวมถึงใช้แก้ไขปัญหาหลายด้าน อาทิ ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในชั้นปล่อยตัวชั่วคราว และปัญหาความยากจนทำให้ไม่มีเงินประกันตัว ที่ผ่านมามีการนำอุปกรณ์ EM มาใช้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สังคมยังมีข้อกังวลและตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานเช่น สามารถถอดออกได้ด้วยตนเอง เกิดข้อบกพร่องทางเทคนิค รวมถึงระบบประมวลผล ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในกระบวนการ จึงต้องการทราบถึงจำนวน EM ที่นำมาใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรม มีการประเมินผลสัมฤทธิ์รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่นำมาใช้ มีจำนวนผู้หลบหนีการควบคุมตัวและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงภาครัฐมีนโยบายหรือแนวทางในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของอุปกรณ์ EM เพื่อให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง นำมาเป็นเครื่องมือของกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในกรณีเป็นผู้ยากไร้ไม่มีเงินประกันตัวระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่อย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
ได้มีการเริ่มใช้อุปกรณ์ EM เมื่อปี ๒๕๕๖ จำนวน ๒๐๐ เครื่อง ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘จำนวน ๓,๐๐๐ เครื่อง ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ส่วนที่เกิดปัญหาคือ ระยะที่ ๓ ที่ ยธ. นำมาใช้ตามคำสั่งของศาล ๔,๐๐๐ เครื่อง ในสัญญาระบุไว้ให้ใช้ระหว่าง มกราคม ๒๕๖๒ - กันยายน ๒๕๖๓ แต่ระยะเวลาที่ใช้จริง ๑ มกราคม ๒๕๖๒ – ๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ใช้กับผู้ต้องขัง ๓,๓๓๓ เครื่อง แบ่งเป็น ผู้ถูกคุมประพฤติ ๓,๒๒๘ ราย ผู้ต้องขังได้รับการพักโทษ ๑๐๕ ราย ประเมินจากผู้ที่ถูกศาลสั่งให้ติด EM จำนวน ๒๓๗ รายโดยประเมินจากครอบครัว สังคมและชุมชนผลออกมาดี ผู้ติด EM มีระเบียบวินัยดีขึ้น ส่งผลต่อความคิดช่วยเตือนสติ คนรอบข้างมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น ข้อขัดข้องและปัญหาที่เกิดขึ้นคือสัญญาณไม่เสถียร สามารถถอดออกเองได้ เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน ส่วนผู้หลบหนีนั้น มีผู้กระทำผิดเงื่อนไข ๔๗ ราย แบ่งเป็น มีเจตนาหลบหนี ๘ ราย ฝ่าฝืนเงื่อนไขออกนอกพื้นที่ ๓๙ ราย ซึ่งศาลได้ออกหมายเรียก หมายจับ สั่งจำคุก กักขัง กักบริเวณ แล้วแต่กรณี ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพนั้น กระทรวงฯ ได้กำหนด TOR อุปกรณ์ EM ชุดใหม่ขึ้น โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อุปกรณ์จะต้องสวมใส่ที่ข้อเท้า กางเกงขายาวปกปิดได้ ได้รับการรับรองเรื่องของการสวมใส่แล้วไม่เกิดอาการแพ้ สามารถใช้งานกับเครือขายโทรคมนาคม 3G ขึ้นไป และจัดให้มีการทดลองในพื้นที่ทุรกันดาร ทั้งนี้ในส่วนที่ใช้ EM กับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีนั้น ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ไม่มี EM แต่มีกองทุนยุติธรรมที่สามารถช่วยเรื่องการประกันตัว การจัดหาทนาย ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)