กระทู้ถามเป็นหนังสือ ลำดับที่ ๒
เรื่อง การจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล)
ผู้ถาม : นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ตามที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่โดยทําให้เกิดความร้อนและไอน้ำ โดยไม่มีควันเหมือนบุหรี่ปกติทั่วไปซึ่งมีส่วนประกอบหลัก ๓ ส่วน คือ แบตเตอรี่ตัวทําให้เกิดไอความร้อน และน้ำยา โดยน้ำยาประกอบด้วยสารหลัก ๆ คือ นิโคติน ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สําหรับหญิงตั้งครรภ์ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ สําหรับประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามปรากฏว่ามีการจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลายและมีการแอบจําหน่ายตามร้านค้าหลายแห่ง และจากข้อมูลจากการประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย พบว่าสถานการณ์การจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางการสื่อสารออนไลน์ มีผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าใช้สื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภท โดยพบมากที่สุดคือ เฟสบุ๊ค รองลงมาคือ แอพพลิเคชั่นไลน์ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ทั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความเชื่อที่ผิดโดยเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เสพติด ไม่ก่อมะเร็งปอด และเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการสูบควันไอน้ำเท่านั้น จึงขอถามว่า ๑. รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร ๒. รัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยการสืบสวน สอบสวน และจับกุมผู้กระทําผิดอย่างไร มีผลดําเนินการและแผนการดําเนินการอย่างไร ที่จะทําให้ประชาชนและสังคมมั่นใจได้
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถามได้ตอบชี้แจงว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศควบคุมการนําเข้าบารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ออกประกาศกระทรวง เรื่องกําหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนําเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๗ กรณีการนําเข้าจึงเป็นความผิดตามประกาศดังกล่าว ส่วนการนําผ่านเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๙ การนําเข้าและนําผ่านเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ สําหรับการขายหรือให้บริการเป็นความผิดตามคําสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๔/๒๕๕๘ การครอบครองอาจเป็นความผิดกรณีเป็นผู้ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ซื้อ รับจํานํา ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่อาจเป็นความผิดว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ ส่วนประเด็นข้อถามที่ ๒ ขอชี้แจงว่า รัฐบาลมีหน่วยงานหลายภาคส่วนที่ดูแลในเรื่องนี้ และมีการบังคับใช้กฎหมายสืบสวน สอบสวน และจับกุมผู้กระทําผิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค โดยเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้นกรณีลักลอบจําหน่ายสินค้าที่มีคําสั่งห้าม อีกทั้ง มีการแต่งตั้งคณะทํางานปฏิบัติการพิเศษเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคติดตามความเคลื่อนไหวผู้กระทําผิดทางสื่อออนไลน์ มีการจับกุมโดยกรมศุลกากร ในปี ๒๕๖๒ ที่ด่านสะเดา จํานวน ๖ คดี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จํานวน ๖,๐๓๑ คดี ท่าอากาศยานดอนเมือง จํานวน ๒๘ คดี ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรอบปี ๒๕๖๒ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับ
การคุ้มครองผู้บริโภค จับกุมจํานวน ๑๖ คดี อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายจะเน้นแผนงานป้องกันและปราบปรามในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)