๑. กระทู้ถามเป็นหนังสือ จำนวน ๒ กระทู้ ดังนี้
กระทู้ถามเป็นหนังสือ ลำดับที่ ๑
เรื่อง เร่งสร้างความปลอดภัยทางถนน
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี)
ผู้ถาม : นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ในเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาล ปีใหม่ ๗ วันอันตราย โดยเฉลี่ยเทศกาลละ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ คน ทั้งที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีมาตรการป้องกันอันตราย จากอุบัติเหตุในช่วง ๗ วันอันตรายมากว่า ๑๐ ปี แต่สถิติอุบัติเหตุไม่ได้ลดลงมากนัก แม้ในช่วงหลังค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มจะลดลง แต่ถ้าเทียบกับนานาประเทศแล้วสถิติผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจากอุบัติเหตุยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ๒๐,๐๐๐ กว่าคนต่อปีหรือเฉลี่ยวันละ ๕๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชน หากคํานวณความสูญเสียมีมูลค่ามากกว่า ๕ แสนล้านบาท จึงขอถามว่าเพื่อให้เร่งสร้าง ความปลอดภัยบนท้องถนนและ ลดการเสียชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลจะมีมาตรการในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้อย่างไร ๑. การจํากัดความเร็ว ๒. ผู้นําด้าน ความปลอดภัยบนท้องถนน ๓. การออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ๔. มาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ๕. การบังคับใช้กฎหมายจราจร และ ๖. การรักษาชีวิตหลังเกิดการชน
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) ตอบชี้แจงกระทู้โดยสรุปดังนี้
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถาม ได้ตอบชี้แจงว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาศัยระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขอุบัติเหตุบนท้องถนน พ.ศ. ๒๕๕๔ และใช้กลไกของศูนย์อํานวยการความปลอดภัยทางถนน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน มีศูนย์อํานวยการความปลอดภัย ทางถนนจังหวัด ศูนย์อํานวยการความปลอดภัยทางถนนอําเภอเป็นกลไกขับเคลื่อน และยังมีศูนย์อํานวยการความปลอดภัยทางถนนของท้องถิ่นด้วย โดยให้ความสําคัญกับท้องถิ่นในการแก้ไขความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากถนนในประเทศไทยกว่าร้อยละ ๗๘ อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอุบัติเหตุ ความสูญเสียส่วนใหญ่ในถนนก็อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ นําไปสู่การแก้ไขกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอํานาจในการสนับสนุนและอํานวยการจราจร ดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงการสร้างวินัยให้กับคนในชุมชน มีการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมถึงโรงเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน ในส่วนการทํางานเชิงรุกคือ การออกแบบถนนของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท หรือท้องถิ่นก็ดี ต้องคํานึงถึงความปลอดภัยมากกว่าเพียงต้องการมีถนนใช้เท่านั้น รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ กรมการขนส่งทางบกได้คํานึงถึงความปลอดภัยโดยได้ตรวจสอบยานพาหนะเป็นประจําทุกปี และตรวจสอบความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ส่วนการตัดแต้มผู้ขับขี่รถยนต์ที่กระทําการผิดกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดําเนินการใกล้แล้วเสร็จ และจะเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนพร้อมกับการดําเนินการบังคับใช้กฎหมายจราจรสร้างจิตสํานึกให้ผู้คนมีวินัยการจราจรต่อไป
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)