กระทู้ถามเป็นหนังสือ ลำดับที่ ๒
เรื่อง การประกาศให้สารเคมีทางการเกษตร ๓ ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา
ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์)
กระทู้ถามเป็นหนังสือ ลำดับที่ ๓
เรื่อง การยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย ๓ ชนิด
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์)
เนื่องจากกระทู้ถามทั้ง ๒ กระทู้ดังกล่าวเป็นกระทู้ถามที่เกี่ยวเนื่องกันที่ประชุมจึงเห็นควรให้พิจารณาไปพร้อมกัน
ผู้ถาม : นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยสินค้าเกษตรได้สร้างผลผลิตในเชิงเศรษฐกิจ มีการมุ่งใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต รวมถึงมีวิวัฒนาการในการใช้ปัจจัยการผลิตในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามวิวัฒนาการในการใช้สารเคมีในประเทศพบว่า มีการรณรงค์การผลิตด้านเกษตรอย่างปลอดภัยและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเน้นความปลอดภัย ต่อมามีการขยายตัวในการใช้สารเคมีเพื่อให้มีการผลิตที่ได้จำนวนมากและคุ้มค่า สำหรับการควบคุมดูแล เรื่องสารเคมีมีลักษณะเป็นขั้นตอน มีการยกเลิกหรือแปลงสถานะสารเคมี นอกจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีเฉพาะการปลูกพืชที่มีความเสี่ยงสูงของกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้มีการห้ามใช้พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ในขณะเดียวกันให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจอันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ต่อมามีมติให้จำกัดการใช้ทั้ง ๓ ชนิดนอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังให้ ๔ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน และเมื่อวันที่
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ให้ยกเลิกการใช้ทั้ง ๓ ชนิด และในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ไปอีก ๖ เดือนและดำเนินการตามขั้นตอนในการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ทั้งนี้ มีประเด็นข้อถาม ๔ ข้อ ดังนี้
ข้อ ๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้หลักเกณฑ์ใดในการกำหนดให้สารเคมีทางการเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ และได้มีการศึกษาผลกระทบ รวมถึงติดตามเฝ้าระวังกันหรือไม่อย่างไรและมีข้อมูลใดที่บ่งชี้ชัดว่าสมควรยกระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔
ข้อ ๒ มีการกำหนดมาตรการและกรอบระยะเวลาหรือไม่ อย่างไร ในการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่กำหนดให้คลอร์ไพรีฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔
ข้อ ๓ มีแนวทางอย่างไรในการจัดการสารเคมี ทั้ง ๓ ชนิดที่มีอยู่ในประเทศในขณะนี้ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ร้านค้าและเกษตรกร หลังจากที่มีมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔
ข้อ ๔ ในการดำเนินการหลังจากนี้มีการใช้งบประมาณของทางราชการไปให้ความรู้ ในการจำกัดการใช้ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐจะดำเนินการนั้น จะทำการต่อเนื่องอย่างไร
ผู้ถาม : นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
โดยในปี ๒๕๖๐ มีการผลักดันยกเลิกการใช้สารเคมี ๓ ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งมีการดำเนินการเป็นลำดับดังนี้
๕ เมษายน ๒๕๖๐ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงเสนอให้มี
การยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส
๓ มกราคม ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้วสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
มีมติยืนยันเหมือนคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดแรก
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเห็นว่าไม่ควรยกเลิกการใช้
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเดิมได้ตั้งคณะกรรมการการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกัน
และจำกัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ยกเลิกการใช้พาราควอตใน ๑ ปี ยกเลิกและให้มีการจำกัด
การใช้ และสร้างการเรียนรู้ของประชาชนพัฒนาวิธีการทดแทน
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ คณะกรรมการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงเสนอให้พิจารณาตั้งคณะทำงานขึ้นมา
๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยืนยันไม่ยกเลิก
๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณา มีการสรุปและเสนอแนะให้มี
การยกเลิกการใช้ ๓สารเคมีดังกล่าว
๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ นำเสนอวิธีการทดแทน กรณีที่ มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ เพื่อพิจารณาใน ๖๐ วัน
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้ ๓ สารพิษนี้ตั้งแต่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการเปลี่ยนองค์ประกอบตามกฎหมายใหม่ได้มีการกลับมติ คือ ยกเลิกการใช้พาราควต
และคลอร์ไพรีฟอส แต่เลื่อนแวลาการบังคับใช้ ๖ เดือน และมายกเลิกการใช้ไกลโฟเซต โดยใช้มาตรการควบคุมการใช้
อย่างไรก็ตามยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเกี่ยวกับการจัดการมลพิษ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติในแผนย่อย นอกจากนี้ยังมีแผนการเกษตรปลอดภัย แผนพัฒนาประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีการใช้และที่มีการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันที่แถลงต่อสภาเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร โดยลด ละ เลิกการใช้ยาปราบศัตรูพืชโดยเร็วโดยต้องจัดหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ มีประเด็นข้อถาม ๓ ข้อ ดังนี้
ข้อ ๑ รัฐบาลมีแผนการยกเลิกการใช้สารเคมี ๓ ชนิดนี้อย่างไร ทั้งนี้ เป็นการตั้งถามก่อนมีมติ ซึ่งขณะนี้มีการยกเลิกแต่มีการเลื่อนเวลาออกไป ๖ เดือน ๒ ชนิด และ ๑ ชนิดมีการกลับมติไม่ยกเลิกการใช้แต่จำกัดการใช้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร มีแผนอย่างไร เมื่อครบ ๖ เดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และไกลโฟเซตที่กลับไปหยุดยกเลิกการใช้มีเหตุผลอย่างไร
ข้อ ๒ หากไม่มีการยกเลิกอย่างกรณีไกลโฟเซตจะคุ้มครองสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ข้อ ๓ แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาที่มีอย่างชัดเจน รัฐบาลได้มีแผนรองรับเรื่องนี้เรื่องเหล่านี้อย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์) ได้ตอบชี้แจงรวม ดังนี้
กระทู้ถามของนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ตอบชี้แจงว่า คำถามทั้ง ๔ ข้อ เป็นเรื่องที่มีมาก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมกันในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร่งด่วน ส่วนการดำเนินการเฉพาะในส่วนของสารเคมีทางการเกษตรซึ่งอยู่ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น ขณะนี้ยังไม่มีประกาศลงนาม
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงไม่อาจคาดการณ์และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติได้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานไว้รองรับมาตรการและวิธีการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเรื่องการใช้สารเคมีจะดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ จะกลับไปพิจารณาเรื่องนี้หากได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมวิชาการการเกษตร
กระทู้ถามของนายอำพล จินดาวัฒนะ ตอบชี้แจงว่า การประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ รายละเอียดปรากฏตามที่ทราบกันยังไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อาจชี้แจงยืนยันในส่วนนี้ได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ที่ผ่านมาได้เสนอห้ามใช้วัตถุอันตรายไปแล้ว ๘๔ ชนิด และล่าสุดเสนออีก ๓ ชนิดตามที่ได้ทราบกันแล้ว อย่างไรก็ตามการประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๘ ของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ และเป็นรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมาย ทั้งนี้ สารเคมีทั้ง ๓ ชนิดหลายประเทศที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เนื่องจากเกษตรกรต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไรก็ตามเกษตรกรมีสิทธิ์ได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ นอกจากนี้จะดำเนินการเร่งรัดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ขอเสนอเพิ่มเติมว่า นอกจากการยกเลิกและควบคุมการใช้แล้ว การควบคุมมาตรฐานสารเคมีเป็นเรื่องสำคัญอีกประการ นอกจากนี้การแปลงสารเคมีบางชนิดที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แปลง เป็น ๒ ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอไป ๔ ชนิด อีก ๒ ชนิดยังไม่มีการแปลงและเป็นอันตรายต่อประชาชน ทั้ง ๒ เรื่อง ควรมีการเร่งรัดดำเนินการ ทั้งนี้ นายอำพล จินดาวัฒนะ ได้เสนอเพิ่มเติมว่า เข้าใจในสถานการณ์และให้กำลังใจรัฐมนตรี แต่ขอสอบถามแผนของรัฐบาลที่ดำเนินการต่อไปเพื่อรองรับตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทแผนปฏิรูป ซึ่งได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ ทั้งนี้อาจมีการตอบเป็นเอกสารในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตามขอฝากรัฐบาล ในภาพรวม ๓ ประเด็น คือ (๑) การสร้างเอกภาพของรัฐบาล (๒) การตัดสินใจบนประโยชน์สาธารณะ และ
(๓) ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตัดสินใจ
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)