๑. กระทู้ถามเป็นหนังสือ จำนวน ๓ กระทู้ ดังนี้
กระทู้ถามเป็นหนังสือ ลำดับที่ ๑
เรื่อง นโยบายในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ผู้ถาม : นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) จำนวนมากในสังคมออนไลน์ โดยสามารถแบ่งข่าวปลอมออกเป็นกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มข่าวภัยพิบัติ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ และกลุ่มนโยบายรัฐบาล ซึ่งข่าวปลอมนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดต่อศีลธรรมอันดีและความมั่นคงภายในประเทศ และโดยที่ข่าวปลอมนั้นสามารถทำได้ง่าย เผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้ที่ได้รับข่าวปลอมหลงเชื่อ เข้าใจผิดและส่งต่อข่าวปลอมให้แก่ผู้อื่นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง และแม้ว่าการนำข้อมูลปลอม ข่าวปลอม ข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่กลับพบว่ามีการผลิตข่าวปลอมจำนวนมากออกมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มมากขึ้น มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ จึงอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอสอบถามว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีมาตรการในการเฝ้าระวัง กลั่นกรอง ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์หรือไม่ อย่างไร และมีนโยบายที่จะบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐภาคเอกชน ภาควิชาการและวิชาชีพในการป้องปรามข่าวปลอมทางสังคมออนไลน์ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไปหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องภูมิทัศน์สื่อสารของประเทศไทย ๕ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ความครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ซึ่งในขณะนี้มีความครอบคลุม ร้อยละ ๙๔ ประการที่สองการพัฒนาโครงข่ายทางสายไฟเบอร์ออฟติก มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นมากกว่า ๔๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร ประการที่สาม อัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๔๓.๓๘ ประการที่สี่ มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๑๒๕ ล้านเลขหมาย โดยเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ๗๔ ล้านเลขหมาย ดังนั้น จึงมีดิจิทัลอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ๗๔ ล้านเลขหมาย ซึ่งทำให้เผยแพร่ข่าวได้ง่าย ประการที่ห้า การใช้งานเชื่อมต่อข้อมูล ขณะนี้ ๒.๕ กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น ๗ กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ดังนั้น ชีวิตผู้คนส่วนใหญ่จึงผูกพันกับเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลจึงควรดำเนินงานในเชิงรุก และมีข้อเสนอว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงภัยต่าง ๆ ในสังคมออนไลน์ รวมถึงโทษของการเผยแพร่ข่าวปลอมในสังคมออนไลน์ด้วย และควรใช้ Social Control และ Family Control โดยให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนช่วยเตือนกันเอง รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนการลงทะเบียนในโซเชียลมีเดียซึ่งทำได้ง่าย โดยเห็นควรให้ใช้เลขประจำตัวสิบสามหลักในการลงทะเบียนแทน
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบกระทู้ถามโดยสรุปดังนี้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่าคนไทยจำนวนประมาณ ๖๖.๔ ล้านคน มีคนใช้สื่อที่เป็นโทรศัพท์มือถือหรือสื่อที่เป็นดิจิทัล ร้อยละ ๑๘๗ ซึ่งหมายความว่าหนึ่งคนมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่อง และมีคนไทยเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตสื่อสารออนไลน์ได้ถึงร้อยละ ๘๐ ส่วนการดำเนินการต่อข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์นั้น ปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ที่มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ผู้สื่อข่าววิทยุ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ และแบ่งคณะกรรมการตามกลุ่มข่าว ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มภัยพิบัติ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอางต่าง ๆ และกลุ่มนโยบายรัฐบาลที่ถูกบิดเบือนโดยในการดำเนินการจะใช้ระบบในการตรวจสอบ ๒ วิธี คือ วิธีที่หนึ่ง ให้ประชาชนส่งข่าวเข้ามา วิธีที่สอง ใช้ระบบ Social Listening คือ ระบบ AI โดยมีระบบคอมพิวเตอร์คอยตรวจจับข่าวที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งตั้งแต่มีการเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ จนถึงวันนี้ มีข่าวที่มีความเสี่ยงว่าเป็นข่าวปลอมประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ กว่าข้อความ และในศูนย์นี้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ประมาณ ๓๐ คน ทำงาน ๒๔ ชั่วโมง แบ่งเป็น ๓ ผลัด คอยติดตามว่าข้อมูลที่ประชาชนเผยแพร่มากที่สุด จำนวน ๑๐ อันดับแรก เป็นข้อมูลที่เป็นข่าวจริงหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วจะคัดกรองโดยคณะกรรมการ และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่จริง โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้ส่งบุคลากรมาช่วยตรวจสอบโดยให้เวลาไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ในการระบุว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่จริง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้กลุ่มคนที่แพร่ข้อมูลข่าวเท็จมากที่สุด คือ ผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะประมวลข้อมูลเป็นกราฟิกและส่งเข้าเว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยในช่องทางเหล่านี้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าข่าวที่เผยแพร่กันอยู่นั้นเป็นข่าวจริงหรือเท็จ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพื่อตรวจสอบข่าวได้ สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ดำเนินการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดต่อไป ส่วนกรณีการลงทะเบียนนั้น อยู่ระหว่างการหาแนวทางในการกำหนดวิธีการลงทะเบียนให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ส่วนเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเว็บพนันออนไลน์จำนวนมากนั้น หน่วยงานของรัฐไม่สามารถปิดได้หมด เนื่องจากเจ้าของเป็นบริษัทเอกชนในต่างประเทศ และโดเมนอยู่ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรมในเร็ววัน
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)