๒. กระทู้ถามด้วยวาจา จำนวน ๒ กระทู้ ดังนี้
กระทู้ถามด้วยวาจา ลำดับที่ ๑
เรื่อง การขยายอายุเกษียณราชการ
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)
ผู้ถาม : นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
ด้วยช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการออกมาผ่านสื่อสาธารณะ ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวไปอย่างกว่างขวาง โดยข่าวเผยแพร่ไปว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายอายุเกษียณราชการได้ถึง ๗๐ ปี ซึ่งยังมีความคาดเคลื่อนอยู่พอสมควร อีกประการหนึ่ง จากข้อมูลที่ทราบมาจะมีการขยายอายุเกษียณราชการจาก ๖๐ ปี เป็น ๖๓ ปี แต่อยู่ในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำการศึกษา ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้ข้าราชการใหม่เข้ามาน้อยลง และข้าราชการเดิมที่อายบุมากกว่า ๖๐ ปีมีมากขึ้น ทำให้กระทบต่องบประมาณที่นำมาจัดสรรเป็นเงินเดือนได้ จึงอยากเสนอแนะว่า รัฐบาลควรหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แต่แนวทางการขยายอายุเกษียณราชการเท่านั้น แต่ควรมีระบบการจ้างงานหลังเกษียณเข้ามาเป็นแนวทางรองรับผู้สูงอายุที่เกษียณราชการแล้ว ปัจจุบันแม้ว่าระบบการจ้างงานหลังเกษียณถูกนำมาใช้ก็ใช้ในเพียงบางกลุ่ม ไม่ได้ส่งผลถึงข้าราชการเกษียณส่วนใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลควรมีการศึกษาระบบการจ้างงานหลังเกษียณ ซึ่งอาจเป็นการทำงานสาธารณะของรัฐ และมีการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระหน้างาน โดยอาจใช้แนวทางดังกล่าวเพิ่มเติมหรือควบคู่กับแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการก็ได้ จึงขอเรียนถามว่า ข้อเท็จจริงในข่าวที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นประการใด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการสื่อสารเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีการศึกษาแนวทางการจ้างงานหลังเกษียณ เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ผู้ตอบ : รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ตอบกระทู้ถามโดยสรุปดังนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ถามตอบชี้แจงว่าประเด็นข่าวที่เผยแพร่ผ่านสื่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายอายุเกษียณราชการจนถึง ๗๐ ปี นั้นไม่เป็นความจริง และรัฐบาลได้ดำเนินชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วหลายช่องทาง เช่น การมีหนังสือจาก ก.พ. ชี้แจงเวียนไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ ของ ก.พ. และมีการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนตลอดจนรองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๐๘ ก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับประเด็นการขยายอายุราชการให้เกษียณ ๗๐ ปีไว้เช่นกัน โดยให้ข้าราชการพลเรือนเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และทางราชการมีความจำเป็นที่จะให้รับราชการต่อไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่งเดิมมีทั้งหมด ๘ ตำแหน่ง ให้รับราชการต่อได้อีกไม่เกินสิบปี ต่อมามีบางหน่วยงานที่เห็นว่าบางตำแหน่งในหน่วยงานของตนมีความจำเป็นที่จะต้องขยายอายุราชการเช่นเดียวกับตำแหน่งในมาตรา ๑๐๘ จึงมีการดำเนินการ ขออนุญาต ก.พ. เป็นกรณีพิเศษภายหลังมีการประกาศกฎ ก.พ. เพื่อเพิ่มตำแหน่งที่สมควรขยายอายุเกษียณราชการอีก ๒๘ ตำแหน่งรวมทั้งสิ้น ๓๖ ตำแหน่ง ดังนั้น เรื่องการขยายอายุเกษียณราชการจนถึง ๗๐ ปี จึงเป็นข้อเท็จจริงเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการขยายอายุเฉพาะข้าราชการพลเรือนในบางหน่วยงานเท่านั้นไม่ได้รวมถึงข้าราชการอื่น ๆ ในระบบแต่อย่างใดส่วนแนวทางขยายอายุราชการเกษียณจาก ๖๐ ปี เป็น ๖๓ ปีนั้นเป็นแนวทางที่อยู่ในระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษา เพราะจะนำมาใช้กับข้าราชการ ทั้งระบบจึงต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อจำนวนข้าราชการใหม่ที่จะเข้ามา และผลกระทบต่องบประมาณที่จะต้องใช้ให้ละเอียด โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่าแนวทางนี้จะส่งผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าวเพียงเล็กน้อย และจะมีการนำเสนอกฎหมายเข้าคณะรัฐมนตรีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการระยะหนึ่ง เพราะต้องมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๗ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบด้วย ประการสุดท้าย คือ เรื่องการหาทางเลือกอื่น เช่น ระบบการจ้างงานหลังเกษียณ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้นำมาใช้บ้างแล้วบางตำแหน่งในบางหน่วยงาน เช่น ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการจ้างต่อคราวละ ๑ ปี ทั้งนี้จะขอรับแนวทางที่ผู้ตั้งถามแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อไป
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)