กระทู้ถามด้วยวาจา ลำดับที่ ๒
เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประสบอุทักภัยจากพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ”
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี)
ผู้ถาม : นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
๑. บ้านเรือนราษฎรที่ได้รับการเสียหายจากพายุทั้ง ๒ ลูก มีจำนวนกี่หลังคาเรือน เงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชยที่จ่ายไปให้ประชาชน ๓๒ จังหวัด จ่ายไปแล้วเมื่อไหร่ หรือจ่ายไปแล้วอย่างไร มีผู้เสียชีวิตจำนวนกี่คน จังหวัดไหนบ้าง และได้จ่ายเงินชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างไร พื้นที่การเกษตรที่ได้รับการเสียหายจำนวนกี่ไร่ เสียหายโดยสิ้นเชิง เสียหายบางส่วนกี่ไร่ จะช่วยเหลือเมื่อไหร่ หลังน้ำลดแล้วมีแผนงานโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวอย่างไร สาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหาย เช่น ถนน สะพาน เหมือง ฝาย ตลิ่ง วัด โรงเรียนจำนวนกี่แห่ง เมื่อน้ำลดแล้วจะตั้งบประมาณใช้จ่ายในการซ่อมแซม เดือนไหนของปีหน้า เงินทดรองราชการที่อยู่ที่จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน ๒๐ ล้านบาท ขณะนี้ใช้ไปแล้วเท่าไหร่ ได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปแล้วกี่จังหวัด
๒. ปัจจุบันมีจังหวัดที่ประสบสาธารณภัยอยู่กี่จังหวัด มีศูนย์อพยพค่ายพักพิงกี่แห่ง ผู้อพยพจำนวนกี่คน โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี การแพทย์การสาธารณสุขดำเนินการไปแล้วอย่างไร จัดรถสุขาเคลื่อนที่ไปกี่แห่ง ชุดเคลื่อนที่เร็วของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปช่วยเหลือประชาชนได้จัดการไปอย่างไร รวมทั้งไปติดตั้งประปาสนามในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกี่แห่ง ปัญหาโจรขโมยทรัพย์สินประชาชนในค่ายอพยพ เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างไรบ้าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบทดรอง ๑๐ ล้านบาท มีแผนดำเนินการช่วงหลังน้ำลดที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการอบรมอาชีพระยะสั้นอย่างไร
๓. แผนงานโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี และกำหนดว่างบลงทุนจะต้องดำเนินการทำสัญญาผูกพันให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ ทำไมจึงต้องรีบเร่งขณะนี้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงน้ำท่วม มีมาตรการอย่างไร ในการกำกับดูแลให้โครงการ ๑๘,๕๐๐ ล้านบาท มีความคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด ตามที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดไว้ตามมาตรา ๘
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) ตอบกระทู้ถามโดยสรุปดังนี้
๑. ขอตอบในภาพรวมอาจไม่เรียงตามหัวข้อ จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย มีทั้งสิ้น ๓๗ จังหวัด จังหวัดที่ได้ประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินมีจำนวน ๒๒ จังหวัด กรณีหน่วยงานที่มีเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เช่น กระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน ๑๐ ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน ๕๐ ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย จำนวน ๕๐ ล้านบาท เมื่อเกิดภัยขึ้นในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินดังกล่าวได้ทันที ส่วนกระทรวงหรือกรมต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เยียวยาสามารถเบิกมาเพื่อฟื้นฟูได้ กรณีทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย มีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเยียวยาชดเชยให้กับเกษตรกร กรณีพื้นที่ปลูกพืชเสียหายโดยสิ้นเชิง ให้ความช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ ๓๐ ไร่ เช่น นาข้าวไร่ละ ๑,๑๑๓ บาท พืชไร่ ๆ ละ ๑,๑๔๘ บาท พืชสวนอื่น ๆ ไร่ละ ๑,๖๙๐ บาท และจ่ายเงินตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลังหลังจาก
ภัยได้ผ่านไปแล้ว
๒. ผู้เสียชีวิตมีจำนวน ๓๓ ราย จากการจมน้ำและไฟฟ้าช๊อต ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่งถุงยังชีพ ๕๐,๐๐๐ ชุด องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ องค์กร มูลนิธิต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เชิญสิ่งของพระราชทานกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ชุด รวมทั้งตั้งโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนของสาธารณประโยชน์ที่เสียหายเมื่อน้ำลดแล้วจะเข้าไปฟื้นฟูต่อไป ในขณะนี้ตัวเลขยังไม่สามารถบอกได้ว่าถนนกี่สาย มีไร่นาจำนวนเท่าไหร่ เพราะมีแต่ข้อมูลเบื้องต้น ๒๘ จังหวัด ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในภาตะวันออกเฉียงเหนือ ๔ จังหวัด อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ กรณีที่มีศูนย์อพยพให้เน้นหนักเรื่องสุขาภิบาล ได้ประสานรถสุขาเคลื่อนที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจังหวัดปทุมธานีส่งไปช่วยจำนวน ๑๐ คัน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงได้สนับสนุนอีกบางส่วน กระทวงสาธารณสุขได้มีการแจกจ่ายยา
๓. ก่อนหน้านี้ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้งและเกรงว่าจะไม่มีน้ำใช้ในฤดูถัดไป เนื่องจากฝนทิ้งช่วง เพราะบางจังหวัดไม่มีน้ำในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดสุรินทร์ ในการแก้ปัญหาในเชิงระบบทั้งประเทศ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณ เป็นจำนวน ๑๕,๘๐๐ ล้านบาท ให้กับทุกจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยจึงเป็นที่มาของโครงการนี้ แต่เนื่องจากทำในช่วงปลายปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ในมติจึงมีการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดการเร่งรัดการใช้จ่ายในส่วนของงบลงทุนในช่วงนี้ด้วย ซึ่งกำหนดว่าให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างซึ่งกำหนดไว้แล้วว่า กรณีไหนบ้างสามารถจัดซื้อจัดจ้างที่เฉพาะเจาะจงได้ รัฐบาลยืนยันให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)