วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2563
สรุปการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภา วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒
กระทู้ถามด้วยวาจาลำดับที่ ๑
เรื่อง การตรวจพบสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ จำนวนมาก
ผู้ตั้งกระทู้ถาม นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา
ถาม นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผู้ตอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์)
ผู้ถาม : นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ถามกระทู้โดยสรุปดังนี้
๑. รัฐบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในผักและผลไม้ไว้อย่างไร และจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้
๒. รัฐบาลมีแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างอย่างไร และมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับอย่างไร
๓. รัฐบาลมีแนวทางในการจัดการการปนเปื้อนของสารเคมีที่ยกเลิกใช้ และสารเคมีที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ และไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย่างไร
ผู้ตอบ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์) ตอบกระทู้ถามโดยสรุปดังนี้
๑. รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในผักและผลไม้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ดังนี้ ๑) แนะนำเกษตรกรผลิตผลิตผลตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) และจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) ซึ่งกำหนดให้ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือคำแนะนำในสลากที่ขึ้นทะเบียน ในระบบการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP มีการตรวจติดตามและสุ่มตัวอย่างจากแปลงที่ได้รับรอง รวมถึงการสุ่มตัวอย่างที่จำหน่ายในตลาด เพื่อทดสอบระบบการผลิตเพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรปฏิบัติตามข้อกำหนดการผลิตที่ดี ๒) การใช้ชีวภัณฑ์ทางการเกษตรกำจัดศัตรูพืช เช่น ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย กำจัดแมลง และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผลิตกระจายชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชที่มีคุณภาพ เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
๒. รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง และ
มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ดังนี้ ๑) มีการกำหนดแผนการสุ่มตัวอย่างพืชที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อเฝ้าระวัง ความปลอดภัยสารตกค้างประจำปี มีแผนการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP วิเคราะห์สารตกค้าง โดย ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างพืช GAP จากแปลงและห้างสรรพสินค้า จำนวน ๑,๘๕๑ ตัวอย่าง พบว่ามีผลความปลอดภัย ๑,๖๖๔ ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ ๘๙.๙๐ ๒) สำหรับสินค้าพืชที่ผ่านการรับรอง มีการกำหนดรหัสรับรองเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (สามารถตรวจสอบรหัสรับรองได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://gap.doa.go.th) เมื่อมีการสุ่มตรวจพบสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรเกินมาตรฐาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบรหัสรับรองและแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง หากพบข้อบกพร่องจะดำเนินการแจ้งเกษตรกรทราบ เพื่อปรับปรุงแก้ไข หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพจะมีการพักใช้การรับรองภายในระยะเวลาที่กำหนด ๓) การจัดทำระบบมาตรฐานการรับรอง โดยมีหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation body) หน่วยตรวจรับรอง (Certification body) หน่วยตรวจสอบ (Inspection body) โดยมีหน่วยตรวจรับรองภาครัฐและเอกชน เป็นทางเลือกในการตรวจรับรองมาตรฐาน และการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิต ๔) การตรวจสอบวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่นำเข้าและจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕
๓. รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางในการจัดการการปนเปื้อนของสารเคมีที่ยกเลิกใช้ สารเคมีที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย และสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ดังนี้ ๑) การปนเปื้อนสารเคมีที่ยกเลิกใช้สารเคมีที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย และสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พบว่าสาเหตุหลักเกิดจากการสลายตัวของวัตถุอันตรายบางชนิดที่ทะเบียนยังไม่หมดอายุและยังอนุญาตให้จำหน่ายได้ โดยผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการพบสารเคมีที่ยกเลิกให้ใช้ควบคู่กับวัตถุอันตรายที่ทะเบียนยังไม่หมดอายุและยังอนุญาตให้จำหน่ายได้ ซึ่งสารที่สลายตัวในลักษณะนี้กรมวิชาการเกษตรไม่รับขึ้นทะเบียนแล้วเพราะจัดเป็นวัตถุอันตราย กลุ่มที่มีอันตรายสูงหรือเป็นกลุ่มแถบสีแดง ๒) นอกจากนี้วัตถุอันตรายข้างต้นจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ ๔ กรมวิชาการเกษตรไม่รับขึ้นทะเบียนและไม่ออกใบอนุญาต และห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่ายวัตถุอันตรายดังกล่าว พร้อมทั้งมีการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างเข้มงวด โดยนายตรวจพืชที่ด่านนำเข้า มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพวัตถุอันตรายก่อนนำเข้าผ่านด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพวัตถุอันตรายที่ผลิตในโรงงานและจำหน่ายที่ร้านค้าซึ่งจะมีประจำอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดต่าง ๆ มีการทำงานร่วมกับสารวัตรเกษตรอาสา ประมาณไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ คนทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับตำรวจกองปราบปราม และกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างใกล้ชิด จากการตรวจสอบไม่พบการนำเข้าวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด ๓) ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายอย่างชัดเจนในการลดปัญหาการจำหน่ายวัตถุอันตรายปลอมและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ปรับแผนงานเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการทำงาน รวมทั้งการให้หน่วยงานด้านการส่งเสริมการเกษตรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรให้ใช้วัตถุอันตรายได้อย่างถูกต้อง ให้ทราบถึงชนิดของวัตถุอันตราย ประเภทที่ ๔ ที่ยกเลิกใช้ ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต ถือเป็นวัตถุอันตรายที่ผิดกฎหมาย มีความเป็นพิษร้ายแรง ก่อให้เกิดพิษตกค้างต่อผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และให้ใช้สารเคมีรวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรใช้สารเคมีให้ได้ตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ทั้งในระบบ GAP และระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยมีระดับความปลอดภัยที่สูงต่อไป
(โปรดตรวจสอบการถาม-ตอบ กระทู้ถามที่เป็นทางการ จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน