วันนี้ (29 พ.ค.63) เวลา 11.50 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและผลการประชุม ศบค. โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1 สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลับจากประเทศคูเวตและอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,076 ราย หายป่วย 2,945 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทั้งนี้ ยังคงต้องดำเนินการในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการคัดกรองไข้ ไอ หอบเหนื่อย จามหรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการและผู้ใช้บริการ กรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ต้องรายงานหน่วยงานรับผิดชอบ 2. ทุกกิจการและกิจกรรมจัดให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้า – ออกสถานที่และเพิ่มมาตรการการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือใช้มาตรการควบคุม ด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทน 3. ให้พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น ลงทะเบียนเข้า – ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ
2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,905,415 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 115,572 ราย รวมจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 362,024 ราย สหรัฐอเมริกายังคงมีผู้ป่วยยืนยันสะสมเป็นอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมาคือบราซิลและรัสเซียตามลำดับ ส่วนประเทศที่อยู่ทางตะวันออกกลาง คือ ซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 80,185 ซึ่งปัจจุบัน ไทยอยู่อันดับที่ 77 ของโลก
3. ผลการประชุม ศบค.
ผอ.ศบค. ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขยายการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมของ ศบค. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอาจพิจาณายกเลิกในระยะที่ 4 ได้ โดยจะใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อหรือกฎหมายอื่น ๆ มาทดแทน
วาระสำคัญของการประชุม ศบค. ให้มีคงการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เช่นเดิม หากโรงเรียนใดมีความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ก็สามารถเลื่อนวันเปิดภาคเรียนให้เร็วขึ้นได้ โดยมีหลักการดังนี้ 1. จะต้องเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสที่จะติดเชื่อต่ำ และ 2. ให้เหลื่อมเวลาเรียน นักเรียนสามารถสลับเวลามาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการแออัด เบื้องต้นเน้นการเรียนระดับเด็กโตก่อนกรณีเด็กเล็กยังไม่มีข้อสรุป พร้อมมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ศึกษาเพิ่มเติมและหาข้อสรุปกรณีโรงเรียนนานาชาติต้องการให้มีการเปิดภาคเรียนเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อมาตรฐานนานาชาติ โดยให้นำเสนอที่ประชุม ศบค. อีกครั้ง และเห็นชอบการปรับลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานให้เป็นช่วงเวลา 23.00-3.00 น
การเสนอรายงานของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ด้านความมั่นคง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดรายงานผลชุดตรวจตามมาตรการหลัก ตั้งแต่ 17 - 28 พ.ค.63 ปฏิบัติตามมาตรการครบ 263,997 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ 416 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามเพียง 5 แห่ง ช่วงเคอร์ฟิวพบว่ามีการละเมิดคดีลด โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปผลการป้องกันการช่วยเหลือประชาชนพบว่า การเดินทางเข้าไทยผ่านด่านชายแดน 14,910 คน ส่งตัวกลับภูมิลำเนา 11,230 คน คงเหลือผู้กักตัว 3,680 คน ผู้ประกอบการ 3 อันดับแรกที่ให้ความร่วมมือต่อมาตรการการป้องกันโรคเป็นอย่างดี ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า สถานประกอบการดูแลเด็กและศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุด การงดเครื่องดื่มสุรา ห้ามชุมนุม จุดบริการเจลล้างมือได้มีความร่วมมือดี การใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและการสวมเฟสชีลไม่ได้รับความร่วมมือมากนัก ปลัดกระทรวงดีอีรายงานการดำเนินการ “แพลตฟอร์มไทยชนะ” ว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 120,000 ร้าน ผู้ใช้งาน 15 ล้านคน และพัฒนา “แอปพลิเคชันไทยชนะ” เพื่อป้องกันการลืมเช็คอิน-เช็คเอ้าท์ กิจการ/กิจกรรมที่ได้มีคะแนนประเมินสูง ได้แก่ การถ่ายทำละคร บริการทางการแพทย์ สถานเสริมความงาม ขณะที่ตลาดนัดได้คะแนนต่ำ โฆษก ศบค. เผยก่อนการประชุม ผอ.ศบค. เยี่ยมชมนวัตกรรมต่าง ๆ ในการตรวจรักษาโรคโควิด-19 โดยเป็นเทคโนโลยีจากศูนย์นวัตกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมแนะให้นำมาใช้งานได้จริงช่วยลดต้นทุนและอาจพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคตได้
**********************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก