วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563
วันที่ 28 พฤษภาคม 2563
ท่านผู้นำ หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสวัสดิภาพ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ผมจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน เพื่อประกันความมั่นคงทางสุขภาพ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการรายย่อยและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ผมขอเสนอ ๓ ประเด็นที่สำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้
หนึ่ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม ของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม การมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยมีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผมเห็นว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างยั่งยืน การพัฒนาวัคซีนและยารักษาสำหรับ COVID-19 ควรจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ทุกประเทศควรจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงวัคซีน และยารักษาอย่างเท่าเทียมกัน
สอง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไทยต้องการเห็นสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตร และการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง เพื่ออำนวยให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไปได้ กล่าวคือ ต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป ปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ เพื่อฟันฝ่าวิกฤต และปรับการเชื่อมต่อระหว่างกันใหม่ นอกจากนี้ ผมหวังว่า องค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศจะช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเงินโลก เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอีกด้วย
สาม วิกฤตนี้ เป็นโอกาสที่เราสามารถวางแผนเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เตรียมความพร้อมในการรองรับความ “ปกติใหม่” ก็คือ เรื่องของการดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 จะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากไม่ได้รับความไว้วางใจและความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งสำหรับรัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง โดยรัฐบาลได้สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนทุกวัน รวมทั้งยังได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อวางมาตรการรับมือกับวิกฤต และเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ผมขอย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโลก และสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจาเมกา และเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับความริเริ่มในการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะร่วมกันหาแนวทางเพื่อรับมือ และส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวจากวิกฤตของการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมขอให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จและมีผลลัพธ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการครับ
ขอบคุณครับ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน