วันนี้ (14 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 1 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 3,018 ราย ผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 6 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,850 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 112 ราย สำหรับผู้ป่วยพบใหม่ 1 ราย ถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจ ในการเข้าสู่การประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยเป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาจังหวัดเชียงใหม่แต่เคยทำงานที่จังหวัดภูเก็ต ออกเดินจากจังหวัดภูเก็ตวันที่ 2 พฤษภาคม 63 เพื่อกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมลูกและภรรยา ได้รับการตรวจจากการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยจากวิธีการของ อสม. ในพื้นที่เชียงใหม่พบว่าติดเชื้อ มีข้อวิเคราะห์คือ 1. ผู้ป่วยเป็นคนเชียงใหม่ที่มาจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง 2. ไม่มีอาการป่วย อยู่ในวัยทำงานอายุ 20-39 ปี ต้องให้ความสำคัญกับ อสม. ที่สามารถดึงผู้ป่วยรายนี้เข้ามารับการตรวจแล้วพบเป็นผลบวกยืนยัน รวมทั้งสื่อสารไปยังผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต หากมีอาการหรืออยากจะเข้ารับการตรวจ ให้เข้ามาตรวจได้ มีไข้หรือไม่ก็ได้ มีอาการเพียงแค่จมูกไม่ได้กลิ่น ก็เข้ามารับการตรวจได้
สำหรับพื้นที่ที่ยังมีอัตราการป่วยสะสมมากกว่า 10 คนต่อแสนประชากร อยู่ที่ 5 จังหวัด จังหวัดที่มีการรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 19 จังหวัด ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมาคือ 49 จังหวัด และมี 9 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยมาก่อนเลย โดยกรุงเทพฯ ยังเป็นอันดับ 1 ของจำนวนผู้ป่วย และภูเก็ตยังเป็นอันดับ 1 ในอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรเช่นเดิม
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงข้อสงสัยที่อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดบวมและอื่น ๆ ว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำสถิติสถานการณ์โรคปอดอักเสบหรือนิวมอเนียในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 พฤษภาคม 63 รวม 18 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ช่วงต้นปีมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคปอดอักเสบจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นมีการรณรงค์เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย รณรงค์การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทำให้นอกจากจะดีต่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังสามารถจัดการควบคุมได้ดีกับโรคปอดอักเสบด้วย และจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบยังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผู้ป่วยปอดอักเสบยังมีจำนวนไม่ถึงหลักพันในสัปดาห์ที่ 18 และสัปดาห์ที่ 17 มีจำนวน 1,000 เศษ ๆ ทั้งนี้ เมื่อเข้าฤดูร้อน โรคต่าง ๆ จะลดลงแล้วไปเพิ่มขึ้น โฆษก ศบค. ยังยืนยันว่า สธ. ดูแลทุกโรคอย่างดีเหมือนกัน เพราะไม่ว่าโรคใดเป็นโรคระบาดล้วนแต่มีผลต่อสุขภาพทางกายและเศรษฐกิจทั้งสิ้น
2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก
ผู้ป่วยยืนยัน 4,429,223 ราย เสียชีวิต 298,165 ราย เพิ่มขึ้น 5,272 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอังกฤษ ตามลำดับ ประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และรัสเซียตามลำดับ สำหรับประเทศกลุ่มอาเซียนและเอเชียนั้น อินเดียมีผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด 78,055 ราย ปากีสถาน 35,298 ราย และสิงคโปร์ 25,346 ราย
กรณีเกาหลีใต้พบแนวโน้มการระบาดระลอกที่ 2 โดยเมื่อวานนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 29 ราย และยอดผู้ติดเชื้อที่มาจากผับย่านอิแทวอนรวมกว่า 131 รายแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กำลังพยายามติดตาม ประกาศตามตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อกว่า 1 หมื่นคน ให้มารายงานตัวและตรวจโรคกับทางการ
โฆษก ศบค. เผยการศึกษามาตรการผ่อนปรนจากประเทศต่าง ๆ เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 เช่นกัน โดยเกาหลีใต้ใช้ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบ Drive thru และจากที่พักอาศัย 2. แยกโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ 3. ใช้แอพพลิเคชัน Self-Quarantine Safety and Protection เพื่อติดตามการเดินทางของผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัว ตั้งแต่ 5 พ.ค. 63 ซึ่งประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมและธุรกิจได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด รักษาระยะห่างและบังคับใช้มาตรการเสริมสร้างสุขอนามัยส่วนบุคคล กรณีจีนซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้าการระบาดรอบ 2 เช่นกัน แต่ยังสามารถควบคุมได้และเริ่มมาตรการผ่อนปรนตั้งแต่ 8 เม.ย. 63 โดยมีมาตรการ ได้แก่ 1. กำหนดโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ 2. แจกใบอนุญาตเข้าออกชุมชนแบบจำกัดจำนวนในแต่ละวัน 3. ผู้นำชุมชนติดตามสถานะทางสุขภาพของลูกบ้าน 4. กำหนดให้ประชาชน แสกน QR code/Health code ก่อนเข้าและออกสถานที่ต่าง ๆ 5. ประชาชนสามารถปรึกษาแพทย์ /ซื้อยา/ตรวจ ผ่านแอพพลิเคชันแทนการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ รวมทั้งยังให้เปิดสถานที่สาธารณะบางแห่ง เปิดการเข้า-ออกมณฑลหูเป่ยและนครอู่ฮั่น เพิ่มจำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะในกรุงปักกิ่ง ให้สถานที่ต่าง ๆ เปิดทำการ ยกเว้นสระว่ายน้ำและสนามกีฬาที่มีผู้เล่นแบบกลุ่ม
3. การดำเนินการตามมาตรการ
มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ
วันนี้ เวลา 01.30 น. มีคนไทยเดินทางกลับมาจากเยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) 80 คน และเวลา 14.30 น. จากบังกลาเทศ (ธากา) 197 คน พรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม 63) เวลา 17.25 น. จะมีผู้เดินทางกลับจากสิงคโปร์ 120 คน เวลา 07.30 น. จากบาห์เรน (มานามา) 240 คน และเวลา 13.35 น. จากแอลจีเรียและโมร็อคโก (ผ่านฝรั่งเศส) 38 คน โดยแผนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยในวันที่ 16 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) 2 เที่ยวบิน วันที่ 17 พฤษภาคม 63 มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ อินเดีย (มุมไบ) แคนาดา (ออตตาวา) (ผ่านญี่ปุ่น) และมัลดีฟส์ วันที่ 18 พฤษภาคม 63 มี 1 เที่ยวบิน ได้แก่ สหราชอาณาจักร (ลอนดอน) วันที่ 19 พฤษภาคม 63 มี 5 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) จีน (เซี่ยงไฮ้) ภูฏาน (พาโร) ฝรั่งเศส (ปารีส) และเนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) วันที่ 20 พฤษภาคม 63 มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ รัสเซีย อาร์เจนตินา (ผ่านบราซิลและเนเธอร์แลนด์) และอินเดีย (กัลกัตตา) และวันที่ 21 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ จีน (กว่างโจว) และออสเตรเลีย (ซิดนีย์)
รายงานผู้เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก มีผู้เดินทางจากเมียนมา 3 คน มาเลเซีย 298 คน สปป.ลาว 3 คน และกัมพูชา 2 คน รวม 306 คน
รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 13 พฤษภาคม 63 มีผู้เข้ากักกันสะสม 18,139 ราย ผู้เข้ากักกันปัจจุบัน 9,599 ราย กลับบ้านได้แล้ว 8,540 ราย และพบผู้ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 90 ราย
การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว
รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า พบผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 87 ราย เพิ่มขึ้น 40 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 557 ราย เพิ่มขึ้น 6 ราย โดยเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 ลำดับแรกคือ อื่น ๆ ร้อยละ 47 ยาเสพติดร้อยละ 23 และลักลอบเล่นการพนันร้อยละ 22
มาตรการการผ่อนปรน
รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 13 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้ทำการตรวจทั้งหมด 22,972 แห่ง พบว่าปฏิบัติตามมาตรการ 21,440 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ 296 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.29 และไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.01 โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจคือมาตรการควบคุมหลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1. ล้างมือ 2. ใส่หน้ากาก 3. เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 4. ทำความสะอาดบ่อย ๆ 5. อย่าแออัด
โฆษก ศบค. ได้ชี้แจงการตรวจกิจการ/กิจกรรมนั้นว่า มีหลายระดับ โดย ศปม. จะตรวจด้วยมาตรการควบคุมหลัก 5 ข้อ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบกรณีมาตรการเสริมทาง โดยจะร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้เข้าไปตรวจที่ละเอียดเชิงคุณภาพ ที่ใช้คู่มือในการตรวจสอบ โดยทุกรูปแบบการตรวจจะมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่สะอาดและไม่ติดโรค
**********************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก