วันนี้ (13 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทยวันนี้เป็นวันแรกที่มีการติดเชื้อ 0 ราย ทำให้การรายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมยังเท่ากับเมื่อวานนี้คือ 3,017 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 46 ราย เป็น 2,844 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 117 ราย อายุผู้ป่วยที่น้อยที่สุดคือ 1 เดือน อายุเฉลี่ยผู้ป่วย 39 ปี สูงสุด 97 ปี กรุงเทพฯ นนทบุรี และปริมณฑล ยังมีผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้
โฆษก ศบค. กล่าวขอแสดงความดีใจกับพี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้พยายามร่วมกันมา ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 รายในวันนี้ โดยตั้งแต่มีการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 63 มีตัวเลขที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ มีการผ่อนปรนกิจการสีขาววันที่ 3 พฤษภาคม 63 ถึงวันนี้รวม 10 วันทำการ มีเพียงวันที่ 4 พฤษภาคม 63 เท่านั้นที่มีตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 18 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่พบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ โดย 4 พฤษภาคม 63 เป็นวันแรกที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อภายในประเทศ แต่เป็นตัวเลขของผู้ป่วยในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ จะเรียกว่าวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันที่การติดเชื้อภายในประเทศเป็น 0 รายเป็นวันแรกก็ได้ แต่ถือว่าไม่เป็นทางการเพราะต้องรวมตัวเลขสะสมกับศูนย์กักกัน วันนี้จึงเป็นวันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 รายอย่างเป็นทางการ และวันนี้ยังนับเป็น 17 วันติดต่อกันที่ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักเดียว จึงขอให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจในความสมัครสมานสามัคคีที่ทำให้ตัวเลขนี้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยฝีมือของคนไทยทุกคน และต้องขอให้ทุกคนได้ทำต่อ ทั้งนี้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 5 อันดับแรกที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 1. ศูนย์กันกัน ผู้ต้องกัก 2. จากการค้นหาเชิงรุกในผู้ที่ติดเชื้อในชุมชน 3. สัมผัสผู้ใกล้ชิดในผู้ป่วยรายก่อนหน้า ขอให้เบาใจขึ้นได้แต่อย่าวางใจ ต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ การล้างมือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย เป็นเรื่องที่สำคัญ
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของผู้ป่วยในภาคต่าง ๆ พบว่า จำนวนจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมาลดลงเหลือ 18 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 50 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วย 9 จังหวัดยังคงเดิม กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด แต่อัตราการป่วยต่อแสนประชากรของกรุงเทพฯ รองจากภูเก็ตที่เป็นอันดับ 1
สำหรับเรื่องการปรับเกณฑ์การตรวจผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวัง หรือ PUI ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 63 ที่เมื่อยอดการตรวจผู้ป่วยลดลง ก็ได้เพิ่มเกณฑ์การตรวจที่หากมีอาการแค่คัดจมูก ความรู้สึกในการดมกลิ่นลดลง ก็เข้ามาตรวจได้ จะมีประวัติมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ รวมกับการมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยง มีอาการน้อย ๆ ก็ให้รีบเข้ามาตรวจ ทำให้มีผู้เข้ามาตรวจมากขึ้น โดยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 63 เป็นต้นมา มีการตรวจเพิ่มเติม 34,444 ราย พบผู้ป่วย 63 ราย อัตราการติดเชื้อร้อยละ 0.18 ซึ่งน้อยลง รวมตรวจแล้ว 2 แสนกว่าราย โดยจะต้องตรวจเพิ่มเติมเรื่อย ๆ
โฆษก ศบค. วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ทั้งส่วนกลาง และในต่างจังหวัด พื้นที่ส่วนท้องถิ่น ว่า ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 63 ถึง 11 พฤษภาคม 63 มีจำนวนผู้ป่วย 90 ราย จำแนกเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงที่ 8 ต่อ 1 อายุเฉลี่ย 41 ปี ต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 77 ปี สัญชาติไทยเป็นส่วนใหญ่ 98 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกา 1 เปอร์เซ็นต์ อังกฤษ 1 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดที่รับการรักษาคือ สงขลา สตูล กรุงเทพฯ ปัตตานี ยะลา ประเทศต้นทางที่ผู้ป่วยเดินทางมาอันดับ 1 อินโดนีเซีย อันดับ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา อันดับ 4 มาเลเซีย อันดับ 5 มี 4 ประเทศ คือ คาซัคสถาน ญี่ปุ่น ปากีสถาน สหราชอาณาจักร ส่วนสัญชาติของผู้ป่วยที่รับการรักษาในศูนย์กักกัน คือ เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เยเมน อินเดีย
2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โลก
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,342,345 ราย เสียชีวิตไป 292,893 ราย ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะไปถึงที่ 300,000 ราย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมของ 10 ประเทศอันดับแรกนั้น อันดับต่าง ๆ ยังคงเดิมอยู่ โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงที่สุดอันดับที่ 1 และประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 66 ของโลกเช่นเดิมเหมือนกัน รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ใน 10 ประเทศอันดับแรก สหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ 1 โดยเมื่อวานนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกถึง 22,000 ราย รองลงมารัสเซียตัวเลขอยู่ 10,000 กว่าราย
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายใหม่ของ 10 ประเทศอันดับแรกก็พบว่าสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตรายใหม่สูงเป็นอันดับที่ 1 คือ 1,630 ราย รองลงมาบราซิล 808 ราย และมีการสลับตำแหน่งกันเล็กน้อย โดยอังกฤษ จากอันดับที่ 4 ลงไปอยู่ในอันดับที่ 3 เม็กซิโก ขึ้นจาก 8 ไปอยู่ในอันดับที่ 4 และฝรั่งเศส ลงจากอันดับที่ 3 ไปอยู่อันดับที่ 5 ในวันนี้ สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 10 ประเทศอันดับแรกในกลุ่มอาเซียนและเอเชียพบว่าอินเดียมีผู้ป่วยยืนยันสะสมเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาสิงคโปร์ ขณะที่บังกลาเทศและญี่ปุ่น มีการสลับอันดับกัน โดยบังคลาเทศ จากอันดับที่ 5 ขึ้นไปอยู่อันดับที่ 4 แทนญี่ปุ่นในวันนี้ ส่วนไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 10 คงเดิม
ขณะเดียวกันแนวโน้มกราฟผู้ป่วยรายใหม่พบว่า สถานการณ์ของสหรัฐอเมริกา แนวโน้มเริ่มดีขึ้นที่จะลดลง แต่รัสเซีย ยังเพิ่มขึ้น ส่วนบราซิล และอังกฤษ แนวโน้มทรงตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สถานการณ์แนวโน้มของอินเดีย ทิศทางยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงบังกลาเทศ ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนปากีสถาน แนวโน้มทรงตัวและมีทิศทางลดลง เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่ทิศทางเส้นกราฟยังทรงตัวอยู่
โฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า ทางการจีนพบการติดเชื้อ 6 รายที่เมืออู่ฮั่น และเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 7 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันเสาร์และวันอาทิตย์พบการระบาดของเมืองซูหลานในมณฑลจี๋หลิน จีนจึงตัดสินใจว่าจะต้องมีการตรวจประชาชนในอู่ฮั่นทุกคน หลังพบการติดเชื้อรอบใหม่ ซึ่งในประชากร 11.08 ล้านคน จะมีการตรวจทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องที่ทางการจีนลงทุนในการที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ
เกาหลีใต้ พบยอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งล่าสุดติดเชื้อ 102 คน เร่งตามตัวกลุ่มเสี่ยง 2,000 คนที่ยังไม่รายงานตัวกรณีของไนท์คลับย่านอิแทวอน ของกรุงโซล ที่เริ่มต้นจากผู้ชายอายุ 29 ปี ที่ป่วยแล้วไปใช้บริการสถานบันเทิงถึง 5 แห่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้มีรายงานติดเชื้อที่ 102 คนซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อ ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ ได้เลื่อนเปิดเทอมหลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกรอบหนึ่ง จากเดิมจะเปิดเทอมต้นเดือนมีนาคมก็เลื่อนไปเป็น 20 พฤษภาคม 2563 และจะกลับมาเปิดเรียนในเดือนมิถุนายน
ด้านเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้มีมาตรการการผ่อนคลายทั่วประเทศ ให้เปิดธุรกิจขนาดเล็กและโรงเรียน หลังสถานการณ์ในประเทศลดความรุนแรงลงแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันอังคารเพิ่มขึ้น 933 ราย คิดเป็น 3 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 1 วัน ทั้งนี้มีรายงานของรัฐบาลท้องถิ่นระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาจะต้องกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์เพิ่มความเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง หากตัวเลขยังระบาดสูงขึ้นหลังจากการผ่อนคลาย ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อในเยอรมนีอยู่ที่ 170,000 กว่าราย เสียชีวิตไป 7,000 กว่าราย โดยเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุว่าหากมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 รายต่อแสนประชากรหรือมีอัตราการติดเชื้อระหว่าง 1 คน ไป 1 คน ถ้าเป็นตัวเลข 1 คือยังดียังไม่มาก แต่ถ้าเกิน 1 คือเกินกว่าเท่าตัว เป็น 2 หรือเป็น 1 กว่า ๆ หรือ 1 ครึ่ง เหล่านี้ ถ้าเกินกว่า 1 อาจจะพิจารณาการใช้มาตรการ Emergency brake หรือการเบรกฉุกเฉิน เพื่อปิดสถานที่ในพื้นที่ที่มีการระบาด
โฆษก ศบค. ย้ำว่าแต่ละประเทศมีมาตรการแตกต่างกันไป ฉะนั้นจึงไม่สามารถเทียบเคียงอะไรกับใครได้ โดยในส่วนของประเทศไทยก็ได้ใช้วิธีอย่างนี้มาและเกิดผลอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคงเข้าใจ รู้ในสถานการณ์และมีการปรับตัวกันอยู่ถึงตลอด จึงต้องขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมมือกัน
3. การดำเนินการตามมาตรการ
มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ
วันนี้ เวลา 08.45 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากยูเครน 13 คน เวลา 14.45 จากฟิลิปปินส์ (มะนิลา) 171 คน และเวลา 18.00 น. จากอินเดีย 129 คน ในวันพรุ่งนี้ (14 พฤษภาคม 63) เวลา 01.30 น. จะมีผู้เดินทางกลับจากเยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) 80 คน และเวลา 14.30 น.จากบังกลาเทศ (ธากา) 197 คน ทั้งนี้ แผนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยในวันที่ 15 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ สิงคโปร์ บาห์เรน (มานามา) และฝรั่งเศส (ปารีส) วันที่ 16 พฤษภาคม 2 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) วันที่ 17 พฤษภาคม 3 เที่ยวบิน ได้แก่ อินเดีย (มุมไบ) แคนนาดา (ออตตาวา) (ผ่านญี่ปุ่น และมัลดีฟส์ (มาเล)) วันที่ 18 พฤษภาคม 1 เที่ยวบิน ได้แก่ สหราชอาณาจักร (ลอนดอน) วันที่ 19 พฤษภาคม 5 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) จีน (เซี่ยงไฮ้) ภูฏาน (พาโร) ฝรั่งเศส (ปารีส) และเนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) และวันที่ 20 พฤษภาคม 3 เที่ยวบิน ได้แก่ รัสเซีย (มอสโก) อาร์เจนตินา (ผ่านบราซิลและเนเธอร์แลนด์) และอินเดีย หากคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ และอยากเดินทางกลับประเทศไทยสามารถประสานทางสถานทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้กลับเข้ามา
รายงานผู้เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก มีผู้เดินทางจากเมียนมา 4 คน มาเลเซีย 328 คน สปป.ลาว 6 คน และ กัมพูชา 6 คน รวม 344 คน โดยประเทศมาเลเซียได้มีการผ่อนคลายมาตรการให้คนไทยสามารถอาศัยอยู่ในประเทศได้บ้างแล้ว ทำให้คนไทยในมาเลเซียบางส่วน อยากอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อ ส่งผลให้มีผู้เดินทางผ่านแดนทางด่านมาเลเซียมีจำนวนที่พอเหมาะ
การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว
โฆษก ศบค. รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า มีผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 47 ราย เพิ่มขึ้น 21 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 551 ราย เพิ่มขึ้น 65 ราย โดยเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 ลำดับแรกคือ ดื่มสุราร้อยละ 57 ลักลอบเล่นการพนันร้อยละ 28 และยาเสพติดร้อยละ 11
มาตรการการผ่อนปรน
รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 12 พฤษภาคม 63 ได้ทำการตรวจทั้งหมด 23,575 แห่ง พบว่าปฏิบัติตามมาตรการ 22,123 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ (ได้รับการแนะนำ) 1,310 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.92 และไม่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ขอบคุณพี่น้องคนไทยที่ได้เรียนรู้และดูแลกิจการได้อย่างดี เราต้องปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี และตัวเลขผู้ติดเชื้อจะได้เป็นศูนย์ตลอดไป
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก