วันนี้ (9 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,004 ราย หายป่วยแล้ว 2,787 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิต 56 ราย
ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ ดังนี้ รายที่ 3,001 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 36 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพมหานคร สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้า เริ่มมีอาการเจ็บคอในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 รายที่ 3,002 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 28 ปี เป็นพนักงานห้างในจังหวัดภูเก็ต เดินทางกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดปราจีนบุรี รายที่ 3,003 และรายที่ 3004 เป็นเพศหญิง อายุ 41 ปี และเพศชาย อายุ 44 ปี จากการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนเชิงรุก หรือ Active Case Finding ที่จังหวัดยะลา มีประวัติเป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ กลับมาจากมาเลเซีย สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นรายที่ 56 เป็นชายไทย อายุ 68 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัวภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ ป่วยด้วยไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ส่งตรวจเชื้อพบเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 และต่อมาอาการแย่ลง มีภาวะแทรกซ้อนคือโรคติดเชื้อในกระแสเลือดและไตวาย และเสียชีวิตลงในวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับทางญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมจำแนกตามพื้นที่ที่รักษาในภาคต่าง ๆ พบว่า กรุงเทพฯ ยังมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมมากที่สุด ขณะที่ทางภาคใต้ 718 ราย ภาคกลาง 381 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคเหนือ 94 ราย ในช่วง 28 วันที่ผ่านมาพบว่า ภาคเหนือไม่มีการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน คือจังหวัดพัทลุงก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่อง 28 วันที่ผ่านมา
2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลกว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,012,848 ราย เพิ่มขึ้น 96,510 ราย อาการหนักประมาณ 48,000 ราย หายป่วยแล้วประมาณ 1,300,000 กว่าราย และเสียชีวิตไป 276,000 กว่าราย โดย 10 ประเทศอันดับแรกของจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม ดังนี้ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน บราซิลตุรกีและอิหร่าน ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยลงในอันดับที่ 66 ของโลก
สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยรายใหม่สูงที่สุดในโลก 29,000 กว่าราย รองลงมาบราซิล 11,121 ราย รัสเซีย 10,699 ราย ตามด้วยราชอาณาจักร (อังกฤษ) อันดับที่ 4 อินเดีย อันดับ 5 และเปรู อันดับ 6 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่พบว่าอันดับที่ 1 – 4 ยังคงเช่นเดิม คือ สรัฐอเมริกายังคงเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ บราซิล สหราชอาณาจักร และอิตาลี เพิ่มเบลเยียเข้ามาใหม่อยู่ในอันดับที่ 10 แทนอินเดียสำหรับ10 ประเทศอันดับแรกของจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่
โฆษก ศบค. กล่าวถึงรายงานข่าวที่น่าสนใจของต่างประเทศว่า รัสเซียยังมีป่วยอยู่จำนวนมาก นายเซอร์เก ซอบยานิน นายกเทศมนตรี กรุงมอสโก ได้ขยายระยะเวลามาตรการการล็อกดาวน์ในเมืองหลวงของรัสเซีย ครอบคลุมไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ขณะเดียวกันขอให้ชาวกรุงมอสโกได้คุ้นเคยกับวิถีชีวิตใหม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากถ้า พร้อมถุงมือป้องกันเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ รวมถึงการใช้บริการขนส่งมวลชนด้วย
โฆษก ศบค. ยังเผยข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่มีนวัตกรรมใหม่ โดยไทยสามารถผลิตชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น เราสู้ ใช้ – ซักได้ 20 ครั้ง ซึ่งชุด isolated Ground เป็นชุดคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อซักได้ 20 ครั้ง ด้วยความร่วมมือกันกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์องค์การเภสัชกรรม สมาคมอุตสาหกรรมเส้นใย สิ่งทอไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชนต่าง ๆ ทำให้ไทยสามารถที่จะผลิตชุดดังกล่าวได้ โดยผลิตล็อตแรกกว่า 44,000 ชุดนี้ จะมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกระจายไปทั่วประเทศต่อไป โดยชุด PPE ดังกล่าวยังเป็นเกรดที่ใช้สำหรับความเสี่ยงต่ำอยู่ ซึ่งการพัฒนาเรื่องของชุด PPE เพื่อป้องกันเชื้อโรคเป็นระดับที่สูงขึ้น ยังคงต้องใช้ระยะเวลาต่อไป
นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ได้กล่าวถึงข่าวกระทรวงศึกษาธิการที่จะมีการปิด-เปิดเทอมใหม่ว่า 1 กรกฎาคม ถึง 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นการเปิดเพิ่มรอบที่ 1 หรือภาคเรียนที่ 1 ส่วนภาคเรียนที่ 2 จะเป็น 1 ธันวาคม 2563 ถึง 9 เมษายน 2564 ปีหน้า
3. การดำเนินงานตามมาตรการ
มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ
รายงานแผนการบินเพื่อนำคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศกลับไทย ระหว่างวันที่ 10-15 พฤษภาคม 63 ดังนี้ 10 พฤษภาคม 63 มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ ไต้หวัน (ไทเป) สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น (โตเกียว) 11 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ อินเดีย (นิวเดลี) และญี่ปุ่น (โตเกียว) ใน 12 พฤษภาคม 63 มีอีก 2 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย (มอสโก) และภูฏาน (พาโร) 13 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (มะนิลา) และ อินเดีย (คยา) 14 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) และบังกลาเทศ (ธากา) และ 15 พฤษภาคม 63 มี 2 เที่ยวบินได้แก่ สิงคโปร์ และบาห์เรน (มานามา) ทั้งนี้ คนไทยผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ สามารถติดต่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทย เพื่อนำคนไทยในกรณีเร่งด่วนที่สุดกลับประเทศ กรณียังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือสามารถอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ กระทรวงการต่างประเทศจะดูแลนำถุงยังชีพไปมอบให้ต่อไป
รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 7 พฤษภาคม 63 มีการคัดกรอง ทั้งสิ้น 15,069 ราย เพิ่มขึ้น 697 ราย กลับบ้านได้แล้ว 5,661 ราย เพิ่มขึ้น 581 ราย และพบผู้ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 87 ราย
การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว
รายงานผลการปฏิบัติการจากประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า มีผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 58 ราย ลดลง 48 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 603 ราย ลดลง 7 ราย โดยเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 ลำดับแรกคือ เล่นการพนันร้อยละ 33 ยาเสพติดร้อยละ 33 และอื่นๆ ร้อยละ 19 ขอความร่วมมือทุกท่านเพื่อให้ได้มีพื้นที่ที่ปลอดภัย
มาตรการการผ่อนปรน
รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 8 พฤษภาคม 63 ได้ดำเนินการตรวจทั้งหมด 16,024 แห่ง พบปฏิบัติตามมาตรการ 15,632 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 392 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.45 ทั้งนี้ รายงานการกิจการ/กิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 3-8 พฤษภาคม 63 ได้ดำเนินการตรวจทั้งหมด 74,082 แห่ง พบว่าปฏิบัติตามมาตรการ 71,670 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 2,412 แห่ง
-------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก