วันนี้ (6 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,989 ราย ผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,761 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิต 55 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 55 เป็นผู้ป่วยชายอายุ 69 ปีสัญชาติออสเตรเลีย มีโรคประจำตัวคือหอบหืด อาชีพผู้จัดการโรงแรมที่จังหวัดพังงา เริ่มป่วยเมื่อ 25 มีนาคม 63 มีอาการไอ อ่อนเพลีย รับการรักษาที่คลินิกแห่งหนึ่งเมื่อ 28 มีนาคม 63 ด้วยอาการไข้ 37.9 องศา เหนื่อยหอบ ออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 89 เปอร์เซ็นต์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ส่งตรวจเอ็กซเรย์ปอดพบว่ามีการติดเชื้ออักเสบของปอดอย่างรุนแรง ผลตรวจยืนยันโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อนทางไต เสียชีวิต 5 พฤษภาคม 63 ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ป่วยด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลลดลงเหลือ 173 ราย มีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 14 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,761 ราย ด้านผู้ป่วยใหม่ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 27 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ อาชีพพนักงานนวดซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศรัสเซีย วันที่ 3 พฤษภาคม 63 ซึ่งมีผู้โดยสารบนเครื่องบินรวม 70 คน เข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบว่ามีไข้ 38.3 องศา จึงได้ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ซึ่งการมีระบบการคัดกรอง มี State Quarantine ทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าบุคคลที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย ได้ถูกแยกกักตัวแล้วตั้งแต่ตอนต้น เป็นระบบที่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนและระบบที่เฝ้าระวัง สำหรับผลการตรวจของ 40 รายที่จังหวัดยะลา เบื้องต้นได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ทั้ง 40 รายดังกล่าวไม่พบผู้ป่วยยืนยันเลย
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของจำนวนผู้ป่วยในจังหวัดต่าง ๆ ว่ายังคงเดิมในกลุ่มจังหวัดที่มีการรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 34 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมาก็ยังคงเป็น 34 จังหวัดเหมือนเมื่อวานนี้ แต่พบผู้ป่วยใน State Quarantine จังหวัดสมุทรปราการ 1 รายเท่านั้น ตั้งแต่ 7 เมษายน 63 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้าข่าย PUI หรือผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สงสัยต้องตรวจเชื้อ รวม 54,600 ราย ภายหลัง กรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับเกณฑ์การตรวจป่วย PUI ลงมาเรื่อย ๆ เมื่อ 1 พฤษภาคม 63 หากมีไข้หรือแค่มีประวัติมีไข้มีอาการคล้าย ๆ ไข้หวัด มีอาการไม่ได้กลิ่น ก็ให้มารับการตรวจได้ เพื่อดึงเคสเข้ามารับการตรวจให้มากขึ้น เพราะยิ่งตรวจมากก็มีโอกาสที่จะพบมากขึ้น
2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โลก
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,727,000 กว่าราย อาการหนัก 49,248 ราย หายป่วยแล้วเพิ่มขึ้นวันเดียวถึงกว่า 40,000 คน ทำให้ตัวเลขรวมหายแล้วอยู่ที่ 1,200,000 กว่าคน แต่เสียชีวิตเพิ่มประมาณ 6,000 ราย รวมยอดเสียชีวิตไปแล้ว 258,000 กว่าคน
สำหรับประเทศที่มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,200,000 กว่าคน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในวันเดียวถึง 24,000 กว่าคน เสียชีวิตรายวัน 2,350 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 72,271 ราย รองลงมาคือ สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี บราซิล และอิหร่าน ตามลำดับ
ประเทศอาเซียนอันดับที่สูงที่สุดอันดับที่ 1 คือ อินเดีย รองลงมาปากีสถาน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ เนื่องจากเอเชียก็ยังพบสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลคนในประเทศไทยให้ได้ดีโดยเฉพาะการเดินทางไปต่างประเทศ
โฆษก ศบค. รายงานประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า ประเทศอินเดีย กรุงนิวเดลี ขึ้นภาษีดื่มแอลกอฮอล์หลังคนแย่งกันซื้อ โดยพบว่าในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 70 หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ขั้นแรกเพียงวันเดียว ประชาชนแย่งซื้อสินค้าประเภทนี้จนเกิดความวุ่นวาย ทำให้มีการออกประกาศเตือน หากเจ้าหน้าที่พบการฝ่าฝืน และธุรกิจที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ก็จะสั่งยกเลิกการผ่อนปรนในทันที
สำหรับภายในประเทศ วันนี้ ได้มีประกาศยกเลิกการจัดงานวันวิสาขบูชาบนเขาอุดง (Oudong) หลังจากที่มีคำสั่งห้ามชุมนุมทางศาสนาคือ ชุมนุมขนาดใหญ่ในสถานที่สาธารณะชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ของต่างประเทศและไทยใกล้เคียงกัน
3. การดำเนินงานตามมาตรการ
มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ
วันนี้ เวลา 18.15 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากเมียนมา 59 คน เวลา 23.00 น. จาก เยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) 110 คน และเวลา 23.20 น. จากปากีสถาน (ละฮอร์) 122 คน วันพรุ่งนี้ (7 พฤษภาคม 63) เวลา 21.45 น. จะมีผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ 150 คน และเวลา 08.10 น. จากแอฟริกาใต้ 150 คน ทั้งนี้ มีผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน – 5 พฤษภาคม 63 คน จาก 27 ประเทศ/ดินแดน แล้ว 4,637 คน โดยเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ สำหรับแผนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยในวันที่ 7 พฤษภาคม มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ วันที่ 8 พฤษภาคม มี 2 เที่ยวบิน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (อาบูดาบี) และอียิปต์ (ไคโร) วันที่ 9 พฤษภาคม มีเที่ยวบินจากญี่ปุ่น (โตเกียว) 2 เที่ยวบิน เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) และเวียดนาม (ฮานอย) วันที่ 10 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น (โตเกียว) และวันที่ 11 พฤษภาคม 4 มีเที่ยวบิน ได้แก่ อินเดีย (นิวเดลี) ญี่ปุ่น (โตเกียว) ฮ่องกง และเกาหลีใต้ (โซล)
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับประเทศไทยสามารถติดต่อสถานทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ ได้ เจ้าหน้าที่จะช่วยดูแลจัดลำดับเดินทาง โดยมาตรการนำคนไทยกลับประเทศ ประกอบด้วยกัน 3 ลำดับ ได้แก่ 1) มีผู้ลงทะเบียน 2) มีเที่ยวบิน และ 3) มีพื้นที่ State Quarantine ในช่วงเวลาที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยที่สามารถอาศัยอยู่ในต่างประเทศได้ เช่น คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ได้รับการดูแลจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย และอาสาสมัครในการแจกข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นแล้วจำนวน 29,491 คน
รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 5 พฤษภาคม ยอดคัดกรอง 12,847 ราย เพิ่มขึ้นวานนี้ 466 ราย กลับบ้านได้แล้ว 3,921 ราย เพิ่มขึ้นวานนี้ 619 ราย และพบผู้ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 85 ราย เพิ่มขึ้นวานนี้ 1 ราย
การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว
รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า มีผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 104 คน เพิ่มขึ้น 6 คน ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 699 คน เพิ่มขึ้น 32 คน สาเหตุของการชุมนุมมั่วสุมคือ ดื่มสุรา คิดเป็นร้อยละ 45 ลักลอบเล่นการพนัน ร้อยละ 20 และอื่น ๆ ร้อยละ 18
รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 5 พฤษภาคม 63 ได้ดำเนินการตรวจทั้งหมด 12,996 แห่ง พบว่าปฏิบัติตามมาตรการ 12,547 แห่ง ไม่ปฏิบัติตาม มาตรการ 449 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.45 จากการตรวจร้านอาหารเครื่องดื่มฯ 4,559 แห่ง ปฏิบัติตามข้อกำหนด 4,403 แห่ง ยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด 156 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.4 ลดลงร้อยละ 3.3 ห้างสรรพสินค้าฯ ตรวจ 541 แห่ง ปฏิบัติ 526 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ตลาด ร้านขายปลีกฯ ตรวจ 3,851 แห่ง ปฏิบัติ 3,690 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 161 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ร้านเสริมสวยตรวจ 3,014 แห่ง ปฏิบัติ 2,925 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 89 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.9 ลดลงร้อยละ 0.2 สนามกอล์ฟตรวจ 116 แห่ง ปฏิบัติ 115 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87 สนามกีฬาฯ ตรวจ 284 แห่ง ปฏิบัติ 273 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.9 ลดลงร้อยละ 0.8 สวนสาธารณะฯ ตรวจ 386 แห่ง ปฏิบัติ 375 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และร้านสัตว์เลี้ยงฯ ตรวจ 245 แห่ง ปฏิบัติ 240 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2
โฆษก ศบค. กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการ ประชาชน เจ้าของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามขอให้ให้ความร่วมมือ ครบร้อยละ 100 เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรค และจะได้มีความปลอดภัยในที่สุด
-------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก