วันนี้ (3 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจงประเด็นความมั่นคง การเดินทางเข้า-ออกจังหวัด และการเดินทางอากาศหรือทางบก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 38 วันที่ผ่านมา ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งการจัดตั้งจุดตรวจ จุดตรวจโควิด จุดตรวจเคอร์ฟิว และการแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ณ ช่องทางเข้าออก เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง รวมทั้งการปฏิบัติงานจุดตรวจผ่านแดนของประเทศรอบบ้าน โดยผู้บัญชาการกองทัพบกได้เน้นย้ำกองทัพภาคที่ 4 ปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ซึ่งบุคคลที่เข้ามายังในราชอาณาจักรประเทศไทยผ่านจุดตรวจของรัฐครบถ้วนทุกคน ขอให้ประชาชนคนไทยสบายใจ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดประกาศมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการมีผลบังคับใช้ในวันนี้เป็นวันแรก ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้กิจการบางประเภทที่เคยปิดให้กลับมาดำเนินการได้คือ กิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งการเสริมสวย การออกกำลังกาย โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสัตว์ที่ต้องการรับการรักษา ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการที่เคยปิดให้มาเปิดได้ ไม่เคยมีคำแนะนำให้ผ่อนคลายความเข้มงวดที่เคยมีต่อตัวเอง รวมทั้งไม่แนะนำการเดินทางข้อ 5 ของข้อกำหนดที่รัฐบาลได้ประกาศออกมา ยังกำหนดไว้ให้งดหรือลดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและต้องแสดงหลักฐาน รวมทั้งมาตรการที่เข้มข้นทั้งจุดตรวจทั้งหลายของรัฐทั้งไปและกลับ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงผู้ประกอบการหรือสถานประกอบการจะต้องจัดให้มีมาตรการที่กำหนดไว้ เช่น 1. จัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสตลอดเวลา 2. จะต้องจัดให้ทุกคนในสถานบริการนั้นมีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 3. จัดให้มีเจล สบู่หรือแอลกอฮอล์ 4. จัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่าง 5. จะต้องทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในสถานบริการนั้น หลักใหญ่ ๆ มีอยู่ 5 ข้อ เป็นมาตรการหลัก รวมทั้งมาตรการเสริมซึ่งแต่กิจการแต่ละประเภทจะกำหนด ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะต้องรับหน้าที่จัดทีมไปตรวจ ตามข้อกำหนดที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เขตต่าง ๆ จะให้คำแนะนำ อาทิ 50 เขตของกรุงเทพฯนั้น ผู้อำนวยการเขต สำนักอนามัย กรมโยธา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังเป็นทีมออกตรวจสถานประกอบการที่เริ่มเปิด โดยจะมีตักเตือนหากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไป หากประชาชนพบสถานประกอบการ ไม่มีมาตรการเพียงพอต่อการให้บริการ หรือไม่ปลอดภัย ไม่มีเครื่องมือทำความสะอาด สามารถเรียกร้องจากสถานประกอบการได้โดยร้องเรียนมายังช่องทางสายด่วนของกทม. 1555 หรือ ศูนย์ร้องเรียน ร้องทุกข์ 1111
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีห่วงใยและสั่งการให้ลงพื้นที่สุ่มตรวจ บางพื้นบางห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อคนในภาพรวม เพื่อให้คนไทยสามารถใช้บริการเพื่อให้เกิดความสบายใจและมั่นใจว่าการใช้บริการนั้นจะปลอดภัย ซึ่ง มาตรการที่ผ่อนคลายเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 - 31 พฤษภาคม รวม 28 วันเท่ากับการประเมินรอบ 14 วัน ได้ 2 ครั้ง ตรงกับเงื่อนไขทางการแพทย์ คือ ระยะแสดงอาการของโรคหากมี ถ้าวันหยุดประชาชนไม่เดินทาง ทุกคนอยู่บ้าน ผู้ประกอบการเข้าใจและยังสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่บ้านหรือที่เรียกว่า Work From Home เหลื่อมเวลาการทำงาน
จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความรับผิดชอบดูแลในเชิงพื้นที่ทั่วประเทศมี 3 ประเด็นรายงาน ดังนี้ ประเด็นแรก การเดินทางข้ามเขตจังหวัด ตามข้อกำหนดคืองดหรือชะลอการเดินทางเว้นแต่ความจำเป็น มีเหตุผลและหลักฐานประกอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะคัดกรองและควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค ซึ่งต้องร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนในพื้นที่และผู้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ภูมิลำเนา เพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรค
ปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้แจงข้อสงสัยว่า หากประชาชนเดินทางผ่าน หรือเดินทางเพียง 2 - 3 วัน เช่น ไปขึ้นศาล ทำธุรกรรม หรือร่วมงานศพ ต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันนั้นว่า เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจข้อเท็จจริง ชีวิตจริงและปัญหา ขอให้อธิบายเหตุผลความจำเป็น มีหลักฐานประกอบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าใจถึงเหตุผล สำหรับการถูกกัก 14 วันไม่เป็นความจริง อาทิ เดินทางไปสุรินทร์ ผ่านโคราชไม่ต้องกักตัวที่โคราช เว้นแต่เข้าพักที่โคราช ถือว่าเป็นกระบวนการพัก ต้องผ่านการตรวจสอบคัดกรองเพื่อความปลอดภัย เมื่ออยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาแล้ว เพียง 2-3 วัน จะมีการ Home Quarantine ในพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาตามวันเวลาที่อยู่จริง แต่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ จะมีการบันทึกข้อมูลการ Quarantine ไว้เป็นหลักฐานเพื่อสืบค้นย้อนได้ เป็นหลักเกณฑ์เหมือนกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อจะปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนความหนักเบาของการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับการความสี่ยงและสถานการณ์ของพื้นที่นั้นๆ
ปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้แจงประเด็นที่สอง การผ่อนผันให้ประชาชนออกจากภูเก็ต นั้น มีคนไทยทำงาน ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต โดยไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดภูเก็ตประมาณที่ 100,000 กว่าคน เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จังหวัดภูเก็ตได้ประกาศห้ามเข้าและออกจังหวัด ตั้งแต่ 30 มี.ค. 63 มีประมาณ 50,000 กว่าคน แจ้งความจำนงขอออกจากภูเก็ต เนื่องจากไม่มีงานทำ และมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ระหว่างนั้นจังหวัดยังไม่อนุญาตให้ออก จนกระทั่งเมื่อสิ้นวันที่ 30 เม.ย. 63 ได้มีการให้ลงทะเบียนผู้ที่ประสงค์จะออก จังหวัดภูเก็ตมีทั้งหมด 17 ตำบล ตำบลที่อนุญาตให้ออกนั้น ผ่านกระบวนการคัดกรองแล้วมีเพียง 14 ตำบลเท่านั้น เมื่อออกแล้วจะมีหนังสือจากผู้ว่าราชการและทีมงานในอำเภอหรือสาธารณสุขรับรองว่าเป็นบุคคลที่ผ่านกระบวนการคัดกรองหรืออยู่ในพื้นที่เกินกว่า 14 วัน ตามมาตรฐาน และยังได้แจ้งไปยังจังหวัดปลายทางทุกจังหวัด เพื่อจะทราบข้อมูล ทั้งนี้ ยังมีด่านระหว่างทางก็จะทราบจากหนังสือรับรอง จากการตรวจสอบข้อมูล ถึงวันนี้ เวลา 9.00 น. มีผู้เดินทางออกตามทะเบียน 3,600 คน อยู่ใน 11 จังหวัดภาคใต้ 2,500 กว่าคน ประมาณ ร้อยละ70 นอกนั้นกระจายไป 56 จังหวัด ทั่วประเทศ
ประเด็นสุดท้าย คือ กลไกการปฏิบัติในระดับพื้นที่กรณีที่มีข้อกำหนดและมีผลในขณะนี้ ทุกพื้นที่จะใช้ข้อกำหนดและมาตรฐานเดียวกันในการปฏิบัติ จุดประสงค์หลักคือเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ส่วนข้อลดหย่อนผ่อนปรนต่าง ๆ นั้น ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด สวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง ผ่านจุดคัดกรองต้องอธิบายและชี้แจง ช่วงเวลาเคอร์ฟิวยังไม่ได้มีการยกเว้น รวมทั้งคนที่ผ่าน Local Quarantine ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือที่ผ่านกระบวนการ State Quarantine กระทรวงมหาดไทยจะมีวิธีการส่งกลับ เพื่ออำนวยความสะดวก
โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงประกาศในข้อกำหนดของรัฐบาลข้อ 5 คือ ให้ ประชาชนงด ชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งเจตนารมณ์คือ ต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน เพราะการเดินทางข้ามจังหวัด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคและควบคุมได้ยาก หากมีความจำเป็นในการเดินทาง ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด คือแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดมาตรการให้เป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข
ทั้งนี้ การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทั้งเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ เรือ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานตั้งแต่การคัดกรอง วัดอุณหภูมิผู้โดยสาร หากพบอุณหภูมิสูงเกินมาตรฐาน จะไม่อนุญาตให้เดินทางหรือไม่อนุญาตให้ขึ้นยานพาหนะ สนามบินจะมีการคัดกรองตั้งแต่เข้าสนามบินหรือสถานี รวมทั้งก่อนที่จะขึ้นยานพาหนะก็จะมีการคัดกรองอีกครั้ง การเว้นระยะห่างเป็นมาตรฐานสาธารณสุข ที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติทั้งนี้ ผู้ประกอบการสายการบิน ผู้ประกอบรถโดยสารรถประจำทาง ผู้ประกอบการเรือและรถไฟ ต้องเว้นระยะห่าง กำหนดจุด ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน จะมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ประชาชนต้องปฏิบัติตาม ต้องมีการขายตั๋วตามจำนวนที่นั่งได้ได้จริง นอกจากนี้ การสวมหน้ากากยังเป็นข้อปฏิบัติและข้อบังคับสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาของการเดินทาง สำหรับผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งที่สถานีสนามบิน ต้องจัดให้มีเจลล้างมือ สบู่ล้างมือ เพื่อให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการ โดยถือว่าเป็นเรื่องส่วนรวมที่ต้องการให้ทุกคนปลอดภัย
ปลัดกระทรวงคมนาคมยังชี้แจงให้ความมั่นใจกับผู้เดินทางว่า ได้จัดความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคตามสถานที่ให้บริการทั้งสถานี สนามบิน รวมทั้งยานพาหนะที่ประชาชนใช้ หลังจากให้บริการจะมีการทำความสะอาดทุกรอบทุกวันเป็นประจำ รวมทั้งการตรวจสุขภาพอนามัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่พนักงานขับรถ กัปตัน พนักงานให้บริการบนเครื่องบิน ให้มีการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับประชาชนที่เดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือรถยนต์ส่วนตัว ขอให้ตรวจสอบข้อกำหนดในการเดินทางเข้าไปในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีมาตรการควบคุมหนักเบาเป็นไปตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด บางจังหวัดอาจต้องมีหนังสือรับรองหรือมีการตรวจไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องปฏิบัติตาม
ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงคมนาคมขอความกรุณาให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดและขอให้เข้าใจ เห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกส่วนตั้งแต่ต้นทาง กลางทางถึงปลายทาง ที่ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมงด้วยความตั้งใจเพราะอยากให้ประชาชนปลอดภัยและมีชีวิตอยู่อย่างสงบและความร่วมมือของทุกคนจะช่วยให้สถานการณ์ผ่านไปได้
.......................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก