วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563
โฆษกรัฐบาล เผยนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ตั้งคกก.ที่ปรึกษาเสนอแนะมาตรการ ควบคู่การเยียวยาจาก พ.ร.ก. เงินกู้
วันนี้ (2 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โฆษก ศบค. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และพลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตาเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แถลงข้อกำหนด ออกตามมาตรการ 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5 และ6) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมความพยายามและความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ทำให้สามารถมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว นำไปสู่การหารือของศบค. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงมาตรการและการขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีมติเห็นชอบขยายระยะเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1-31 พฤษภาคม โดยข้อกำหนดได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพิจารณาผลกระทบปัจจัยสาธารณสุขเป็นหลักปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นลำดับถัดไป นายกรัฐมนตรีมอบแนวทางเพื่อนำไปกำหนดแนวปฏิบัติ ต้องมีมาตรฐานกลางจากศบค. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวปฏิบัติในแต่ละจังหวัดที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้มข้นกว่ามาตรฐานกลางได้ แต่จะอ่อนกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ พร้อมกำชับให้มีการควบคุม 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับแรก จากส่วนกลางจาก ศบค. ระดับที่ 2 ส่วนการประเมิน มีการสุ่มตรวจ และระดับที่3 คือระดับพื้นที่ กำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามถูกต้อง เหมาะสม
ข้อกำหนดจากประกาศราชกิจจานุเบกษา วานนี้ มีข้อกำหนด กิจกรรมผ่อนคลาย 2 ด้านสำคัญ คือ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ โดยทยอยผ่อนปรนกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต รวมทั้งกิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพของประชาชน
โอกาสนี้ พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ได้มีการเริ่มประกาศใช้พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับแรก มีผลตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายน เป็นมาตรการที่ค่อนข้างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ และมีการขยายระยะเวลาพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งเข้าใจดีว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินชีวิต หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดมาตรการผ่อนปรนออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่การผ่อนปรนก็ยังต้องทำเป็นระยะ ๆ และต้องประเมินผลแต่ละระยะๆ ว่า สามารถผ่อนปรนได้มากได้น้อย ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกคนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินที่จะปลดล็อคหรือผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อไป โดยคำนึงถึงแนวทางการดำเนินงานด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ตามมาด้วยสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. แล้วนับไปอีก 14 วัน จะประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อว่ามากขึ้นหรือน้อยลง หากมากขึ้นจะทบทวนใหม่ทั้งหมด ถ้าน้อยลงจะคลายมาตรการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถกำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้นได้ในท้องถิ่นนั้น ๆ
สำหรับมาตรการที่ให้มีการผ่อนปรนร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม สนามบิน สถานีรถไฟ ขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แพงลอย สามารถเปิดขายอาหาร เครื่องดื่มได้ โดยให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน สถานที่ที่เปิดบริการต้องจัดระเบียบ สุราขายได้เฉพาะนำกลับบ้าน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านบริการโทรศัพท์ ธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ร้านอาหารเฉพาะนำกลับบ้านเท่านั้น ห้ามรับประทานในสถานที่ ร้านค้าปลีก-ส่ง ตลาด ตลาดน้ำ ตลาดนัด ต้องมีมาตรการควบคุมการเข้าออก วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง มีมาตรการทำความสะอาดพื้นผิว นอกจากนี้ ร้านเสริมสวยแต่งผม ตัดผม ให้มีการสระ ตัด ซอย แต่งผม ต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้านและไม่อนุญาตให้มีการเสริมความงามอื่น ๆ ไม่ว่าจะการทำสีผม เหตุผล ไม่ต้องการใช้เวลานานในการบริการเหล่านี้ เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันผู้รับบริการและผู้ให้บริการจะต้องมีมาตรการพอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพ มีดังนี้ 1. โรงพยาบาลสถานทันตกรรม สถานพยาบาลทุกประเภทที่ถูกกฎหมาย เปิดได้ 2. สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟเปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชม หรือแข่งขัน 3. สนามกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู ผู้เล่นต้องมีระยะห่าง ต้องไม่มีผู้ชม หรือแข่งขัน 4. สวนสาธารณะ ลาน พื้นที่สาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้งต้องไม่มีผู้ชม หรือแข่งขัน เล่น แสดง และ 5. สถานที่ให้บริการ ดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยง รับฝากสามารถเปิดได้ ต้องรักษามาตรการระยะห่างการตรวจวัดอุณหภูมิ นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเหล่านี้ ก็ยังมีมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00 น.-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่ การจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้เข้าเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดก็ยังมีมาตรการบังคับใช้อยู่ ทั้งนี้ หากประชาชนให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้นสถิติผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมีน้อยลงหรือมีสิ่งบ่งชี้ได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และผู้ป่วยลดลงต่อเนื่องก็จะพิจารณาเปิดการผ่อนปรนระยะที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จนครบต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นนโยบายไว้ โดยการประเมินทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของมาตรการสาธารณสุขเป็นหลัก ด้านเศรษฐกิจนำมาประกอบการพิจารณา เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนายกรัฐมนตรีห่วงใยด้านสาธารณสุขแล้ว ยังห่วงใยถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดขึ้นกับประชาชน วานนี้ จึงได้มีการลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ที่จะมาดูแลให้ข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 13 ท่าน ทำหน้าที่ทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางป้องกันแก้ไขผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีตามหลักวิชาการ เสริมการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้ พ.ร.ก. เงินกู้ ที่จะพิจารณาโครงการต่าง เพื่อเยียวยาประชาชน
วานนี้ นายกรัฐมนตรียังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เน้นย้ำให้ปลัดกระทรวง ปฏิบัติภารกิจสำคัญดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจหรือทางสังคม ให้พิจารณาโครงการที่สามารถสร้างประโยชน์ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังสั่งการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแล เตรียม ที่พัก ช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงใยความทุกข์ร้อนของประชาชนทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมจากใจจริง ติดตามข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถส่งข้อเสนอแนะ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและท้องถิ่น โดยมีคณะที่ปรึกษา ซึ่งจะได้มีกำหนดแนวทางเพิ่มเติมต่อไป
.......................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน