วันนี้ (13 เม.ย. 2563) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโอกาสพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสชื่นชม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสชื่นชมผลการปฏิบัติงาน ของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข จิตอาสา ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนที่ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ด้วยความอดทน เสียสละ ร่วมมือกันจนทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ เป็นที่น่าพอใจ พร้อมพระราชทานกำลังใจให้ทุกคน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ประสงค์ให้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเพิ่มเติม ขอให้กราบบังคมทูลได้ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
2. ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
การรายงานการดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านการสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันจำนวนเตียงผู้ป่วย เวชภัณฑ์ เพื่อรองรับผู้ป่วย มีเพียงพอและกระจายออกไปทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มั่นใจสามารถรองรับผู้ป่วยได้ ด้านความมั่นคง โดย ผบ.สส. รายงานภาพรวมการปฏิบัติงานจัดตั้งจุดตรวจ จุดควบคุมการเฝ้าระวัง เป็นไปอย่างเข้มงวด รวมทั้งได้สนับสนุนเครื่องบินในการรับ-ส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งของบุคคลเสี่ยงและผู้ป่วยจากต่างจังหวัดนำมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ด้านการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ปลัดกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ได้มีการแจกจ่ายหน้ากากผ้าแจกจ่ายไปแล้วประมาณ 50,800,000 ชิ้น รวมทั้งได้มีการวางแผนจัดหาสถานที่สำหรับกักตัวเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ Local Quarantine นั้น ชัดเจนมีเพียงพอ รวมทั้งยังได้มีมาตรการกับผู้ที่รวมตัวมั่วสุมอย่างเข้มงวด ดำเนินการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ทั้งการดูแลการดำรงชีวิต การค้นหาผู้ป่วย ตั้งด่านทางบก การปิดด่านถาวร 40 แห่ง การอนุญาตขนส่งสำหรับคนที่ต้องมีความจำเป็นในการขนส่ง
ด้านปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า มีมาตรการการเดินทางเข้า-ออกและการดูแลคนไทย โดยให้ทยอยเดินทางกลับเพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ สำหรับปัญหาแรงงานข้ามแดน มีการประสานฝ่ายความมั่นคงและประเทศต้นทาง เพื่อชะลอการเดินทางของแรงงานที่จะข้ามแดนเข้ามา รวมทั้งแก้ไขปัญหาแรงงานที่ติดค้างอยู่บริเวณชายแดนทางบกที่เคยมีถึงหลักพันหรือหลักหมื่นนั้น คลี่คลายไม่มีผู้ติดค้างแล้ว และจะเพิ่มความเข้มงวดรถรับจ้างขนส่งแรงงาน การเข้าออกด่านตามช่องทางธรรมชาติ ขณะเดียวกันประสานกับเอกอัครราชทูตประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำความเข้าใจไม่ให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในช่วงเวลานี้ด้วย
ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสังคมออนไลน์ โดยปลัดกระทรวง DE ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเอามาใช้งานได้แล้วโดยคนไทยจำนวน 2 แอพพลิเคชันคือ “หมอชนะ” เก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง และ “DDC” โดย NECTEC ดูแลกลุ่มเสี่ยง เพื่อติดตามดูข้อมูล
ด้านการควบคุมสินค้าและราคาสินค้า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความมั่นใจสินค้ามีเพียงพอ สถานการณ์ได้คลี่คลาย ราคาไม่สูงเกิน เว้นแต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งบ้าง ในบางพื้นที่ ย้ำไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า
ด้านการคมนาคม ผู้แทนด้านคมนาคมรายงานระบบขนส่งสาธารณะ การจัดทำความสะอาดในการให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ ในช่วงเวลาเดินทางของประชาชน สำหรับการขนส่งทางอากาศ ขณะนี้ปิดท่าอากาศยานแล้ว 16 แห่ง เหลือที่ยังเปิดให้บริการ 12 แห่ง
โฆษก ศบค. เผย นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ต้องมีการระงับการเคลื่อนย้ายคน หรือระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชนซึ่งต้องมีการติดตามการพยากรณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเมินขนาดของปัญหา ที่สำคัญคือต้องจัดหามาตรการเยียวยาให้ได้ทุกกลุ่ม ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแก้ไขให้เพิ่มผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขในคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการดูแลอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ พร้อมทั้งขอบคุณเอกชนที่เป็นแนวร่วมสำคัญ รวมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนทุกคนช่วยให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ลำบาก สำหรับการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ยังคงต้องพิจารณาจากตัวเลข โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยต้องใช้สถิติเป็นตัวกำกับในการกำหนดมาตรการ
3. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศ พบผู้ป่วยใหม่ 28 ราย จาก 68 จังหวัด มีผู้ที่หายป่วยแล้วสะสมเพิ่มขึ้น 70 ราย ทำให้สามารถส่งกลับบ้านแล้ว 1,288 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 40 ราย ซึ่ง 2 รายที่เสียชีวิตรายที่ 39 เป็นชายไทยอายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 มาก่อน เริ่มป่วย 7 มีนาคม 63 ด้วยอาการไข้ 38 องศา ไอ หอบเหนื่อย แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นเป็นไข้หวัด สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่ ส่งตรวจไข้หวัดสายพันธุ์ A และ B รวมทั้งส่งตรวจโควิด-19 ผลตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นลบแต่ผลตรวจยืนยันว่าเป็นเคสโควิด-19 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลงวันที่ 12 เมษายน 63 ผู้เสียชีวิตรายที่ 40 ผู้ป่วยชายไทยอายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติโรคประจำตัวคือเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วย 23 มีนาคม 63 ด้วยอาการไข้สูง 39.4 องศา มีไอ น้ำมูก เหนื่อย ถ่ายเหลว ต่อมา 5 เมษายน 63 อาการไม่ดีขึ้น ผลตรวจยืนยันเป็นเคสผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 9 เมษายน 63 ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง หอบเหนื่อยมากขึ้น ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต 11 เมษายน 63 ด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว โดยสองรายนี้อายุไม่ถึง 60 ปี ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ป่วย ผู้ที่เสียชีวิตด้วยทุกท่าน
โฆษก ศบค. กล่าวถึงประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยรายใหม่ 28 รายว่า 25 รายอยู่ในกลุ่มแรก คือสัมผัสยืนยันกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ 18 ราย โยงมาที่กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ คือกลุ่มคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 คน ไปสถานที่ชุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว อาชีพเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3 คน กลุ่มที่สอง เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ คือ State Quarantine ที่สตูล 2 ราย ยะลา 1 ราย เมื่อดูแผนภูมิจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) การกระจายตัวของผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศ พบว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,306 ราย ภูเก็ต 182 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 105 ราย ยะลา 84 ราย โดยเหตุที่ต้องพูดถึงตัวเลข ก็เพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับจังหวัดและโรงพยาบาลที่ยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก ด้านภาพรวมของอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน พบว่า ภูเก็ตเป็นอันดับที่ 1 คือ 44.03
โฆษก ศบค. เปรียบเทียบผู้ป่วยระหว่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัด ว่า แนวโน้มของต่างจังหวัดลดลง ขณะที่กรุงเทพฯ ยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ แต่มีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ก่อนมาก ทั้งนี้ กลุ่มพี่น้องมุสลิมที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียจำนวนหลายสิบคน ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมรวม 61 ราย จะเห็นว่าอัตราการป่วยด้วยโรคโควิด-19 จากอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับกราฟของอินโดนีเซียที่จะชันขึ้นมาก จึงขอให้ผู้ที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาได้ดูแลสุขภาพตัวเองด้วย
เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง พบว่า อันดับที่ 1 ยังเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ อันดับที่ 2 คือคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ อาชีพเสี่ยงทำงานในสถานที่แออัด รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ เป็นอันดับ 3 และ 4 สถานบันเทิง อันดับ 5 ซึ่งสาเหตุที่ต้องปิดสถานบันเทิงเพราะอยู่ใน 5 อันดับแรกที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19
สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้มีรายงานการติดเชื้อครั้งแรกของคนในจังหวัดภูเก็ต 1 รายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 63 จากนั้น กลายเป็นกราฟสีแดงชันขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ซึ่ง ณ วันที่ 11 เมษายน 63 กราฟยังเป็นทรงที่พุ่งขึ้นข้างบนอยู่ ตัวเลขสะสมรวมยังสูงอยู่ ทั้งนี้ เมื่อตัวเลขสะสมรวมของผู้ติดเชื้อจังหวัดภูเก็ตยังสูง ในวันที่ 4 เมษายน 63 จังหวัดภูเก็ตได้มีการทำ Active Case Finding หรือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยใหม่สะสมค่อย ๆ ลดน้อยลง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต มีประวัติไปสถานบันเทิง 71 คน เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาอันดับที่ 2 คือ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 33 ราย อันดับที่ 3 อาชีพเสี่ยง 33 ราย อันดับที่ 4 คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย อันดับที่ 5 คนไทยมาจากต่างประเทศ 4 ราย ฉะนั้นจะเห็นว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ ของกลุ่มนี้ต้องมีมาตรการในการแก้ไข โดยผู้ป่วยของจังหวัดภูเก็ต มาตรวจโควิด-19 หลังมีอาการแล้วเกินกว่า 7 วัน มีจำนวนถึง 27.73% หรือประมาณ 1 ใน 4 และจำนวน 26.89% มาตรวจโควิด-19 หลังมีอาการในวันที่ 4-5-6-7 ซึ่งถือว่ามาตรวจช้า อาจจะเป็นเพราะมีอาการน้อย ส่วนที่มาตรวจเร็วภายใน 3 วันมี 22.69% และที่มาตรวจภายใน 1 วันที่มีอาการอยู่ที่ 22.69% เช่นกัน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะถ้ายิ่งมาช้า โอกาสที่จะกลายเป็นพาหะของโรค นำโรคไปติดคนอื่นเพราะมีเชื้อโรคอยู่ในทางเดินหายใจส่วนต้น มีสารคัดหลั่ง มีการพูดฟุ้งกระจายออกไป ก็ทำให้คนที่ติดเชื้อจาก 1 คน กลายเป็น 170 กว่าคน ในเวลาเดือนเศษ ๆ อันเป็นความรุนแรงของโรคนี้
ด้านมาตรการที่เกิดขึ้นของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย การปิดสถานบันเทิง ตั้งแต่ 18 มีนาคม 63 ต่อมามีมาตรการเพิ่มปิดซอยบางลา นวดแผนไทย/สนามกีฬา ปิดโรงแรม ปิดพื้นที่หาดป่าตอง ห้ามเข้า-ออก จึงสามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยของจังหวัดภูเก็ตมาจากกลุ่มอาชีพเสี่ยงที่ติดเชื้อ กลุ่มสัมผัสกับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ และมีผู้ที่ยังระบุไม่ได้อีกจำนวนมาก โดยเป็นลักษณะการติดต่อกันภายในตัวจังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ณ ปัจจุบันนี้ตัวเลขสะสมของจังหวัดภูเก็ตยังเป็นกราฟที่ทแยงขึ้น
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงร้อยละของผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อจากการทำ Mass screening ในแต่ละจุดตรวจของจังหวัดภูเก็ต พบว่า ตั้งแต่วันที่ 5-7 และ 10 เมษายน 63 มีการวางแผนเก็บตัวอย่างตรวจ โรงพยาบาลป่าตอง มีผู้ได้รับการตรวจ 1,712 ราย ตรวจพบเชื้อ 19 ราย คิดเป็น 1.1% โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มีผู้ได้รับการตรวจ 763 ราย ตรวจพบเชื้อ 2 ราย คิดเป็น 0.26% รพ.สต. เชิงทะเล อำเภอถลาง ผู้ได้รับการตรวจ 103 ราย ตรวจพบเชื้อ 5 ราย คิดเป็น 4.85% และที่โรงพยาบาลถลาง อำเถอถลาง ผู้ได้รับการตรวจ 337 คน ตรวจไม่พบเชื้อ คิดเป็น 0.00% ฉะนั้น บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรค ของจังหวัดภูเก็ต มีข้อสรุปคือ 1. การติดตามผู้สัมผัสโรค (Contact Tracing) ให้ครบถ้วน ในกลุ่มผู้สัมผัสที่เสี่ยงสูง (High Risk) โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ในกรณีที่ผู้ป่วยปกปิดประวัติ 2. กลุ่มผู้สัมผัสที่เสี่ยงสูง (High Risk Contact) ต้องกักกันให้ได้ 100% 3. ควรทำ Local Quarantine กรณีทำ Home Quarantine แล้วยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง 3. การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) ทำในกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชน เฉพาะกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากอาจมีปัญหาในเรื่องของการติดตาม Contact tracing ได้ไม่หมด เช่น มีการกระจายโรคออกไประดับหนึ่งหรือไม่น่าจะให้ข้อมูลผู้สัมผัสได้ครบถ้วน 4. การคัดกรองในวงกว้าง (Mass Screening) ยังไม่คุ้มค่า ในกรณีที่อุบัติการณ์ของโรคยังไม่สูง
4. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,800,000 กว่าคน เสียชีวิต 114,000 กว่าคน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่หนึ่ง จำนวน 20,000 กว่าคน ตามมาด้วยอิตาลี เสียชีวิต 19,000 กว่าราย สเปน เสียชีวิต 17,000 กว่าราย อังกฤษ เสียชีวิต 10,600 กว่าราย ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้จากต่างประเทศต้องนำมาเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศไทยเกิดขึ้นเช่นนั้นได้อย่างไร โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 ของโลก
สำหรับผู้ติดเชื้อประเทศกลุ่มอาเซียน อินเดียนำมาเป็นอันดับแรก ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 25 มาเลเซียอยู่ที่ 34 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 36 อินโดนีเซียอันดับที่ 38 ประเทศไทย อันดับที่ 48 และสิงคโปร์ อันดับที่ 50 ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อนับจากที่มีผู้ติดเชื้อ 100 ราย นั้น ประเทศทางกลุ่มของสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และเกาหลีใต้เส้นกราฟยังคงพุ่งชันขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง คงที่และมีแนวโน้มของเส้นกราฟจะลดลงมาได้สอดคล้องกับทางฮ่องกง อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยจะลดลงมา 28 ราย แล้ว แต่ก็ยังไม่น่าวางใจเท่าที่ควร เพราะดูตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่ตัวเลขของกราฟดูแล้วนิ่งและทรงตัว แต่อยู่ ๆ ก็พุ่งขึ้นไปอีก รวมไปถึงในกรณีที่จังหวัดภูเก็ตที่ผู้ติดเชื้อเพียง 1 ราย ภายในเดือนเดียวก็ขึ้นมา 170 กว่าได้ ประเทศไทยต้องไม่ให้มีเพิ่มขึ้นไปกว่านี้
5. รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิว
รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 13 เมษายน 63 พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 820 ราย ลดลง 108 ราย ชุมนุมมั่วสุม 135 ราย โดยขอวิงวอนประชาชนอย่ารวมกลุ่มมั่วสุมกัน เพราะจะทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ง่าย การจัดสรรหน้ากากอนามัย ข้อมูล ณ วันนี้ จำนวนรับเข้า 16,036,500 ชิ้น อยู่ระหว่างการจัดส่ง 1,869,500 ชิ้น จัดส่งหน้ากากอนามัยไปแล้วกว่า 14,167,000 ชิ้น โดยจะมีการรายงานการกระจายหน้ากากอนามัยในส่วนที่ดำเนินการโดยกระทรวงในแต่ละวันด้วย
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก