http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (24 มีนาคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 จำนวน 8 ฉบับ
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การแก้ไขเพิ่มเติมการแบ่งส่วน ราชการกองบัญชาการศึกษา ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) (COVID-19))
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน)
9. เรื่อง ขออนุมัติหลักการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี
10. เรื่อง การขอปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1)
11. เรื่อง การเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
12. เรื่อง รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2561
13. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาด
14. เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
15. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
16. เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
17. เรื่อง ร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าและกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งประเทศฮังการี ประจำปี ค.ศ. 2020 – 2022
18. เรื่อง เงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถ ภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ประเด็น |
รายละเอียดและเหตุผล |
1. องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ |
เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนโรงงานหรือชาวไร่อ้อยหรือมีไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ |
2. การรองรับการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกำหนดให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม |
แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้รองประธานสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนประธานได้ และกำหนดให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย รวมทั้ง เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และเลขานุการในคณะกรรมการน้ำตาลทราย ทั้งนี้ เพื่อให้บทบัญญัติมีความครบถ้วนสมบูรณ์ |
3. หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย |
แก้ไขหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร โดยตัดเรื่องการกำหนดราคาน้ำตาลทรายออก เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกที่เกี่ยวกับการกำหนดปริมาณการผลิตและการจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายโดยภาครัฐ |
4. ที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย |
แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยตัดการกู้เงินโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี คงเหลือเพียงเงินกู้ และตัดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลออก เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดหนุนจากภาครัฐ |
5. การส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร |
ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเงินให้แก่กองทุนดังกล่าว ประกอบกับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่ได้มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทราย |
6. หลักเกณฑ์การนำเข้าน้ำตาลทราย |
กำหนดให้สามารถนำเข้าน้ำตาลทรายได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดองค์การการค้าโลก เดิมห้ามมิให้นำเข้าน้ำตาลทราย |
7. การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น |
แก้ไขเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการกำหนดตัวเลขเพื่อเป็นเพดานในการกำหนดราคาไว้ให้ราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตขั้นต้นและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ไม่เกินร้อยละ 95 ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ |
8. หลักเกณฑ์การหักส่วนต่างที่เกิดขึ้นในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น |
แก้ไขโดยตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้กองทุนต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานเท่ากับส่วนต่างในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดยกำหนดให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปหักจากราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น หรือราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ในฤดูการผลิตปีถัดไป เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดหนุนจากภาครัฐ |
9. บทเฉพาะกาล |
เพื่อรองรับระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใหม่ใช้บังคับ พร้อมทั้งกำหนดให้การออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและสอดรับกับการเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักการของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 |
2. เรื่อง ร่างกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 จำนวน 8 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 8 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบและจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยเร็ว
4. ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งตรวจสอบกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบทุกฉบับเพื่อดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองให้ทันภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่เวนคืน พ.ศ. .... กำหนดให้ในการกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่เวนคืน ให้คำนึงถึงสภาพและทำเลที่ตั้ง เหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืน ประกอบกับราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่กำหนดขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยให้คณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น และเงินค่าทดแทนเป็นผู้กำหนด
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกำหนดราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน และการกระทำการให้ที่ดินเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม พ.ศ. ....
2.1 กำหนดลักษณะของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนในกรณีที่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลง
2.2 กำหนดให้ราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน หมายถึง ผลต่างของราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงหนึ่งแปลงใด ระหว่างราคาก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนกับราคาหลังจากการเวนคืน ทั้งนี้ ให้คำนวณราคาในวันที่ได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้นในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน หรือในวันที่ได้มีการกำหนดค่าทดแทนในกรณีที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนโดยไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาสูงขึ้นหรือลดลง
2.3 กำหนดห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ถูกเวนคืนในแนวพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน กระทำอย่างใดให้ที่ดินเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย หรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น หลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนหรือพระราชบัญญัติเวนคืนในกรณีไม่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนมีผลใช้บังคับ และกำหนดมาตรการในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดได้กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว
3.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การชดใช้เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องจากการเข้าครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... กำหนดให้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืน แล้วทำให้มีความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษให้ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหาย
4.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย ค่าโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นอันติดอยู่กับที่ดิน ค่าปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างใหม่และอสังหาริมทรัพย์อื่นอันติดอยู่กับที่ดิน ค่าเสียสิทธิจากการใช้อสังหาริมทรัพย์และค่าเสียหายอื่นอันเกิดจากการ ที่เจ้าของต้องออกจากที่ดินที่เวนคืน พ.ศ. ....
4.1 กำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นดังนี้
4.1.1 ค่าโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ค่ารื้อถอน ขนย้าย ปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ และอสังหาริมทรัพย์อื่นอันติดอยู่กับที่ดิน เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างตามประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยอนุโลม
4.1.2 ค่าออกแบบและควบคุมงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ค่าธรรมเนียมขออนุญาตรื้อถอนและหรือปลูกสร้างให้กำหนดตามอัตราที่ส่วนราชการเรียกเก็บ และค่าป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ให้ใช้วิธีสืบราคาเหมาจ่าย
4.1.3 ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายและติดตั้งเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ให้กำหนดตามอัตราที่จ่ายจริงที่หน่วยงานเรียกเก็บ
4.1.4 กรณีที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างถูกปล่อยทิ้งร้างจนทรุดโทรมให้หักค่าเสื่อมราคาวัสดุก่อสร้างตามตารางที่กำหนดท้ายกฎกระทรวง
4.2 กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์อื่น ค่าเสียสิทธิจากการใช้อสังหาริมทรัพย์ ค่าเสียหายอื่นอันเกิดจากเจ้าของต้องออกจากที่ดินที่เวนคืน ค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมาย ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายกรณีขาดรายได้จากการประกอบกิจการ ค่าทดแทนความเสียหายจากการที่ต้องใช้จ่ายในการติดต่อกับทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน
5.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจำหน่ายหรือทำลายโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหรือทำลายโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์และวิธีการในการคิดมูลค่าทรัพย์สินและค่าแรงรื้อถอนก่อนจำหน่ายหรือทำลาย รวมทั้งการสั่งจ้างรื้อถอน จำหน่าย และทำลาย
6.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... กำหนดให้เจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนในกรณีมีประกาศเข้าครอบครอง และใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเจ้าของไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนด กรณีเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายและผู้มีสิทธิไม่มารับเงินภายในกำหนดเวลา กรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งส่วนเงินค่าทดแทนของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน กรณีเจ้าหน้าที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้เนื่องจากมีการโต้แย้งสิทธิและไม่อาจตกลงกันได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการวางเงินและรับเงินค่าทดแทน
7.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบและวิธีการขอคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท พ.ศ. .... กำหนดให้เจ้าของที่ดินหรือทายาทผู้มีสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ดินที่ได้มาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มิได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนภายในระยะเวลาตามที่กำหนด หรือเหลือจากการใช้ประโยชน์ โดยไม่รวมถึงที่ดินที่ได้จากการซื้อขาย ที่ดินที่มีการซื้อขายซึ่งรวมเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินที่ไม่ได้มีการซื้อขายแต่มีการขอคืน และเจ้าหน้าที่ยังมิได้นำที่ดินนั้นไปใช้ประโยชน์ และที่ดินที่ถูกเวนคืนนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ใช้บังคับและไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนหรือเหลือจากการใช้ประโยชน์ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอคืนที่ดิน การโอนคืนที่ดินและการคืนเงินค่าทดแทน
8.
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ของรัฐหรือที่หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ได้มาโดยการเวนคืน พ.ศ. ....
8.1 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่หน่วยงานของรัฐประสงค์จะเข้าใช้ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือที่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืน และการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการใช้นั้นเป็นวัตถุประสงค์ที่ใช้เป็นเหตุในการเวนคืนได้
8.2 กำหนดให้ผู้ขอเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือที่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ
8.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการยื่นคำขอเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ การสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง การอนุมัติ และการส่งคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ขอเข้าใช้
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การแก้ไขเพิ่มเติมการแบ่งส่วนราชการกองบัญชาการศึกษา ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เป็นการยกฐานะศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจ เป็น ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกองบังคับการ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น สำหรับอัตรากำลัง จำนวน 80 ตำแหน่ง ใช้วิธีปรับโอนและปรับเกลี่ยนตำแหน่งจากส่วนราชการเดิม จำนวน 66 ตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น จำนวน 13 ตำแหน่ง ใช้วิธีการตัดโอน และ/หรือปรับตำแหน่งจากหน่วยงานอื่นในสังกัดกองบัญชาการศึกษา และตำแหน่งผู้บังคับการ จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้ตัดโอนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเป็นตำแหน่งดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. กำหนดให้ยกฐานะศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจ (หน่วยงานระดับกองกำกับการ) เป็น “ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง” (หน่วยงานระดับกองบังคับการ) ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายสนับสนุนการฝึก ฝ่ายวิทยบริการ และฝ่ายควบคุมการฝึก
2. กำหนดให้ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
2.1 เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศ โดยเน้นการฝึกอบรมพัฒนาทักษะทางยุทธวิธีและการปฏิบัติการต่าง ๆ ตามระบบมาตรฐานสากล
2.2 ดำเนินการเกี่ยวกับงานฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางยุทธวิธีให้กับบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
2.3 ติดต่อและประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย การอำนวยความยุติธรรม และการรักษาความปลอดภัยของประชาชน
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
2. แก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซี่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามาถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
4. กำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
กก. เสนอว่า
ด้วยปัจจุบันการกำหนดจำนวนเงินวางหลักประกันเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องวางต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ดำเนินการภายใต้กฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555 ออกตามความพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 แต่เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดความชะงักงัน ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและความเป็นอยู่ของแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระยะเร่งด่วน จึงเห็นควรลดภาระในการวางเงินหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ลงชั่วคราว เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานในความดูแลไปได้ในช่วงระยะเวลาวิกฤตินี้ และเพื่อให้การกำหนดจำนวนเงินวางหลักประกันเป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
(1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555
(2) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ณ สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมสำนักงานของผู้ขอรับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
2.1 การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงินสามพันบาท
2.2 การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท
2.3 การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงินสามหมื่นบาท
2.4 การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน หกหมื่นบาท
6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญ
ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญ คือ (1) ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) (COVID-19))
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) (COVID-19)) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญ
ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญ คือ 1) ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยให้นายจ้างส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละสี่ เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนเสียประโยชน์ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละหนึ่ง ของค่าจ้างของผู้ประกันตนเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์โดยตรงทันที 2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละสองร้อยสิบเอ็ดบาท 3) ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน) มีหลักการเป็นการกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกต่างหากจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ในเพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมของเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ และผู้ซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ดังกล่าวต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปีเช่นเดียวกันกับการซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว จะได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
2.1 กรณีผู้ถือหน่วยลงทุนใน SSF ตาม 1. ได้โอนการลงทุนไปยัง SSF อื่น SSF ที่รับโอนต้องมีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV เท่านั้น
2.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับการลงทุนใน SSF ปกติ
9. เรื่อง ขออนุมัติหลักการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี เป็นอาคาร สูง 11 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ความสูงของอาคารประมาณ 55 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,800 ตารางเมตร ซึ่งมีความสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นมิได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ข้อ 3 (1) โดยขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากคณะรัฐมนตรี และข้อ 3 วรรคสาม (1) ของกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550
2. รับทราบเรื่อง รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. โรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาล ขนาด 1,200 เตียง นอกจากภารกิจด้านบริการรักษาในโรค
ทั่วไปเน้นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนแล้ว ยังมีภารกิจด้านวิชาการ คือ วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ตลอดจนเป็นแหล่งการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติของพทย์ทั้งในระดับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับต่าง ๆ ตลอดจนบุคลากรการแพทย์ สหวิชาชีพ โดยตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (ตึก EMS) ของโรงพยาบาลราชวิถีที่ใช้งานในปัจจุบันเป็นตึกที่อยู่ด้านหลังของอาคารอำนวยการทำให้ระยะทางจากจุดจอดส่งของผู้ป่วยฉุกเฉินจนถึงพื้นที่ของการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมดที่อยู่ในตึก EMS มีระยะทางไกลมาก ซึ่งกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ควรจะได้รับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉิน (resuscitation) ที่อยู่ใกล้กับจุดจอดรถสำหรับส่งผู้ป่วยที่รวดเร็ว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยให้มากที่สุด และเป็นมาตรฐานหนึ่งที่สำคัญของการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในปัจจุบัน เนื่องจากตึก EMS เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และได้ใช้ เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ พ.ศ. 2538 มาจนถึงปัจจุบัน และนอกจากนี้ สถิติผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลราชวิถีมีจำนวน 80,000 ราย/ปี ทำให้การให้บริการผู้ป่วยไม่สะดวกและแออัดเกินไป
2. สธ. ได้จัดทำโครงการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (หลังใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) เพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มอุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ทันสมัยและครบวงจร (2) ลดความแออัดของผู้รับบริการ เพิ่มความรวดเร็วในการรักษาหรือผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิ์เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมและทันท่วงที (3) พัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนแพทย์แก่ผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี และ (4) เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉินยุคใหม่ของประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
ลักษณะการก่อสร้าง |
ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สูง 11 ชั้น โดยมีชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น รวม 13 ชั้น ความสูงของอาคารประมาณ 55 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,800 ตารางเมตร และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 190 เตียง |
สถานที่ก่อสร้าง |
ภายในบริเวณโรงพยาบาลราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 42,200 ตารางเมตร ซึ่งสถานที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอยู่ภายในรัศมี 200 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ |
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
สธ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินดังกล่าวแล้ว และได้ส่งรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงไปยัง สผ. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ. |
ระยะเวลาดำเนินการ |
1,450 วัน/ปีงบประมาณ 2564-2567 |
งบประมาณ/แหล่งเงิน |
สธ.ได้จัดส่งขอไปยังสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบลงทุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพาบาลราชวิถี จำนวนทั้งสิ้น 980,000,000 บาท |
3. กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพื้นที่ที่จะก่อสร้างตั้งอยู่ภายในบริเวณที่มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นมิได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามบุคคลใดปลูกสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร ภายในรัศมี 200 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอาคารที่มีความสูงเกิน 24 เมตร ภายในรัศมีเกิน 200 เมตร แต่ไม่เกิน 300 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรงพยาบาลราชวิถีก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว และหากอาคารที่ก่อสร้างดังกล่าวเป็นของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ผู้ดำเนินการต้องส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวน 2 ชุด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลราชวิถีมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้มีความสูงเกินกว่าที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครกำหนดก็สามารถขออนุญาตคณะรัฐมนตรีให้ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 และเนื่องจากอาคารที่จะก่อสร้างดังกล่าว เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ต้องมีถนนที่มีผิวการจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ที่ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก และปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมนคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 รวมทั้งกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ด้วย
10. เรื่อง การขอปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 [เรื่อง การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund)] และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้จัดตั้งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไป โดยปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้ลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs)/ วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูงหรือที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ โดยร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายและร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของกิจการ และให้มีคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุนทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทุน
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (16 ธันวาคม 2557) เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ซึ่งมีลักษณะเป็นกองทุนเปิดประเภททรัสต์ และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขนาดของกองทุน 10,000-25,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนจากภาครัฐ ร้อยละ 10-50 ส่วนที่เหลือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นกองทุนย่อย ๆ และเรียกระดมทุนครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อกองทุนย่อย และกองทุนย่อยแต่ละกองทุนจะมีนโยบายในการลงทุนตามแต่ละประเทท/กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก และมีคณะกรรมการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs
โดยแหล่งเงินลงทุนในส่วนของภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในฐานะภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเริ่มแรกเป็นจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งต่อมา ธพว. ได้จัดตั้งกองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท (ธพว. 490 ล้านบาท และบริษัท ไทยเอชแคปปิตอล 10 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนกิจการที่ผ่านการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว จำนวน 8 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 98 ล้านบาท และมีกิจการที่ได้ร่วมลงทุนแล้ว 2 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท
2. จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ธพว. พบว่า หลักการการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของ ธพว. ดังนี้ 1) การกำหนดวงเงินลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละรายขาดความยืดหยุ่นและไม่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้บางกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด หรือกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ จะไม่สามารถเข้าร่วมลงทุนได้ 2) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือ/ผู้จัดการทรัสต์จะคัดเลือกเฉพาะกิจการที่ได้ผลตอบแทนดีหรือคัดเลือกตามที่ผู้จัดการทรัสต์สนใจ กิจการที่ดีแต่ไม่อยู่ในความสนใจจึงไม่ถูกคัดเลือกมานำเสนอ 3) การบริหารจัดการกองทุนขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยที่ 1) วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs เพียง 2 กิจการ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 39 ล้านบาท อีกทั้ง หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนย่อยกองที่ 1 กับกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs อื่น ซึ่งจัดตั้งโดยสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเห็นได้ว่าหลักการลงทุนมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับเป้าหมายมากกว่า จึงมี SMEs ที่ได้เข้าร่วมลงทุนค่อนข้างมาก
ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของ ธพว. และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มขึ้น ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 [เรื่อง การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund)
และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ ธพว. ได้จัดตั้งแล้ว วงเงิน 500 ล้านบาท ให้ดำเนินการต่อไป โดยปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน และรูปแบบกองทุนให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการร่วมลงทุนในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) ได้มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนย่อยกองที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 25/2562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562
โดยสรุปการปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ได้ ดังนี้
โครงสร้าง |
หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 |
หลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ |
การบริหารจัดการกองทุน |
โดยคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก SMEs
2) คณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาวิสาหกิจร่วมทุน (Advisory Committee) สำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเภทกิจการที่เกี่ยวข้อง |
โดยคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทรัสต์ |
กิจการเป้าหมายและวงเงินลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละราย |
1) SMEs ระยะเริ่มต้น (Seed & Start-Up Stage) เงินลงทุนแรกเริ่มไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อรายหรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน
2) SMEs ขนาดเล็กและขนาดกลาง (Second & Third Stage) เงินลงทุนแรกเริ่มไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อรายหรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน |
1) ลงทุนใน SMEs หรือ Startup ที่มีศักยภาพสูงหรือใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือให้บริการหรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้
2) ร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย |
คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน (Asset Manager) |
1) เป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2) มีส่วนร่วมลงทุนใน SMEs ที่ดูแล อย่างน้อย ร้อยละ 5
3) มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการเงินและการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารธุรกิจ และกำกับให้
SMEs ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและ
มีประสิทธิภาพ
4) ช่วยดูแลควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนที่ SMEs ได้รับไปใช้อย่างถูกต้อง ตามวัตถุประสงค์การลงทุน
5) กำกับดูแล SMEs ในการบริหารจัดการธุรกิจและระบบควบคุมภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีทั่วไป
6) ช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบเงินทุนหรือเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่กิจการตามความเหมาะสม |
1) เป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2) มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการเงิน หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารธุรกิจและสามารถกำกับให้ SMEs ดำเนินธุรกิจ ด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
3) ดูแลควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนที่ SMEs ได้รับไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การลงทุน
4) กำกับดูแล SMEs ในการบริหารจัดการธุรกิจและระบบควบคุมภายใน ให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีทั่วไป |
สัดส่วนการร่วมลงทุน |
ร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุน
จดทะเบียนของกิจการ |
ร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของกิจการ |
11. เรื่อง การเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มีนาคม 2560 และ 12 มีนาคม 2562) เห็นชอบเอกสารนำเสนอโขน นวดไทย และโนราขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกแล้ว วธ. ได้ดำเนินกระบวนการเสนอเอกสารดังกล่าวให้ยูเนสโกพิจารณา ซึ่งต่อมาโขนและนวดไทยเป็นรายการของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2561 และ 2562 ตามลำดับ สำหรับโนราขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีฯ ภายในปี พ.ศ. 2564
2.
การยื่นเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รัฐภาคีจะต้องดำเนินการยื่นต่อฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาของยูเนสโกภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และต้องใช้เวลาในการพิจารณารายการอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Committee - IC)
เพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยข้อ 1.15 ของเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ [Operational Directives for the implementation of the Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage] ทั้งนี้ คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2565
3. วธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยร่วมมือกับนักวิชาการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์มที่ยูเนสโกกำหนด [UNESCO (แบบ ICH – 02)] เพื่อเตรียมเสนอสงกรานต์ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
ชื่อการนำเสนอ (ข้อ B) |
สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand) |
ชื่อชุมชน/คณะ/กลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ข้อ C) |
กลุ่มคนไทยทั่วประเทศซึ่งนับถือพุทธศาสนาและตระหนักในความกตัญญูและการสืบสานประเพณี ประกอบด้วย
ชุมชน |
รายละเอียด |
กลุ่มคนไทย
ในภูมิภาคต่างๆ |
ได้แก่ กลุ่มคนไทยล้านนา กลุ่มคนไทยอีสาน กลุ่มคนไทยในภาคกลาง กลุ่มคนไทยพุทธในภาคใต้ |
กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ต่าง ๆ |
ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร |
กลุ่มผู้สืบทอด
ความรู้เฉพาะด้าน |
ได้แก่ กลุ่มนักโหราศาสตร์ กลุ่มช่างฝีมือ (เช่น ช่างแกะสลัก ช่างทำเครื่องหอม ช่างทำตุง) กลุ่มผู้ประกอบอาหาร |
กลุ่มผู้เข้ารวมประเพณี |
ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ |
|
พื้นที่และขอบเขต
อาณาบริเวณ
ของเรื่องที่นำเสนอ
(ข้อ D) |
ประเพณีสงกรานต์มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน โดยมีพื้นที่ที่โดดเด่นสำคัญ ได้แก่ ชุมชนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนไทยในจังหวัดขอนแก่น ชุมชนไทยในกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ชุมชนไทยมอญในจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนชาวไทยพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม นอกจากพื้นที่ในประเทศไทยแล้ว สงกรานต์ยังมีการปฏิบัติในพื้นที่อื่นด้วย ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน [ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 7/2563 มีมติให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อมูลในกรณีที่จะเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกร่วมกับต่างประเทศ (ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศจีน)] |
หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก สรุปได้ ดังนี้ |
เกณฑ์ R.1 ประเทศผู้เสนอแสดงให้เห็นว่า “เรื่องที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาฯ” |
สงกรานต์ในประเทศไทยสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ คือ (1) ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ รวมทั้งภาษาที่ใช้สื่อในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (2) การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล (3) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ (4) งานช่างฝีมือดั้งเดิม |
หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ต่อยูเนสโก สรุปได้ ดังนี้ |
เกณฑ์ R.2 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “การขึ้นทะเบียนเรื่องที่เสนอนี้จะเป็นคุณประโยชน์ต่อการ
สร้างความมั่นใจว่า ความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นจะเป็นที่ประจักษ์
และตระหนักรู้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์” |
การขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศที่มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มคนได้เข้าร่วมประเพณีอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน นำไปสู่ความร่วมมือ การเรียนรู้ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการฟื้นฟูกิจกรรมในบางท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย รวมถึงการสร้างสรรค์ประยุกต์ประเพณีให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป |
เกณฑ์ R.3 ประเทศที่นำเสนอพึงแสดงให้เห็นถึง “มาตรการสงวนรักษาอย่างละเอียดที่สามารถจะคุ้มครอง
และส่งเสริมเรื่องที่นำเสนอนั้น” |
มาตรการสงวนรักษาประเพณีสงกรานต์ มีแนวทางสำคัญดังนี้ 1) การสร้างความตระหนักรู้ในสาระคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้อง 2) การพัฒนาศักยภาพบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ เช่น การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ และ 3) การบริหารจัดการประเพณีสงกรานต์ โดยการบริหารการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีสงกรานต์ให้มีความร่วมสมัย และยังคงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ที่สืบทอดกันมา |
เกณฑ์ R.4 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “ชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง (หากมี)
ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการนำเสนอ โดยได้รับการบอกแจ้ง
ล่วงหน้า ทั้งได้ให้ความเห็นชอบและยินยอมพร้อมใจ” |
ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับตัวแทนจาก 5 จังหวัดหลักที่มีการปฏิบัติประเพณีสงกรานต์ที่โดดเด่น คือ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ (ภาคกลาง) จังหวัดเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) จังหวัดขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา พระสงฆ์ นักวิชาการ ครูอาจารย์ เยาวชน ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ในฐานะผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาเข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นในการประสานงานอย่างเข้มแข็ง แสดงถึงความจริงใจและการยินยอมพร้อมใจในการเสนอขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ |
เกณฑ์ R.5 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “เรื่องที่นำเสนอนั้นอยู่ในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ของประเทศผู้เสนอ” |
สงกรานต์ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554 |
4.
ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน
ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดทำข้อมูลรายการ “สงกรานต์” โดยใช้ชื่อว่า “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand) เพื่อเสนอต่อยูเนสโก โดยให้เสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อมวลมนุษยชาติ ให้ทันภายในเดือนมีนาคม 2563
5. วธ. แจ้งว่า การนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนฯ เป็นการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเข้าข่ายที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับการดำเนินการในเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ปฏิบัติและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของชนกลุ่มน้อยและชุมชนระดับนานาชาติอีกด้วย
12. เรื่อง รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2561
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2561 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 17 บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีแสดงจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พม. จึงได้จัดทำรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ประจำปี 2561 ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนที่ 1 ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 ที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 4) ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ 5) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 6) บ้านพักเด็กและครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน 7) สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ 8) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9) ศูนย์บริการปรึกษา สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 10) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ฯ 11) มูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) 12) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 13) มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย 14) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 15) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ พม. ใช้อ้างอิงในการดำเนินงานมาจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่
หน่วยงาน |
รายละเอียด |
1. กระทรวงสาธารณสุข |
- ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 440 แห่ง หรือจำนวน 14,237 ราย ในจำนวนนี้ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง จำนวน 13,248 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 972 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 17 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 39 รายต่อวัน ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงจากหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร แสดงประเภทความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว สำหรับจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ความรุนแรงทางร่างกาย จำนวน 1,290 ราย รองลงมา คือ ความรุนแรงทางจิตใจ 91 ราย และความรุนแรงทางเพศ จำนวน 85 ราย ของจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมด |
2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. |
- ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่เกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,299 เหตุการณ์ ซึ่งจังหวัดที่มีการบันทึกในระบบมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ราชบุรี กรุงเทพมหานคร น่าน กาญจนบุรี และเชียงใหม่ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการรายงานจำนวนรายกรณีเข้ามามาก เนื่องจากในจังหวัดมีทีมสหวิชาชีพที่เข้มแข็งหรือมีเครือข่ายที่ร่วมให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง บางจังหวัดมีการรายงานข้อมูลน้อย เนื่องจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อยหรือมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีการรายงานเข้าสู่ระบบ |
2. ส่วนที่ 2 ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้แก่ จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ โดยเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงาน
และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง |
รายละเอียด |
1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน |
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 198 คดี คำสั่งกำหนดมาตรการฯ 27 คำสั่ง มีการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ 19 คำสั่ง การยอมความชั้นสอบสวน 30 คำสั่ง
- สำนักงานอัยการสูงสุด มีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 150 เรื่อง ไม่ฟ้อง 4 เรื่อง ยุติคดี 9 เรื่อง และใช้มาตรการ 2 เรื่อง
- สำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องต่อศาล 48 คดี |
2. ข้อมูลคดีตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th |
ในปี 2561 จำนวน 461 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีอยู่ในชั้นไกล่เกลี่ยของตำรวจมากที่สุด จำนวน 146 คดี และที่อยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ 91 คดี และคดีที่ศาลสั่งลงโทษ จำนวน 72 คดี และที่ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ จำนวน 93 คดี |
3. ข้อมูลตามบันทึกการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามแบบรายงานการดำเนินการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว |
ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 มีการให้ความช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 1,804 ความช่วยเหลือ ได้แก่ การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว / ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 540 ราย รองลงมา คือ การจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์มากที่สุด คือ จำนวน 468 ราย และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จำนวน 284 ราย เช่น การไกล่เกลี่ยทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ/ดำเนินการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 |
3. ส่วนที่ 3 บทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2561 สำหรับข้อเสนอแนะ เชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่
3.1
การพัฒนาระบบงานต้นแบบในพื้นที่ ดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและเครือข่ายชุมชนในการสร้างต้นแบบระบบงานป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
3.2
การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายในกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
3.3
การพัฒนาระบบงานการคุ้มครองช่วยเหลือ พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสหวิชาชีพ องค์กรเครือข่ายทั้งภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวในการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครอง กรณีความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างเป็นระบบ
3.4
การดำเนินการเสริมสร้างความตระหนักในปัญหาความรุนแรง การขับเคลื่อนกระบวนการรณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งร่วมกับองค์กรเครือข่ายในการจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวตามวาระที่เหมาะสม และผลิตสื่อและเอกสารวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป
3.5
การพัฒนากฎหมายฉบับใหม่ ๆ ในการคุ้มครองบุคคลในครอบครัว โดยส่งเสริมให้มีกลไกส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งและคุ้มครองสถาบันครอบครัวจากความรุนแรง
13. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
แพร่ระบาด
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส
โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาดตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนานส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และภาคการเกษตร รวมถึงภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นอย่างมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 ซึ่งกรมธนารักษ์รับผิดชอบในส่วนของมาตรการด้านอื่น ๆ คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่ราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้กำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการ/แผนงาน/โครงการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เพื่อช่วยบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เศรษฐกิจยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ในการนี้กรมธนารักษ์จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อตอบสนองมาตรการของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีและช่วยเหลือ เยียวยาผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนี้
1. มาตรการการยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าของกรมธนารักษ์ เป็นระยะเวลา 1 ปี (12 เดือน) สำหรับผู้เช่าเพื่ออยู่อาศัยและผู้เช่าเพื่อการเกษตร
2. มาตรการช่วยเหลือผู้เช่ารายใหญ่และผู้เช่าที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยผู้เช่าดังกล่าวสามารถเลื่อนกำหนดการชำระค่าเช่าและค่าตอบแทนของเดือนมีนาคม 2563 - สิงหาคม 2563 (รวมระยะเวลา 6 เดือน) ได้ถึงวันที่ 7 กันยายน 2563 โดยให้ยกเว้นเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระตามสัญญาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ได้แจ้งให้สำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานครและสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทุกพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ จากการกำหนดมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะสามารถช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเพื่ออยู่อาศัยและผู้เช่าเพื่อการเกษตรซึ่งมีสัญญาเช่าจำนวน 150,409 ราย และเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้เช่าและสมาชิกในครัวเรือนได้มากกว่า 450,000 คน แต่จะทำให้กรมธนารักษ์สูญเสียรายได้ประมาณ 189.791 ล้านบาท
14. เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay) รวมถึงการยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร สั่ง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
2. กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน
3. หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญ
การผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562 – 2563 มีดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย : ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ
1.1 แรงงานต่างด้าวที่ได้มาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และยื่นบัญชีรายชื่อไว้แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดได้
1.2 ผู้ติดตามที่มีหลักฐานการเป็นบุตรของแรงงานตามข้อ 1.1 ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 หรือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 แล้วแต่กรณี
2. ระยะเวลาดำเนินการ : ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
3. ลักษณะการดำเนินการ : เป็นการดำเนินการในลักษณะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร
4. การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ทำงาน วิธีดำเนินการ ค่าใช้จ่ายและผู้ติดตาม เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
5. สถานที่ดำเนินการ : ดำเนินการ ณ สถานที่ตั้งของแต่ละหน่วยงาน หรือเป็นไปตามที่กรมการจัดหางานกำหนด
6. แรงงานต่างด้าวทุกคนต้องทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มิฉะนั้นจะสิ้นสุดการอยู่ในราชอาณาจักร
15. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย
เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 523,244,500 บาท ดังนี้
1. ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) ประมาณ 77,578 ตัว เป็นเงิน 381,772,500 บาท
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค/ซากสัตว์ ได้แก่ ค่าจ้างเหมาในการขนส่งและขุดหลุมฝังกลบทำลายซาก ค่าจ้างเหมาบริการช่วยงานสัตวแพทย์ และค่าวัสดุเวชภัณฑ์/วัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ เป็นเงิน 99,852,000 บาท โดยให้ถัวจ่ายกันได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
3. จัดซื้อครุภัณฑ์ รวม 4 รายการ เป็นเงิน 41,620,000 บาท ประกอบด้วย
3.1 เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 400,000 บาท เป็นเงิน 2,800,000 บาท
3.2 เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิชนิดเคลื่อนที่แบบอินฟราเรด (Thermal Imaging System) จำนวน 108 เครื่อง เครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงิน 4,320,000 บาท
3.3 รถขนซากสัตว์ติดเชื้อระบบปิด จำนวน 3 คัน คันละ 7,900,000 บาท เป็นเงิน 23,700,000 บาท
3.4 รถสามล้อพ่นยาฆ่าเชื้อ จำนวน 27 คัน คันละ 400,000 บาท เป็นเงิน 10,800,000 บาท
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า
1. เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 29 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลกซึ่งเป็นทวีปยุโรปจำนวน 12 ประเทศ ทวีปแอฟริกาจำนวน 6 ประเทศ และทวีปเอเชียจำนวน 11 ประเทศ โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกของทวีปเอเชียที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรค คือ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้นที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้
2.1 การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง
2.2 ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน
2.3 การลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ติดตัวมากับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโรค รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร มีจำนวน 2,708 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 343 ตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563)
3. โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน และยาที่รักษาโรค และเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรค จนถึงขั้นหมดอาชีพ และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้เวลานาน จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี
4. ประเทศไทยประสบจากผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกของประเทศไทยในปี พ.ศ.2547 สามารถควบคุมและกำจัดโรคได้ในปี พ.ศ. 2551 จนเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์และองค์ความรู้ในการป้องกันและกำจัดโรคที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนในการป้องกัน คือ การค้นพบโรคเร็ว การกำจัดโรคเร็ว โรคสงบเร็ว การตรวจวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ รวมไปถึงการทำลายสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นการป้องกันและกำจัดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคเอกชนโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ 8 จังหวัด 19 อำเภอ ในเกษตรกรรายย่อย 794 ราย จากเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด 6,169 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ทำลายสุกรจำนวน 12,841 ตัว จากจำนวนสุกรทั้งหมด 91,004 ตัว คิดเป็นร้อยละ 14.11 พบว่าสามารถป้องกันโรคได้ และทำให้ตั้งแต่มีการพบการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 และแพร่ระบาดมายังประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยยังคงปลอดโรคต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่ ในอัตราร้อยละ 15 ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยใช้วิธี Spatial Multi – criteria Decision Analysis พบว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง คือ จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรค ชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งหมด 27 จังหวัด 108 อำเภอ จำนวนเกษตรกร 43,230 ราย จำนวนสุกร 517,188 ตัว ดังนั้น การลดความเสี่ยงที่อัตราร้อยละ 15 คิดเป็นเกษตรกรประมาณ 6,485 ราย สุกรประมาณ 77,578 ตัว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 381,772,500 บาท โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของราคาสัตว์หรือซากสัตว์ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ
5. การลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมีวิธีการทำลายซากสัตว์ต้องไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดิน แหล่งน้ำสาธารณะ น้ำใต้ดิน และไม่กระทบต่อพื้นที่ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร อีกทั้งต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือในการทำลายซากสัตว์ต้องสามารถเคลื่อนย้าย เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และต้องสามารถทำลายสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สัตว์ปีก สุนัข และแมว เป็นต้น เพื่อความคุ้มค่าในการควบคุมป้องกันโรคในภาคปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง เพื่อการค้นพบโรคเร็ว การกำจัดโรคเร็ว โรคสงบเร็ว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังโรคให้มีครอบคลุมในทุกพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณในการจ้างเหมาบริการช่วยงานด้านสัตวแพทย์สำหรับการเฝ้าระวังโรคดังกล่าว จำนวน 300 อัตรา ซึ่งยังไม่เพียงพอ รวมทั้งต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นอย่างรวดเร็วและแม่นยำในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
7. การทำลายเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงสัตว์ และบริเวณโดยรอบโรงฆ่าสัตว์ ยานพาหนะ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุกร จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติทำลายเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ จึงจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
16. เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ รับทราบ และอนุมัติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการที่เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้
1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
1.2 มาตรการเสริมความรู้
1.3 มาตรการด้านภาษี (1) มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2) มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี (3) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (4) มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ (5) มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (6) มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (7) มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)
1.4 มาตรการด้านการเงิน (1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (2) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (3) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (4) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
1.5 การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระยะต่อไป
2. รับทราบมาตรการ
2.1 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของสถานบริการที่ประกอบกิจการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
2.2 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
3. อนุมัติวงเงินงบประมาณมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 45,000 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังขอรับการจัดสรรงบประมาณ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลต่อไป
4. อนุมัติวงเงินงบประมาณมาตรการเสริมความรู้ วงเงินงบประมาณจำนวน 4,380.16 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธพว. เป็นหน่วยขอรับการจัดสรรงบประมาณ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. อนุมัติงบประมาณมาตรการด้านการเงิน วงเงินรวม 30,946 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อ ๆ ไป
6. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 2 ฉบับ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จำนวน 1 ฉบับ และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) จำนวน 1 ฉบับ
7. เห็นชอบการปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ให้เป็นไปตามหลักการและร่างประกาศที่กระทรวงการคลังนำเสนอ ประกอบไปด้วย 1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และ 2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
17. เรื่อง ร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าและกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งประเทศฮังการี ประจำปี ค.ศ. 2020 – 2022
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าและกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งประเทศฮังการี ประจำปี ค.ศ. 2020 – 2022 ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ อว. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่าง อว. แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าและกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งประเทศฮังการี ประจำปี ค.ศ. 2020 – 2022 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารโครงการแลกเปลี่ยนฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง อว. และกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งประเทศฮังการี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การสนับสนุนจากฝ่ายฮังการี ฝ่ายฮังการีเสนอให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนแก่ผู้รับทุนชาวไทย จำนวน 40 ทุนต่อปี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เป็นทุนการศึกษาเต็มจำนวน ครอบคลุมค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก เดือนละ 40,000 โฟรินต์ฮังการี (ประมาณ 4,171 บาท) และสิทธิในการได้รับบริการทางการแพทย์และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับเงินที่จ่ายครั้งเดียวเป็นจำนวน 400,000 โฟรินต์ฮังการี (ประมาณ 41,710 บาท) โดยมีสาขาที่สนับสนุน ดังนี้
1) ปริญญาตรี ได้แก่ สาขาวิชา (1) วิทยาศาสตร์การเกษตร (2) วิทยาศาสตร์การแพทย์ (3) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (4) วิศวกรรมศาสตร์ (ให้ความสำคัญแก่สาขาวิศวกรรมการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร วิศวกรรมขนส่ง วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ) (5) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (6) ดนตรีและศิลปะ หรือศิลปศึกษา (7) สังคมศึกษา (8) ศิลปศาสตร์
2) ปริญญาโท ได้แก่ สาขาวิชา (1) วิทยาศาสตร์การเกษตร (2) วิทยาศาสตร์การแพทย์ (3) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (4) วิศวกรรมศาสตร์ (ให้ความสำคัญแก่สาขาวิศวกรรมการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร วิศวกรรมขนส่ง วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ) (5) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (6) ดนตรีและศิลปะ หรือศิลปศึกษา (7) สังคมศึกษา (8) พุทธศาสตร์ (9) ประวัติศาสนา และ (10) ศาสนศึกษา
3) ปริญญาเอก ทุกสาขาวิชา
2. การสนับสนุนจากฝ่ายไทย ให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนหรือทุนการศึกษาบางส่วนแก่นักเรียน/นักศึกษาฮังการี เพื่อศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย เป็นระยะเวลา 1 – 2 ภาคการศึกษา ระหว่างปี ค.ศ. 2020 -2022
18. เรื่อง เงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค และเห็นชอบการระบุให้ใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในร่างสัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดใน General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557 ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency :JICA)
3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจาก JICA สำหรับโครงการฯ กรอบวงเงิน 9,434 ล้านเยน โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และลงนามในสัญญาเงินกู้กับ JICA ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
4. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดเตรียมทำคำรับรองทางกฎหมาย (Legal Opinion) สำหรับสัญญาเงินกู้โครงการฯ ในโอกาสแรก ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้โครงการฯ แล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เน้นการเรียนรู้พร้อมปฏิบัติจริงตามแนวทางของสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น จำนวน 2 วิทยาเขต ได้แก่ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN KMITL) และสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) เพื่อเร่งสร้างกำลังคนด้านวิศวกร นักเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีทักษะสูงและสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และช่วยขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในด้านฝีมือแรงงานและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 13 ปี (ระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2575)
2. โครงการฯ มีวงเงินดำเนินโครงการรวม 4,700 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้างสถาบันไทยโคเซ็นและการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับการเรียนการสอน รวมถึงอุดหนุนทุนการศึกษาให้นักศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น และเงินนอกงบประมาณ (เงินกู้) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่าน JICA วงเงิน 2,700 ล้านบาท สำหรับเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการฯ
3. การดำเนินการด้านเงินกู้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการเจรจารายละเอียดของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น (Exchange of Notes: E/N) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและได้เจรจาในรายละเอียดของร่างสัญญาเงินกู้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและ JICA แล้ว
4. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
4.1 รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้กระทรวงการคลังกู้เงินผ่าน JICA สำหรับดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค วงเงิน 9,434 ล้านเยน โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบ Preferential Terms ดังนี้
(1) อายุเงินกู้ 30 ปี รวมระยะปลอดการชำระคืนต้นเงินกู้ 10 ปี
(2) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.05 ต่อปี
(3) อัตราดอกเบี้ยสำหรับการจ้างที่ปรึกษา ร้อยละ 0.01 ต่อปี
(4) ระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกู้ 12 ปี นับจากสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้ และสามารถขอขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินกู้ได้ โดยต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ
4.2 เงินกู้จะสามารถใช้จ่ายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการเพื่อดำเนินโครงการฯ และจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการตามแนวปฏิบัติของ JICA (Guideline for Procurement of JICA) โดยใช้วิธีการประกวดราคานานาชาติ ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้กู้จะต้องแจ้งให้ JICA ทราบ และต้องได้รับคำยินยอมจาก JICA
4.3 สำหรับการขนส่งทางเรือและประกันภัยทางทะเลของสินค้าที่จัดซื้อด้วยเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการฯ รัฐบาลไทยจะงดเว้นการกำหนดข้อบังคับใด ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมระหว่างบริษัทเดินเรือและบริษัทประกันภัยของทั้งสองประเทศ
4.4 การยกเว้นภาษีอากรให้แก่ JICA ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตามกฎหมายไทยภายใต้การดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
4.5 รัฐบาลไทยจะต้องกำกับดูแลและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ในการดำเนินโครงการฯ อย่างเหมาะสม ดูแลปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ และดูแลสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการใช้เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นให้มีการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม
4.6 รัฐบาลไทยจะต้องรายงานรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ รวมถึงข้อมูลอื่นที่เป็นสาระสำคัญหรือมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินโครงการฯ หากฝ่ายญี่ปุ่นร้องขอ และรัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องปรึกษาหารือและทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ด้วย
5. ร่างสัญญาเงินกู้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ร่างสัญญาเงินกู้มีสาระสำคัญสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Exchange of Notes ที่กล่าวข้างต้น และเป็นไปตาม General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans (GTC) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นเอกสารมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในสัญญาเงินกู้ โดยกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น และมีผูกพันกับประเทศผู้กู้ทุกประเทศ เช่น กำหนดให้กฎหมายญี่ปุ่นเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญาเงินกู้ วิธีการใช้คณะอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินกู้ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการตามหลักเกณฑ์ของ JICA และวิธีการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น
6. กระทรวงการคลังได้ส่งร่าง Exchange of Notes และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาด้วยแล้ว โดยสำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อขัดข้องประการใด
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง
นางสาวมลฤดี อภิชนาพงศ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
*************************