http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (10 มีนาคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 ของด่านศุลกากรแม่สอด)
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับ สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานพ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 4 เล่ม 1 – 2558 พ.ศ. ....
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19))
10. เรื่อง การโอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อชำระคืนคืนต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3
11. เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิเพิ่มเติม
12. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ้น 691.12 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 17 จังหวัด) ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
13. เรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 - 2565)
14. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 500 ล้านบาท
15. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงาน
ของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน
16. เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
17. เรื่อง มาตรการเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
18. เรื่อง มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้งและกระตุ้นเศรษฐกิจ
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาดูไบ (Dubai Declaration)
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ
ของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19)
21. เรื่อง ขอปรับปรุงและเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการพิจารณายกเว้นอากรนำเข้า สื่อ วัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการศึกษา
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
23. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
24. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
25. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม เพื่อเป็นการควบคุมพืชกระท่อมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
กำหนดให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สลค. เสนอว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 กรกฎาคม 2562) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้
ปีที่ |
สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง |
สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง |
1 |
22 พฤษภาคม 2562 – 18 กันยายน 2562 |
1 พฤศจิกายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 |
2 |
22 พฤษภาคม 2563 – 18 กันยายน 2563 |
1 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 |
3 |
22 พฤษภาคม 2564 – 18 กันยายน 2564 |
1 พฤศจิกายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 |
4 |
22 พฤษภาคม 2565 – 18 กันยายน 2565 |
1 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 |
2. ดังนั้น สมควรที่จะให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งสำหรับปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563
จึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 ของด่านศุลกากรแม่สอด)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 เพื่อปรับปรุงการกำหนดเขตศุลกากรและด่านพรมแดนของด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อันเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่ง การค้า การลงทุน ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการตรวจตรา ป้องกันการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ยกเลิกเขตศุลกากรบริเวณตามลำน้ำเมยตอนที่เป็นเส้นเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในเขตระยะห่างจากสะพานมิตรภาพไทย – พม่า ด้านละ 500 เมตร
2. ยกเลิกด่านพรมแดนบ้านท่าสายลวด ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
3. กำหนดเขตศุลกากรบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – พม่า 1 ริมฝั่งแม่น้ำเมยฝั่งไทย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา 2 ริมฝั่งแม่น้ำเมย ฝั่งไทย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
4. กำหนดด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา 2 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
1.1 กำหนดพื้นที่ภายในรัศมี 300 เมตร จากจุดกึ่งกลางของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารที่มีสีและวัสดุของผนังภายนอกอาคารและสีของหลังคาอาคารเป็นสีอื่น นอกเหนือจากที่กำหนด
1.2 กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารโบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศาสนสถาน หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนาหรือศิลปวัฒนธรรม
1.3 กำหนดให้ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดห้ามบุคคลใดดัดแปลงอาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
1.4 กำหนดให้อาคารที่มีอยู่แล้วในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ก่อนหรือในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่การขอดัดแปลงอาคารต้องเป็นไปตามที่กำหนด
1.5 กำหนดให้อาคารในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลงหรือได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับการยกเว้น แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
2.1 กำหนดให้พื้นที่ภายในบริเวณรัศมี 200 เมตร จากจุดกึ่งกลางของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ห้ามก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 17 เมตร และพื้นที่บริเวณรอบนอกของแนวเขตดังกล่าวในระยะ 100 เมตร ห้ามก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 27 เมตร รวมทั้งห้ามก่อสร้างอาคารที่มีสีและวัสดุของผนังภายนอกอาคารและสีของหลังคาอาคารเป็นสีอื่น นอกเหนือจากที่กำหนด
2.2 กำหนดให้กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารโบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศาสนสถาน หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนาหรือศิลปวัฒนธรรม
2.3 กำหนดให้ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดห้ามบุคคลใดดัดแปลงอาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
2.4 กำหนดให้อาคารที่มีอยู่แล้วในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ก่อนหรือในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่การขอดัดแปลงอาคารต้องเป็นไปตามที่กำหนด
2.5 กำหนดให้อาคารในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลงหรือได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับการยกเว้น แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. แก้ไขคำนิยามจากเดิม “คณะกรรมการบริหาร” เป็น “คณะกรรมการ” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โดยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
3. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจกำหนดประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานการกำหนดค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน และค่าบริการในการดำเนินกิจการของสำนักงาน การแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน การกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการและผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน และเครื่องหมายสำนักงาน รวมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
4. กำหนดให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหาร และให้แต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการรายงานผลให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
5. กำหนดให้ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของสำนักงาน รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยองค์การ มหาชน
6. กำหนดให้การตรวจสอบภายใน ให้ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และในการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยของผู้ตรวจสอบภายในให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
7. กำหนดให้การประเมินผลงานของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
8. เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล ดังนี้
8.1 กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ และยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้
8.2 กำหนดให้บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งใดอ้างถึงคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550 ให้ถือว่าระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
8.3 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550 และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
อก. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ได้แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำผ่านวัตถุอันตรายโดยเพิ่มบทนิยาม คำว่า “นำผ่าน” เพื่อให้การควบคุมและกำกับดูแลการนำผ่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้วัตถุอันตรายที่จะนำผ่านราชอาณาจักรได้ คือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เช่น น้ำมันตะไคร้หอม [(citronella oil)] ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น] แคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ [(calcium hypochlorite) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เช่น ฟอร์มัลดีไฮต์ [(formaldehyde) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] แนฟทาลีน [(naphthalene) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น หรือเพื่อประโยชน์ในการดับกลิ่น] และวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เช่น กรดอะซีติก [(acetic acid) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] กรด [(acid) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานผลิตอาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดหรือการแก้ไขการอุดตันของท่อหรือทางระบายสิ่งปฏิกูล] เท่านั้น และห้ามนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เช่น พาราควอตไดคลอไรด์ (paraquat dichloride) ฟอสฟอรัส (phosphorus) โดยการนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในแต่ละครั้ง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เมื่อรับแจ้งแล้ว จะออกใบนำผ่านให้เป็นหลักฐานการรับแจ้ง สำหรับการนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่ออนุญาตแล้ว จะออกใบนำผ่านให้เป็นหลักฐานการอนุญาต
2. หน่วยงานผู้รับผิดชอบภายใต้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมธุรกิจพลังงาน ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบนำผ่านวัตถุอันตรายแต่ละชนิด โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบนำผ่านสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในอัตราค่าธรรมเนียมเท่ากันสำหรับใบนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คิดค่าธรรมเนียมเป็นสองเท่าของวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2
3. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น และได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบสารสนเทศของหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามข้อ 2. ด้วยแล้ว
4. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ในคราวประชุมครั้งที่ 39-7/2562 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบนำผ่านสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 โดยคิดตามปริมาณการนำผ่านในแต่ละครั้ง
ปริมาณการนำผ่านในแต่ละครั้ง |
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 (ฉบับละ/บาท) |
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ฉบับละ/บาท) |
ไม่ถึงสิบเมตริกตัน |
500 |
1,000 |
ตั้งแต่สิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงห้าสิบเมตริกตัน |
1,000 |
2,000 |
ตั้งแต่ห้าสิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตริกตัน |
1,500 |
3,000 |
ตั้งแต่หนึ่งร้อยเมตริกตันขึ้นไป |
3,000 |
6,000 |
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 โดยเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกันต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้บริโภค
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 166-2549 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3310 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้าสำรับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : เต้าเสียบและเต้ารับที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 250 โวลต์ ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3487 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : เต้าเสียบและเต้ารับที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 250 โวลต์ (แก้ไขครั้งที่ 1) ลงวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยกำหนดวันใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 4 เล่ม 1 – 2558 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 4 เล่ม 1 – 2558 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 โดยเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้บริโภค
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปที่คล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 4 เล่ม 1 – 2558 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5507 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดไฟฟ้า และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตนสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และที่มีจุดประสงค์ให้แสงสว่างทั่วไปคล้ายกัน เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562
โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19))
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน รักษา ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินในช่วงวิกฤติของการแพร่ระบาดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงเห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ ภายใต้หลักการและแนวทาง การปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้
1. กำหนดให้บุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 (COVID-19) สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ
3. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมดข้างต้น มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564
10. เรื่อง การโอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อชำระคืนคืนต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอให้โอนเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายและนำหุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) และเงินปันผลพิเศษที่ได้รับก่อนการขายหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (บัญชีสะสมฯ) จำนวน 34,578 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กค. รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2563 กองทุนฯ ได้รับเงินที่มีนัยสำคัญจากการดำเนินการนำหุ้น บสก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
วันที่เริ่มต้นซื้อขาย |
16 ธันวาคม 2562 |
ราคา IPO1 |
17.50 บาท |
ที่ปรึกษาทางการเงิน IPO |
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทหลักทรัพย์ ทรินิตี้ จำกัด
UBS AG Hong Kong Branch |
1Initial Public Offering (IPO) คือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
จำนวนหุ้นที่เสนอขาย |
รวม |
1,765 ล้านหุ้น |
หุ้นของกองทุนฯ |
1,255 ล้านหุ้น |
หุ้นเพิ่มทุนของ บสก. |
280 ล้านหุ้น |
หุ้นส่วนเกินที่ผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ยืมกองทุนฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา2 |
230 ล้านหุ้น |
|
การจัดสรรให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น |
รายย่อย |
ร้อยละ 24 |
สถาบันในประเทศ |
ร้อยละ 58 |
สถาบันต่างประเทศ |
ร้อยละ 18 |
|
2 กองทุนฯ จะได้รับหุ้นคืนจำนวนดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษาเสถียรภาพราคา
ภายหลังจากการขายหุ้น บสก. ในครั้งนี้แล้ว กองทุนฯ จะยังคงเหลือหุ้น 1,480 ล้านหุ้น (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.79) โดยกองทุนฯ ได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้สุทธิจำนวน 21,578 ล้านบาท (1,255 ล้านหุ้น x 17.50 บาท – ค่าธรรมเนียมการขาย) นอกเหนือจากเงินปันผลพิเศษที่ได้รับก่อนการขาย 13,000 ล้านบาท
2.
คณะกรรมการจัดการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติให้กองทุนฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการโอนเงินจำนวนรวม 34,578 ล้านบาท (การขายหุ้น บสก. สุทธิ 21,578 ล้านบาท และเงินปันผลพิเศษที่ได้รับก่อนการขาย 13,000 ล้านบาท) เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3 สำหรับปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม
11. เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบในหลักการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ขึ้นทะเบียนโดยมีเลขประจำตัว 13 หลัก เรียบร้อยแล้ว ในกลุ่มคนดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร เลขประจำตัวประเภท 3 และ 4 จำนวน 24,071 คน ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น จำนวน 61,802,300 บาทต่อปี โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
12. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ้น 691.12 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 17 จังหวัด) ของ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2 รวมทั้งสิ้น 691.12 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง วงเงิน 373.70 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 317.42 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 17 จังหวัด) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. ตามที่ได้เกิดอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล (ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2562 – 1 กันยายน 2562) และพายุดีเปรสชันคาจิกิ (ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2562) ในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 24 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี) ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและ ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและซ่อมแซมเส้นทางเพื่อให้การจราจรผ่านได้ในระยะเร่งด่วนแล้ว
2. กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2
รวมทั้งสิ้น 707.32 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง วงเงิน 389.90 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 317.42 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณฯ อยู่ในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติจากพายุดังกล่าว โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีความพร้อมในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หากได้รับการจัดสรรงบประมาณจะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1
กรมทางหลวงเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2
จำนวน 31 รายการ วงเงิน 389.90 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (
จำนวน 15 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ ตาก น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะ ซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
รายการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
งานแก้ไขและป้องกันดินสไลด์ คันทางสไลด์ จำนวน 9 รายการ |
78.30 |
งานฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ จำนวน 9 รายการ |
69.70 |
งานซ่อมแซมโครงสร้างทางและผิวทาง จำนวน 13 รายการ |
241.90 |
รวม |
389.90 |
2.2
กรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2
จำนวน 33 รายการ วงเงิน 317.42 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (
จำนวน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ดังนี้
รายการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
ซ่อมสร้างผิวทาง/ไหล่ทาง/คันทาง จำนวน 10 รายการ |
84.07 |
ถนนขาด/สะพาน/คอสะพานขาด พร้อมเชิงลาด จำนวน 8 รายการ |
126.71 |
ก่อสร้างโครงสร้างระบายน้ำ จำนวน 7 รายการ |
48.33 |
งานป้องกันการกัดเซาะ จำนวน 8 รายการ |
58.31 |
รวม |
317.42 |
13. เรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 - 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ
2. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบแนวทางในการเสนอคำของบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565
3. ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
4. ให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ยธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประสาน สนับสนุน ติดตามประเมินผลเพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 – 2565) ไปสู่การปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 - 2565) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติแล้ว และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบแนวทางในการเสนอคำของบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ให้สำนักงบประมาณใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประสาน สนับสนุน ติดตาม ประเมินผลเพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง (ร่าง) แผนแม่บทฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) |
วิสัยทัศน์ |
การบริหารงานยุติธรรมมีธรรมาภิบาลและทันสมัย สร้างสังคมไทยเคารพกฎหมาย มีความปลอดภัยและสงบสุข |
พันธกิจ |
เช่น เสริมสร้างการป้องกันการกระทำผิดโดยสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความยุติธรรมและกฎหมาย ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อใช้ระงับข้อพิพาทหรือยุติความขัดแย้งโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกและง่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนโดยการพัฒนากฎหมายและระบบบริหารงานยุติธรรม |
เป้าหมายภาพรวม |
การบริหารงานยุติธรรมที่มีธรรมาภิบาล และโปร่งใส และสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน |
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ |
ยุทธศาสตร์ที่ 1
การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม |
ยุทธศาสตร์ที่ 2
การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาททั้งทางอาญา ทางแพ่งและพาณิชย์และทางปกครอง
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3
การพัฒนากฎหมายและระบบบริหารงานยุติธรรม |
ยุทธศาสตร์ที่ 4
พัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด |
ยุทธศาสตร์ที่ 5
การขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล |
โดย (ร่าง) แผนแม่บทฯ มีแนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผลสรุปได้ ดังนี้
Plan |
Do |
Check |
Act |
- สร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
- ผลักดันให้นำประเด็นการพัฒนา โครงการกิจกรรมภายใต้ร่างแผนแม่บทฯ บรรจุในแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานและแผนพัฒนาจังหวัด |
- ใช้กลไกยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- ใช้กพยช. และ กพยจ. เพื่อขับเคลื่อน
- ใช้กลไกองค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะประชารัฐ |
- ติดตามประเมินผลทั้งในมิติของการนำร่างแผนแม่บทฯ ไปใช้และการประเมินผลสำเร็จของแผน |
- ประเมินเนื้อหาของร่างแผนแม่บทฯ เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสม |
ซึ่งร่างแผนแม่บทฯ มีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจงาน ด้านการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมครอบคลุมทั้งอาญา ทางแพ่งและพาณิชย์ และทางปกครอง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
2. (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) จัดเป็นแผนระดับที่ 3 ซึ่งมติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้เสนอแผนระดับที่ 3 ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนแม่บทดังกล่าว และให้ดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
14. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 500 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคาระห์ (สธค.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อไว้ใช้เป็นเงินทุนในการหมุนเวียน รองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อประกันการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และคณะกรรมการอำนวยการ สธค. ได้เห็นชอบการกู้เงินดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเรื่องนี้กระทรวงการคลังเห็นว่า ที่ผ่านมา สธค. สามารถทยอยชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยวงเงินดังกล่าวได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว (24 กันยายน 2562) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบให้ พม. กู้เงิน จำนวน 500 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
15. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ กสม. |
สรุปผลการพิจารณา |
1. คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาบริการพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ |
กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะสั้น (เร่งด่วนเฉพาะหน้า) กค. (กรมบัญชีกลาง) จะจัดทำหนังสือซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับส่วนราชการ ให้ดำเนินการจ้างให้ถูกต้องตามประเภทการจ้างงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะการจ้างแรงงาน โดยต้องไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชา หรือการลงชื่อปฏิบัติงาน โดยให้พิจารณาตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานเป็นสำคัญ สำหรับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสภาพการทำงาน ลักษณะงาน และอัตราตลาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับจ้าง และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
(2) ระยะยาว (เชิงระบบ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รง. และกรมบัญชีกลางเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป |
2. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงมาพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างโดยทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม |
(1) กรมบัญชีกลางแจ้งว่า การจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคม และไม่มีสิทธิการลา เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมาย ต้องป้องกันไม่ให้ส่วนราชการจ้างงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
(2) กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือซักซ้อมส่วนราชการให้บริหารสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง คือ สัญญาการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการผลผลิตหรือผลสำเร็จของงานเท่านั้น ดังนั้น ส่วนราชการต้องไม่ปฏิบัติต่อพนักงานจ้างเหมาบริการในฐานะผู้บังคับบัญชา
(3) กรมบัญชีกลางจะซักซ้อมส่วนราชการให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคากลางและความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล |
3. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ควรเร่งศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังคนภาครัฐในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของส่วนราชการในระยะยาว |
การใช้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวทดแทนการจ้างเหมาบริการอาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว และการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในปัจจุบัน ดำเนินการได้เฉพาะ 4 ประเภท คือ 1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง 2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ 3) ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และ 4) ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565) |
16. เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ระบาดในหลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนาน สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และภาคการเกษตร ยังกระทบไปถึงภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ดังนั้น นอกจากการกำหนดมาตรการจัดการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงแล้ว สำนักงบประมาณเห็นสมควรกำหนดมาตรการด้านการงบประมาณในการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ซึ่งมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้
1.
งบประมาณรายจ่ายประจำ
1.1 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณ หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานสำหรับงบประมาณในลักษณะรายจ่ายประจำ ที่มิใช่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศให้ได้ประมาณร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อไปดำเนินการที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน
1.2 ให้หน่วยรับงบประมาณปรับแผนการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่ตั้งไว้สำหรับศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ณ ต่างประเทศ โดยให้นำมาดำเนินการภายในประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปดำเนินการตามแนวทางใน ข้อ 1.1 สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศกรณีอื่น กรณีการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากสามารถระงับหรือเลื่อนการเดินทางได้ ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการด้วย
2.
งบประมาณรายจ่ายลงทุน
2.1 งบประมาณรายจ่ายในลักษณะค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่ำกว่าสิบล้านบาท ที่แน่ชัดว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรไปดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนโดยใช้แรงงานจากภาคเกษตร หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการจากงานจ้างเหมาเป็นงานดำเนินการเองเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยดำเนินการภายในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในลำดับแรก
2.2 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
3.
งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
3.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สำนักงบประมาณยังไม่ได้จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณ โดยเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย
1) รายการที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว
2) รายการที่มีคำขอของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
3.2 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณแล้ว กรณีที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันหรือบันทึกใบสั่งซื้อ (PO) ได้ทันภายในวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นสมควรให้ยกเลิกโครงการ/รายการ และให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มีนาคม 2563 เพื่อดำเนินการนำงบประมาณส่งคืนสำหรับนำไปใช้ในโครงการ/รายการสำคัญเร่งด่วนตามมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
3.3 กรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีภารกิจ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เสนอขอรับการจัดสรรตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ การพิจารณาดำเนินการตามมาตรการข้อ 1 และข้อ 2 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่ที่สามารถดำเนินการได้ โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
17. เรื่อง มาตรการเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมาตรการเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการขอความร่วมมือให้ทุกส่วนราชการ เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 โดยการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) และส่งปฏิทินการจัดประชุมและสัมมนาดังกล่าว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำไปขยายผลร่วมกับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า หากมีการดำเนินมาตรการเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมและสัมมนาภายในประเทศ 3 เดือน (เมษายน ถึง มิถุนายน 2563) เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชะลอการเลิกจ้างงาน รวมทั้งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อจิตวิทยาในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งประชาชนคนไทย และชาวต่างชาติทั่วโลก และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น
18. เรื่อง มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1.
การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาเร่งรัดออกแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 21.5 ล้านราย สามารถใช้สิทธิในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ซึ่งมีวงเงินรวมที่จะมีสิทธิขอคืนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะสามารถเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
2.
การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในพื้นที่ 72 จังหวัด วงเงินรวม 4,064 ล้านบาท โดย
2.1 ให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินภายใต้โครงการชุมชนปี 2563 จำนวนกว่า 6,600 โครงการ วงเงินรวม 2,494 ล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่และพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นในด้านสาธารณสุข อาชีพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ พิจารณาทบทวนโครงการชุมชนภายใต้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้ว เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ้างแรงงาน จัดซื้อหรือก่อสร้างที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ของผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นภายในประเทศ การศึกษาดูงานภายในประเทศแทนการศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
2.2 ให้พิจารณานำงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2562 และ 2563 วงเงินรวม 1,570 ล้านบาท มาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
3.
การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า โดยตรึงอัตราค่าเอฟที เดือนพฤษภาคม 2563 ในอัตรา -11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าฐาน คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,534 ล้านบาท
4.
มาตรการอื่น ๆ ของการไฟฟ้า ได้รับทราบข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในมาตรการต่าง ๆ อาทิ
4.1 ลดค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยรายละเอียดส่วนลดจะปรากฏในบิลที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับ
4.2 ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) ตลอดจนไม่คิดค่าปรับ (ดอกเบี้ย) ตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน โดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาดูไบ (Dubai Declaration)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาดูไบ (Dubai Declaration) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดหลักการ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 พร้อมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าวโดยไม่มีการลงนาม ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารที่สำนักเลขาธิการ Abu Dhabi Dialogue (ADD)
ได้นำหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2562
ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้ที่ประชุมฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD รับรองร่างปฏิญญาฯ ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศปลายทาง (ผู้รับแรงงาน) และประเทศต้นทาง (ผู้ส่งแรงงาน) ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านแรงงานภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานและความโปร่งใสของการจัดหางาน (2) การพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับรองมาตรฐานฝีมือ (3) การพัฒนางานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบ ความท้าทาย และโอกาสของงานในอนาคต (Future of Works) ที่จะเกิดขึ้น (4) การพัฒนาความร่วมมือให้มากขึ้นในด้านการจัดมาตรฐานความสามารถของแรงงานทำงานบ้าน (Domestic Worker Competency Standards) และ (5) การส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในการผลักดันในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานก้าวไปสู่การประชุมบนเวทีโลก โดยการรับรองเอกสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะ การเดินทางไปทำงานในประเทศผู้รับแรงงานที่เป็นสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ให้มีประสิทธิภาพและ เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ
(AEM Retreat) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2563 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในส่วนของไทย
2. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 เวียดนามได้เสนอร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมรับรองในช่วงการประชุมในข้อ 1
3. ร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง [ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน] [ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน] ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น (1) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความพยายามในการประสานงานและความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อการตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัลเพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ในกรณีมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (3) ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว โดยเฉพาะความพยายามร่วมในการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (4) ต่อยอดการใช้เวทีการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีอยู่ในอาเซียน เช่น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน (5) หลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกในการหาซื้อและการกักตุนสินค้าเพื่อลดการสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่ไม่จำเป็น (6) จัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทาน น็น
21. เรื่อง ขอปรับปรุงและเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการพิจารณายกเว้นอากรนำเข้าสื่อ วัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการปรับปรุงและเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการพิจารณายกเว้นอากรนำเข้าสื่อ วัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการศึกษา โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคงเดิม ดังนี้
1. การปรับปรุงองค์ประกอบของประธานกรรมการ
จากเดิม “รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับมอบหมาย”
เป็น “ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับมอบหมาย”
2. การปรับปรุงองค์ประกอบของกรรมการ จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่
2.1
จากเดิม “ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
เป็น “ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
2.2
จากเดิม “ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา”
เป็น “ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
3. การเพิ่มเติมองค์ประกอบของกรรมการ
เพิ่มเติม กรรมการผู้แทนด้านวิทยาศาสตร์จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 2 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นางเดือนถนอม พรหมขัติแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เทคโนโลยีชีวภาพ) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับเงินประจำตำแหน่งอัตรา 13,000 บาท ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข รับเงินประจำตำแหน่งอัตรา 15,600 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
24. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง
นายพรพล เอกอรรถพร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง
25. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ดังนี้
1. แต่งตั้ง
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณอุดม คชินทร เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา
2. แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวม 10 คน
2.1 กรรมการผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 20 (3) จำนวน 1 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ปริญญา จินดาประเสริฐ
2.2 กรรมการผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 20 (4) จำนวน 2 คน ได้แก่ 1) รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 2) รองศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน
2.3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 20 (5) จำนวน 7 คน ได้แก่ 1) นายเจษฎ์ โทณะวณิก 2) ศาสตราจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ 3) รองศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล 4) ศาสตราจารย์วิชัย
ริ้วตระกูล 5) นายสุเมธ แย้มนุ่น 6) นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ 7) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
******************