1. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562)
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ)
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการแบ่งระดับ การกำหนดคุณวุฒิ และการอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการจัดทำ ปัก ติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร หรือสัญญาณจราจร สำหรับการจราจรบนทางหลวง พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน –ฟอร์แมลดีไฮด์ ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ และเมลามีน – ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ สำหรับอาหาร : เฉพาะด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย พ.ศ. ....
9. เรื่อง การพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
10. เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
11. เรื่อง ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติพ.ศ. 2563 – 2565
12. เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลก
13. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 - 2565) และแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
14. เรื่อง วันป่าชายเลนแห่งชาติ
15. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid -19) ระยะการระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2)
16. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
17. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในการดำเนินโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (Covid-19)
18. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาการเมืองในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 64
19. เรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoringภายใต้ Country Programme ระหว่างไทยกับ OECD
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deed of Grant) เรือลาดตระเวนฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมา
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
24. เรื่อง การเปลี่ยนแปลงโฆษกหน่วยงาน (สคก.)
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง(กระทรวงพลังงาน)
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
1. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2561 เรื่อง กลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสามคน ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากภาคเอกชนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
2. กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
3. กำหนดให้การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม โดยการลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียง ชี้ขาด
4. กำหนดให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับประธานกรรมการปฏิรูปและกรรมการปฏิรูปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และผู้ช่วยเลขานุการได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กค. เสนอว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (วันที่ 22 ตุลาคม 2562 และ 12 พฤศจิกายน 2562) ให้ กค. เร่งรัดการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 นั้น เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องจากการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562
2. ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยการจ่ายเงินสนับสนุนและเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งได้ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐจึงสมควรกำหนดให้เงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับ อันเนื่องจากการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและ รับบริการตามมาตรการดังกล่าวข้อ 1. เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
3.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ กค. รายงานว่า เงินชดเชยเพิ่มเติมที่ได้รับจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ที่ขยายออกไป และเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับจากมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ จึงไม่สูญเสียรายได้ภาษี แต่อย่างไรก็ดี หากมิได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากมาตรการดังกล่าว จะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินสนับสนุนและเงินชดเชยได้ประมาณ 7,600 ล้านบาท
3.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ภาษีอากร
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562) มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้เงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยการเริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการแบ่งระดับ การกำหนดคุณวุฒิ และการอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการแบ่งระดับ การกำหนดคุณวุฒิ และการอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี
2. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี มี 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยแต่ละระดับ มี 3 ประเภท คือ วัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี และวัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี
3. กำหนดให้การออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาต ซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดแล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นผู้มีหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
3.1 ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจากหน่วยงานที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3.2 ผ่านการเทียบหลักสูตรการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการเทียบหลักสูตรที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3.3 ผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอต่ออายุใบอนุญาตขอรับใบแทนใบอนุญาตขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาต
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้มีองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Zoological Park Organization of Thailand” เรียกโดยย่อว่า “ZPOT” และจะให้มีตราเครื่องหมายขององค์การตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ และให้มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดอื่นและจะตั้งสำนักงานสาขาขึ้น ณ ที่ใดภายในราชอาณาจักรก็ได้
2. กำหนดให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการสวนสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดำเนินการรวบรวมหรือส่งเสริมการรวบรวมสัตว์นานาชนิดไว้ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ การศึกษา การวิจัย การให้บริการแก่ประชาชน และการแลกเปลี่ยนหรือเผยแพร่การเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมและจัดให้มีการดำเนินการบำรุงและเพาะพันธุ์สัตว์นานาชนิดเพื่อรักษาและอนุรักษ์ไว้มิให้สูญพันธุ์ ดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่เลี้ยงสัตว์ขององค์การ มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ และสามารถกู้ยืมเงิน ซึ่งถ้าเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
3. กำหนดให้ทุนขององค์การประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 40 เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ในส่วนของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 เมื่อได้หักหนี้สินแล้ว เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุน และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ รวมทั้งเงินที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 6 คน แต่ไม่เกิน 9 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
5. กำหนดให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด สำหรับประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้าง อาจได้รับเงินบำเหน็จ หรือเงินรางวัลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
6. กำหนดบทเฉพาะกาล
6.1 กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน งบประมาณ และรายได้ขององค์การสวนสัตว์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 ไปเป็นขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกานี้
6.2 กำหนดให้คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกานี้ และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกานี้
6.3 กำหนดให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์การสวนสัตว์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิม สำหรับผู้อำนวยการขององค์การสวนสัตว์ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการจัดทำ ปัก ติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร หรือสัญญาณจราจร สำหรับการจราจรบนทางหลวง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการจัดทำ ปัก ติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร หรือสัญญาณจราจร สำหรับการจราจรบนทางหลวง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดคำนิยามและแก้ไขรูปแบบ ความหมาย ลักษณะและตัวอย่างของเครื่องหมายจราจร อุปกรณ์จราจร สัญญาณจราจร
ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่อง มาตรฐานเครื่องหมายจราจร
ข้อกำหนดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร
และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ดังนี้
1. กำหนดความหมาย ตัวอย่าง และแบ่งเครื่องหมายจราจร เป็นป้ายจราจร และเครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง
2. กำหนดความหมาย ลักษณะ ตัวอย่าง และแบ่งป้ายจราจร เป็นป้ายบังคับ ป้ายเตือน ป้ายแนะนำ
3. กำหนดความหมาย ลักษณะ ตัวอย่าง และแบ่งเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางเป็นเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทบังคับ เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทเตือน
4. กำหนดความหมาย และตัวอย่างของอุปกรณ์จราจร
5. กำหนดความหมายของสัญญาณจราจร ซึ่งประกอบด้วยสัญญาณไฟและสัญญาณธง
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน – ฟอร์แมลดีไฮด์ ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ และเมลามีน – ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ สำหรับอาหาร :
เฉพาะด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน – ฟอร์แมลดีไฮด์ ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ และเมลามีน – ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ สำหรับอาหาร : เฉพาะด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน – ฟอร์แมลดีไฮด์ ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ และเมลามีน – ยูเรีย – ฟอร์แมลดีไฮด์ สำหรับอาหาร : เฉพาะด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะบรรจุอาหารทุกชนิดที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารปนเปื้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ กค. จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จ พัฒนาการทางการแพทย์ และผลการดำเนินงานของ สธ. ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่ง กค. ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามแบบที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว
2. จึงเห็นควรจัดทำเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ออกใช้เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี การสาธารณสุขไทยในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ ของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี การสาธารณสุขไทย
9. เรื่อง การพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในอัตราไม่เกิน 11,292 อัตรา โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง และผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้
1. ให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระดับดีเด่นไม่เกินร้อยละ 2.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง จำนวน 330,241 อัตรา คิดเป็นอัตราไม่เกิน 8,256 อัตรา
2. ให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระดับดีเด่นไม่เกินร้อยละ 1.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 202,414 อัตรา คิดเป็นอัตราไม่เกิน 3,036 อัตรา
3. สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการเป็นลำดับต่อไป
10. เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมติคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คณะทำงานสรรหาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
สำหรับการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นั้น เห็นควรให้กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) พิจารณาดำเนินการภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... แล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
ข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นการ
ขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามมติคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สรุปได้ ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
1. รูปแบบโครงการ |
- เป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 1,067 – 2 – 27.7 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี โดยกิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมมูลค่าโครงการ ประมาณ 830 ล้านบาท
- แบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
(1) พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ขนาดพื้นที่รวม 610 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ประเภทกิจการ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาหาร และเกษตรแปรรูป โลจิสติกส์และคลังสินค้า
(2) พื้นที่ส่วนกลาง (Amenity Core Zone) ขนาดพื้นที่รวม 87 ไร่ คิดเป็น
ร้อยละ 8 เช่น สำนักงานผู้ลงทุนและบริษัทต่าง ๆ หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้าชายแดน ศูนย์การประชุม
(3) พื้นที่สีเขียว (Green Space) ขนาดพื้นที่รวม 370 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35 เช่น พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ (Training Center) สวนสาธารณะ โครงข่ายถนน |
2. การพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุน |
มีคุณสมบัติถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น (1) จะต้องเป็นผู้ไม่เคยทิ้งงานก่อสร้างของทางราชการตามหนังสือแจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลางมาก่อน (2) ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีสถานะการเงินที่มั่นคงและมีความสามารถที่จะดำเนินโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ |
3. คะแนนข้อเสนอโครงการลงทุน |
- ได้คะแนนข้อเสนอโครงการลงทุน ส่วนที่ 1 Land Use & Masterplaning 55.25 คะแนน (จาก 60 คะแนน) ส่วนที่ 2 Business Model/ Milestone/Feasibility 14 คะแนน (จาก 20 คะแนน) และส่วนที่ 3 ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า 20 คะแนน (จาก 20 คะแนน) รวมทั้งสิ้น 89.25 คะแนน (จาก 100 คะแนน)
- ได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทน (ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า) ให้แก่ทางราชการจำนวน 321 ล้านบาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด 54,107,687 บาท (ขั้นต่ำกำหนด 266,892,313 บาท/50 ปี หรือ 250,000 บาท/ไร่/50ปี) รวมทั้งชำระค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 36,000 บาท/ไร่/ปี และปรับปรุงอัตราค่าเช่า ร้อยละ 15 ทุก 5 ปี |
11. เรื่อง ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 -2565
2. รับทราบกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินการตามร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2563 รวมทั้งสิ้น 11,078,946,553 บาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
กรอบวงเงินงบประมาณ (บาท) |
2563 |
4,054,418,853 |
2564 |
3,640,079,900 |
2565 |
3,384,447,800 |
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ.รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 สธ. ได้ดำเนินการทบทวนสถานการณ์ด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ การประเมินความเสี่ยงภูมิคุ้มกันหรือความเข้มแข็งด้านวัคซีนของประเทศ รวมทั้งทบทวนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และ
ได้นำเสนอคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ (1) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 - 2565 และกรอบงบประมาณ จำนวน 11,078,946,553 บาทและ (2) มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติดำเนินการเสนอร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 และกรอบงบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 10 (1) และ 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
2. สธ. แจ้งว่า นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 เป็นแผนที่นำไปสู่การพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในการจัดการวัคซีนให้มีความเพียงพอและต่อเนื่อง การวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนเพื่อต่อยอดสู่การผลิต การส่งออก และการบริหารจัดการทรัพยากรด้านวัคซีนของประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นที่ 4 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต แผนย่อยอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อีกทั้งยังมีแนวคิดที่สอดรับกับนโยบายและแผนพัฒนาของชาติ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 แผนยุทธศาสตร์ สธ. 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12
3. ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วิสัยทัศน์ |
ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน ประชาชนทุกคนในประเทศเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม |
วัตถุประสงค์ |
- เพื่อพัฒนาระบบการจัดหาที่สมดุลกับความต้องการและสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ และพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกพื้นที่เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และทันการณ์
- เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และบูรณาการการวิจัยพัฒนา การผลิตวัคซีน การประกันคุณภาพและการนำไปใช้ให้เป็นทิศทางเดียวกัน และมีขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนที่สามารถรองรับความต้องการได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- เพื่อผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวัคซีนอย่างครบวงจรเพื่อรองรับความต้องการอย่างเพียงพอ พัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนของประเทศให้มีครบถ้วนและได้มาตรฐานสากล
- เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มีศักยภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศได้อย่างเข้มแข็ง มีเอกภาพในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ |
นโยบาย |
- รัฐบาลจะส่งเสริมให้คนไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
- รัฐบาลจะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนที่จำเป็นสำหรับใช้ป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าและการส่งออกในระยะต่อไป
- รัฐบาลจะส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนของประเทศเพื่อรองรับความต้องการอย่างเพียงพอ และได้มาตรฐานสากล
- รัฐบาลจะส่งเสริมให้องค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนมีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถดำเนินการด้านวัคซีนได้อย่างครบวงจรและมีคุณภาพ |
ยุทธศาสตร์ |
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและทันต่อสถานการณ์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน มุ่งพัฒนากลไกและระบบงบประมาณในการนำวัคซีนใหม่เข้ามาใช้เป็นวัคซีนพื้นฐาน รวมทั้งมุ่งส่งเสริมการพัฒนารูปแบบและมาตรฐานของการให้บริการวัคซีน
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา และการผลิตวัคซีนรองรับความต้องการในการป้องกันโรคของประเทศ โดยมุ่งสร้างศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ส่งเสริมและสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป้าหมายและวัคซีนเพื่อตอบโต้การระบาด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตวัคซีน
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและส่งออกได้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ โดยการแสวงหาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้สามารถผลิตวัคซีนที่จำเป็นได้อย่างเพียงพอและได้มาตรฐานสากลเพื่อสามารถส่งออกจำหน่ายในภูมิภาคและนานาชาติได้อย่างเข้มแข็งและเติบโต
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนของประเทศให้รองรับภารกิจความมั่นคงด้านวัคซีนได้อย่างเหมาะสม ให้ความสำคัญกับการผลิต การพัฒนา และการรักษาบุคลากรในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนให้เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานสากลและการพัฒนาองค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนให้มีศักยภาพสูงและเป็นเอกภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
จำนวนโครงการ |
67 โครงการ |
กรอบวงเงินงบประมาณ |
11,078,946,553 บาท
|
การประเมินผล |
แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1) ประเมินผลก่อนการปฏิบัติการหรือก่อนเริ่มโครงการ โดยให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนประเมินตนเองเพื่อประเมินสถานการณ์และศักยภาพความพร้อมของหน่วยงาน (ระยะเวลา 1 ปี พ.ศ. 2563)
2) ประเมินผลระหว่างดำเนินการ โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน เพื่อติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ (ระยะเวลา 2 ปี พ.ศ. 2563 – 2564)
3) ประเมินผลหลังสิ้นสุดแผน โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ปัญหาอุปสรรค และผลกระทบในภาพรวม พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานภายหลังจากสิ้นสุดแผนและจะรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกปี (ระยะเวลา 3 ปี พ.ศ. 2563 – 2565) |
12. เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มดำเนินการศึกษากำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเมืองเก่าพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้การกำหนดเขตพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน รวมทั้งวัดที่มีความสำคัญในพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก เนื่องจากเมืองเก่าพิษณุโลกจัดอยู่ในเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจน เช่น เป็นชุมชนโบราณที่มีความสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนานเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนล่างและมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดเมืองหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2. ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเลขานุการ] ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบ ดังนี้
2.1 ให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ตามขอบเขตพื้นที่ตามที่ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับจังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ 2546 และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป
2.2 ให้จังหวัดพิษณุโลก พิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไปและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ครอบคลุมอาณาบริเวณกำแพงเมือง คูเมืองพิษณุโลก พระราชวังจันทน์ วัด และโบราณสถานสำคัญ โดยมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ (Zoning) ดังต่อไปนี้
พื้นที่หลัก เนื้อที่รวมประมาณ 0.553 ตารางกิโลเมตร (345.30 ไร่)
พื้นที่ 1-1 คือพระราชวังจันทน์ และโบราณสถานสำคัญ เช่น สระสองห้อง วัดโพธิ์ทอง วัดพระศรีสุคต และวัดวิหารทอง รวมไปถึงพื้นที่อาคารศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน เนื้อที่ประมาณ 0.416 ตารางกิโลเมตร (259.86 ไร่)
พื้นที่ 1-2 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นบริเวณวัดและโบราณสถานสำคัญของเมือง ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ เนื้อที่ประมาณ 0.137 ตารางกิโลเมตร (85.44 ไร่)
พื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ พื้นที่บริเวณภายในขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลกทั้งหมดนอกเหนือจากพื้นที่หลัก มีเนื้อที่รวมประมาณ 2.277 ตารางกิโลเมตร (1,423.125 ไร่)
4. กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วยแนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับเขตพื้นที่สรุปได้ ดังนี้
4.1 แนวทางทั่วไป (สำหรับพื้นที่หลักและพื้นที่ต่อเนื่อง) ดังนี้
แนวทาง |
การดำเนินการ |
1. การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ |
การประชาสัมพันธ์โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การพบปะพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น และจัดกิจกรรมเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง |
2. การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน |
จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบการสร้างจิตสำนึกทางสังคมโดยการให้ความรู้ สร้างการรับรู้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว กลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ชุมชน และเป็นแบบแผนของทั้งเมือง |
3. การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น |
จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ ฟื้นฟูงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม |
4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต |
จัดให้มีบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และธุรกรรมบริการที่ครบสมบูรณ์ |
5. การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ |
คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบหรือระงับยับยั้งกิจกรรมการพัฒนาก่อสร้างที่จะเป็นผลกระทบต่อโบราณสถานและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อป้องกันกรณีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่บดบังโบราณสถาน |
6. การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม |
ส่งเสริมพัฒนาทางเดินเท้า การใช้จักรยาน และพาหนะทางเลือกในเขตเมืองเก่า เพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงและสร้างมลภาวะ |
7. การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ |
ขยายบทบาทองค์กรปกครองท้องถิ่นในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมือง ในการดูแลมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของสิ่งก่อสร้างในย่านเมืองเก่า และส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาสภาพภายนอกของอาคารอย่างต่อเนื่อง |
4.2 แนวทางสำหรับเขตพื้นที่ ดังนี้
4.2.1 พื้นที่หลัก
แนวทาง |
การดำเนินการ |
1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน |
1.1 ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนที่ไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน
1.2 ที่ดินของรัฐและเอกชนควรให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น |
2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม |
รักษาสภาพแวดล้อมโดยกำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ แบบ รูปทรงของอาคารให้สอดคล้องและกลมกลืนหรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่ พิจารณาการใช้วัสดุและสีของอาคารเพื่อสร้างบรรยากาศการเข้ามาถึงบริเวณสำคัญของเขตพื้นที่เมืองเก่า |
3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง |
3.1 ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบาเพื่อลดมลภาวะ เช่น รถจักรยาน รถลากจูง
3.2 ลดปริมาณการจราจร ห้ามรถบรรทุกหนักและรถยนต์ขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่
3.3 จำกัดการก่อสร้างลานจอดรถขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นมลภาวะทางสายตาที่ขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมเมืองเก่า |
4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ |
4.1 สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างตำแหน่งองค์ประกอบเมือง โบราณสถานและพื้นที่เปิดโล่งในเมือง โดยจัดให้มีทางคนเดิน ทางจักรยาน หรือพาหนะขนาดเบา
4.2 จัดทางคนเดินที่ปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์สาธารณูปโภคอำนวยความสะดวก เช่น โคมไฟ ถังขยะ ป้ายบอกทาง |
5. ด้านการบริหารและการจัดการ |
5.1 ให้จังหวัดจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ
5.2 ให้จังหวัดออกประกาศ เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่า ที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในบริเวณเมืองเก่า เพื่อให้ส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าโดยผ่านสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
5.3 จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าและคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน
5.4 วางแนวนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองเก่า
5.5 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชน |
4.2.2 พื้นที่ต่อเนื่อง
แนวทาง |
การดำเนินงาน |
1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน |
1.1 ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน
1.2 ที่ดินของรัฐและเอกชนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรมการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น และต้องส่งเสริมพื้นที่หลัก |
2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม |
2.1 พิจารณาวางข้อกำหนดความสูงและแนวถอยร่นอาคาร รวมทั้งขนาดมวลอาคารเพื่อรักษาสัดส่วนที่เหมาะสมของขนาดอาคารที่ไม่ทำลายแหล่งศิลปกรรมในพื้นที่เมืองเก่า
2.2 พิจารณาการใช้วัสดุและสีของอาคารเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในเขตพื้นที่เมืองเก่า
2.3 พิจารณาการใช้ประโยชน์อาคารเก่าที่ยังคงสภาพหรือสามารถฟื้นฟูได้ในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้และการท่องเที่ยว |
3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง |
3.1 สร้างที่จอดรถในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นจุดเปลี่ยนระบบการสัญจรเข้าถึงพื้นที่หลักและส่วนอื่น ๆ ของเมือง เพื่อลดจำนวนรถยนต์ที่จะเข้าไปสร้างความคับคั่งของการจราจร รวมทั้งผลกระทบด้านมุมมองและการเกิดมลภาวะในพื้นที่เมืองเก่า
3.2 ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบา เช่น รถจักรยาน และรถลากจูง เป็นต้น |
4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ |
4.1 เส้นทางหลักเข้าสู่เมืองเก่า ควรสร้างเอกลักษณ์และจุดหมายตาที่ระบุการมาถึงย่านเมืองเก่า รวมถึงการเปิดมุมมอง (Vista) ตามแนวเส้นทางสัญจรเข้าสู่บริเวณเมืองเก่า
4.2 ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ตามแนวเส้นทางเข้าสู่เมือง พัฒนาภูมิทัศน์ สร้างร่มเงาตามแนวถนน ทางเท้า สร้างจุดหมายตา โดยเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองเก่า หรือที่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก คือ ต้นปีบ
4.3 ป้ายโฆษณาและป้ายกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่เหมาะสมเป็นปัญหาต่อทัศนียภาพ ควรจำกัดขนาดและรูปลักษณ์ของป้ายประเภทต่าง ๆ ส่งเสริมการออกแบบป้ายที่ดีมีเอกลักษณ์ด้วยการประกาศเกียรติคุณ
4.4 เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวจราจรให้มีสีและสัมผัสที่แตกต่างจากถนนทั่วไปเพื่อให้รู้สึกถึงการมาถึงเมืองเก่า
4.5 จัดให้มีอุปกรณ์สาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกและที่มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับความเป็นเมืองเก่า |
13. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 - 2565) และแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2565) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
2. รับทราบผลการดำเนินงาน การจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
3. เห็นชอบแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่าย 948.42 ล้านบาท และประมาณการรายได้ 948.75 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้ (1) รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2565) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) (2) รับทราบผลการดำเนินงาน การจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ (3) เห็นชอบแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่าย 948.42 ล้านบาท และประมาณการรายได้ 948.75 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามความนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
2. แผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2565) มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์และแผนที่สำคัญต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการใช้พลังงานรูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มีสัดส่วนมากขึ้นรวมทั้งพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาให้ความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว และกระทรวงพลังงานได้ปรับแก้ไขตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว
14. เรื่อง วันป่าชายเลนแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการบุกรุก ทำลาย และเปลี่ยนสภาพไปเป็นแหล่งทำนากุ้ง นาเกลือ แหล่งชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จากเมื่อปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีป่าชายเลนประมาณ 2,200,000 ไร่ แต่ในปี พ.ศ. 2534 ป่าชายเลนคงเหลืออยู่ประมาณ 1,090,000 ไร่ และถูกเปลี่ยนสภาพไปถึง 1,110,000 ไร่ ซึ่งการลดลงของป่าชายเลนส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงให้ความสำคัญต่อป่าชายเลนส่งผลให้รัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้ร่วมกันปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2557 มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,534,584 ไร่ (เพิ่มขึ้น 444,584 ไร่ จากปี พ.ศ. 2534)
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3. การประกาศให้มีวันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึก และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการปกป้อง ดูแลรักษา ปลูกฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์ตลอดไป โดย ทส. จึงได้พิจารณาวันที่เหมาะสมในการประกาศให้วันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี สื่บเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรกและส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง
4. แนวทางการดำเนินงาน จัดกิจกรรมนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลนในวันป่าชายเลนแห่งชาติในทุก ๆ ปี
15. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid -19) ระยะการระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
1. รับทราบโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2. อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1,233,272,900 บาท
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดได้สร้างความกังวลไปทั่วโลกหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวนทั้งสิ้น 80,294 ราย มีอาการรุนแรง 9,215 ราย เสียชีวิต 2,707 ราย ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 37 ราย หายป่วยและแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล จำนวน 24 ราย และมีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยาม (PUI) จำนวน 1,798 ราย โดยประเทศไทยได้ยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทางให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการทรัพยากร เสริมสร้าง ความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งการคัดกรองอุณหภูมิของร่างกาย ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเชียงราย เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน สนับสนุน การเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ ครอบคลุมระบบบริการสาธารณสุข และชุมชนแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวง อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานความมั่นคง โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการ และประสบการณ์ของประเทศไทยในการเฝ้าระวังให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐานระดับสูงสุดในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่
เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 ของประเทศไทย คณะกรรมการโรคติดต่อ มีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 รวมทั้งมติ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบมาตรการลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีแนวโน้มของการระบาดในวงกว้างและชะลอการระบาดภายในประเทศ ตามแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากแนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 ในประเทศไทย ประเทศจีนและทั่วโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยตามหลักการทางระบาดวิทยา คาดว่าจะพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยยืนยัน อาการไม่รุนแรงและรุนแรง ในระยะระบาดของโรคในวงจำกัด ซึ่งจะพบผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางจากประเทศในกลุ่มเสี่ยงและพบผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเป็นวงจำกัด ในเวลา 3 เดือน จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จำนวน 1,500 รายต่อเดือน รวมผู้ป่วย PUI ทั้งสิ้น 4,500 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน อาการไม่รุนแรง จำนวน 225 ราย อาการรุนแรง 45 ราย และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) และวินิจฉัยสุดท้ายเป็นโรคอื่น จำนวน 4,230 ราย
เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรค ให้อยู่ในวงจำกัด ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศ ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการป้องกันและการแพร่กระจายเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
โครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
หลักการและเหตุผล :
สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดได้สร้างความกังวลไปทั่วโลกหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวนทั้งสิ้น 80,294 ราย มีอาการรุนแรง 9,215 ราย เสียชีวิต 2,707 ราย ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 37 ราย หายป่วยและแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล จำนวน 24 ราย และมีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยาม (PUI) จำนวน 1,798 ราย โดยประเทศไทยได้ยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทางให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการทรัพยากร เสริมสร้าง ความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งการคัดกรองไข้ ณ ช่องทางเข้าออกประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเชียงราย เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน สนับสนุน การเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ ครอบคลุมระบบบริการสาธารณสุข และชุมชน
แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวง อาทิ กระทรวงคมนาคม
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานความมั่นคง โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรการ และประสบการณ์ของประเทศไทยในการเฝ้าระวังให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐานระดับสูงสุดในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ นั้น
เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต
จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย คณะกรรมการโรคติดต่อ มีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 รวมทั้งมติ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบมาตรการลดโอกาสการแพร่เชื้อโคโรนา 2019 ซึ่งมีแนวโน้มของการระบาดในวงกว้างและชะลอการระบาดภายในประเทศตามแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากแนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ประเทศจีน
และทั่วโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยตามหลักการทางระบาดวิทยาคาดว่าจะพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยยืนยัน อาการไม่รุนแรงและรุนแรง ในระยะระบาด
ของโรคในวงจำกัด ซึ่งจะพบผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางจากประเทศในกลุ่มเสี่ยงและพบผู้ป่วยในประเทศไทย
ที่มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเป็นวงจำกัด ในเวลา 3 เดือน จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จำนวน 1,500 รายต่อเดือน รวมผู้ป่วย PUI ทั้งสิ้น 4,500 ราย
โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน อาการไม่รุนแรง จำนวน 225 ราย อาการรุนแรง 45 ราย และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) และวินิจฉัยสุดท้ายเป็นโรคอื่น จำนวน 4,230 ราย
เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรค ให้อยู่ในวงจำกัด ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศ ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
วัตถุประสงค์ :
1. เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้อยู่ในวงจำกัด ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ
3. เพื่อยกระดับสมรรถนะการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ระยะเวลาการดำเนินการ : 3 เดือน (เดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2563)
กิจกรรมการดำเนินงาน :
(ตารางกิจกรรมสามารถดาวน์โหลดได้ที่เอกสารแนบ)
งบประมาณ :
จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น โครงการความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 1,233,272,900 บาท
กลุ่มเป้าหมาย :
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
3. ผู้เดินทางระหว่างประเทศ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ทุกคนในประเทศไทย ลดป่วย ลดตายและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. ประเทศไทย สามารถควบคุม การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้อยู่ในวงจำกัด ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ
3. ประเทศไทย มีระบบการป้องกัน ควบคุมโรค ที่มีสมรรถนะการป้องกัน ควบคุมโรคที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
หมายเหตุ : คำนิยาม PUI (Patient Under Investigation) หมายถึง ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค
16. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอดังนี้
1. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณ ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 1,470 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพันรวมทั้งสิ้น 307,602.2 ล้านบาท สำหรับรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 43 รายการ วงเงิน 111,225.0 ล้านบาท เมื่อทราบผลประกวดราคาแล้ว เห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณ นำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป
2. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร) สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตามที่เสนอได้
3. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่จะต้องจ่ายในรูปของเงินตราต่างประเทศ เช่น รายการค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าเช่าทรัพย์สินต่างประเทศ ฯลฯ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติวงเงินผูกพันที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้รับอนุมัติเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณสามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
4. ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 เรื่อง มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
17. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในการดำเนินโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (Covid-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
1. รับทราบการจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง
2. อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงินงบประมาณ 225,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,774 แห่ง (เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล)
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. เสนอว่า
เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มิให้เกิดการแพร่กระจายหรือขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น และมิให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ระบบการสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การป้องกันตนเองมิให้สัมผัสกับโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในปัจจุบันพบว่า หน้ากากอนามัยทั้งในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดหาหรือจัดซื้อยากขึ้นและมีราคาแพง ในการนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการจัดอบรมให้ความรู้ในการจัดทำหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนในการนำไปใช้ป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสามารถขยายผลนำไปประกอบเป็นอาชีพและสร้างรายได้ในการดำเนินชีวิต
มท. โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข จึงได้บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันตนเอง โดยมีกรอบการดำเนินการดังนี้
(1) การสร้างทีมวิทยากร หรือทีมครู ก. ในพื้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่วิธีการจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข โดยให้มีผู้เข้ารับการอบรมจากบุคลากรในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน (กำนันและผู้ใหญ่บ้าน) ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)) กลุ่มสตรี จิตอาสา และประชาชนที่สนใจ เพื่อให้เป็นทีมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และทักษะการจัดทำหน้ากากอนามัย สำหรับป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
(2) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดอบรม เพื่อสร้างทีมวิทยากร หรือทีม ครู ก. ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้เข้ารับการอบรมตาม (1) โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 กรณีจัดอบรมบุคคลภายนอก
2. จัดทำ “โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19)” เพื่อขยายผลการดำเนินโครงการตามข้อ 1 โดยมีกรอบการดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการความร่วมมือประสานทีมวิทยากร หรือ ทีมครู ก. ผู้นำหมู่บ้าน (กำนันและผู้ใหญ่บ้าน) และผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)) กลุ่มสตรี จิตอาสา และประชาชนที่สนใจ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหน้ากากอนามัย สำหรับป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
(2) การจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อประชาชน โดยการขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,774 แห่ง (เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล) ภายในวงเงินงบประมาณ 225,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัย จำนวน 50,000,000 ชิ้น ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
สำหรับโครงการตามข้อ 1 และ 2 กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการดังกล่าวให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
18. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาการเมืองในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 64
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาการเมืองในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 64 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมรับรองร่างปฏิญญาการเมืองฯ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาเมืองฯ ซึ่งจะมีการรับรองในพิธีเปิดการประชุมฯ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 7 – 17 มีนาคม 2563 และร่วมรับรองร่างปฏิญญาการเมืองดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและประเมินผลความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อการอนุวัติปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และมุ่งให้บรรลุผลสำเร็จ คือ การทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใน ค.ศ. 2030 ดังนั้น การรับรองร่างปฏิญญาการเมืองฯ จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีตามพันธกรณีของปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ตลอดจนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยด้านการขับเคลื่อนวาระความเท่าเทียมระหว่างเพศในเวทีระดับโลก
19. เรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring ภายใต้ Country Programme ระหว่างไทยกับ OECD
คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้โครงการ Country Programme (CP)
2. เห็นชอบมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักของทั้ง 16 โครงการในการเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกำหนดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยของเลขาธิการ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Modernising Education and Skills Development ที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการอาชีวศึกษาของไทย
3. เห็นชอบในหลักการการจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 และการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee) สำหรับการติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP
4. เห็นชอบให้ สศช. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการจัดกิจกรรม Thailand Country Programme Launching Event ในช่วงที่เลขาธิการ OECD เดินทางมาเยือนไทย
สาระสำคัญของเรื่อง
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development :OECD) เป็นองค์การความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อปี 2556 OECD ได้เลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (อีก 3 ประเทศ คือ โมร็อกโก เปรู และคาซัคสถาน) ที่ประสงค์จะพัฒนาความร่วมมือผ่านโครงการ Country Programme (CP) โดยไทยได้ร่วมลงนามใน MOU เพื่อจะจัดทำโครงการ CP เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทยอย่างบูรณาการ ทำให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวนโยบายภาครัฐของไทยที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาขีดความสามารถ และปฏิรูปกฎระเบียบภายในให้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการ CP มีระยะเวลาดำเนินการ 2 – 3 ปี มีแนวทางความร่วมมือ 5 รูปแบบ 4 เสาหลัก และ 16 โครงการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)
ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ภายใต้ 4 เสาหลัก ได้แก่
เสาหลักที่ 1: ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance and Transparency)
1. โครงการ Improving Integrity and Governance in the Public Sector Designing Effective Anti – Corruption Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
2. โครงการ Supporting Open and Connected Governance and Stakeholder Engagement รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
3. โครงการ Advancing Budget Reform รับผิดชอบโดย สำนักงบประมาณ (สงป.)
เสาหลักที่ 2: สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate and Competitiveness)
4. โครงการ Improving the Business Climate through and OECD Investment Policy Reviews (IPR) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
5. โครงการ Implementing Regulatory Reform and Mainstreaming Good Regulatory Practice (GRP) รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)
6. โครงการ Developing Competition Policy รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)
7. โครงการ Fostering Responsible Business Conduct (RBC) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
8. โครงการ Supporting SMEs Policy: Strengthening Regional Innovation Clusters รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
9. โครงการ Supporting SMEs Policy: the ASEAN SME Policy Index รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เสาหลักที่ 3: ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
10. โครงการ Enhancing Science, Technology and Innovation Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
11. โครงการ Developing Teaching and Learning รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
12. โครงการ Supporting and Digital Economy รับผิดชอบโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
13. โครงการ Modernising Education and Skills Development รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.)
เสาหลักที่ 4: การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)
14. โครงการจัดทำรายงานประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติ (Multi-Dimensional Country Review: Thailand’s MDCR) รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
15. โครงการจัดทำรายงาน Thailand’s Economic Assessment 2019 รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
16. โครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการ CP ในระยะต่อไป ได้แก่
1. การจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้มีการจัดทำโครงการ โครงการ CP ระยะที่ 2 โดยอาจให้ความสำคัญกับสาขาความร่วมมือที่เป็นประเด็นปฏิรูปที่สำคัญและ/หรือยังไม่ถูกกล่าวถึงในโครงการ CP ระยะแรก และประเด็นที่จะมีผลต่อการพิจารณารับไทยเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ถึงแม้ว่าไทยอาจจะยังไม่ตัดสินใจในการเข้าเป็นสมาชิก OECD แต่ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎระเบียบ ให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น
2. การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee) สำหรับติดตามการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP โดยมีองค์ประกอบ คือ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทน กระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานรับผิดชอบของแต่ละโครงการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการ โดยมี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อให้ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงในประเด็นด้านสารัตถะมากยิ่งขึ้น
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deed of Grant) เรือลาดตระเวนฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกเลิกร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์เรือลาดตระเวน ฉบับเดิม ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการเพื่อการควบคุมยาเสพติด (Central Committee for Drug Abuse Control: CCDAC) และเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deed of Grant) เรือลาดตระเวน ฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมา (Drug Enforcement Division of Myanmar Police Force: DED) ซึ่งจะเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวนแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 1 ลำ จากฝ่ายไทย โดยมอบหมายให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในหนังสือตราสาร ฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ DED พร้อมอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. สามารถดำเนินการแก้ไขร่างหนังสือตราสารฯ ฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ DED ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทยได้ก่อนการลงนาม (หากมีความจำเป็น ให้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สำนักงาน ป.ป.ส. ขอยกเลิกร่างหนังสือตราสารฯ ฉบับเดิม ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ CCDAC
2. สาระสำคัญของร่างหนังสือตราสารฯ ฉบับใหม่ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ DED
2.1 เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย และผู้บัญชาการ DED เป็นผู้แทนรัฐบาลเมียนมา ลงนามในร่างหนังสือตราสารฯ ฉบับใหม่
2.2 เรือลาดตระเวนแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 1 ลำ จะถูกโอนและส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่ DED ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบเรือเสร็จสิ้นแล้ว DED จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสำนักงาน ป.ป.ส.
2.3 DED จะรับผิดชอบภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์และการจดทะเบียนทั้งหมดตามกฎเกณฑ์ของสาธารรัฐแห่งสหภาพเรียนมา (หากมี) และจะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ประชาสัมพันธ์เรื่องการสนับสนุนเรือลาดตระเวนดังกล่าว
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้ง
นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนบน) (นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช (นักวิชาการเกษตรทรงคุณวุฒิ) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นางประพิศ เทพอารักษ์กุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นายชูเกียรติ เกียรติขจรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
24. เรื่อง การเปลี่ยนแปลงโฆษกหน่วยงาน (สคก.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มกราคม 2559) รับทราบการแต่งตั้งโฆษก สคก. ได้แก่ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายปกครอง รักษาการในตำแหน่งกรรมการร่างกฎหมายประจำ และนายยอดฉัตร ตสาริกา นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ
2. สคก. ได้เปลี่ยนแปลงโฆษกหน่วยงาน จากเดิม นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ และนายยอดฉัตร ตสาริกา เป็น
นายนพดล เภรีฤกษ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) เพื่อให้สอดคล้องกับการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อเท็จจริง
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
..............