http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(มาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0)
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งบริษัท การร่วมกิจการกับบุคคลอื่น และการถือหุ้นในกิจการตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์
พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ตอนบางปะอิน – นครราชสีมา พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….
(การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554)
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ)
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จำนวน 3 ฉบับ
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้
ในลักษณะที่คล้ายกัน เล่ม 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
11. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม
12. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
13. เรื่อง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
(Hague Conference on Private International Law)
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
15. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา
16. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
17. เรื่อง การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
18. เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
19. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
20. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในส่วนที่จ่ายไปเพื่อทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่สถานศึกษาของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้เป็นจำนวน 3 เท่าของที่จ่ายจริง ดังนี้
1.1 ให้หักรายจ่าย 1 เท่าแรกตามที่จ่ายจริง
1.2 ให้หักรายจ่ายเท่าที่ 2 เพิ่มขึ้นจากเท่าที่ 1 ตามจำนวนที่จ่ายจริง
1.3 ให้หักรายจ่ายเท่าที่ 3 เพิ่มเติมจากเท่าที่ 2 แต่เมื่อรวมกันต้องไม่เกินเพดาน ดังนี้
1.3.1 ร้อยละ 60 เฉพาะส่วนของรายได้ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
1.3.2 ร้อยละ 9 เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
1.3.3 ร้อยละ 6 เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกิน 200 ล้านบาท
1.4 การหักรายจ่ายตาม 1.1 – 1.3 รวมกันต้องไม่เกินกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่เกิน 100 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า
2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่สถานศึกษาของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ทั้งนี้ การกำหนดให้ยกเว้นภาษีตามข้อ 1. และข้อ 2. สำหรับการบริจาคทรัพย์สินระหว่างวันที่
1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
3. กำหนดให้ต้องไม่นำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีตาม 1. ไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
4. กำหนดให้ต้องไม่นำรายจ่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม 1. ไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
5. กำหนดให้ต้องไม่นำรายจ่ายไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งบริษัท การร่วมกิจการกับบุคคลอื่น และการถือหุ้นในกิจการตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งบริษัทหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับหรือเนื่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง
ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งบริษัทหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับหรือเนื่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับหรือเนื่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดังนี้
1.1 การร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับหรือเนื่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้ดำเนินการได้กรณีเกี่ยวกับการสร้างระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการของ ธอส. โดยให้ ธอส. ร่วมกิจการกับบุคคลผู้ดำเนินการหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ธอส. อาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติมในข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธอส. กำหนดด้วยก็ได้
1.2 การจัดตั้งบริษัทหรือการร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับหรือเนื่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยนอกจากกรณีที่กำหนดไว้ตามข้อ 1.1 ให้ ธอส. ยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรายกรณี
2.
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของ ธอส. ดังนี้
2.1 การจัดตั้งบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. หรือการรับประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ให้ ธอส. จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องมีวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธอส. กำหนด
2.2 การร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. หรือการรับประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธอส. กำหนด
2.3 ในกรณีที่การจัดตั้งบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานตามข้อ 2.1 หรือการร่วมกิจการกับบุคคลตามข้อ 2.2 ทำให้ ธอส. มีทุนรวมอยู่ในกิจการดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 25 ให้ ธอส. ยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรายกรณี
2.4 การประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้ ธอส. ดำเนินการได้โดยถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธอส. กำหนด และในกรณีที่การถือหุ้นทำให้ ธอส. มีทุนรวมอยู่ในกิจการดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 25 ให้ ธอส. ยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรายกรณี
2.5 การประกอบกิจการอื่นตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ให้ธนาคารกระทำได้เฉพาะกิจการอันจำเป็นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์ในกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ตอนบางปะอิน – นครราชสีมา พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ตอนบางปะอิน – นครราชสีมา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและเอกชนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ตอนบางปะอิน – นครราชสีมา เป็นทางหลวงที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวง โดยกำหนดค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง ตามประเภทของยานยนตร์
2. กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี
3. กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนดเป็นต้นไป
4. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. (การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างระเบียบฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ซึ่งการปรับปรุงระเบียบดังกล่าวจะมีผลทำให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งสามารถขอรับเงินอุดหนุนในการจัดทำบริการสาธารณะมีความชัดเจนขึ้น
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. ปรับปรุงและเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” “บริการสาธารณะ” “เงินอุดหนุน” “ผลขาดทุน” “ต้นทุนการจัดทำบริการสาธารณะ” เพื่อให้มีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ขอบเขตของการให้บริการสาธารณะที่เข้าข่ายการขอรับเงินอุดหนุนฯ รวมถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจด้วย
2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการให้เงินอุดหนุนฯ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส โดยให้มีการกำกับและการประเมินผลการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ ตลอดระยะเวลาของการให้เงินอุดหนุนฯ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบจากผลขาดทุนจากการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่รัฐวิสาหกิจ และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
3. กำหนดให้การให้เงินอุดหนุนฯ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐฯ และพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฯ อย่างเคร่งครัด
4. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ โดยเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการ และกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ เช่น กำหนดรายละเอียดของข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนฯ บันทึกข้อตกลงการจัดทำบริการสาธารณะ และรายงานผลการให้บริการสาธารณะ กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณและปันส่วนรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการสาธารณะและต้นทุนการจัดทำบริการสาธารณะ และหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีการให้บริการสาธารณะที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ เป็นการเฉพาะแยกจากการดำเนินงานปกติ และพิจารณาข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนฯ ข้อเสนอการขอปรับปรุงการจัดทำบริการสาธารณะ รายงานผลการให้บริการสาธารณะ และข้อเสนอการขอยุติการให้เงินอุดหนุนฯ
5. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จะขอรับเงินอุดหนุนฯ จัดทำข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนฯ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนฯ จะต้องระบุเหตุผลและความจำเป็น ขอบเขตและเป้าหมายของการจัดทำบริการสาธารณะ การกำหนดราคาหรือค่าธรรมเนียม ระยะเวลาและวงเงินอุดหนุนฯ ตลอดระยะเวลาการขอรับเงินอุดหนุนฯ เงื่อนไขการให้แรงจูงใจหรือผลตอบแทนเพิ่มเติม และอื่น ๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาความเหมาะสมในการให้เงินอุดหนุนฯ
6. กำหนดให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำบริการสาธารณะ โดยมีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด เป็นประธานกรรมการ และให้มีผู้แทนรัฐวิสาหกิจซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุด เป็นกรรมการและเลขานุการ และกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ เช่น พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างบันทึกข้อตกลงการจัดทำบริการสาธารณะ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการจัดทำบริการสาธารณะให้เป็นไปตามที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงการจัดทำบริการสาธารณะ
7. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงการจัดทำบริการสาธารณะและเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจลงนามต่อไป
8. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีความประสงค์จะปรับปรุงการจัดทำบริการสาธารณะต้องจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการจัดทำบริการสาธารณะ และเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กำหนดต่อไป
9. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจหรือกระทรวงเจ้าสังกัดที่เห็นควรยุติการขอรับเงินอุดหนุนฯ ต้องจัดทำข้อเสนอการขอยุติการขอรับเงินอุดหนุนฯ และเสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
10. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะภายใน 2 เดือนนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงการจัดทำบริการสาธารณะหรือตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด เพื่อให้กระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป และให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยสรุปผลการจัดทำบริการสาธารณะต่อสาธารณชนให้ทราบเป็นการทั่วไป
11. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้การดำเนินการให้เงินอุดหนุนฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ก่อนที่ร่างระเบียบฯ มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ แล้วดำเนินการตามร่างระเบียบฯ นี้
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดให้มี
การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการและมีการใช้บริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
มท. เสนอว่า เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งรูปแบบและวิธีการก่อสร้างอาคารในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวยังมีรายละเอียดบางประการที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันฝุ่นละออง ความปลอดภัยของนั่งร้าน ค้ำยัน ปั้นจั่นหอสูง (ทาวเวอร์เครน) และเดอร์ริกเครน ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อกำหนดรายละเอียดบางประการเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของนั่งร้าน ค้ำยัน ปั้นจั่นหอสูง (ทาวเวอร์เครน) และเดอร์ริกเครน (การใช้งานเพื่อรื้อถอนทาวเวอร์เครนลงจากตัวอาคาร) เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การสาธารณสุข และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ในระหว่างการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอกถึงที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น หรืออาคารซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดิน เจ้าของผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง เช่น ล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ปิดหรือคลุมกองวัสดุที่มีฝุ่นละออง การขนย้ายวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองต้องปิดให้มิดชิด การผสมคอนกรีตหรือการไสไม้ต้องทำในพื้นที่ปิดล้อม และทำความสะอาดล้อรถทุกชนิดก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง
2. กำหนดให้ในระหว่างก่อสร้างอาคารต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยัน ที่ใช้รับน้ำหนักส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่สร้างขึ้นเป็นประจำสำหรับการก่อสร้างอาคารที่สูงตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป หรือที่มีความสูงของนั่งร้านและค้ำยันตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรือที่ใช้สำหรับก่อสร้างอาคารประเภทที่ใช้พื้นไร้คาน โดยบันทึกผลการตรวจสอบเพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจตรวจดูได้และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผัง แบบแปลน การติดตั้งและรื้อถอน การตรวจสอบส่วนประกอบอุปกรณ์ ต้องเป็นไปตามคู่มือหรือตามข้อกำหนดของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
3. กำหนดให้นั่งร้านและค้ำยันที่สร้างด้วยโลหะ ฐานรองรับต้องรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่บรรทุกบนนั่งร้านและค้ำยันนั้น และไม่น้อยกว่าสี่เท่าสำหรับนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างด้วยไม้
4. กำหนดให้ในระหว่างก่อสร้างอาคารต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่น โดยเฉพาะปั้นจั่นหอสูงที่ใช้สอยเป็นประจำ โดยบันทึกผลการตรวจสอบเพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจตรวจดูได้และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผัง แบบแปลน การติดตั้งและรื้อถอน การตรวจสอบส่วนประกอบอุปกรณ์ ต้องเป็นไปตามคู่มือหรือตามข้อกำหนดของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
5. กำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างตามข้อ 4. มาใช้บังคับแก่การรื้อถอนอาคารโดยอนุโลม
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ยกเลิกความใน (ค) และ (ง) ของ (1) ของวรรคหนึ่ง ในข้อ 3 และความใน (ช) และ (ซ) ของ (2) ของวรรคหนึ่ง ในข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2554
2. กำหนดขนาด ลักษณะ การใช้ตัวอักษร และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ และของเจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าว
3. กำหนดให้บรรดาแผ่นป้ายทะเบียนรถที่นายทะเบียนออกให้ไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ต่อไปได้
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับขนาดความหนาแน่นในการจราจร รายได้ และขีดความสามารถในการใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายที่จะบังคับแก่เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดระเบียบการจอดรถของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนมาชุมนุมกัน เช่น ตลาด ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่ที่มีการประกอบการพาณิชย์หรือการค้าขายหรือการอุตสาหกรรม และมีความหนาแน่นในการจราจร จำเป็นต้องจัดให้มีที่จอดรถในทางหลวงหรือที่สาธารณะและจัดระเบียบการจอดรถ มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการจัดระเบียบการจอดรถ มีความพร้อมในการจัดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจอดรถในที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ ค่าเคลื่อนย้ายรถ และค่าดูแลรักษารถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. …. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและอัตราค่าใช้จ่าย ดังนี้
2.1 ค่าธรรมเนียมในการจอดรถ
ประเภท |
ชั่วโมงแรก/บาท |
ชั่วโมงต่อไป/บาท |
หมายเหตุ |
1. รถจักรยานยนต์
2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ
3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ
5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ
6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ
7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น |
5
10
20
30
40
50
50 |
10
20
30
40
60
80
80 |
เศษของชั่วโมงให้คิดเป็นหนึ่งชั่วโมง |
2.2 กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถได้ไม่เกินอัตราคันละ 500 บาท
2.3 อัตราค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายรถ
ประเภท |
คันละ/บาท |
หมายเหตุ |
1. รถจักรยานยนต์
2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ
3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ
5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ
6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ
7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น |
500
1,500
1,500
2,000
2,000
2,500
2,500 |
กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถแล้วได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในกรณีที่รถถูกใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถตามข้อ 2.2 อีก |
2.4 อัตราค่าดูแลรักษารถที่ถูกเคลื่อนย้าย
ประเภท |
คันละ/บาท |
หมายเหตุ |
1. รถจักรยานยนต์
2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ
3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ
5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ
6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ
7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น |
200
300
300
500
500
500
500 |
การนับเวลาให้ถือว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน เศษของวันให้นับเป็นหนึ่งวัน |
3.
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….
3.1 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเอง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินการ สิทธิและประโยชน์ของผู้บริการและผู้ให้บริการ
3.2 กำหนดให้การมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เอกชนเรียกเก็บไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
3.3 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำสัญญากับเอกชน ซึ่งมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนตามแบบสัญญาที่ มท. กำหนด โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่หากเป็นแก้ไขสัญญาในประเด็นสำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จำนวน 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จำนวน 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้
1.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 และ กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
1.2 กำหนดให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
1.3 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
1.4 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 และข้อ 1.3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง
1.5 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.4 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 และข้อ 1.4 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
1.6 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.5 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 ข้อ 1.4 และข้อ 1.5 แล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท เว้นแต่กรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน (เดิมมีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่นายจ้างต้องจ่าย กรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาไว้ไม่เกิน 2,000,000 บาท)
1.7 กำหนดให้การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 ข้อ 1.4 ข้อ 1.5 หรือข้อ 1.6 หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
2.
ร่างกฎกระทรวงค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้
2.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดการจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558
2.2 ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท
(2) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท
(3) ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการไม่เกิน 24,000 บาท
2.3 ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หากเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2.2 (2) ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา
2.4 ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพตามข้อ 2.2 (4) ให้จ่ายได้ตามหลักสูตรและอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
3.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. กำหนดจำนวนเงินค่าทำศพที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน โดยกำหนดอัตราค่าทำศพในอัตรา 40,000 บาท
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน เล่ม 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน เล่ม 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2425 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5315 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน เล่ม 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป (แก้ไขครั้งที่ 1) ลงวันที่ 23 เมษายน 2562 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5503 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5315 (พ.ศ. 2562) ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 เรื่อง แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน เล่ม 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป (แก้ไขครั้งที่ 1) ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562
11. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้วแต่กรณีเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม 372,515,700 บาท และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ และเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลและบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ และป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม โดยกำหนดกรอบรายละเอียดโครงการตามสถานการณ์ข้อเท็จจริง รวมทั้งบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
1. กำหนดแนวทางการติดตามกำกับดูแลสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ โดยใช้วิธีการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ และใช้เทคโนโลยีที่สามารถแสดงผลระดับน้ำมันปาล์มดิบในถังเก็บได้ตลอดเวลา มีความเที่ยงตรง ได้รับความเชื่อถือและเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับโดยระบบการตรวจสอบมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ระบบตรวจวัดปริมาณ ประกอบด้วย อุปกรณ์วัดระดับ ทำหน้าที่วัดค่าระดับและความหนาแน่นของของเหลวในถังจัดเก็บน้ำมันปาล์ม และอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ทำหน้าที่ตรวจสอบในแต่ละระดับความแตกต่างอุณหภูมิในถังจัดเก็บน้ำมันปาล์ม เพื่อใช้ประกอบการคำนวณปริมาตร
(2) ระบบประมวลผล-ส่งสัญญาณ ประกอบด้วย อุปกรณ์คำนวณการสื่อสารทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลระบบตรวจวัดปริมาณเพื่อประมวลผลเบื้องต้นและจัดส่งยังระบบฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อแสดงผลที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และแสดงระดับให้ทราบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เตือนภัย หรือวิกฤติ โดยจะต้องมีชุดส่งสัญญาณข้อมูลดิจิตอลผ่านระบบสื่อสารที่มีการป้องกันการตัดหรือแทรกแซงสัญญาณที่มีประสิทธิภาพ
(3) ระบบฐานข้อมูลและซอฟแวร์ประมวลผลกลาง ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลปริมาณจัดเก็บน้ำมันปาล์มแต่ละถัง โดยสามารถนำเสนอในรูปแบบรายงานที่กำหนด และสามารถควบคุมสั่งการเพื่อให้ระบบตรวจวัดทำการตรวจวัดปริมาณได้ตลอดเวลาจากส่วนกลาง รองรับปริมาณน้ำมันปาล์มในถังเก็บได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน พร้อมทั้ง รับประกันประสิทธิภาพการทำงานและความถูกต้องของระบบด้วย
2. คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ ฉบับที่ 105 พ.ศ. 2562 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มในถังเก็บ ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้ครอบครองถังเก็บน้ำมันปาล์มไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม และมีการเก็บน้ำมันปาล์มเป็นปกติ ต้องดำเนินการหรือร่วมกับกรมการค้าภายในดำเนินการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มในถังเก็บ ซึ่งสามารถวัดได้ตลอดเวลา มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน ระยะเวลา วิธีการ และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่เลขาธิการกำหนด ซึ่งข้อมูลการสำรวจปริมาณถังจัดเก็บน้ำมันปาล์มดิบของผู้ประกอบการดังกล่าว ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2562 พบว่า มีจำนวนถังรวมไม่น้อยกว่า 455 ถัง
3. ข้อมูลความเคลื่อนไหวของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่เป็นปัจจุบัน และเที่ยงตรงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถกำกับดูแล และบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ รวมทั้งสามารถใช้เพื่อตรวจสอบย้อนกลับถึงความสอดคล้องกับปริมาณผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้อีกทางหนึ่ง และหากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความผิดปกติก็สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดจากการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีของการลักลอบนำเข้าหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมจากการถ่ายลำผ่านแดน ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
4. กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเสนอขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม จำนวน 483,930,000 บาท โดยสำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ จำนวน 368,547,300 บาท และงบดำเนินงาน จำนวน 3,968,400 บาท
12. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,056,516,400 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาศักยภาพตามช่วงวัย รายการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดโดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่จะได้รับเงินต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติเงินจัดสรร และได้นำไปใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันแล้ว ให้จัดทำบันทึกการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายไว้สำหรับนำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
13. เรื่อง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law : HCCH) เพื่อกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ที่ประชุม HCCH ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1893 ประกอบด้วยสมาชิก 83 ราย คือ 82 ประเทศ จากทุกทวีปทั่วโลก และสหภาพยุโรป โดยประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเข้าเป็นสมาชิก HCCH แล้ว มี 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ HCCH ได้รับสถานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization) เมื่อปี ค.ศ. 1955 อีกทั้งมีความหลากหลายในมิติด้านกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและจัดทำเครื่องมือทางกฎหมายนานาชาติซึ่งตอบสนองกับความต้องการของโลก
พันธกิจหลักของ HCCH คือการพัฒนาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล โดยการหารือความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ เช่น เขตอำนาจของศาล กฎหมายที่บังคับใช้ในขอบเขตกฎหมายเอกชนหลายหัวข้อ เช่น กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายธนาคาร รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา เช่น กฎหมายบุคคลและครอบครัว โดย HCCH เป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศในด้านกฎหมายเอกชนซึ่งมีความมุ่งหวังสูงสุดเพื่อเพิ่มความรัดกุมทางกฎหมายสำหรับทุกนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และจัดประชุมใหญ่ทุก 4 ปี เพื่อเจรจาและจัดทำสัญญา รวมถึงกำหนดกรอบงานในอนาคต โดยอนุสัญญาต่าง ๆ จัดทำขึ้นจากคณะทำงานซึ่งประชุมกันหลายครั้งในหนึ่งปี
ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก HCCH แต่ได้มีการทำความตกลงกับบางอนุสัญญาของ HCCH ได้แก่ อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาตัวเด็กข้ามชาติ (Hague Convention on the Civil Aspects of International Child Abduction) ซึ่งไทยได้ทำการภาคยานุวัติ (accession) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือเรื่องการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ (The Hague Convention on the Protection of Children and Co-operation in Respect of Inter-Country Adoption: Hague Adoption Convention) ซึ่งได้มีการให้สัตยาบัน (ratification) แล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547
สำหรับการเข้าเป็นสมาชิก HCCH ของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหารือถึงแนวทางการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล รวมถึงเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล และเพื่อศึกษา เรียนรู้เทคนิคในการพิจารณาและร่างอนุสัญญาในทางระหว่างประเทศ และความรู้ทางวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง
นางสาวเกตสุดา
สุประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
15. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เพื่อให้มีผู้แทนของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มปัญหา มีสัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เหมาะสม และเพื่อให้มีกรรมการพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาเพิ่มเติม จำนวน 6 คน ดังนี้
1.1 ผู้แทนกลุ่มราษฎรตำบลโนนสังที่คณะกรรมการแต่งตั้งจำนวน 3 คน
1.2 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1.3 ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด
1.4 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. ปรับปรุงชื่อตำแหน่งกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จากเดิม “ผู้อำนวยการกองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน” เป็น “ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
16. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ รวม 7 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ลาออก ดังนี้
1.
นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ
2.
นางสาวธัญลักษณ์ เจริญปรุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาการบริหารเศรษฐกิจการเกษตร
3.
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
4.
นางจิราวรรณ แย้มประยูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5.
นางสาวนิลุบล เครือนพรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาการเงิน
6.
นายโยธิน มูลกำบิล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
7.
นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาบริหารธุรกิจ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
17. เรื่อง การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ 2527 แทนชุดเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนี้
1.
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.
นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ผู้แทนกระทรวงการคลัง
3.
นายสุพพัต อ่องแสงคุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์
4.
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม
5.
นางสาวเพ็ญแข จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1 ผู้แทนสำนักงบประมาณ
6.
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย
7.
นายเกียรติภูมิ ศรีจันทร์รัตน์ ผู้แทนชาวไร่อ้อย
8.
นายปารเมศ โพธารากุล ผู้แทนชาวไร่อ้อย
9.
นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูล ผู้แทนชาวไร่อ้อย
10.
นายศรายุธ แสงจันทร์ ผู้แทนโรงงาน
11.
นายวิณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้แทนโรงงาน
12.
นายฉัตรชัย ธรรมสวยดี ผู้แทนโรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
18. เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 4 คน เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหาและเสนอรายชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอ ดังนี้
1.
นายประยงค์ ปรียาจิตต์
2.
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย
3.
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย
4.
นายพิทยา บุญชู
19. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
1.
นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ
2.
นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา กรรมการผู้แทนสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)
3.
นายทาลูน เทง กรรมการผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย)
4.
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ กรรมการผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย
5.
นายพสุ โลหารชุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6.
นายสุรพล เศวตเศรนี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
20. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 39/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 และคำสั่งที่ 1/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 มกราคม 2563 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 1.1.8 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562
“1.1.8 คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
******************