http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ เข้าทำงาน)
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ….
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวม 4 ฉบับ
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งสินค้าผักและผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 พ.ศ. ….
10. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่าน พ.ศ. ....
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 และเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลัง โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2565
12. เรื่อง แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก)
13. เรื่อง รายงานการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
14. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563
15. เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563
16. เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและ บริการ พ.ศ. 2542
17. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (เพิ่มเติม)
18. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบการยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543
20. เรื่อง กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการ ตรวจสอบรับรองของอาเซียน ภายใต้คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้
21. เรื่อง โครงการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์
23. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงข่าวของประธานร่วมของการประชุมอาเซียน – สหภาพยุโรป ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
24. เรื่อง การรับรองแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (The Sub-Regional Meeting on Counter - Terrorism)
25. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของส่วนราชการต่าง ๆ (จำนวน 8 ราย)
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
27. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.)
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่ กห. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ กห. เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตทุกประเภท ต้องจัดให้มีบัญชีรับจ่ายยุทธภัณฑ์ และต้องส่งสำเนาบัญชีรับจ่ายยุทธภัณฑ์และรายงานให้ กห. ทราบทุกเดือน
2. แก้ไขระยะเวลาให้ใช้ใบอนุญาต
จาก ไม่เกิน 1 ปี
เป็น ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตหรือวันที่ได้รับใบอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต
3. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้ เป็น 3 เท่า ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติตควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ดังนี้
ประเภท |
อัตราค่าธรรมเนียมปัจจุบัน |
อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ |
1. คำขอ |
ฉบับละ 20 บาท |
ฉบับละ 60 บาท |
2. ใบอนุญาตสั่งเข้ามา |
ฉบับละ 200 บาท |
ฉบับละ 600 บาท |
3. ใบอนุญาตนำเข้ามา |
ฉบับละ 200 บาท |
ฉบับละ 600 บาท |
4. ใบอนุญาตผลิต |
ฉบับละ 10,000 บาท |
ฉบับละ 30,000 บาท |
5. ใบอนุญาตมี |
ฉบับละ 200 บาท |
ฉบับละ 600 บาท |
6. ใบแทนใบอนุญาต |
ฉบับละ 50 บาท |
ฉบับละ 150 บาท |
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กค. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของผู้พ้นโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดที่พ้นการฝึกอบรม ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับบุคคลเหล่านี้ให้สามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตดูแลตนเองและครอบครัวได้ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ด้วยการสร้างอาชีพเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้บุคคลเหล่านี้ก่อนได้รับการปล่อยตัว
2. แต่เนื่องจากผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดซึ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังพ้นโทษถือเป็นบุคคลที่มีประวัติทางอาชญากรรม ทำให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการปฏิเสธการรับบุคคลเหล่านี้เข้าทำงาน ส่งผลให้ผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนดังกล่าวขาดโอกาสในการเข้าทำงาน ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างและสถานประกอบการจ้างงานผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาชนซึ่งได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว โดยมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่นายจ้างหรือผู้ประกอบการซึ่งจ้างงานผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดซึ่งได้รับการปล่อยตัวและเป็นการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ เพื่อพัฒนาพฤตินัยผู้ต้องขังให้กลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคมหลังพ้นโทษ
3. กค. โดยกรมสรรพากรได้มีการประชุมหารือกับ ยธ. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาร่วมกันในหลักการการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการที่จ้างผู้พ้นโทษเข้าทำงานฯ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กค. ได้วิเคราะห์การจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
3.1 การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับ การปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
3.2 การจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับฯ โดยเห็นว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณ 6,732 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
3.2.1 สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ ให้มีอาชีพก่อให้เกิดรายได้พึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี
3.2.2 สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคง ก่อให้เกิดการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากการลดการกลับมากระทำความผิดซ้ำ
3.2.3 เสริมสร้างด้านเศรษฐกิจตลาดแรงงานในประเทศไทยที่ขาดแคลนโดยไม่ต้องพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้พ้นโทษ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาด ซึ่งมีสัญชาติไทยที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากครบกำหนดโทษตามหมายศาล ลดวันต้องโทษจำคุก หรือพักการลงโทษ
2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
4. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานบุคคลดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีกไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดคำนิยาม
“การก่อการร้าย” ให้หมายถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดคำนิยาม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” โดยกำหนดประเภทและระดับตำแหน่งของข้าราชการที่จะปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดให้ก่อนปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ สมช. กำหนดด้วย
2.
กำหนดมาตรการเชิงป้องกันการก่อการร้าย โดยกำหนดอำนาจทั่วไปสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นบุคคลหรือทรัพย์สิน การค้นบุคคลหรือยานพาหนะที่มีเหตุสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การห้ามเข้า ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ หรือสั่งอพยพ การเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การสะกดรอยผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย การปฏิบัติการอำพราง การเคลื่อนย้ายภายใต้การควบคุม การจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
3.
กำหนดมาตรการเชิงปราบปรามการก่อการร้าย โดยกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ สมช. ได้ประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในด้านการก่อการร้ายแล้ว ให้มีอำนาจเพิ่มเติมในการควบคุมการเสนอข่าวหรือข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือหวาดกลัว การออกคำสั่งห้ามบุคคลออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการออกไปเพื่อเตรียมการหรือเข้าร่วมการก่อการร้าย การออกคำสั่งให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการก่อการร้าย และการควบคุมการซื้อ ขาย ใช้ หรือครอบครองอาวุธหรือสิ่งอื่นใดที่อาจนำไปใช้ในการก่อการร้าย ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่เกินความจำเป็น และได้สัดส่วนกับระดับความรุนแรงและผลกระทบต่อประชาชนด้วย
4.
กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ เขตอำนาจศาล และสถานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดให้ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และให้การดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม รวมทั้งกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
5.
กำหนดบทกำหนดโทษ โดยกำหนดให้ผู้ใดที่เปิดเผยการได้มาซึ่งเอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษหนักเป็นสามเท่าที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “การกำหนดอาหาร” กำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร ประกอบด้วย กรรมการวิชาชีพซึ่งเป็นผู้แทนจากส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร และผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการและเลขานุการ
3. กำหนดให้กรรมการวิชาชีพต้องเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากำหนดอาหารและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการวิชาชีพคราวละ 4 ปี
4. กำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการกำหนดอาหาร ต้องมีความรู้ในวิชาชีพคือเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหารจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารรับรอง และต้องสอบผ่านความรู้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารกำหนด กรณีผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย นอกจากมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ต้องได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารจากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย
5. กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหารซึ่งได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหารอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ประกอบโรคศิลปะการกำหนดอาหารต่อไปได้ แต่ต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร รวมทั้งผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกำหนดอาหารในสถานพยาบาลหรือองค์กรใดที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารรับรองให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “พื้นที่กีดกัน” “พื้นที่ระวังเหตุ” “พื้นที่ห่างจากชุมชน” และ “เหตุการณ์ภายนอก”
2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ได้แก่ ให้ผู้ก่อตั้ง สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามที่คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติประกาศกำหนด ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แผนการก่อสร้างและแผนประมาณการค่าใช้จ่าย แผนการรักษาความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น และผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
3. กำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์แล้วนำประเด็นความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาของเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติต่อไป
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
2. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจกำหนดประมวลจริยธรรม ในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน การกำหนดค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน และค่าบริการในการดำเนินกิจการของสำนักงาน การแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน การกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการและผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน และเครื่องหมายสำนักงาน รวมทั้งกำหนด แนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3. กำหนดให้แต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการรายงานผลให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อรายงาน ให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
4. กำหนดให้ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของสำนักงาน รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
5. กำหนดให้การตรวจสอบภายใน ให้ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รบผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และในการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยของผู้ตรวจสอบภายในให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
6. กำหนดให้การประเมินผลงานของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไป ตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2879 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5091 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2879 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5091 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับ การใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
โดยให้มี ผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวม 4 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้นรูป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ต้องเป็นไป ตามมาตรฐาน พ.ศ. …. 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นสำหรับงานรถยนต์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และ ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้นรูป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
1.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและ งานดึงขึ้นรูป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 528 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 5509 (พ.ศ. 2562) เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานขึ้นรูป และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้น รูป ลงวันที่ 30 กันยายน 2562
1.2 กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ต้องเป็นไป ตามมาตรฐาน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
2.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 1390 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5090 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5499 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5090 (พ.ศ. 2561) ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ลงวันที่ 30 กันยายน 2562
2.2 กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
3.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นสำหรับงานรถยนต์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
3.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นสำหรับงานรถยนต์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2140 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5092 (พ.ศ. 2561) เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้ารีดเย็นแผ่นม้วน แผ่นแถบ และแผ่นตัด สำหรับงานรถยนต์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นสำหรับงานรถยนต์ ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5500 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5092 (พ.ศ. 2561) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้ารีดเย็นแผ่นม้วนแผ่นแถบ และแผ่นตัด สำหรับงานรถยนต์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นสำหรับงานรถยนต์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2562
3.2 กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
4.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
4.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 1999 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 5076 (พ.ศ. 2561) เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้ารีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ และแผ่นตัด สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนสำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2561 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5497 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5076 (พ.ศ. 2561) ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2561 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้ารีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนาและแผ่นบาง สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2562
4.2 กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งสินค้าผักและ ผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งสินค้าผักและผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
1. ได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกสินค้าผักและผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 11 เมษายน 2546 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การส่งออกผักและผลไม้ที่ส่งออกไปแต่ละประเทศตามชนิดหรือประเภทที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณชิย์ ประกาศกำหนด โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมสารตกค้างเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองของ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แสดงต่อกรมศุลกากรประกอบพิธีการส่งออกไป นอกราชอาณาจักร และต่อมาได้มีประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง กำหนดชนิดหรือประเภทของผักและผลไม้ ที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออก พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผักและผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ ผักชีไทย ใบกะเพรา ใบโหระพา ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออก และยังกำหนดสารตกค้างที่จะต้องตรวจสอบสำหรับผักและผลไม้ดังกล่าวที่จะส่งออก ได้แก่ สารพิษตกค้างของสารกำจัดแมลง สารพิษตกค้างของสารกำจัดวัชพืช และเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น
2. ประกอบกับปัจจุบัน พณ. ได้รับแจ้งจาก กษ. ว่าได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2556 และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. 2552 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวใช้ในการควบคุมการส่งออกสินค้าผักและผลไม้เป็นการเฉพาะ ครอบคลุมชนิดหรือประเภทของสินค้าและผลไม้ สารเคมีตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รวมทั้งได้กำหนดชนิดพืช ประเทศปลายทาง และรายการที่ต้องทดสอบเกินกว่าที่กำหนดในประกาศกระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการค้าต่างประเทศตามข้อ 1. สมควรยกเลิกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
3. กษ. แจ้งว่าการยกเลิกประกาศดังกล่าวตามข้อ 2. จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไปนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด และ พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไปแล้ว
จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งสินค้าผักและผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกสินค้าผักและผลไม้ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2546
10. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และ น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่าน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบใน การนำเข้าและนำผ่าน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ประเด็นการป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า รวมทั้งป้องปรามการนำสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ผ่านแดนมาใช้หรือจำหน่ายภายในประเทศ ตามมติคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 มีการกำกับดูแลการนำเข้าและนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาในประเทศได้ อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมี การลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาสวมสิทธิ์ทำให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศตกต่ำ จึงเห็นควรนำร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่าน พ.ศ. .... เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร่งด่วน
ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ มีสาระสำคัญคือ
1. การกำหนดด่านนำเข้าและด่านนำผ่านน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (6) และมาตรา 5/1 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
2. ให้นำเข้าน้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มได้เฉพาะด่านศุลกากรมาบตาพุด สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เท่านั้น
3. ให้นำผ่านน้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มได้เฉพาะจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ดังนี้
(1) ให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเป็นจุดเริ่มต้นของการนำผ่าน
(2) ให้ด่านศุลกากรจันทบุรี ด่านศุลกากรหนองคาย และด่านศุลกากรแม่สอดเป็นจุดสิ้นสุดของการนำผ่าน
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีงบประมาณ
พ.ศ. 2563 – 2565 และเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย
วลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 1,090 อัตรา วงเงินรวม 383.88 ล้านบาท
2. เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 จำนวน 1,268 อัตรา วงเงินรวม 531.94 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลภายใต้การกำกับของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สังกัดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 และวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ให้ความเห็นชอบโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรยารี (เดิม คือ สำนักวิชาแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อรองรับการผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ต่อมา เมื่อมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนการพัฒนา เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อเทียม ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายกรอบอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งขอรับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 915.82 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี |
สถานการณ์ปัจจุบัน |
เป้าหมายที่ต้องการจะเป็นตามแผนอัตรากำลัง |
- สามารถให้บริการผู้ป่วยในได้ 120 เตียง
- เปิดรับผู้ป่วยนอก รักษาโรคทั่วไปและผู้ป่วยฉุกเฉินรวมทั้งให้บริการแพทย์เฉพาะทาง
- มีผู้ป่วยนอกประมาณ 1,093 คนต่อวัน และรองรับผู้ป่วยจากเขตสุขภาพที่ 9
- รองรับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ และสร้างงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในฐานะเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เดิมมีเพียงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) |
- ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับมาตรฐาน (ระดับ S) ขนาด 250 เตียงขึ้นไป
- ขยายการให้บริการผู้ป่วยนอกเป็น 2,000 คนต่อวัน
- เพิ่มประสิทธิภาพและลดความแออัดของการบริการของเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ : เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง-พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (ด้านหลอดเลือดสมอง)
- พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ รองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา
- พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อเทียม ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร |
ความต้องการอัตรากำลัง |
ปีงบประมาณ
2563 |
ปีงบประมาณ
2564 |
ปีงบประมาณ
2565 |
รวมทั้งสิ้น |
สายวิชาชีพ
(ภารกิจด้านแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม) |
286 อัตรา |
239 อัตรา |
150 อัตรา |
675 อัตรา |
สายสนับสนุน
(ภารกิจด้านงานบริหาร บริหารยุทธศาสตร์) |
205 อัตรา |
133 อัตรา |
77 อัตรา |
415 อัตรา |
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ |
491 อัตรา |
372 อัตรา |
227 อัตรา |
1,090 อัตรา |
งบประมาณที่เสนอขอ |
162.12 ล้านบาท |
134.04 ล้านบาท |
87.72 ล้านบาท |
383.88 ล้านบาท |
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ |
สถานการณ์ปัจจุบัน |
เป้าหมายที่ต้องการจะเป็นตามแผนอัตรากำลัง |
- เป็นโรงพยาบาลนำร่อง มีโครงสร้างอาคารพร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมที่จะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 120 เตียง แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลมีบุคลากรเพียง 30 อัตรา
- เป็นสถานที่ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาสำนักวิชาอื่น ๆ ในระบบวิทยาการสุขภาพ การสร้างงานวิจัยทั้งทางคลินิกและงานวิจัยประยุกต์
- รองรับผู้ป่วยในระดับตติยภูมิในเขตภาคใต้ตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร |
- ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับมาตรฐาน (ระดับ S) เป็น 419 เตียง ในปี 2564
- สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 คน
- ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด) ประมาณปีละ 2,950 คน
- ดำเนินการวิจัยทั้งทางคลินิกและงานวิจัยประยุกต์ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวน 5 ศูนย์ (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยโรคเมลิออยโดลิส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Innovation and Health Products และศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอาง)
|
ความต้องการอัตรากำลัง |
ปีงบประมาณ
2563 |
ปีงบประมาณ
2564 |
ปีงบประมาณ
2565 |
รวมทั้งสิ้น |
สายวิชาชีพ
(ภารกิจด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การพยาบาลชุมชน รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เภสัชกรรม ทันตกรรม) |
274 อัตรา |
334 อัตรา |
424 อัตรา |
1,032 อัตรา |
สายสนับสนุน
(ภารกิจด้านงานบริหารการพัฒนาระบบบริการ) |
134 อัตรา |
68 อัตรา |
34 อัตรา |
236 อัตรา |
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ |
408 อัตรา |
402 อัตรา |
458 อัตรา |
1,268 อัตรา |
งบประมาณที่เสนอขอ |
157.43 ล้านบาท |
175.52 ล้านบาท |
198.99 ล้านบาท |
531.94 ล้านบาท |
สำหรับแผนอัตรากำลังของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอมานั้น นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์) และเขตสุขภาพที่ 11 ภาคใต้ตอนบน (จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร) ในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพแล้วยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (ระยะ 20 ปี) ด้านสาธารณสุขที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่เป็นเลิศด้วยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ตลอดจนการส่งเสริมขีดความสามารถในการดำเนินพันธกิจหลักของโรงพยาบาลสังกัดสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งส่งสริมการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
12. เรื่อง แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และให้ สมช. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สมช. รายงานว่า
1. เมื่อปี พ.ศ. 2557 สมช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล อากาศ และทางบก) โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติภายในประเทศเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ สนธิสัญญาและอนุสัญญาด้านการไม่แพร่ขยาย WMD ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) และแนวปฏิบัติว่าด้วยการควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวข้อง
2. แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) ได้กำหนดขั้นตอนการประสานงานเพื่อสกัดกั้นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่งและวัสดุอุปกรณ์ ที่มีการขนส่งผ่านช่องทางคมนาคมระหว่างประเทศ ทั้งทางทะเล ทางอากาศและทางบก ได้ผ่านการพิจารณาของสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
2.1
การดำเนินการก่อนการสกัดกั้น คือ การประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือข่าวกรองเกี่ยวกับยานพาหนะที่ต้องสงสัยว่าทำการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD รวมถึงการติดตามการประกาศรายชื่อบุคคล องค์กร และยานพาหนะที่ได้รับการขึ้นบัญชีลงโทษ (Sanction) ของ UNSC และยานพาหนะที่ต้องสงสัยอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบข้อมูลยานพาหนะต้องสงสัยกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เมื่อได้รับการแจ้งเตือน และการแจ้งข้อมูลให้ส่วนราชการผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ที่มีการเข้าออก หรือผ่านแดนของยานพาหนะดังกล่าวให้เฝ้าระวัง
2.2
การดำเนินการสกัดกั้น เป็นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์ วัตถุอันตรายทางเคมี ชีวภาพ รังสีและนิวเคลียร์ DUI และสินค้าที่ถูกขึ้นรายการตามข้อมติ UNSC ด้านการไม่แพร่ขยาย WMD โดยเฉพาะการใช้อำนาจการตรวจสอบสินค้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ กำหนดให้ส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในพื้นที่ที่พบยานพาหนะและสินค้าต้องสงสัย (อาทิ น่านน้ำอาณาเขต ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านพรมแดน) เป็นผู้ดำเนินการสกัดกั้นและตรวจค้น พร้อมทั้งให้มีชุดสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ รังสีและนิวเคลียร์ ให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการตรวจค้นสินค้าอันตรายตามความจำเป็น
2.3
การดำเนินการหลังการสกัดกั้น ได้แก่ การดำเนินการตรวจค้น ยึด และอายัด และจัดการสินค้าอันเป็นความผิด การตรวจสอบความเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย หรืออาชญากรรมที่เกี่ยวกับความพยายามแพร่ขยาย WMD และการชี้แจงต่อผู้ได้รับผลกระทบ
2.4
กรณีที่ส่วนราชการผู้บังคับใช้กฎหมาย
ไม่สามารถดำเนินการสกัดกั้นสินค้าที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ในเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องอยู่นอกเขตอำนาจการบังคับใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 การมีข้อมูลหรือข่าวกรองอย่างจำกัดและไม่เพียงพอที่จะสามารถนำมายืนยันเรื่องการกระทำผิด การขาดกฎหมายภายในที่ให้อำนาจในการสกัดกั้นหรือตรวจค้น หรือมีข้อจำกัดทางปฏิบัติอื่น ๆ สมช. สามารถขออนุมัติแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพิ่มเติมเป็นรายกรณีจากคณะรัฐมนตรี หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ
13. เรื่อง รายงานการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้ารายงานการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญของผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ มีการจัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจอย่างเร่งด่วน มีรายละเอียด ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษโดยประสานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยอันตรายต่อสังคมทั้ง 7 กลุ่ม
2. กระทรวงยุติธรรมจัดทำแนวทางให้หน่วยงานที่เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ มีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติเป็นผู้ประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลทุกสถานี บริหารจัดการกลุ่มผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษในเขตพื้นที่และรายงานผลมายังศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
2.2 ในส่วนภูมิภาค มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) เป็นหน่วยงานที่เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ และได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 24/2563 ลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่อง การเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ส่วนราชการกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น บริหารจัดการกลุ่มผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษในเขตพื้นที่และรายงานผลมายังศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
14. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเสนอ
ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันศุกร์ที่
31 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน นั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ขอสรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้
1. เรื่องเพื่อพิจารณา
1.1 มาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
1.1.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่าสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีนอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จากการที่ประเทศจีนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวประเภทหมู่คณะ
(กรุ๊ปทัวร์) เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 ซึ่งสำนักงาน ททท. 5 แห่งในประเทศจีน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2563 จะมีจำนวนลดลงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 95,000 ล้านบาท นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตระหนกให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ เกิดความไม่มั่นใจต่อการเดินทางเยือนไทยและประเทศในภูมิภาค ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ไว้ที่ 41.8 ล้านคน และ 2.22 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงเสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณามาตรการ
พยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในระยะเร่งด่วน (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563) และในระยะยาว ประกอบด้วย (1) มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส
สายพันธุ์ใหม่ 2019 และ (2) มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1.1.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (มาตรการระยะเร่งด่วน 3 เดือน : เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2563)
ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ (1)
การสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่คนไทยและนักท่องเที่ยวด้วยข้อความเดียว (Single message) “ห่วงใยและให้ความสำคัญกับคนไทย เป็นลำดับแรก และแสดงความเห็นใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ” (2)
การเฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว โดยยกระดับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (ศูนย์ TAC) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One - Stop Service) พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง และแจ้งเหตุ (3)
การเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 การช่วยเหลือทางการเงิน โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ การลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น - ลงของอากาศยาน (Landing Fee) และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน และ (4)
การกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว โดยการหาตลาดทดแทนจากต่างประเทศ และในประเทศ รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
1.1.1.2 มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (มาตรการระยะยาว : ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่
1)
การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้าง
ความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทาน (Ease of Traveling) เพื่อการทำงานเชิงบูรณาการกับทุกหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีองค์ประกอบดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวง
การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ
2)
การขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) และการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของบริการการท่องเที่ยว โดยพิจารณามอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการขยายเวลาเศรษฐกิจ
ภาคกลางคืนในพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของการท่องเที่ยว
ในทุกด้าน ได้แก่ มัคคุเทศก์ ราคาสินค้าและบริการ ความสะอาดของอาหารและร้านค้า ห้องน้ำสาธารณะ
ในแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐาน Healthy Accessibility Safety (HAS) ทั่วประเทศ การจัดทำฐานข้อมูลที่พักแรมที่ถูกกฎหมาย และ การปลุกจิตสำนึกความมีน้ำใจดูแลและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
3)
การสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงสู่พื้นที่เมืองรอง โดยขอความเห็นชอบในหลักการการพิจารณาอนุมัติงบประมาณวงเงิน 500 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
1.1.2 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
1.1.2.1 มาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งจะต้องมีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ จะต้องมีการสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน และการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน
1.1.2.2 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ และศูนย์ดูแลผู้ป่วยเฝ้าระวังขึ้นภายในสนามบินให้เพียงพอต่อความต้องการ ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้อง
เฝ้าระวังจำนวนมากเกินกว่าขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
1.1.2.3 ในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศขอให้หน่วยงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ของมาตรการที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการชาวไทย และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นลำดับแรก
1.1.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
1.1.3.1 เห็นชอบในหลักการของมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส
สายพันธุ์ใหม่ 2019 และมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นจากที่ประชุม ไปพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอ รวมทั้งให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ มาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการ และดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งให้ดำเนินการตามขั้นตอน กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา
1.1.3.2 เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทาน (Ease of Traveling) เพื่อให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถ ทั้งนี้ ขอให้เสนอรายชื่อผู้แทนและแผนการดำเนินงานในระยะยาวมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
1.2 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
1.2.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในระดับพื้นที่ภาค โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.2.1.1 ให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย (1) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) (2) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) และ (3) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
1.2.1.2 ให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและมาตรการสำคัญตามที่เสนอ โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาโอนย้ายคำของบประมาณโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการอื่น ๆ มาบรรจุในแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท เล่มที่ 9 ประเด็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อสามารถขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2.1.3 ให้ความเห็นชอบกลไกการบริหารจัดการ โดยในระยะเริ่มต้น
ให้จัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ....” แต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) โดยแก้ไขปรับปรุงคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2558 สำหรับในระยะยาวให้ปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจาก EEC ได้แก่ NEC NeEC SEC CEC และ SEZ เพื่อให้มีกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
1.2.2 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1.2.2.1 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรดำเนินการในภาคกลาง - ตะวันตกด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง
1.2.2.2 โครงข่ายการคมนาคมขนส่ง (Connectivity) เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้กระทรวงคมนาคมศึกษาออกแบบความเหมาะสมการพัฒนาโครงข่ายสายรองทั้งประเทศ เพื่อให้มีถนนจากเมืองหลวงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ 2 เส้นทาง โดยให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อขยายการพัฒนาออกสู่พื้นที่ใหม่ เช่น เกิดเมืองใหม่ เป็นต้น รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมโครงการ “คลองไทย” โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
1.2.2.3 ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ปัญหาราคาปุ๋ย เพื่อเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต
1.2.2.4 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมในการดำเนินงานแผนงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไว้ด้วย
1.2.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
1.2.3.1 ให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 3 พื้นที่ ตามที่เสนอ และให้เพิ่มเติมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก อีก 1 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 4 พื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป ประกอบด้วย
- พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA)
- พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy)
- พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)
- พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Western Central Economic Corridor : WCEC)
1.2.3.2 ให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและมาตรการสำคัญ
ปี 2564 ตามที่เสนอ โดยให้ สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณบริหารจัดการโดยปรับโครงสร้างแผนงาน
บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคในแต่ละภาคให้รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสามารถขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2.3.3 ให้ความเห็นชอบกลไกการบริหารจัดการการพัฒนา
เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมอบหมาย สศช. จัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...” แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อให้มีกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
1.2.3.4 ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมและจัดทำข้อเสนอ ดังนี้ (1) แนวทางการพัฒนาโครงข่ายสายรองทั้งประเทศ (2) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
2. เรื่องเพื่อทราบ
2.1 รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ
2.1.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยล่าสุด และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1.1.1
สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในหลายประเทศ และเมื่อพิจารณาภาพรวมในปี 2562 พบว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวลงจากปี 2561 อาทิ จีน เกาหลี สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2562 ของหลายประเทศ ในขณะที่การส่งออกของจีน อินเดีย และเวียดนาม แม้จะยังคงขยายตัวแต่เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง
2.1.1.2
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงหลายครั้ง โดยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ (World Economic Outlook) ฉบับประจำเดือน มกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 และจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดประมาณการลงจากร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.4 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนตุลาคม 2562 ตามลำดับ
2.1.1.3
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจพบว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงและขยายตัวได้ต่ำกว่าการประมาณการ สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 4.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน และการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 18.3 โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ลดลงร้อยละ 14.0 และร้อยละ 65.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้ทางด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตการเกษตรในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.9 เทียบกับร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
2.1.1.4
ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทย
ในปี 2562 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5 – 2.6 และคาดว่าจะจะปรับตัวดึขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 – 2.8 ในปี 2563
2.1.1.5
ผลการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 – 2563 พบว่า ด้านการท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยในปี 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 39.8 ล้านคน ตรงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า
ทั้งปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.7 ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่อัตราขยายตัวร้อยละ 3.0 นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนและงบรัฐวิสหกิจที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องชี้ด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ตามการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม
2.1.1.6
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในการประมาณการ
ครั้งที่ผ่านมา ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ
2.7 - 3.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และจะมีการแถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งต่อไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง สศช. จะมีการพิจารณาทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 อีกครั้งโดยพบว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากการประมาณการครั้งก่อน อาทิ การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 สถานการณ์ภัยแล้ง และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
2.1.2 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
2.1.2.1 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเสนอมาตรการ
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในแต่ละสาขาได้
อย่างเหมาะสม รวมทั้งมาตรการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG)
2.1.2.2 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเสนอมาตรการสนับสนุนการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนของคนไทย โดยมุ่งเน้นการดูแลภาคเกษตรซึ่งเป็นสาขาการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุด
2.1.2.3 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสนอมาตรการส่งเสริมการจ้างงานและสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรกรรมในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกหรือช่วงที่ประสบภาวะภัยแล้ง
2.1.2.4 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ที่อยู่ภายใต้โครงการจิตอาสาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.1.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
15. เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. รับทราบมาตรการด้านการเงินและการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 (การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีฯ)
2. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม และมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) พร้อมทั้ง มอบหมายหน่วยงานตามที่ระบุ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
4. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
5. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2563 คาดว่าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 58.3 และ 27.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ตามลำดับ นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27.5 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น ปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการด้านการเงิน
สถาบันการเงินของรัฐมีการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและปรับปรุงสถานประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐยังได้มีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนี้
1.1 มาตรการสินเชื่อ
1) โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 40,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เป็นระยะเวลา 4 ปี
2) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
3) โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) วงเงินคงเหลือ 55,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
4) โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
1.2 มาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม
1) ธนาคารออมสิน มีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว
2) ธพว. มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการและต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan : NPL) สำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หรือกองทุนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ หรือมีผลประกอบการขาดทุน
4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
5) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs เดิมของ บสย. สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก
2. มาตรการด้านภาษี
2.1 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 (การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีฯ)
1) วั
ตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย
2)
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา
3)
ระยะเวลาดำเนินงาน : ขยายระยะเวลา 3 เดือน (ภายในเดือนมิถุนายน 2563)
4)
วิธีดำเนินงาน : ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยออกประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ฉบับ
5)
สูญเสียรายได้ : ไม่สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลื่อนออกไป
2.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสุนนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
1)
วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
2)
กลุ่มเป้าหมาย : บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
3)
ระยะเวลาดำเนินงาน : สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4)
วิธีดำเนินงาน : ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็น ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขี้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
5)
สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 1,000 ราย และมีจำนวนเงินที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 435 ล้านบาท จึงจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 87 ล้านบาท
2.3 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม
1)
วัตถุประสงค์ : ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนในกิจการโรงแรมเพิ่มขึ้นในปี 2563
2)
กลุ่มเป้าหมาย : บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
3)
ระยะเวลาดำเนินงาน : สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4)
วิธีดำเนินงาน : ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สิน ดังนี้ (1) อาคารถาวรที่มีไว้ใช้ในการประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และ (2) เครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบและยึดติดกับอาคารตาม (1) เป็นการถาวร
ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และทรัพย์สินต้องพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้ (1) นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ โดยต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (2) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร (3) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (4) ไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (5) ต้องจัดทำโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินและแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (6) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิสิ้นสุดลงและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ ให้สิทธิสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลาย สูญหายหรือสิ้นสภาพ โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก (7) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
อนึ่ง การใช้สิทธิประโยชน์สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
5)
สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมปรับปรุงกิจการประมาณ 1,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินที่ใช้ในการปรับปรุงโรงแรมประมาณ 24,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี ในส่วนของการลงทุนในเครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบและยึดติดกับอาคารเป็นการถาวรคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,900 ล้านบาท
2.4 มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ)
1) วั
ตถุประสงค์ : เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้นซึ่งเป็นการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ มาตรการลดอัตราภาษีนี้เป็นมาตรการชั่วคราว
2)
กลุ่มเป้าหมาย : อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย
3)
ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 (ประมาณ 8 เดือน)
4)
วิธีดำเนินงาน : ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร (อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ก่อนปี 2560) เป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
(1) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศมีอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร
(2) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานไปต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด อัตราตามปริมาณ 0 บาทต่อลิตร หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีสรรพสามิตประกาศกำหนดให้เสียภาษีในอัตราตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5)
สูญเสียรายได้ : ภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ จำนวน 2,300 ล้านบาท
4.3 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
มาตรการการเงินการคลังดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนและบรรเทาความเสี่ยงทางสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทย
16. เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าควบคุมปี 2562 เพิ่มเติม จำนวน 4 รายการ คือ (1) หน้ากากอนามัย (2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และ (4) เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า
1. เนื่องจากในปัจจุบันมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศจีนและ เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ทำให้หน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็นสินค้าควบคุม จำนวน 3 รายการ คือ (1) หน้ากากอนามัย (2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และ (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
2. ในปัจจุบันมีการนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลจากการที่ประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าเศษกระดาษรายใหญ่ของโลกมีนโยบายเข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดมาตรการห้ามนำเข้ากระดาษ ส่งผลให้ราคาเศษกระดาษในตลาดโลกลดลง ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานเยื่อกระดาษในประเทศหันไปนำเข้าเศษกระดาษเพิ่มขึ้น ราคาเศษกระดาษในประเทศจีนตกต่ำรุนแรงจนผู้รับซื้อเศษกระดาษในประเทศไม่มีตลาดรองรับ จึงต้องลดราคาและชะลอการรับซื้อเศษกระดาษลง ส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อม จึงต้องกำหนดเป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำหนดมาตรการที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เพิ่มสินค้า 4 รายการ คือ (1) หน้ากากอนามัย (2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และ (4) เศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีกเป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
17. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (เพิ่มเติม) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
สำนักงบประมาณเสนอว่า เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณสามารถใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันไปพลางก่อนได้อย่างต่อเนื่องและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะประกาศใช้ล่าช้าออกไปอีก ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาได้ในชั้นนี้ สำนักงบประมาณจึงเห็สมควรขยายกรอบวงเงินและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ดังนี้
1. ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณได้ไม่เกินสามในสี่ของแผนงานและรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
กรณีมีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้นให้สำนักงบประมาณมีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงาน/รายการ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา ลำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(2) ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
(3) สำหรับภารกิจพื้นฐานหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
2. รายการผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว กรณีที่งบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับรายการดังกล่าว ไม่เพียงพอใช้จ่ายตามข้อผูกพันที่ต้องจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นโดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งต้องหักออกจากแผนงานและรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว
3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (เพิ่มเติม) นอกเหนือจากที่กำหนดในข้อ 1. และข้อ 2. ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เดิม
18. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government – G to G) เพื่อให้การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎระเบียบ พณ. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง นบข. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีมติ ดังนี้
1.1 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government : G to G) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 รับทราบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ”
1.2 มอบหมายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาหรือเข้าร่วมการประมูลแบบ G to G และลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวในนามรัฐบาลไทย ตามแนวทางปฏิบัติฯ ข้อ 1.1
1.3 มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเพื่อปรับปรุงหรือจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อตามสัญญา G to G
1.3.1 กรณีรัฐบาลมีข้าวในสต็อกชนิดที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยใช้ข้าวในสต็อกของรัฐปรับปรุงและส่งมอบข้าวตามสัญญา หากข้าวในสต็อกของรัฐไม่เพียงพอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาข้าวเพิ่มเติมและส่งมอบข้าวตามสัญญา
1.3.2 กรณีรัฐบาลไม่มีข้าวในสต็อกชนิดที่เป็นความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาและส่งมอบข้าวตามสัญญา
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางและเงื่อนไขที่ นบข. หรือผู้ที่ นบข. มอบหมายได้ให้ความเห็นชอบ และให้กรมการค้าต่างประเทศ พณ. ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตามแบบข้อตกลงที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเพื่อส่งมอบข้าวตามสัญญา G to G
1.4 มอบหมายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการและเลขานุการ นบข. เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขาย การเจรจาต่อรองราคา การตกลงเงื่อนไขในสัญญารวมทั้งแนวทางจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อ ก่อนดำเนินการ
1.5 การเจรจาตกลงราคาและส่งมอบข้าวให้ COFCO Corporation (COFCO) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณ 300,000 ตัน ที่เหลือ ภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับ COFCO ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 โดยให้ดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.4
1.6 มอบหมาย พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
2.
แนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government : G to G) มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
2.1
หลักการสำคัญในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
2.1.1
การเจรจาและทำสัญญา รัฐบาลของประเทศคู่เจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่หน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อบางประเทศที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียวโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในวงการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศจะทราบดีว่าคือหน่วยงานใด กรณีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อเป็นหน่วยงานนอกเหนือจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อไม่เคยซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทยมาก่อน มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวแบบ G to G จากรัฐบาลไทย กรมการค้าต่างประเทศจะต้องประสานสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย
2.1.2
การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด Letter of Credit (L/C) และการโอนเงินระหว่างประเทศ (Telegraphic Transfer : T/T) เป็นต้น ซึ่งจะต้องสามารถตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว
2.1.3
การส่งมอบข้าว รัฐบาลไทยจะต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญคือใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแบบ อ.2 (สินค้าข้าว) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ โดยต้องระบุว่าเป็นการส่งออก “ข้าวรัฐบาล” เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกตามประกาศ พณ.
2.2
ขั้นตอนในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
การซื้อขายข้าวแบบ G to G โดยทั่วไปจะเริ่มจากรัฐบาลประเทศผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยโดยมีหนังสือถึง พณ. หรือกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง หรือมีหนังสือผ่านทาง กต. หรือช่องทางการทูต ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศสามารถประสานสอบถาม กต. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อีกทางหนึ่ง เมื่อกรมการค้าต่างประเทศได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วจะประสานสอบถามรายละเอียด อาทิ ชนิดข้าว ปริมาณ และเงื่อนไขการส่งมอบ เป็นต้น กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อเบื้องต้นก่อนและจะเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาหรือกรอบการเสนอราคาประมูลขายข้าวก่อนดำเนินการต่อไป
ในการเจรจาซื้อขายข้าว รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะเจรจาภายใต้กรอบที่ได้รับความเห็นชอบ จนกระทั่งสามารถตกลงราคาและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ในร่างสัญญาได้แล้ว ซึ่งข้อกำหนดหลักในสัญญาประกอบด้วย ชนิดข้าว คุณลักษณะข้าว ปริมาณ ราคา เงื่อนไขการส่งมอบ กำหนดส่งมอบ การชำระเงิน ข้อกำหนดเกี่ยวกับกระสอบบรรจุข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว การระงับข้อพิพาทและกฎหมายที่บังคับใช้ เป็นต้น หลังจากนั้นกรมการค้าต่างประเทศจะต้องเสนอร่างสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามต่อไป สำหรับการขายข้าวโดยวิธีการเข้าร่วมประมูลเสนอราคา รายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาจะเป็นไปตามข้อกำหนดการประมูล (Terms of Reference - TOR) ของหน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ และกรมการค้าต่างประเทศจะเสนอผลการเจรจาหรือผลการประมูลเสนอราคาขายข้าวให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบการตกลงราคาและทำสัญญาก่อนจะลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวต่อไป
2.3
การเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
ข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลหลายประเทศ การเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในสัญญา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลประเทศผู้ซื้อรายอื่นยังทำให้รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาได้ ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G บางส่วน เช่น ชนิดข้าว ปริมาณ และกำหนดส่งมอบ เป็นต้น ที่สามารถเปิดเผยได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดในสัญญาและไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบการยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 และให้ความเห็นชอบการยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 ตามที่กระทวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ที่ผ่านมาไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ร่วมดำเนินการภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นฯ มาโดยตลอด โดยมีการจ้างเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติงานสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact Assessment: ESIA) และได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน 4 ประเทศ (Joint Working Group) เพื่อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การสำรวจภาคสนาม การสำรวจทางธรณี การสำรวจทางอุทกศาสตร์ การนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Model Test) เพื่อมาใช้ในการออกแบบร่องน้ำและศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ รวมทั้งการกัดเซาะตลิ่ง เพื่อนำไปสู่การออกแบบร่องน้ำทางเดินเรือให้มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อเขตแดนทางน้ำระหว่างไทยและ สปป.ลาว ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ JCCCN ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 26 – 27 มีนาคม 2562 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ฝ่ายจีนได้เสนอรายงานผลการศึกษาการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้แจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วและการดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะมีไม่การดำเนินการใด เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางการทูต ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 48 เมื่อวันที่ 24 – 25 เมษายน 2562 ณ เมือง Vung Tau สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าประเทศสมาชิก (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) ได้รับทราบว่าการดำเนินงานในส่วนของ ESIA ภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ได้สิ้นสุดแล้ว
20. เรื่อง กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการตรวจสอบรับรองของอาเซียน ภายใต้คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการตรวจสอบรับรองของอาเซียน ภายใต้คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ และมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พิจารณาใช้ดุลยพินิจตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
(กำหนดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนในช่วงเดือนมีนาคม 2563)
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministerial Meeting on Agriculture and Forestry : AMAF) ครั้งที่ 38 เมื่อปี 2559 ที่ประชุมได้รับรองแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ปี 2559 – 2563 (Strategic Plan of Action for the ASEAN Cooperation on Organic Agriculture 2016 - 2020) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เศรษฐกิจ และการตลาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อการผลิตด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์
กรอบการเจรจาความตกลงฯ สรุปได้ ดังนี้
1. เป้าหมายการเจรจาในภาพรวม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ได้แก่ 1) ปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ เกษตรอินทรีย์ และระบบนิเวศ 2) รักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3) ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยในตลาดอาเซียนและตลาดอื่น 4) ร่วมสร้างอาเซียนให้เป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และการตรวจสอบรับรองเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรม 5) ส่งเสริมสินค้าจากฐานการผลิตอาเซียนให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีและเป็นธรรมในอาเซียน 6) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 7) เอื้ออำนวยต่อการนำไปปฏิบัติหรือบังคับใช้โดยสอดคล้องกับความตกลงที่ไทยมีพันธกรณีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และ 8) มีแนวทางในการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น
2. ขอบเขตและสาระสำคัญของกรอบการเจรจาฯ ความตกลงมีขอบเขตครอบคลุมการกำหนดหลักการ ข้อกำหนด กระบวนการ และกลไกการประสานงานของอาเซียนและของประเทศสมาชิก ในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของกันและกันในอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนและคุ้มครองผู้บริโภค โดยผลของการตรวจสอบและให้การรับรองเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกที่ผ่านการประเมินแล้วตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่อาเซียนกำหนดจะถูกยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ ดังนี้ 1) การกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบ 2) การยอมรับร่วม 3)การพัฒนากลไกการประสานงานของอาเซียนและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิก และ 4) ประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. การประสานงาน มกอช. เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ในการจัดทำร่างความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านการผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่าย ผลิตผล และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของอาเซียน และการตรวจสอบรับรอง เพื่อให้การดำเนินการเจรจาความตกลงเป็นไปในแนวทางที่สอดประสานกันในหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเกิดประโยชน์และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการตรวจสอบ รับรองของอาเซียน ภายใต้คณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้จัดอยู่ในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
21. เรื่อง โครงการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความตกลงระหว่างโครงการพัฒนาสหประชาชาติและหน่วยงานร่วมปฏิบัติการ ภายใต้โครงการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเห็นชอบเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความตกลงฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความตกลงระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยร่วมปฏิบัติการ ภายใต้โครงการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีของประเทศไทยตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแสดงให้ประเทศภาคีทราบถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการดำเนินการร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบันทึกความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดการสนับสนุนแก่โครงการการดำเนินงานในระดับประเทศ ที่ UNDP จะให้การสนับสนุนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ เช่น การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2557 – 2561 เป็นต้น
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020 Ministerial Declaration) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างปฏิญญาดังกล่าว ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (International Conference on Nuclear Security : Sustaining and Strengthening Efforts – ICONS 2020) ตั้งแต่วันที่ 10 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้รับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020) ระหว่างวันที่ 10 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีระดับสูงในการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ แนวปฏิบัติในปัจจุบันและมุมมองต่อพัฒนาการในอนาคตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระดับสากลและของ IAEA รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ และผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การดำเนินงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ทั้งภายในประเทศและในระดับสากล โดยการประชุม ICONS 2020 ประกอบด้วย (1) การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segment) ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และ (2) การประชุมเชิงเทคนิค (Technical Session) ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จำนวน 4 ราย เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการและสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี จะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020 Ministerial Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐสมาชิกที่จะย้ำความมุ่งมั่นของรัฐภาคีต่อการสร้างความยั่งยืนและเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของวัสดุนิวเคลียร์ วัสดุกัมมันตรังสี รวมถึงสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี สรุปได้ ดังนี้
1. ย้ำถึงเป้าหมายร่วมกันของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การลดอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และตระหนักว่าความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ช่วยส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
2. ตระหนักถึงบทบาทของ IAEA ที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐสมาชิกในการสร้างและพัฒนาระบอบความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ภายในที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์
3. ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และคอมพิวเตอร์ของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
4. ย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าเป็นภาคีอย่างเต็มรูปแบบและการอนุวัติการอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และที่แก้ไขเพิ่มเติมของรัฐภาคี
5. ย้ำความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการลักลอบขนถ่ายวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีอื่น ๆ และทำให้มั่นใจว่าวัสดุเหล่านั้นจะไม่สามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง
23. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงข่าวของประธานร่วมของการประชุมอาเซียน – สหภาพยุโรป ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงข่าวของประธานร่วมของการประชุมอาเซียน – สหภาพยุโรปด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 : สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Draft Co-Chairs’ Press Statement of the Second High-Level ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development: Towards Achieving the Sustainable Development Goals) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายออกแถลงข่าวฯ ในฐานะประธานร่วมของการประชุม ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างแถลงข่าวฯ ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมการเติบโตสีเขียวและการเงินสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคอาเซียนและยุโรป (3) การส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) (4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป ผ่านกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยจะมีการการเผยแพร่แถลงข่าวฯ เมื่อสิ้นสุดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563
24. เรื่อง การรับรองแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย
(The Sub-Regional Meeting on Counter - Terrorism)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (The Sub-Regional Meeting on Counter - Terrorism) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกในการต่อต้านการก่อการร้ายตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายการกระชับความสัมพันธ์กับต่างประเทศและส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ
สรุปสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย: การรับมือกับพัฒนาการด้านยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของผู้ก่อการร้าย (Joint Statement on Responding to Evolving Terrorist Strategies and Tactics) ดังนี้
1. ในแถลงการณ์ร่วมได้กล่าวถึงประสบการณ์และศักยภาพในการก่อเหตุของนักรบก่อการร้ายต่างชาติที่เป็นที่ประจักษ์และยังคงพัฒนาเครือข่ายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก หรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย และเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมกลุ่มศึกษาระดับภูมิภาคที่เน้นการเสริมสร้างการรับมือด้านข้อกฎหมายเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของนักรบต่างชาติในภูมิภาค นำโดยอินโดนีเซียร่วมกับออสเตรเลีย
2. ที่ประชุมตระหนักว่า สตรี เยาวชน และครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในภูมิภาคและเห็นพ้องว่าควรสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคประชาสังคมที่นำโดยเยาวชนและสตรีในภูมิภาค และส่งเสริมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ส่งเสริมบทบาทเยาวชนและสตรีและการมีส่วนร่วมในการรับมือกับแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในภูมิภาค
3. เห็นพ้องให้สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเพิ่มขีดความสามารถของภาคประชาสังคมในการป้องกันกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรง รวมทั้งการดำเนินการผ่านเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. รัฐมนตรีและผู้แทนประเทศตระหนักถึงภัยคุกคามก่อการร้ายในภูมิภาคที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตในทางที่ผิดเพื่อสรรหาสมาชิก สื่อสารและเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อต่อต้านการใช้พื้นที่สื่อสังคมโดยเครือข่ายกลุ่มก่อการร้าย
5. เน้นย้ำถึงการดำเนินการภายใต้ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2396 เพื่อเสริมสร้างมาตรการตรวจจับความเคลื่อนไหวของนักรบก่อการร้ายต่างชาติและกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ
25. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของส่วนราชการต่าง ๆ (จำนวน 8 ราย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มเติม (จำนวน 8 ราย) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยที่ ปคร. ของส่วนราชการดังกล่าวที่ได้รับการแต่งตั้งมีการเกษียณอายุราชการ และมีการโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 กันยายน 2562, 1 ตุลาคม 2562 และ 26 พฤศจิกายน 2562) รับทราบรายชื่อ ปคร. ของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกประสานงานการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี และการเสนอและติดตามร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สลค. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ปคร. (เพิ่มเติม) ทั้ง 8 ราย ดังกล่าวแล้วว่า เป็นไปตามข้อ 5 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พ.ศ. 2551 ดังนี้
ส่วนราชการ |
รายชื่อ ปคร. |
1. กระทรวงการต่างประเทศ |
นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล
เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง |
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
นายสำราญ สาราบรรณ์
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ |
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ |
4. กระทรวงพลังงาน |
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว
รองปลัดกระทรวงพลังงาน |
5. กระทรวงศึกษาธิการ |
นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ |
6. กระทรวงอุตสาหกรรม |
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม |
7. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี |
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ
รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี |
8. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร |
พลโท สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง |
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.) จำนวน 5 คน ดังนี้ 1. พลเอก ธนดล เผ่าจินดา 2. พลเอก อภิชัย ทรงศิลป์ 3. นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ 4. พลเอก วิเชียร มัญญะหงษ์ 5. นายสุรเดช วลีอิทธิกุล ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป
.................