วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2563
คำกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดสำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแห่งใหม่ ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 เวลา 14.00 น. ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ท่านรัฐมนตรี
ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
สื่อมวลชนและผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแห่งใหม่ในวันนี้ ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP สูงถึงกว่าร้อยละ 30 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ ดังนั้น หากทุกภาคส่วนช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้มีศักยภาพการผลิตและการบริหารจัดการได้มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พบว่าในปี 2563 เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกยังมีแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ อันเนื่องจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก็มีการคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการค้าโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเริ่มฟื้นตัวของประเทศสำคัญ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ อินเดีย ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อาเซียน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งบางส่วนได้รับประโยชน์จากการปรับตัวของทิศทางการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ
สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เนื่องจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 ตามแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน การลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้ง แรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากมาตรการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามสร้างความสมดุลโดยมุ่งพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้าบริการ และภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็กทรัพยากรมีน้อยและจำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ทั้งการส่งเสริมพัฒนาภาคเกษตรซึ่งมีเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องดูแลกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องดำรงอยู่ได้ เติบโต และแข็งแกร่งไปด้วยกัน
ผมได้มีโอกาสพูดถึงโมเดลไทยแลนด์ 4.0 มาในหลายโอกาสแล้ว จะขอเน้นย้ำเรื่องแนวคิดนี้ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง หากย้อนไปในอดีต ประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันเน้นอุตสาหกรรมหนัก อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” นั้น นอกจากต้องเผชิญกับ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” แล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับ“กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง”และ“กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” เรามุ่งเน้นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้การบริหารจัดการเชิงสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมขาดความเป็นระบบ ซึ่งกับดักต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นประเด็นที่ท้าทายของรัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้าม “ประเทศไทย 3.0” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้
การขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตจะต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่เน้นในเรื่องเทคโนโลยี (Technology Based) ที่อิงกับงานวิจัยและพัฒนา (R & D) มากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Base Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” กล่าวคือในปัจจุบันเรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมากได้น้อย” เราต้องปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อยได้มาก” โดยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 1) เปลี่ยนจากผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม
2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยการรับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ 3) เปลี่ยนจากการแข่งขันแบบ Local ไปสู่การแข่งขันแบบ Global
ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลเข้าสู่ระบบ E-Government และสุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยจะเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกและเป็น Chain หนึ่งของโลก
สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ต้องช่วยกันพัฒนาตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 โดยถอดรหัสเป็น อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0 ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือการจับคู่กันระหว่างเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตหรือดิจิทัลเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย เป็นการพัฒนาจนถึงเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันเองได้ ส่งข้อมูลระหว่างกันได้ ซึ่งจะนำมาสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความแม่นยำขึ้น มีความพิเศษมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่จะก้าวไปถึงจุดนั้น ไว้ดังนี้
1.การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยการต่อยอดอุตสาหกรรม S-CURVE ทั้งที่เป็น First S-Curve 5 อุตสาหกรรม และ New S-Curve อีก 5 อุตสาหกรรม เป็นการปรับโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมอนาคต รวมทั้งต้องพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วย
2. เสริมสร้าง SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ต้องเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยเชื่อมโยง SMEs กับวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็น Supply Chain ต้องผลักดันให้วิสาหกิจปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจจากแนวคิดแบบเดิมๆ ไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ต้องฉลาด ต้องปราดเปรียวก้าวทันโลก รู้จักนำเอาเทคโนโลยี เอาระบบดิจิทัลมาใช้ ต้องพัฒนา SMEs ให้เป็น Smart Enterprises รวมไปถึงการยกระดับวิสาหกิจชุมชน (OTOP) สู่ Smart Micro-Enterprise ด้วย
3.ยกระดับผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม โดยการเพิ่มผลิตภาพสถานประกอบการ การยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ และการพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
4.ปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรม หรือระบบ Eco-System ที่แวดล้อมและเป็นปัจจัยเอื้อในการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมระบบความร่วมมือแบบประชารัฐ (รัฐ+เอกชน+ภาคการศึกษา) รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์เชิงรุก
5.ทำการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดกับเศรษฐกิจโลก (Connectivity) โดยการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดโดยใช้ดิจิทัล เพื่อพัฒนาสู่ศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค (Regional Hub) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขยายไปยัง AEC+3 และ AEC+6 จนถึงภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย ผู้ประกอบการจึงไม่อาจหยุดนิ่งในการยกระดับขีดความสามารถ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ
กลไกสำคัญอีกเรื่องที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย คือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนเป็นลำดับแรก จากนั้นได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ตามศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และล่าสุดรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor)ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวนับเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีเงินลงทุนของเอกชนในภาคอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า ๒ ล้านล้านบาท มีสัดส่วนของ GDP ประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศ มีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม สามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน สามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมาร์ ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก จึงยังมีศักยภาพสูงที่จะขยายให้เป็นแหล่งการลงทุนของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีแผนในการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม การจัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน (One Stop Service) การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติเรื่องการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง เพื่อความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต การให้สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นต่อไปด้วย
สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาทั้งหมดนี้ จะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาและการสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนของสภาอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยผมขอชื่นชมสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนองนโยบายในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมายของภาครัฐ รวมถึงดูแลด้านสิทธิประโยชน์ และอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกเป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยินดีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะได้มีสถานที่ทำงานแห่งใหม่ ขอให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเจตจำนงที่วางไว้ทุกประการ ขอให้สภาอุตสาหกรรมฯ แห่งนี้ มีความวัฒนาสถาพร ขับเคลื่อนการดำเนินงานในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความมั่นคง ยั่งยืนสืบไป ในโอกาสนี้ ผมขอเปิดสำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแห่งใหม่ ณ บัดนี้
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน