กล่าว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบาย
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 เวลา 08.50 น.
ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนยการประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
----------------
รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรี
หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ
และหน่วยงานของรัฐ
และผู้มีเกียรติทุกท่าน
ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อรับมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการจัดทำงบประมาณที่ดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามปฏิทินงบประมาณจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2563 (วาระ 2 – 3 กำหนดพิจารณาวันที่ 8 มกราคม 2563 เป็นต้นไป)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า ความตึงเครียดทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง และความกังวลต่อกรณีที่ สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 - 2552 ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 รัฐบาลจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความท้าทายและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยการใช้จ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในระยะสั้น รัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มอุปสงค์และการลงทุนในประเทศโดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ผ่านระบบบัตรสวัสดิการ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ การประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการ ชิม-ช้อป-ใช้ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ซึ่งผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ GDP ในไตรมาสที่ 3 และเพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก การลดภาระต้นทุนของชาวนา และการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าว ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3
ในขณะที่รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น รัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ 2561 – พ.ศ. 2580) ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี ประชากร สภาพอากาศ และปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต
สำหรับสถานการณ์ด้านการคลัง ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีความมั่นคงด้านการคลัง โดยมีดุลการคลังที่เกินดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และสามารถรักษาระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 40 ของ GDP ในช่วงตลอดระยะเวลา 10 ปี และในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัท S&P Global Rating ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทย จากระดับมีเสถียรภาพ เป็นเชิงบวก ซึ่งเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 และกลับมาอยู่ในมุมมองเชิงบวกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม และการมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ประกอบกับการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชน ตลอดจนช่วยให้มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ และช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตรัฐบาลจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐภาคเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
นอกจากนั้น ในการดำเนินนโยบายด้านการคลัง รัฐบาลได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะเป็นกรอบให้รัฐบาลสามารถวางแผนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
แนวทางการดำเนินการสำหรับงบประมาณปี พ.ศ. 2563
สืบเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ในปัจจุบัน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน โดยสามารถใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ สามารถดำเนินการรายการที่เป็นรายจ่ายตามกฎหมาย ตามข้อผูกพันและความจำเป็นที่ต้องทำต่อเนื่อง ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ผลการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันกับปีงบประมาณที่ผ่านมา มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย
ดังนั้น เพื่อให้มีการใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเร็ว เมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ ขอให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ เร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และส่วนราชการใดที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ และการใช้เงินกู้ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ ขอให้เร่งดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2563 โดยยังคงนโยบายงบประมาณขาดดุลในจำนวนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ และมีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในทุกภูมิภาค
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผมขอกล่าวถึง หลักการที่ต้องการให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก เช่น ปัญหาการเกิดอุทกภัย ปัญหาประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ โดยในแต่ละปีจะต้องกำหนดแผนงาน/โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ เช่น การก่อสร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในการจัดทำงบประมาณปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลจะดำเนินการ เพื่อให้มีรายจ่ายลงทุนเพียงพอในการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศ และเป็นการลงทุนที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจหลายรอบ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโต เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การมีรายจ่ายประจำในสัดส่วนสูงก็มิได้หมายความว่าโครงสร้างงบประมาณจะไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ โดยหลักแล้ว สัดส่วนรายจ่ายประจำของประเทศต่าง ๆ จะสูงขึ้นตามระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนจะมีความต้องการบริการสาธารณะในระดับที่สูงขึ้นเมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้รายจ่ายประจำของประเทศสูงขึ้นตามลำดับ
หน่วยรับงบประมาณต้องมีการจัดทำแผนงานโครงการ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ถ่ายทอดแผนระยะยาวและระยะปานกลางสู่แผนงานและแผนงบประมาณประจำปี และเสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาที่สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 24 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คำขอรับการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับแผนเหล่านี้ จะไม่ได้รับการพิจารณาสนับสนุน หรือถือว่ามีลำดับความสำคัญต่ำ
นอกจากนี้ ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ ควรพิจารณานำเงินดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาสมทบกับเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งสำคัญที่หน่วยรับงบประมาณต้องทำอีกประการหนึ่ง คือ การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำมาเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการ ที่จะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2564 ต่อไป
การจัดทำงบประมาณบูรณาการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
การพัฒนาประเทศให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้นั้น หน่วยงานภาครัฐต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม สนับสนุนต่อยอดกันเป็นลำดับขั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนงานบูรณาการ จำนวน 14 แผนงาน โดยมี 13 แผนงานที่ต่อเนื่องมาจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และมีแผนงานใหม่ 1 แผนงาน คือ แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
ในการจัดทำงบประมาณบูรณาการ หน่วยรับงบประมาณ ต้องกำหนดแผนปฏิบัติราชการและแผนงบประมาณให้มีการบูรณาการสอดคล้องกัน ทั้งระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกัน และหน่วยงานระหว่างกระทรวง รวมทั้งการบูรณาการระหว่างมิติหน่วยงาน (Function) และมิติยุทธศาสตร์ (Agenda) กับมิติพื้นที่ (Area) การบูรณาการในมิติยุทธศาสตร์ (Agenda) เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดย
ประการแรก จะต้องประชุมหารือร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการร่วมกัน ทั้งในระยะยาว (20 ปี) ระยะปานกลาง (5 ปี) และระยะสั้น (1 ปี) และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเป้าหมายในส่วนที่รับผิดชอบไปดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการ
ประการที่ 2 จะต้องร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนการปฏิบัติงานว่าหน่วยงานใดจะทำอะไร มีเป้าหมายเท่าใด ที่จะส่งผลสำเร็จต่อเป้าหมายที่รับผิดชอบ เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและมีการดำเนินงานที่ประสานสอดคล้องกัน
ประการที่ 3 เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะทำภารกิจอะไรของแต่ละหน่วยงานแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การหาข้อสรุปว่าภารกิจดังกล่าว ควรทำในพื้นที่ใด มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด และแผนพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น การจัดทำแผนพัฒนาดังกล่าวจะต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามนโยบายรัฐบาลในแต่ละเรื่อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างนโยบายจากบนลงล่าง (Top Down Policy) และความต้องการ จากล่างขึ้นบน (Bottom Up)
การบูรณาการแผนงานระหว่างมิติหน่วยงาน (Function) กับมิติพื้นที่ (Area) ก็จะเป็นไปตามหลักการเช่นเดียวกับการบูรณาการระหว่างมิติยุทธศาสตร์ (Agenda) กับมิติพื้นที่ (Area) คือ แผนงาน มิติหน่วยงาน (Function) จะต้องสอดคล้อง กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดจังหวัด ที่ต้องการให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการในพื้นที่ จะต้องมีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเป็นสำคัญ
นอกจากการบูรณาการแผนงานให้เกิดประสิทธิภาพแล้ว การบูรณาการ งบประมาณจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศให้ประสบผลสำเร็จ ภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ การบูรณาการงบประมาณจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้การจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
การจัดทำแผนงานบูรณาการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต้องให้ความสำคัญ กับการกำหนดเป้าหมายที่สอดรับกับเป้าหมายในช่วง 5 ปีแรกของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหากสามารถกำหนดตัวชี้วัดของแผนที่เป็นไปตามหลักสากล ก็จะดีมาก ตัวอย่างเช่น ดัชนีการรับรู้
ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564
ในการวางแผนการจัดทำงบประมาณปี พ.ศ. 2564 สำนักงบประมาณได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น โดยยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จะเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ เพื่อเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
ประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ที่หน่วยงานภาครัฐต้องให้ความสำคัญในลำดับแรก และเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ (เนื่องจากค่าเป้าหมายของประเด็นดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ค่อนข้างมาก) รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้อย่างมีเสถียรภาพ ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังของประเทศ ดังนี้
1.ด้านความมั่นคง
สร้างความปลอดภัย และความมั่นคงให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความมั่นคง ปลอดภัย
การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ อย่างเป็นระบบ/ ผ่านความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศทุกภูมิภาคในการปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงานและประชากรกลุ่มเสี่ยง/ โดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งครอบครัว สถานศึกษา สถานประกอบการ และหาวิธีการที่จะไม่ให้ผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการบำบัด รักษา ฟื้นฟูแล้ว กลับไปเสพยาอีก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ โดยการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และการยอมรับในสังคม
แก้ไขปัญหาเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เป็นระบบและมีเอกภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการโดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้ง “โครงการจิตอาสาพระราชทาน” เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคง ทั้งภายในประเทศและในเขตพื้นที่ชายแดน
2
.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การพัฒนาภาคการเกษตร ให้มีผลิตภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยการพัฒนาเกษตรปลอดภัย ส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบบเกษตรกรรม ยั่งยืน เช่น เกษตรผสมผสานเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงเกษตรอินทรีย์วิถีชาวบ้านเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์มีการควบคุมมาตรฐานการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐาน GAP และการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันพัฒนาความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรให้สามารถใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ บางส่วนต้องอาศัย การปรับปรุงคุณภาพดิน การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในไร่นา การขยายเขตชลประทาน รวมทั้งต้องสร้างสมรรถนะให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของตลาด ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เหมาะสมกับภูมิสังคม ต้องมีการทำ Zoning การปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตร เพื่อให้ Demand – Supply ของผลผลิตเกิดความสมดุล การพัฒนาเกษตรชีวภาพ โดยส่งเสริมการผลิตการแปรรูป การพัฒนาสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการนำวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมและพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สินค้าโภชนาเภสัช ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขยายสู่ตลาดอุตสาหกรรม การพัฒนาเกษตรแปรรูป โดยใช้วัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตรในการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัย สร้างความแตกต่างของสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การสร้างตราสินค้า เครื่องหมายการค้า การปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการขยายช่องทางการตลาด การจัดพื้นที่การเกษตร ให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการน้ำและคุณภาพดินตาม Agri – map การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและระบบติดตามเฝ้าระวังเตือนภัยสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านรายได้ของเกษตรกร โดยต้องช่วยกันคิดหาวิธีให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบใหม่และมีความหลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดและลดต้นทุนปัจจัยการผลิต
การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การคาดการณ์เทคโนโลยีอนาคตเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา การสร้างความพร้อมของบุคลากร ซึ่งหากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้บรรลุผลสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างบุคคลากรในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ นักเทคโนโลยีชั้นสูงของแต่ละอุตสาหกรรมไปจนถึงแรงงานฝีมือ ในด้านการผลิตบุคลากรต้องมีการปรับสัดส่วนให้มีการเรียนสายอาชีพมากขึ้น ลดการเรียนสายสามัญ และมีการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากกว่าด้านสังคมศาสตร์ และขอให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และภาคราชการ เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการของภาคเอกชน โดยมีการเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมฯ มีการยกระดับศักยภาพแรงงาน ด้วยการจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเองและปรับเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องให้เกิดความสมดุลในมิติต่าง ๆ เช่น ไม่ทำให้ประเทศอ่อนแอลง ไม่พึ่งพาเทคโนโลยี วัตถุดิบ เครื่องจักร จากต่างประเทศมากเกินไป และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้านการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลัก เมืองรอง และการท่องเที่ยวชุมชนที่มีศักยภาพ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ มุ่งขยายตลาดและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและรายได้สูง ใช้จุดแข็งของความเป็นไทยในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และความพร้อมด้านสถานที่ในการส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมและนิทรรศการนานาชาติ การจัดมหกรรมกีฬานานาชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เหมาะกับภูมิสังคม เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาจไม่จำเป็นต้องมีทางสัญจรขนาดใหญ่ การพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต้องให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีความสามารถทางภาษาที่หลากหลาย นอกเหนือจากการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของไทย
การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น การวิจัยและประยุกต์ใช้นวัตกรรมในภาคการเกษตร เพื่อการลดและเลิกใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การสร้างเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุน การผลิตรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ภาคเกษตร ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ด้านสาธารณสุข เช่น การศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรทางการแพทย์ ด้านสังคม เช่น ศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงบริการพื้นฐาน การเพิ่มความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมต่อ GDP ของประเทศไทยในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ซึ่งในปี 2558 มีสัดส่วนการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของ GDP เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถขับเคลื่อนให้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ทำอย่างไรจะให้ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3
.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นผู้มีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 และครอบครัวมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง และมีความมั่นคง ส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมพ่อแม่ก่อนการตั้งครรภ์ ควบคู่กับการส่งเสริมอนามัยแม่และเด็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ให้แม่มีการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ มีการดูแลตั้งแต่แรกเกิดให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีการคัดกรองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางการเสริมสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กไทยมีคุณธรรม จริยธรรม และภูมิคุ้มกันต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาสร้างกลไกดูแลเด็กแรกเกิดและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่สมวัยอย่างเป็นระบบ โดยอาจใช้กลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน และสถานประกอบการ สำหรับวัยเรียน การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องช่วยกันคิดในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทย เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีคุณภาพต่อไป โดยต้องส่งเสริมการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะด้านภาษา ศิลปะ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจ
การพัฒนาการเรียนรู้ ในการเตรียมคนเพื่ออนาคตใน 20 ปีข้างหน้า ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากการสรรหาความรู้ให้นักเรียน เป็นการพัฒนาให้เด็กมีทักษะในการแสวงหาความรู้และ การเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่มีความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กกล้าฝันเพื่ออนาคต มีการทำงานเป็นทีม บูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เป็นสื่อเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูล โดยต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้มีการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นระบบ ผ่านการมุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ และพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่งเสริมระบบการศึกษาและฝึกอบรมความสามารถทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ
การสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และเพิ่มศักยภาพการจัดการสุขภาวะให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย พัฒนาสื่อเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะที่ถูกต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยสะดวก พัฒนาภาคีเครือข่ายประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและสามารถป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะได้ด้วยตนเอง พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาลและลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ พัฒนายกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การปลูกและการใช้สมุนไพรไทย
4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เพิ่มขึ้นและอย่างต่อเนื่องในประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดย
เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อยกระดับการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรอัจฉริยะ สร้างโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีการจัดการ การบริหารจัดการความเสี่ยง การตลาด การบัญชี การควบคุมต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของชุมชนที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ส่งเสริมการบริหารจัดการหนี้สินอย่างยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การออมและเป็นหลักประกันในการลงทุน พัฒนามาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุนในระบบ ที่มีต้นทุนต่ำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้
ส่งเสริมให้มีกลไกสนับสนุนการผลิตและการตลาดภายในชุมชน พื้นที่ เพื่อให้เกิดการเติบโตและการหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานราก โดยการรวมตัวของสมาชิกในชุมชน และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจหรือกิจการเพื่อสังคม ส่งเสริมระบบแบ่งปันผลกำไรสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบตลาดที่เชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เป็นธรรม พัฒนาช่องทางและศูนย์กลางตลาดสินค้าชุมชน รวมถึงตลาดออนไลน์
พัฒนากลไกการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ โดยพัฒนาฐานข้อมูลที่ดินให้ครอบคลุมทั้งประเทศ สามารถแยกประเภทการใช้ประโยชน์ ผู้ครอบครอง เปิดเผยและสืบค้นได้ พัฒนากลไกการรับฝากที่ดินจากเอกชน และนำมาหมุนเวียนสร้างประโยชน์ให้ผู้มีรายได้น้อย ปรับระบบที่ดินทำกินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ปรับระบบการออกเอกสารสิทธิ์ จัดทำแนวทางการกำหนดสิทธิและการจัดการสิทธิในที่ดินเกษตรให้เหมาะสม/ ปรับระบบบริหารจัดการที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้มีค่า โดยสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ ให้ความรู้ในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร
5.ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การสร้างสภาพแวดล้อมของประเทศให้มีคุณภาพดีขึ้น ต้องเร่งจัดการปัญหามลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และต้องมีการวางแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการจัดการกับปัญหาขยะ ต้องเริ่มจากต้นทาง กล่าวคือ ลดการเกิดขยะ โดยในการจัดการขยะต้องเสริมสร้างความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความสามารถในการจัดการขยะในพื้นที่ได้
การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ที่ผ่านมาประเทศต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำเดิมทุกปี คือ ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้ง ทำอย่างไรประเทศเราจึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จได้ เราต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากนำมารวมกันอาจมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนเพื่อเตรียมการแก้ไขอย่างเป็นระบบล่วงหน้า เรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกับประเทศไทย การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว มีการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้การจัดการน้ำทั้งระบบประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ โดยการพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ให้หน่วยงานภาครัฐนำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ บูรณาการภารกิจภาครัฐและจัดการการเงินการคลังให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
พัฒนาการจัดทำงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
พัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐให้ทันสมัย เปิดกว้าง ยืดหยุ่น เป็นองค์กรขีดสมรรถนะสูง ด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ ( Big Data ) มาใช้ในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ การบริหารจัดการ การให้บริการ และการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ให้ภาครัฐสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้
การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรม ค่านิยมซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้องชอบธรรม รวมทั้งหล่อหลอมวัฒนธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยทุกระดับ ให้สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม มีความละอายต่อการกระทำผิด และไม่เพิกเฉยหรืออดทนต่อการทุจริต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
พัฒนาการบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ พร้อมทั้งมีมาตรการควบคุม กำกับ และติดตาม โดยมีการใช้ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยในการป้องกันและลดการทุจริตและประพฤติมิชอบของหน่วยงาน การลดการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังสอดส่องการทุจริตประพฤติมิชอบ และแจ้งเบาะแส โดยมีมาตรการคุ้มครอง ผู้แจ้งเบาะแสและพยาน
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ ทุกหน่วยงานจะกำหนดแผนงานเพื่อขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ และแผนระดับชาติอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ขอบคุณครับ
-----------------------