http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (14 มกราคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา รัษฎากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิ หรือสมาคม)
2. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการแต่งตั้งและการหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ พ.ศ. ….
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. ….
6. เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563
7. เรื่อง การควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน)
8. เรื่อง แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 – 2564 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
9. เรื่อง การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลัง และการตัดหนี้ค้างชำระคงเหลือเป็นหนี้สูญ
10. เรื่อง รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
12. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
(กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
13. เรื่อง แนวทางการบริหารการนำเข้าสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
ไทย –นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และพันธกรณีตามความตกลงการค้าเสรี ไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)
14. เรื่อง ร่างบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่ทักษะเฉพาะ
15. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 11
16. เรื่อง ร่างความตกลง เลขที่ 173/3/764 -1 ว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทย เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทหารของกระทรวงกลาโหม
แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย
17. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14
18. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารสำหรับการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 12
และการประชุม Berlin Agriculture Minister’s Conference ครั้งที่ 12
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
22. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น
23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทนตำแหน่งที่ว่าง
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งเพิ่มเติม
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กค. เสนอว่า
1. โดยที่มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตาม (จ) ของ (2) แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 ของประมวลรัษฎากร ต่อมาได้ลดอัตราภาษีสำหรับรายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมดังกล่าว เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เหลืออัตราร้อยละ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป
2. ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 เพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมาตรา 11 และมาตรา 12 ได้บัญญัติให้บัญชีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคมอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตาม (จ) ของ (2) แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 ของประมวลรัษฎากร ไปบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทั้งนี้ ตามมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคมตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป และส่งผลให้มูลนิธิหรือสมาคมต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่ง กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มูลนิธิหรือสมาคมเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 2 เช่นเดิม อันเป็นมาตรการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม) ขึ้น ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีให้แก่มูลนิธิหรือสมาคมดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้การลดอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวมีความต่อเนื่องกัน
3. การกำหนดให้มูลนิธิหรือสมาคมยังคงเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เป็นมาตรการถาวรที่ต่อเนื่องตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานเพื่อการกุศลสาธารณะให้มีความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และเป็นการสนับสนุนให้การช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพอันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคมเหลืออัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งนี้ เฉพาะรายได้ส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
2. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการแต่งตั้งและการหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการแต่งตั้งและการหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กต. เสนอว่า
1. เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตสากลที่หลายประเทศใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศ ซึ่งเมื่อบริบทการต่างประเทศและสถานะของไทยในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการดำเนินงานของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ให้สามารถตอบสนองการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุก เป็นเอกภาพ และมีบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ทีมประเทศไทย และในปัจจุบันได้มีระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการแต่งตั้งและการหน้าที่ของพนักงานฝ่ายกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2536 ใช้บังคับ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งพนักงานฝ่ายกงสุลกิตติมศักดิ์ และหน้าที่ของพนักงานฝ่ายกงสุลกิตติมศักดิ์ดังกล่าว
2. เนื่องจากสภาพการณ์ปัจจุบันด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการดำเนินการปฏิรูปการดำเนินงานของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ในมิติอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อให้การแต่งตั้งและการหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์เหมาะสมและสอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเห็นควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงการต่างประเทศตามข้อ 1. ซึ่งเป็นการปรับปรุงในสาระสำคัญเกี่ยวกับการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง หน้าที่ และการสิ้นสุดหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ ตลอดจนค่าตอบแทนสำหรับเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ ดังนี้
2.1 กำหนดกลไกการทำงานในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานกงสุลกิติมศักดิ์ โดยให้มี “คณะกรรมการเสนอรายชื่อและประเมินผลเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทยประจำต่างประเทศ” ซึ่งแต่งตั้งโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ มีอำนาจหน้าที่สรรหา ตรวจสอบคุณสมบัติ เสนอรายชื่อบุคคลและประเมินและรายงานผลการปฏิบัติงานของกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือกงสุลกิตติมศักดิ์ และให้มี “คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งการดำรงตำแหน่ง และการถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทยประจำต่างประเทศ” ซึ่งแต่งตั้งโดย กต. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้ง การต่ออายุวาระการดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุดหน้าที่ การถอดถอน และการพิจารณาผลการประเมิน และรายงานผลปฏิบัติงานประจำปีของกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือกงสุลกิตติมศักดิ์
2.2 กำหนดให้ในการแต่งตั้งและการต่ออายุกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือกงสุลกิตติมศักดิ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งฯ พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการเสนอรายชื่อฯ อาทิ การดำรงตำแห่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเป็นครั้งแรก ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์เท่านั้น สำหรับการเลื่อนฐานะหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจากกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ให้คำนึงถึงผลการดำเนินงาน ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ความอาวุโส ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และการขยายเขตกงสุล เป็นต้น
2.3 กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี โดยกรณี (ก) การแต่งตั้งและเลื่อนฐานะหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการออกสัญญาบัตรตราตั้งต่อไป และ (ข) การสิ้นสุดหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์โดยการถอดถอนให้เสนอมติถอดถอนเพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนมีหนังสือแจ้ง กต. ของรัฐผู้รับ
2.4 กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ในการปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศไทยและหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลสัญชาติไทย
2.5 กำหนดให้เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าตอบแทนในรูปแบบอื่นใดจาก กต. สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ในระหว่างการดำรงตำแหน่งหรือภายหลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง
2.6 ร่างระเบียบกระทรวงฯ ฉบับใหม่นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการห้ามปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายทะเบียนและการตรวจลงตรา ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิกอำนาจการตรวจลงตราและการกระทำนิติกรณ์ของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้งในมิติการให้บริการและด้านอำนวยการ
3. การปรับปรุงระเบียบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการปฏิรูประบบกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในต่างประเทศที่ กต. อยู่ในระหว่างดำเนินการ และยังเป็นร่างระเบียบที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย กต. จึงพิจารณาเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
กำหนดเพิ่มประเภทใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 2 ประเภทคือ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ จ และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ลำดับ |
ใบอนุญาตตามกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551ฯ |
ใบอนุญาตตามร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. |
1. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก |
2. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ข |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ข |
3. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค |
4. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง |
5. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ จ |
6. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน |
7. |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน |
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ |
8. |
|
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน |
9. |
|
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล |
2.
กำหนดเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตสำหรับใบ จ และใบ PE ที่ชำระแก่สำนักงาน ก.ล.ต. ดังนี้
2.1 ค่าพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตสำหรับใบ จ และใบ PE คิดในอัตรา 3 หมื่นบาทต่อใบอนุญาต ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับใบอนุญาตประเภทอื่น
2.2 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
2.2.1 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับใบ จ คิดในอัตรา 5 ล้านบาท โดยหากต่อไปผู้ที่ได้รับใบ จ จะขอใบอนุญาตเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก (ใบ ก) จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 15 ล้านบาท
2.2.2 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับใบ PF คิดในอัตรา 1 ล้านบาท
3.
แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด ต้องแสดงได้ว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลยินยอมให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ขอรับใบอนุญาต
4.
แก้ไขเพิ่มเติมการคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เดิม โดยให้ดำเนินการดังนี้
4.1 กรณีที่เป็นการขอรับใบ ก ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตคืนใบ จ
4.2 กรณีที่เป็นการขอรับใบ จ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และหรือกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
5.
แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของหนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบผู้ขอรับใบอนุญาตให้รองรับการเข้าถึงด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นใดได้
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิต และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิต และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิต และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับปรุงลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่ม สินค้าสุรา และสินค้ายาสูบ เพื่อให้การบริหารจัดการแสตมป์สรรพสามิตเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในด้านการตรวจสอบและการปราบปราม รวมทั้งเพื่อให้มีความยืดหยุ่น มีความเหมาะสม และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้แสตมป์เครื่องดื่มสำหรับเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักร ซึ่งทางชายด้านขวามีตัวอักษรและเลขระบุชนิดแสตมป์ “พิเศษ-04 ก” “พิเศษ-05” “พิเศษ-05 ก” และแสตมป์สุราปรุงพิเศษมาใช้ปิดบนซองยาสูบชนิดอื่นที่ผลิตในราชอาณาจักรนอกจากบุหรี่ซิกาแรตขนาดบรรจุต่ำกว่า 20 กรัม
2. กำหนดลักษณะของแสตมป์สุราสำหรับสุราที่ผลิตในราชอาณาจักร ให้มีสีแสตมป์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งกำหนดให้มีข้อมูลขนาดภาชนะและดีกรีปรากฏบนดวงแสตมป์
3. กำหนดลักษณะแสตมป์สรรพสามิต ให้สามารถทำด้วยทั้งกระดาษสีขาว หรือกระดาษสีขาวและมีกระดาษแผ่นหลังเป็นแบบกลาสซีน หรือวัตถุอื่นที่ใช้แทนกระดาษ
4. เปลี่ยนขนาดแสตมป์ยาสูบสำหรับยาสูบชนิดอื่นที่ผลิตในราชอาณาจักร นอกจากบุหรี่ซิกาแรต ขนาดบรรจุต่ำกว่า 20 กรัม และขนาดบรรจุตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป จากเดิมที่มีขนาด 1.5 x 4.8 เซนติเมตร เป็นขนาด 1.5 x 7.2 เซนติเมตร
5. ปรับปรุงลักษณะแสตมป์เครื่องดื่มสำหรับเครื่องดื่มที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2551 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 เพื่อให้การบังคับคดีของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีมีความรวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับมอบหมาย (บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี) ให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคล จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะบุคคลธรรมดา
2. กำหนดกิจการที่จะมอบหมายให้บุคคลปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ใน 3 เรื่อง ดังนี้
2.1 การประเมินราคาทรัพย์สิน
2.2 การขายทอดตลาดทรัพย์สิน
2.3 การจัดทำบัญชีรับจ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้
3. กำหนดห้ามบุคคลดังต่อไปนี้จะปฏิบัติการเป็นผู้รับมอบหมาย ตามข้อ 2. ไม่ได้
3.1 เป็นผู้มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น
3.2 เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3.3 เป็นญาติของคู่ความฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
ฯลฯ
4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการวางและคืนหลักประกันของผู้รับมอบหมาย โดยเพิ่มประเภทของหลักประกันที่ผู้รับมอบหมายสามารถวางต่อกรมบังคับคดีได้ให้ครอบคลุมถึงสมุดเงินฝากประจำธนาคาร สลากเพื่อการออมทรัพย์ และพันธบัตรรัฐบาล
5. กำหนดหน้าที่ของผู้รับมอบหมาย โดยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับกรมบังคับคดีว่าด้วยจรรยาบรรณของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี พ.ศ. 2558 ด้วย
6. กำหนดหลักเกณฑ์ในการเพิกถอนชื่อผู้รับมอบหมาย
6. เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนด
ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750.00 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 97.91 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 766.01 บาทต่อตันอ้อย และกำหนด
อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 45.00 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เท่ากับ
321.43 บาทต่อตันอ้อย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อให้โรงงานน้ำตาลชำระเงินค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยไปก่อน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจและสร้างรายได้ ซึ่งยังไม่ใช่ราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะได้รับจริง โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติกำหนดราคาและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ในฤดูการผลิตปี 2554/2555 ถึงปี 2561/2562 มาเป็นลำดับ
2. กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ครบถ้วนแล้ว โดยคณะกรรมการบริหารได้จัดทำประมาณการรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่จะผลิตในฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น และมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 (ตามมาตรา 49) และได้จัดให้มีการประชุมผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยและผู้แทนสมาคมโรงงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้าน (ตามมาตรา 50) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ซึ่งสถาบันชาวไร่อ้อยมีข้อคัดค้าน คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 จึงได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 อีกครั้ง และได้มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ได้ปรับปรุงใหม่ แล้วนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ (ตามมาตรา 51) แล้วให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป (ตามมาตรา 52)
7. เรื่อง การควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ.กสท) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้บริษัทที่ตั้งใหม่ใช้ชื่อ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.)” (บริษัท NT) และมีกระทรวงการคลัง (กค.) ถือหุ้นทั้งหมด
2. ให้บริษัท NT ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับในหลักการเดียวกันกับที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ได้รับเมื่อแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
3. ประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ มากำหนดขอบเขตสภาพการจ้าง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. ประเด็นให้บริษัท NT สามารถจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐ (G2G) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท NT ให้ ดศ. พิจารณานำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นการกำหนดให้บริษัท NT เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการทำภารกิจดังกล่าว
6. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 และให้ยุบเลิก บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (บริษัท NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (บริษัท NGDC) โดยให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานที่บริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้กลับเข้าทำงานใน บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ในระดับเดิม และได้สิทธิประโยชน์เท่าที่ได้อยู่เดิมในวันที่ลาออกไปอยู่บริษัท NBN และบริษัท NGDC และให้นับอายุงานต่อเนื่อง
7. เห็นชอบหลักการและแนวทางการถือหุ้นของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ในบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (บริษัท INET) ตามที่เสนอ และให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
8. มอบหมายให้ ดศ. กำกับดูแลและดำเนินการข้างต้นให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ดำเนินการควบรวมบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบทุกเดือนต่อไป
8. เรื่อง แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 – 2564 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 – 2564 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 [แผนระดับที่ 3 : แผนปฏิบัติการฯ] ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว เห็นควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป เห็นควรให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 – 2564 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (แผนปฏิบัติการฯ) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอมาในครั้งนี้เป็นแผนระยะที่ 2 ต่อจากแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2559 – 2561 (แผนระยะที่ 1) ซึ่งสิ้นสุดลงแล้ว โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อด้วยระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน และมีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
ระบบ |
ป้องกันโรค |
ตรวจจับ |
ควบคุมโรค |
สนับสนุน |
ประเด็นยุทธศาสตร์ |
นำมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมาใช้อย่างทั่วถึง |
พัฒนาระบบตรวจจับให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ |
ดำเนินการควบคุมโรคติดต่ออย่างรวดเร็วเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย |
พัฒนา/ปรับปรุงระบบสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการ |
แผนปฏิบัติการ/แนวทางปฏิบัติ |
แผนปฏิบัติการป้องกันโรค 21 แผนปฏิบัติการ เช่น การป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ และโรคติดต่ออันตราย |
- การเฝ้าระวังโรคติดต่อ
- การควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
- การพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข |
- การสื่อสารความเสี่ยง
- ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
- การดูแลรักษาผู้ป่วย |
- การพัฒนากำลังคน
- การติดตามและประเมินผล
- การสนับสนุนและการบริหารจัดการ |
งบประมาณ (ขั้นต่ำ) |
15,246,711,000 บาท |
ระยะเวลาดำเนินการ |
พ.ศ. 2562 – 2564 |
9. เรื่อง การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลัง และการตัดหนี้ค้างชำระคงเหลือเป็นหนี้สูญ
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลัง และการตัดหนี้ค้างชำระคงเหลือเป็นหนี้สูญ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. อนุมัติให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น จำนวน 4 แปลง เพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลัง โดยใช้ราคาประเมินที่ดินที่เป็นปัจจุบัน ส่วนการตัดหนี้ค้างชำระคงเหลือขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นต่อกระทรวงการคลังเป็นหนี้สูญ ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติสภาบริหารคณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 (ตามข้อ 5.12) ที่กำหนดหลักการกรณีหนี้เงินค้างชำระที่กระทรวงการคลังไม่สามารถเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ จำนวนเงินหรือหนี้เกินกว่า 5 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาควบคุมดูแลและติดตามการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีหนี้ค้างชำระที่มีจำนวนสูงจนอาจส่งผลกระทบ หรือเป็นภาระต่อการเงินการคลังของประเทศต่อไปได้
2. ในส่วนของที่ดิน น.ส. 3 จำนวน 2 แปลง ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มแม่น้ำฝาง ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดิน น.ส. 3 ทั้งสองแปลงดังกล่าว ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และเมื่อได้ผลการตรวจสอบที่เป็นที่ยุติแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
10. เรื่อง รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ทั้งนี้ ในการรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปีต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปีก่อน รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขมาพร้อมกันด้วย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.
การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งมียุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์หลักด้านสิ่งแวดล้อม และมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564
2.
สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาของประเทศ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วง พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562
2.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาที่มีสถานการณ์ดีขึ้น ดังนี้
สาขา |
รายละเอียด |
ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน |
ดินที่มีปัญหาที่เกิดตามสภาพธรรมชาติใน พ.ศ. 2561 มีเนื้อที่ร้อยละ 18.72 ของเนื้อที่ประเทศ โดยได้รับการปรับปรุงและฟื้นฟูให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2561 มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตรลดลง พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น |
ทรัพยากรแร่ |
การผลิต การใช้ และการส่งออกแร่ มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2560 โดยแร่ที่มีมูลค่าการผลิตและการใช้สูงที่สุด คือ หินปูน และแร่ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คือ โลหะดีบุก และแร่ยิปซัม |
พลังงาน |
การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.47 การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น |
ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า |
พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น และมีจำนวนจุดความร้อนสะสมลดลง สัตว์ป่าที่สำคัญและเป็นที่น่าสนใจในระดับนานาชาติ มีการกระจายตัวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ป่า 36 ชนิด เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ป่าและช่วยรักษาระบบนิเวศ |
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น และแนวปะการังมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น |
ความหลากหลายทางชีวภาพ |
พื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มขึ้น |
สิ่งแวดล้อมชุมชน |
พื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และจำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครลดลง |
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม |
สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (น้ำตก ภูเขา และถ้ำ) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี |
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ |
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าลดลง |
2.2 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง ได้แก่
สาขา |
รายละเอียด |
พลังงาน |
การนำเข้าพลังงานและการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น |
ทรัพยากรน้ำ |
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลง |
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล มีการกำจัดไม่ถูกต้อง มีแนวโน้มลดลงจาก พ.ศ. 2559 แต่ยังคงพบขยะพลาสติกในขยะทะเล |
สถานการณ์มลพิษ |
คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นและเขตอุตสาหกรรม ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น |
3. ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM
2.5) ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นที่สนใจของประชาชนสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม |
1. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) |
ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2561 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยภาครัฐได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานที่เกิดขึ้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ |
2. ขยะพลาสติก |
ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีจำนวน 27.93 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชนประมาณ 2.0 ล้านตัน สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 0.5 ล้านตัน (ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก) ส่วนที่เหลือจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ล้านตัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 -2573 สำหรับใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายการลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
3. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ |
ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนทีเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีประมาณ 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 ร้อยละ 3.2 โดยส่วนประกอบของของเสียอันตรายร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และร้อยละ 35 เป็นของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการบริโภค (ร่างพระราชบัญญัติฯ ตอไปจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล) |
4. การกัดเซาะชายฝั่ง |
ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่ง ใน พ.ศ. 2560 ประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร มีพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประมาณ 704.44 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 558.71 กิโลเมตร และพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไข 145.73 กิโลเมตร โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยพิบัติรุนแรง และการสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นแม่น้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนหลัก และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายพื้นที่ ครอบคลุมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ |
4. การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในระยะยาว มีผลเกิดจากปัจจัยขับเคลื่อนและแรงกดดันด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนี้
หัวข้อ |
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต |
1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านสังคม |
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคและการขยายตัวของชุมชนและเมือง จะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานเพิ่มขึ้น ความไม่เท่าเทียมในสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น ความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งแปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมผู้สูงอายุ ทำให้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บางประการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมจะมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการสื่อสารออนไลน์ที่รวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
2. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี |
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านพลังงาน การผลิต และการคมนาคมขนส่ง รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลและระบบดิจิทัล จะส่งผลให้เกิดการวางแผนและกระบวนการผลิต ที่มีแนวโน้มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการติดตามและประเมินสถานการณ์มลพิษทางอากาศ จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และทันเหตุการณ์มากขึ้น |
3. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ |
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตในภาคการเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ จะส่งผลให้เกิดความแออัดของแรงงานในพื้นที่แหล่งผลิต เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเร่งจากการลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต จากภาวะการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาระหว่างประเทศของผู้ผลิตน้ำมันส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น |
4. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม |
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ชนิดพันธุ์ที่มีความอ่อนไหวหรือไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจจะค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติ และอาจได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเล พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ในเขตเมือง นอกจากนี้ จะมีแนวโน้มการแข่งขันของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่มีอยู่จำกัด จึงมีแนวโน้มในการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น |
5. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านนโยบาย |
นโยบายของประเทศจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 -2580) และแผนแม่บทต่าง ๆ เนื่องจากมีระบบงบประมาณ นโยบายและแผนต่าง ๆ เป็นกลไกสนับสนุนและกำกับการดำเนินงาน ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างประเทศ เช่น ปัญหาขยะทะเล |
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรการ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก |
มาตรการระยะสั้น ในช่วง 1 – 2 ปี |
1. การลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการในการลดปัญหาที่แหล่งกำเนิด เสริมสร้างระบบการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิดให้มีประสิทธิภาพ ลดความกระจุกตัวของการคมนาคมในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น โดยขยายโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทั้งระบบ กำหนดเขตพื้นที่จำกัดปริมาณรถยนต์ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรถโดยสารสาธารณะอื่น ๆ ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ พิจารณาแนวทางในการใช้มาตรการทางภาษีควบคุมรถยนต์เก่าและส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว กำหนดให้มีรูปแบบการสื่อสาร ควบคุมและสั่งการในภาวะเร่งด่วนที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการซักซ้อมทำความเข้าใจก่อนเกิดเหตุ |
กรมควบคุมมลพิษ
กรุงเทพมหานคร
จังหวัดในพื้นที่ปริมณฑล
กรมการขนส่งทางบก
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
และกรมประชาสัมพันธ์ |
2. การจัดการขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ถูกทิ้งรวมกันและนำไปสู่การกำจัดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ต้องให้ความสำคัญในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทาง การนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์และการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการที่เหมาะสม เน้นการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ก่อนเข้าสู่ระบบการกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยการคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติก ขยะอาหาร และขยะอินทรีย์อื่น ๆ อย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดโอกาสและจูงใจให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการขยะมูลฝอย ส่งเสริมการรวมกลุ่มในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ และปรับบทบาทจากผู้ดำเนินการมาเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล |
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กรมควบคุมมลพิษ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สำนักงานปลัดกระทรวง
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และสำนักงานคณะกรรมการ
การอาชีวศึกษา |
3. การพัฒนาระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผน การติดตามประเมินผล รวมถึงการสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ควรประกอบด้วยสถานการณ์และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมตามตัวชี้วัดของแผนต่าง ๆ ข้อมูลองค์ความรู้และแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม และข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมให้เป็นเอกภาพ มีความทันสมัย และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะระบบข้อมูลที่แสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ๆ ของประเทศ |
สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
4. การพัฒนาและยกระดับระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อเป็นกลไกที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ SEA ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติมากนัก รวมทั้งควรมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาหรือการฝึกอบรมด้าน SEA |
สำนักงานสภาพัฒนา
การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน
และการเหมืองแร่
และกรมทรัพยากรธรณี |
มาตรการ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก |
มาตรการระยะยาวในช่วง 3 – 10 ปี |
1. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยดำเนินการพัฒนาคุณภาพของคนให้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภค ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมปรับปรุงกลไกและพัฒนาเครื่องมือในการสื่อสาร |
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมประชาสัมพันธ์
กรมควบคุมมลพิษ
และกรมโรงงานอุตสาหกรรม |
2. การส่งเสริมระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควรมีการส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560 – 2564 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและบริการ |
กรมควบคุมมลพิษ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
และกรมบัญชีกลาง |
3. การศึกษาและพัฒนาระบบการอนุญาตปล่อยมลพิษ เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ควบคุมดูแลการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมหรือจากเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยควรมีองค์กรกลางที่มีใบอนุญาตทำการตรวจสอบรับรอง และรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษผู้ปล่อยมลพิษหรือลักลอบทิ้งของเสียอันตราย กำหนดความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมทบทวนการประกาศและยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ โดยพิจารณาจากข้อมูลระดับมลพิษและศักยภาพในการจัดการมลพิษของแต่ละพื้นที่ |
กรมควบคุมมลพิษ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
4. การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต เป็นการช่วยแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาดจากการขยายตัวของการบริโภค รวมทั้งช่วยจัดการปัญหาด้านขยะมูลฝอย โดยควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้มีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ทั้งทางด้านภาษีสิ่งแวดล้อมและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการเปลี่ยนขยะหรือเศษวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน ส่งเสริมการดำเนินงานที่ใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตให้มีการสูญเสียหรือกลายเป็นวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด หรือสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมเพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม
กรมพัฒนาพลังงานทดแทน
และอนุรักษ์พลังงาน
และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |
5. การพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างความร่วมมือ ความเจริญ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี เกิดการประสานข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ดีขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมการรวมตัวในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นภาคีความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยะทะเล หมอกควันจากไฟป่า สิ่งแวดล้อม เมืองที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่และระหว่างพื้นที่ |
สศช.
สำนักงานนโยบายและแผน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช
กรมพัฒนาที่ดิน
และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย |
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ตามเงื่อนไขประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบให้คณะกรรมการ บมจ. กสท โทรคมนาคม และคณะกรรมการ บมจ. ทีโอที เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่และอนุมัติงบประมาณให้เป็นไปตามเงื่อนไขประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง โดยให้พิจารณาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม รวมทั้งความสอดคล้องกับแผนธุรกิจและนโยบายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที และในกรณีที่เป็นผู้ชนะการประมูลก็ให้สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกิดจากการประมูลดังกล่าว ซึ่งมีกรอบระยะเวลาจำกัดตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในอัตราที่กำหนด การลงทุนเบื้องต้นตามภาระผูกพัน เป็นต้น
3. สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในส่วนที่เหลือนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่ต้องชำระภายในกำหนด และการลงทุนในโครงการตามภาระผูกพันในระยะต่อไป ให้รัฐวิสาหกิจนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการต่อไป โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ออกประมูล เป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลก อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ และรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการให้บริการ 5G ในประเทศไทยตามนโยบายรัฐที่ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและด้านบริการอันจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งในปี 2568 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที จะหมดอายุ และจะไม่มีคลื่นความถี่อื่น ๆ รองรับการให้บริการของทั้งสองบริษัท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและภาพลักษณ์ของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมของรัฐ รวมทั้งยังส่งผลต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ “my” ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านเลขหมาย ในปัจจุบัน ดังนั้น ทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที จึงมีความจำเป็นในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ที่สำนักงาน กสทช. จะนำออกประมูล
12. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 7 รายการ (ภายใต้โครงการ จำนวน 5 โครงการ) วงเงินรวม 4,065.0738 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้วพบว่า กรมชลประทานมีรายการที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไปที่จำเป็นต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 7 รายการ (ภายใต้โครงการ จำนวน 5 โครงการ) มีรายละเอียด ดังนี้
1.
โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
1.1 เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท โดยมีรายการที่จำเป็นต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณเกินหนึ่งพันล้านบาท จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการงานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 3 และ รายการ งานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 4 มีรายละเอียด ดังนี้
*จำนวน : ล้านบาท*
ลำดับ |
รายการ
(งานขุดคลองระบายน้ำหลาก
พร้อมอาคารประกอบ) |
ปีงบประมาณ |
รวม |
2564 |
2565 |
2566 |
1 |
สัญญาที่ 3 |
746.6266 |
1,493.2532 |
1,493.2532 |
3,733.1330 |
2 |
สัญญาที่ 4 |
676.2000 |
1,352.4000 |
1,352.4000 |
3,381.0000 |
รวม สัญญาที่ 3 - 4 |
1,422.8266 |
2,845.6532 |
2,845.6532 |
7,114.1330 |
1.2 ความพร้อมของโครงการ
1) ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ
2) ความก้าวหน้าด้านที่ดิน ทั้งหมด 880 แปลง ดำเนินการปักหลักเขตแล้วเสร็จ รังวัดที่ดินแล้ว 726 แปลง อยู่ระหว่างตรวจสอบทรัพย์สิน 503 แปลง โดยได้ดำเนินการจ่ายค่าที่ดินและค่ารื้อย้ายสิ่งก่อสร้างแล้ว 79 แปลง เนื้อที่ 316-2-3 ไร่ (188,459,916.75 บาท) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อขอเวนคืนที่ดิน
2. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช
2.1 เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 วงเงินงบประมาณรวม 9,580 ล้านบาท โดยมีรายการที่จำเป็นต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณเกินหนึ่งพันล้านบาท จำนวน 1 รายการ ได้แก่ รายการคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ มีรายละเอียด ดังนี้
*จำนวน : ล้านบาท*
ลำดับ |
รายการ
|
ปีงบประมาณ |
รวม |
2564 |
2565 |
2566 |
1 |
คลองระบายน้ำและอาคารประกอบ |
550.2800 |
938.2269 |
1,262.8931 |
2,751.4000 |
2.2 ความพร้อมของโครงการ
1) ความก้าวหน้าด้านที่ดินทั้งหมด 761 แปลง ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแล้ว 456 แปลง (จ่ายค่าทดแทนแล้ว 92 แปลง และมีบัญชีรอจ่ายค่าทดแทน 104 แปลง)
2) การขออนุญาตใช้พื้นที่ ไม่มีพื้นที่ของรัฐที่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่
3.
โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
3.1 เป็นโครงการที่บรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้แก่ราษฎร และมีความจำเป็นเร่งด่วน
ตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี วงเงินรวมประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยมีรายการที่จำเป็นต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณเกินหนึ่งพันล้านบาท จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 พร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 และ รายการงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 พร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 2 มีรายละเอียด ดังนี้
*จำนวน : ล้านบาท*
ลำดับ |
รายการ
(งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ
D1 พร้อมอาคารประกอบ) |
ปีงบประมาณ |
รวม |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 |
2568 |
1 |
สัญญาที่ 1 |
772.0000 |
873.5663 |
984.3000 |
984.3000 |
245.8337 |
3,860.0000 |
2 |
สัญญาที่ 2 |
640.0000 |
724.2000 |
816.0000 |
816.000 |
203.8000 |
3,200.0000 |
รวม สัญญาที่ 1 – 2 |
1,412.0000 |
1,597.7663 |
1,800.3000 |
1,800.3000 |
449.6337 |
7,060.0000 |
3.2 ความพร้อมของโครงการ
1) ในคราวการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเตรียมความพร้อมของโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ในการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วม กระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้างและเตรียมความพร้อมของโครงการ ในทุกมิติให้แล้วเสร็จ ซึ่งกรมชลประทานอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติข้างต้น
2) รายงานศึกษาวางโครงการพิเศษ (Special Study Report) แล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2562 โดยไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
3) แผนดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมชลประทาน
จะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วม กระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้าง และการสำรวจ-ออกแบบ และในส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมชลประทานมีแผนงานเริ่มก่อสร้างโครงการ
4.
โครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน
4.1 เป็นโครงการที่บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและปัญหาขาดแคลนน้ำ
ให้แก่ราษฎรซึ่งโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วน ตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,875 ล้านบาท โดยมีรายการที่มีวงเงินงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 รายการ ได้แก่ รายการปรับปรุงคลองยม – น่านและอาคารประกอบ สรุปได้ดังนี้
*จำนวน : ล้านบาท*
ลำดับ |
รายการ |
ปีงบประมาณ |
รวม |
2564 |
2565 |
2566 |
1 |
ปรับปรุงคลองยม – น่าน
และอาคารประกอบ |
379.9672 |
591.5539 |
928.3149 |
1,899.8360 |
4.2 ความพร้อมของโครงการ
1) รายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2547
2) ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2560
3) ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จำนวน 38 ครั้ง พบว่า ราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ
5.
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี
5.1 เป็นโครงการที่บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎร และมีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2581) วงเงินรวมประมาณ 6,400 ล้านบาท โดยมีรายการที่จำเป็นต้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณเกินหนึ่งพันล้านบาท จำนวน 1 รายการ ได้แก่ รายการเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น มีรายละเอียด ดังนี้
*จำนวน : ล้านบาท*
ลำดับ |
รายการ
|
ปีงบประมาณ |
รวม |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 |
1 |
เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น |
300.000 |
419.3328 |
419.3328 |
361.3344 |
1,500.000 |
5.2 ความพร้อมของโครงการ
1) รายงานศึกษาความเหมาะสม (FS) แล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2559
2) รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยได้ดำเนินการปรับแก้รายงานตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการฯ พิจารณา
3) ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) จำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป จำนวน 7 รายการ (ภายใต้โครงการ จำนวน 5 โครงการ) วงเงินรวม 4,065.0738 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
13. เรื่อง แนวทางการบริหารการนำเข้าสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และพันธกรณีตามความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และมันฝรั่ง ภายใต้พันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement - TNZCEP) และพันธกรณีความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (The Thailand-Australia Free Trade Agreement - TAFTA) ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
สาระสำคัญ ดังนี้
1. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมาโดยมีสินค้าเกษตรบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหว อยู่ภายใต้กลุ่มสินค้าที่ยังคงมีการใช้โควตาภาษี (TRQ) กำหนดปริมาณในโควตาและอัตราภาษีในโควตาในการนำเข้าแต่ละปี ทั้งนี้ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดระยะเวลาโควตาภาษีและเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ในปี 2563
1.1 ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) สินค้าที่จะเปิดเสรี คือ มันฝรั่งสดหรือแช่เย็น เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหอมหัวใหญ่
1.2 ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) สินค้าที่จะเปิดเสรี คือ มันฝรั่งสดหรือแช่เย็น
2. หลักเกณฑ์การนำเข้าตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP)
เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และสินค้าหอมหัวใหญ่
(1) ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่/หอมหัวใหญ่ ไว้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี ตามแบบคำขอขึ้นทะเบียนที่กำหนด (แบบ ทอ.7)
(2) ผู้นำเข้าต้องขอหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ ตามหลักเกณฑ์/ระเบียบที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กำหนด
(3) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตและแปรรูปในกิจการของตนเอง และห้ามจำหน่ายโอนเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่/หอมหัวใหญ่
(4) ให้นำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านอาหารและยา หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่
โดยให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองรายงานการนำเข้าตามระเบียบ/ประกาศที่กำหนดหลังการนำเข้าสินค้าในแต่ละครั้ง ตามแบบรายงานการนำเข้าที่กำหนดในแต่ละความตกลง
3. หลักเกณฑ์การนำเข้าตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และพันธกรณีตามความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)
สินค้าหัวพันธุ์มันฝรั่งและมันฝรั่ง
(1) ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามันฝรั่งไว้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี ตามแบบคำขอขึ้นทะเบียนที่กำหนด (แบบ ทอ.7)
(2) ผู้นำเข้าต้องขอหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ ตามหลักเกณฑ์/ระเบียบที่ พณ. กำหนด
(3) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตและแปรรูปในกิจการของตนเอง และห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหัวพันธุ์มันฝรั่ง/มันฝรั่ง
(4) ให้นำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านอาหารและยา หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่
โดยให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองรายงานนำเข้าตามระเบียบ/ประกาศที่กำหนดหลังจากการนำเข้าสินค้าในแต่ละครั้ง ตามแบบรายงานการนำเข้าที่กำหนดในแต่ละความตกลง
14. เรื่อง ร่างบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่ทักษะเฉพาะ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นกับกระทรวงแรงงาน (รง.) ราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ (Draft of Memorandum of Cooperation between the Ministry of Justice, the Ministry of Foreign Affairs, the Ministry of Health, Labour and Welfare and the National Police Agency of Japan and the Ministry of Labour of the Kingdom of Thailand on a Basic Framework for Information Partnership for Proper Operation of the System Pertaining to Foreign Human Resources with the Status of Residence of “Specified Skilled Worker” : MOC) โดยอนุมัติให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของบันทึกความร่วมมือฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของร่างบันทึกความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดส่งและการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างราบรื่น แก้ไขปัญหาในการส่งและการรับแรงงาน และปัญหาของการพำนักอยู่ในญี่ปุ่นของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยมีกรอบความร่วมมือ (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล : แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือจำเป็นเร่งด่วนต่อกระบวนการส่ง – รับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับประเภทอุตสาหกรรมที่มีความต้องการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และที่เกี่ยวกับการดำเนินการขององค์กรกลาง (Intermediary Organization) ทั้งที่เป็นบุคคลหรือองค์กรในประเด็นที่เกี่ยวข้อง (2) การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและประเด็นอื่น ๆ
ทั้งนี้ กระทรวงและหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทย โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของประเทศญี่ปุ่น เช่น (1) จะต้องรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมตามที่กำหนดไว้ จำนวน 14 สาขา (เช่น ผู้อนุบาลงานจัดการความสะอาดอาคาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมก่อสร้าง เกษตรกรรม การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น)
สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน (ประเทศไทย) มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทย โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เช่น (1) จัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยโดยผ่านช่องทางการจัดส่งของกรมการจัดหางาน บริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างในประเทศไทยพาไปทำงาน หรือโดยการแจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง (2) อนุญาตให้องค์กรกลาง (Intermediary Organization) จัดเก็บค่าบริการได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ กำหนด
15. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 11 และให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 11 และมอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 11 (ASEAN Ministerial Meeting on Rural Development and Poverty Eradication: AMRDPE) ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุม AMRDPE ครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมเพื่อแสดงถึงความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
1.เรียกร้องให้ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและเตรียมการสำหรับแผนปฏิบัติการปี ค.ศ. 2020 – 2025 และพัฒนาผลลัพธ์ของแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 แผนปฏิบัติการการติดตามและประเมินผล และแผนงาน Smart ASEAN Socio – Cultural Community
2. ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนในอาเซียนผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือข้ามสาขา การเสริมสร้างนวัตกรรมที่ครอบคลุมและการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและสร้างความเข้มแข็งในทุกระดับ
3. เน้นย้ำความสำคัญของความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุในการปรับปรุงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอาเซียน
4. ยกย่องความมุ่งมั่นของประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนในการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยทำงานแบบข้ามเสา เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน รวมถึงการศึกษาเรื่อง ความเป็นเมืองการเคลื่อนย้ายของผู้คนและการพัฒนาที่ครอบคลุมไปถึงเมือง – ชนบทในอาเซียน และความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการบูรณาการเรื่องเพศสภาวะในการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน
5. สนับสนุนให้ทุกประเทศสมาชิกทบทวนลำดับความสำคัญของกลุ่มวิสัยทัศน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และวางแผนร่วมกันเพื่อความต่อเนื่องของเมือง – ชนบท และส่งเสริมการเชื่อมโยงชายแดน เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพและลดช่องว่างการพัฒนาโดยร่วมมือกับประเทศบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น)
6. เริ่มต้นศึกษาเรื่องความสำคัญในการลดช่องว่างการพัฒนาในบริบทของการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และการประชุมสัมมนาการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียน – จีน – สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ครั้งที่ 5 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีจีนเป็นผู้สนับสนุน
ทั้งนี้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์พร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 12 ในปี 2564
16. เรื่อง ร่างความตกลง เลขที่ 173/3/764 -1 ว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทยเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทางทหารของกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม (กห.) จัดทำความตกลง เลขที่ 173/3/764-1 ว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทยเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทางทหารของกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (ร่างความตกลงฯ) และให้ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ร่วมลงนามในร่างความตกลงฯ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างความตกลงฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ให้ กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
ร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งกำลังพลของไทยไปเข้ารับการฝึกศึกษาในหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะเสนอรายชื่อหลักสูตรที่ต้องการส่งกำลังพลเข้ารับการศึกษาให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียพิจารณาภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี โดยจะแจ้งรายชื่อหลักสูตรที่สามารถสนับสนุนที่นั่งศึกษาได้ให้ฝ่ายไทยทราบภายในวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เพื่อเข้ารับการศึกษาหลักสูตรเตรียมความพร้อมและภาษารัสเซีย ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นระยะเวลา 10 เดือน ก่อนเข้าศึกษาหลักสูตรทางทหารต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายรัสเซียได้แจ้งว่านายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้อนุมัติให้ไทยอยู่ในกลุ่มมิตรประเทศที่สามารถได้รับทุนการศึกษาแบบให้เปล่า โดยเฉพาะหลักสูตรนักเรียนนายร้อยสหพันธรัฐรัสเซีย สำหรับหลักสูตรอื่นจะพิจารณาเป็นรายกรณี
ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1) เนื้อหาของความตกลง 2) ข้อกำหนดในการฝึกอบรม 3) การสมัครเข้ารับการฝึกอบรมและรายชื่อผู้สมัคร 4) การลงนามในผนวกแนบท้ายความตกลง 5) การคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม 6) หนังสือเดินทางตรวจลงตราและการลงทะเบียน 7) การสนับผู้เข้ารับการฝึกอบรม 8) ประกาศนียบัตรรับรองการฝึกอบรม 9) ความรับผิดชอบของผู้เข้ารับการฝึกบอรม 10) การปฏิบัติตามข้อบังคับด้านการรักษาความปลอดภัย 11) การยุติข้อพิพาท และ 12) การมีผลใช้บังคับของความตกลง
17. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาสมัยที่ 14 (National Preparatory Committee – NPC) ตามองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – UN Crime Congress) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ได้เชิญรัฐบาลไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (UN Crime Congress) ระหว่างวันที่ 20 – 27 เมษายน 2563 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
กำหนดการประชุมที่สำคัญ การหารืออย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 19 เมษายน 2563 และการประชุมระดับสูงภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing crime prevention, criminal justice and the rule of law : towards the achievement of the 2030 Agenda” ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2563 โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญตามระเบียบวาระการประชุมได้แก่ (1) Crime prevention (2) Criminal justice system (3) Rule of law และ (4) International cooperation and technical assistance ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณารับรองร่างปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) เป็นเอกสารผลลัพธ์
สำหรับการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 14 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาชญากรรม (NPC) ในลักษณะเดียวกับการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 13 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นและแนวโน้มที่สำคัญด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์และท่าทีไทยในการเจรจาประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์หลักของประเทศ ฯ
18. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงข่าวร่วมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งจะเป็นร่างผลลัพธ์ของการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 39 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงข่าวร่วมฯ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ รวมทั้งอนุมัติให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสิรภพ ดวงสอดศรี) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนและร่วมรับรองร่างแถลงข่าวร่วมฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 39 ณ เมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวแห่งบรูไนดารุสซาลามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
การท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 39 (ASEAN Tourism Forum: ATF 2020) ระหว่างวันที่ 12 – 16 มกราคม 2563 ณ เมืองบันดาเสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ระหว่างวันที่ 15 – 16 มกราคม 2563 ประกอบด้วย (1) การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 23 ในวันที่ 15 มกราคม 2563 (2) การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 8 ในวันที่ 16 มกราคม 2563 และ (3) การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ครั้งที่ 19 ในวันที่ 16 มกราคม 2563 โดยในการเตรียมการจัดการประชุมดังกล่าว เลขาธิการอาเซียนด้านการท่องเที่ยวในฐานะฝ่ายเลขานุการการประชุมฯ ได้ยกร่างแถลงข่าวร่วม (Joint Media Statement) ซึ่งจะเป็นร่างผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนดังกล่าวในการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 39 และจะมีการแถลงข่าวร่วมกันของรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในวันที่ 16 มกราคม 2563
ทั้งนี้ การประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Forum: ATF) เป็นความร่วมมือกันภายในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้เป็นจุดหมายปลายทางเดียว (One Destination) โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้นจะเวียนกันตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารสำหรับการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 12 และการประชุม Berlin Agriculture Minister’s Conference ครั้งที่ 12
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารรวม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างเอกสารแถลงการณ์ (First draft GFFA Communique 2020) และ (2) เอกสาร FAO-Concept Note for an International Digital Council for Food and Agriculture ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตร (Berlin Agriculture Minister’s Conference) ครั้งที่ 12 โดยอนุมัติในหลักการว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ
1. ร่างเอกสารแถลงการณ์ฯ ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้ 1) การค้าที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของโลก 2) การทำงานร่วมกันทางด้านการค้า เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร 3) การทำห่วงโซ่คุณค่าทางอาหาร ครอบคลุม ยั่งยืน และปลอดภัย 4) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกฎระเบียบที่เป็นธรรมในการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร การทำการเกษตรที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร การบรรเทาความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมและสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและการส่งเสริมด้านการเกษตรเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการเกษตร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำการเกษตร การเพิ่มบทบาทของสตรี เกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรแบบครอบครัวในภาคเกษตรเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชนบท ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมความปลอดภัยอาหาร โดยมิให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช และการดำเนินการตามมาตรฐานสากล ทั้ง Codex, OIE และ IPP รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขของ WTO
2. เอกสาร FAO-Concept Note for an International Digital Council for Food and Agriculture จัดทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตร ครั้งที่ 11 ในระหว่างการประชุม GFFA 2019 ประกอบด้วย แนวทางการพัฒนาด้านการเกษตร กรอบการดำเนินการ ซึ่งได้มีการพัฒนาผ่านองค์กรระหว่างประเทศ หรือโครงการต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการทำงานขึ้นใหม่เกี่ยวกับสภาดิจิทัลระหว่างประเทศว่าด้วยอาหารและการเกษตร เพื่อเป็นเวทีในการขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในการแก้ไขความท้าทายในเรื่องความมั่นคงอาหาร ความอดอยากหิวโหย สุขภาพ ระบบเกษตรและอาหารที่ทั่วถึงและยั่งยืนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยเอกสาร FAO-Concept Note ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนแล้ว
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นางรำไพ เกียรติอดิศร นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2562
2.
นายไพบูลย์ อัศวธนบดี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2562
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นายกรณินทร์ กาญจโนมัย ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2562
2.
นายสมมิตร โตรักตระกูล ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2562
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ รวม 23 คน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รวม 6 ข้อ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
องค์ประกอบ
รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นที่ปรึกษา นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 นายประสาท สืบค้า นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย และนางเนตรชนก วิภาตะศิลปิน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการประกอบด้วย หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานประเทศไทย ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานสถาบันไทยโคเซ็นและสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาไทยในการไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น
2. บริหารโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นและกำกับดูแลแผนปฏิบัติการและงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมของสถาบันการศึกษารูปแบบโคเซ็นในประเทศไทย เพื่อสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ (practical engineers) และนวัตกรคุณภาพ ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเชิงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (ตามนัยข้อ 1) เพื่อให้ได้วิศวกรนักปฏิบัติและนวัตกรคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ในประเทศและภูมิภาค
3. ดำเนินการและกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค
4. สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม ให้ประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานแบบบูรณาการ
5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และ/หรือ คณะทำงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานการศึกษารูปแบบโคเซ็นในประเทศไทย เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางที่กำหนดไว้ในข้อ 1.
6. อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ จำนวน 4 คน ดังนี้ 1. นายสมภพ อมาตยกุล 2. นายปรัชญา เวสารัชช์ 3. นายพงศ์โพยม วาศภูติ 4. นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.
นายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3.
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่ง ที่ว่าง
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) เสนอแต่งตั้ง
นายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ขอลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ จำนวน 12 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2. นายวิจารย์ สิมาฉายา ด้านสิ่งแวดล้อม
3. นายศศิน เฉลิมลาภ ด้านทรัพยากรธรณี
4. ศาสตราจารย์เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล
5. รองศาสตราจารย์อรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ ด้านเศรษฐศาสตร์
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ด้านนิติศาสตร์
7. นายนิวัติ ธัญญะชาติ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 1 ระยอง จันทบุรี ตราด)
8. นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 2 ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม)
9. นายมนูญ คุ้มรักษ์ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 3 เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี)
10. นายสุไลมาน ดาราโอะ ด้านการประมง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 4 นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส)
11. นายธนู แนบเนียร ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 5 ระนอง พังงา ภูเก็ต)
12. นายบรรจง นฤพรเมธี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 6 กระบี่ ตรัง สตูล)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทนตำแหน่งที่ว่าง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง
นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมแทนกรรมการเดิมที่ลาออก ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. นางศรีวณิก หัสดิน เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ
2. นายอัศม์เดช วานิชชินชัย เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ
3. นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ และผู้แทนกระทรวงการคลัง
4. นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
5. นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์
6. พลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง คือเท่ากับวาระของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันที่คงเหลืออยู่
******************