http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (24 ธันวาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. ….
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ)
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการ ดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)]
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตาม มาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ. ….
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าชลประทาน การจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทานและการยกเว้นและการผ่อนชำระค่าชลประทาน พ.ศ. ….
8. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5
(บึงกาฬ – บอลิคำไซ)
9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ)
10. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563
11. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567)
12. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2563 สำหรับประชาชน จากกระทรวงคมนาคม
13. เรื่อง โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2563 ของกระทรวงพลังงาน
14. เรื่อง การจัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อมอบให้ประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2563 (มท.)
15. เรื่อง มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
16. เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อต่ออายุกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง(กระทรวงแรงงาน)
23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
24. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
25. เรื่อง เพิ่มเติมองค์ประกอบผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
27. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร.
0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
1. กำหนดบทนิยาม “คนต่างด้าว” “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” “ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะ” “คณะกรรมการ” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่”
2. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง” ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ ให้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวเพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งพิจารณาอุทธรณ์การยกคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศและนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและวิธีการแก้ไขและป้องกันปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ อาจขอให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น คำแนะนำทางวิชาการ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
4. กำหนดให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และมีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
5. กำหนดให้การคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครองเป็นไปตามที่กำหนด เช่น
5.1 ในระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือตามระเบียบนี้ หากพบคนต่างด้าวที่อ้างตนว่ามีเหตุสมควรจะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้ชะลอการส่งตัวคนต่างด้าวนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
5.2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า คนต่างด้าวรายใดไม่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบนี้ ให้ยกคำร้องขอและแจ้งผลการพิจารณาให้คนต่างด้าวทราบ โดยคนต่างด้าวนั้นอาจอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
6. กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าคนต่างด้าวมีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้แจ้งคนต่างด้าวนั้นเพื่อยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกเอกสารแสดงสถานะเป็นผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะแก่คนต่างด้าวนั้น ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง พนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตให้ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ที่เห็นสมควร โดยให้คำรับรองว่าจะมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบคำสั่งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดระหว่างรอการพิจารณาให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองก็ได้
7. กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักความเป็นเอกภาพของครอบครัว สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอ พันธกรณีระหว่างประเทศ และนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย
8. กำหนดให้เมื่อคนต่างด้าวได้รับสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครอง เช่น
8.1 ไม่ส่งตัวผู้ได้รับการคุ้มครองกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนา เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ได้รับการคุ้มครองนั้นประสงค์จะกลับออกไปนอกราชอาณาจักรด้วยความสมัครใจ หรือมีเหตุที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
8.2 ให้ความช่วยเหลือในการกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาตามความสมัครใจ เมื่อเหตุแห่งการที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้สิ้นสุดลง หรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานเพื่อให้ผู้ได้รับการคุ้มครองสามารถเดินทางไปประเทศที่จะพำนักต่อไปได้
8.3 ดำเนินการตามสมควรเกี่ยวกับการให้การศึกษาแก่ผู้ได้รับการคุ้มครองที่เป็นเด็กและการสาธารณสุข ทั้งนี้ ตามกฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
9. กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครองตามที่คณะกรรมการกำหนด และแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครอง
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
รง. เสนอว่า
1. โดยที่สภาพการณ์สังคมในปัจจุบันผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประชากรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ และเพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุให้มีความยั่งยืนในการดำรงชีวิต จึงสมควรขยายคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน
จาก “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และ
ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และ
ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์” โดยมีเจตนารมณ์ในการรองรับกลุ่มประชากรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการประกันสังคมภาคสมัครใจได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน
2. ประกอบกับมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดให้บุคคลใดอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 20/2561 วันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการขยายอายุของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จาก ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็น ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เห็นชอบในหลักการและสั่งการให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ รง. และคณะกรรมการฯ ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จแล้ว
4. รง. ได้จัดทำรายงานข้อมูลตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย รายละเอียดโครงการ ประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ กรณีการขยายอายุของบุคคลเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็น 65 ปี โดยประมาณการจากข้อมูลประชากรเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 61 – 65 ปี และอัตราที่มีการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยเก็บข้อมูลจากสถิติการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพศชาย ร้อยละ 1.40 เพศหญิง ร้อยละ 1.75 เท่ากับจำนวนผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คิดเป็นจำนวนประมาณการในปี 2563 จำนวน 63,768 คน จำนวนเงินโดยประมาณ รวมทั้งสิ้น 45,147,600 บาท สรุปได้ดังนี้
4.1
สมัครทางเลือกที่ 1 (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท) จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าอัตราการสมัครยังมีจำนวนน้อย จึงประมาณการว่าผู้สูงอายุน่าจะสมัครทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 (รายใหม่) มากกว่าสมัครทางเลือกที่ 1
4.2
สมัครทางเลือกที่ 2 (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท) จำนวน 58,029 ราย รัฐบาลสมทบ 50 บาท คาดว่าจะจ่ายทุกเดือนในแต่ละปี (12 เดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,817,400 บาท (58,029 ราย x 50 บาท x 12 เดือน)
4.3
สมัครทางเลือกที่ 3 (ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท) จำนวน 5,739 ราย รัฐบาลสมทบ 150 บาท คาดว่าจะจ่ายทุกเดือนในแต่ละปี (12 เดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,330,200 บาท (5,739 ราย x 150 บาท x 12 เดือน)
อย่างไรก็ตาม การขยายอายุของบุคคลเป็นผู้ประกันตนตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะทำให้ผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพอิสระและเป็นแรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงตามนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในทุกมิติ) อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้บุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน
จากเดิม “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์
และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์
และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์”
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการศึกษา โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)]
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)] ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (มาตรการพี่ช่วยน้อง) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้เงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินชดเชยดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งพันบาท
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
1. กำหนดให้การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และต้องดำเนินการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์หรือซากสัตว์เฉพาะในอาณาเขตท่าเข้าหรือท่าออกเท่านั้น
2. กำหนดให้อำนาจอธิบดีออกประกาศกำหนดพื้นที่ตรวจโรคและทำลายเชื้อโรคสำหรับสัตว์หรือซากสัตว์ภายในบริเวณท่าเข้าหรือท่าออกเพื่อใช้ทำลายเชื้อโรค และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์หรือซากสัตว์เป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าหรือสัตวแพทย์ประจำท่าออกสั่งให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ของกรมปศุสัตว์ เพื่อสังเกตอาการของโรคระบาดสัตว์
3. กำหนดให้ผู้ประสงค์จะนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์หรือซากสัตว์ ต้องยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าตรวจสอบหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ซึ่งออกโดยสัตวแพทย์ของประเทศที่นำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นมา และตรวจเอกสารหรือหลักฐานประกอบการนำเข้า ตรวจสอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ชนิดและจำนวนสิ่งห่อหุ้มหรือกักขังว่าเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ก่อนอนุญาตให้นำสัตว์ออกจากพื้นที่ตรวจโรค และทำลายเชื้อโรคสำหรับสัตว์หรือซากสัตว์นั้น แต่ถ้าสัตว์หรือซากสัตว์นั้นเป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าดำเนินการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่น
4. กำหนดในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์หรือซากสัตว์เป็นโรคระบาด หรือเป็นพาหะของโรคระบาด หรือมาจากฝูงสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือไม่มีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือสุขศาสตร์ซากสัตว์หรือมีแต่การรับรองไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขการนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรที่อธิบดีกำหนด ให้สัตวแพทย์มีหน้าที่และอำนาจตรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากสัตว์หรือซากสัตว์ที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือจากภาชนะสิ่งห่อหุ้มเพื่อทดสอบโรคนั้นได้ และให้กักสัตว์ไว้สังเกตอาการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏว่าสัตว์หรือซากสัตว์นั้นเป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าดำเนินการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่น
5. กำหนดห้ามผู้ใดเปิด เปลี่ยน หรือถ่ายสัตว์หรือซากสัตว์ จากภาชนะสิ่งห่อหุ้มหรือกักขัง หรือยานพาหนะระหว่างนำผ่านราชอาณาจักรนับแต่ท่าเข้าจนถึงท่าออก เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการภายใต้คำสั่งและควบคุมของสัตวแพทย์ประจำท่าเข้า และเมื่อสัตว์หรือซากสัตว์มาถึงท่าออกให้สัตวแพทย์ประจำท่าออกตรวจสอบอีกครั้ง แล้วให้บันทึกผลการตรวจสอบไว้เป็นหลักฐาน
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าชลประทาน การจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทาน และการยกเว้นและการผ่อนชำระค่าชลประทาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าชลประทาน การจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทาน และการยกเว้นและการผ่อนชำระค่าชลประทาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้เรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้รับอนุญาตใช้น้ำในอัตรา
ลูกบาศก์เมตรละห้าสิบสตางค์
2. กำหนดให้การใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่น ในหรือนอกเขตชลประทานต้องดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่มาตรวัดน้ำของผู้รับอนุญาตใช้น้ำชำรุดใช้การไม่ได้หรือด้วยเหตุอื่นใด ให้ผู้รับอนุญาตใช้น้ำดำเนินกการซ่อมแซมมาตรวัดน้ำหรือติดตั้งมาตรวัดน้ำตัวใหม่ทดแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายช่างชลประทาน
3. กำหนดให้การคำนวณค่าชลประทานให้คิดเป็นรายเดือน เศษของเดือนให้คำนวณตามส่วน โดยคิดสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
3.1 ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตใช้น้ำติดตั้งมาตรวัดน้ำแล้ว ให้เจ้าพนักงานคำนวณค่าชลประทานตามปริมาตรน้ำที่ใช้จริงที่วัดได้จากมาตรวัดน้ำนั้น
3.2 ในกรณีที่ไม่อาจคำนวณปริมาตรน้ำจากมาตรวัดน้ำได้ เนื่องจากมาตรวัดน้ำชำรุดใช้การไม่ได้หรือด้วยเหตุอื่นใด ให้เจ้าพนักงานคำนวณค่าชลประทานตามปริมาตรน้ำสูงสุดที่ขนาดของเครื่องสูบน้ำจะสูบได้ใน 720 ชั่วโมงต่อเดือน จนกว่าผู้รับอนุญาตใช้น้ำจะดำเนินการซ่อมแซมมาตรวัดน้ำหรือติดตั้งมาตรวัดน้ำตัวใหม่ทดแทน
4. กำหนดให้เจ้าพนักงานจัดส่งใบแจ้งหนี้ค่าชลประทานหรือใบแจ้งปริมาตรน้ำแก่ผู้รับอนุญาตใช้น้ำภายในวันสุดท้ายของเดือน และให้ผู้รับอนุญาตใช้น้ำชำระค่าชลประทานภายในวันที่สิบของเดือนถัดไปผ่านวิธีการระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริการรับชำระเงิน (Bill Payment) การรับเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิต) ผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง Electronic Data Capture : EDC) บริการมาตรฐาน QR Code ในธุรกรรมการชำระเงิน (Thai QR Code Payment Standard) หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือตามที่ กค. คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานจะกำหนดเพิ่มเติมในภายหลัง และเมื่อสิ้นวันทำการ ให้สรุปยอดการรับชำระเงินในแต่ละวันเพื่อนำมาตรวจสอบกับหลักฐานการรับชำระเงินให้ถูกต้องตรงกัน เพื่อออกใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีให้กับผู้ชำระเงินแต่ละราย และส่งให้ผู้ชำระเงินพร้อมกับใบแจ้งหนี้หรือใบแจ้งปริมาตรน้ำและใบแจ้งการชำระเงินในครั้งถัดไป
5. กำหนดให้ยกเว้นค่าชลประทานแก่ผู้รับอนุญาตใช้น้ำเพื่อกิจการสาธารณประโยชน์โดยไม่แสวงหากำไร โดยต้องได้รับการยกเว้นเป็นหนังสือจากอธิบดี พร้อมกำหนดรายละเอียดวิธีการและขั้นตอนการขอยกเว้น
6. กำหนดให้ในกรณีที่กิจการที่ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานของผู้รับอนุญาตใช้น้ำได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือจากเหตุอื่นใดอันมีลักษณะและความร้ายแรงในระดับเดียวกัน จนเป็นเหตุให้ผู้รับอนุญาตใช้น้ำไม่สามารถประกอบกิจการนั้นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้รับอนุญาตใช้น้ำมีสิทธิยื่นคำขอผ่อนชำระค่าชลประทานได้ พร้อมกำหนดรายละเอียดวิธีการและขั้นตอนการขอผ่อนชำระ
7. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตใช้น้ำซึ่งได้รับอนุญาตและดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำแล้วอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้มาตรวัดน้ำนั้นได้ต่อไปจนกว่าระยะเวลาการอนุญาตใช้น้ำจะสิ้นสุดลง และให้คำนวณค่าชลประทานตามปริมาตรน้ำที่ใช้จริงที่วัดได้จากมาตรวัดน้ำนั้น ส่วนผู้รับอนุญาตใช้น้ำซึ่งได้รับอนุญาตอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังมิได้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำ ต้องดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายช่างชลประทาน และในระหว่างที่ยังไม่ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำ ให้คำนวณค่าชลประทานเป็นรายเดือนตามปริมาตรน้ำสูงสุดที่ขนาดของเครื่องสูบน้ำจะสูบได้ใน 720 ชั่วโมงต่อเดือน
8. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) สำหรับงานในฝั่ง สปป.ลาว ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนทั้งจำนวนวงเงินรวม 1,380,067,000 บาท
2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 รวมระยะเวลา 5 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 690,033,500 บาท
3. มอบหมาย สพพ. ดำเนินการกู้เงินจำนวน 690,033,500 บาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด
สำหรับกรณีที่ สปป.ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เห็นควรให้ สพพ. พิจารณาใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้ในกรณี สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 [เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน – สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง] ตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) มีแนวทางเริ่มต้นจากตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ผ่านด่านสากลไทย – สปป.ลาว ข้ามไปยังบ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยงานก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีประมาณการค่าใช้จ่าย ดังนี้
ส่วนที่ |
รายละเอียดงาน |
ค่างานก่อสร้าง
(ล้านบาท) |
ค่าที่ปรึกษา
(ล้านบาท) |
ประมาณราคา
(ล้านบาท) |
1 |
ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย |
1,766 |
53 |
1,819 |
2 |
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย |
787 |
24 |
811 |
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว |
476 |
14 |
490 |
3 |
ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว |
780 |
30 |
810 |
รวม |
3,809 |
121 |
3,930 |
ทั้งนี้ ประมาณค่าใช้จ่ายแบ่งตามความรับผิดชอบ แบ่งออกเป็น ค่างานฝั่งไทย 2,630 ล้านบาท และค่างานฝั่ง สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มถุนายน 2562) อนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,630 ล้านบาท (ค่างานฝั่งไทย)
2. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ได้มีหนังสือที่ 2876/MOF แจ้งความประสงค์ในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานฯ ในส่วนของขอบเขตงานในฝั่ง สปป.ลาว โดยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ได้มีหนังสือเลขที่ 0434/MOF แจ้งยืนยันการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานฯ (ฝั่ง สปป.ลาว) วงเงินกู้ จำนวน 1,380,067,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี
ซึ่งคณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562
ได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ รูปแบบวิธีการ และแหล่งที่มาของเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้
2.1 เงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
1. เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
1.1 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี
1.2 อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
1.3 ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
1.4 ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา นิติบุคคลสัญชาติไทย
1.5 กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาเงินกู้ กฎหมายไทย |
2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
2.1 เป็นรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) ทั้งจำนวน รวมวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1,380,067,000 บาท
2.2 แหล่งเงินที่ใช้ ประกอบด้วย
- เงินงบประมาณ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 690,033,500 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 รวมระยะเวลา 5 ปี
ปีงบประมาณ |
การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (บาท) |
2564 |
70,000,000 |
2565 |
200,000,000 |
2566 |
200,000,000 |
2567 |
150,000,000 |
2568 |
70,033,500 |
รวมทั้งสิ้น |
690,033,500 |
- เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 690,033,500 บาท สพพ. จะกู้เงินมีระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก จะใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 2.62 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะยาวทดแทน โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.67 ต่อปี ซึ่งแนวทางดังกล่าว สพพ. ได้หารือกับ สงป. แล้ว |
2.2 วงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือ
รายการ |
จำนวนเงิน (บาท) |
1. ค่าก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 สัญญา |
1,256,000,000 |
สัญญาที่ 1 สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว |
476,000,000 |
สัญญาที่ 2 งานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว |
780,000,000 |
2. ค่าวิศวกรที่ปรึกษา |
44,000,000 |
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว |
14,000,000 |
งานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว |
30,000,000 |
3. ค่าบริหารจัดการโครงการของ สปป.ลาว |
15,000,000 |
4. ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด |
63,000,000 |
5. ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. |
2,067,000 |
รวม |
1,380,067,000 |
3. เนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานฯ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความเชื่อมโยงเชิงกายภาพระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดน ซึ่งปัจจุบัน สปป.ลาว มีโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. แล้ว ทั้งหมด 19 โครงการ จำนวนเงินกู้ 11,430 ล้านบาท ชำระคืนให้ สพพ. แล้ว เป็นจำนวนเงิน 971 ล้านบาท และเหลือเงินกู้คงค้าง 10,459 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562)
โดยที่ผ่านมา สปป. ลาว ไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้กับ สพพ. อย่างไรก็ดี ให้ สพพ. ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด และรายงานให้ คพพ. ทราบเป็นระยะ
9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้
1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ) (โครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ) ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนทั้งจำนวน วงเงินรวม 777,770,000 บาท
2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 388,885,000 บาท
3. มอบหมาย สพพ. ดำเนินการกู้เงินจำนวน 388,885,000 บาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด
สำหรับกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ เห็นควรให้ สพพ. พิจารณาใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้ในกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 [เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน – สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง] ตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่เมียนมา สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้และการวางแผนพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 (Third Greater Mekong Subregion (GMS) Corridor Town Development Project) ใน 3 เมือง ประกอบด้วย (1) เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ (2) เมืองผะอัน รัฐกะเหรี่ยง และ (3) เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แหล่งเงินลงทุนจำนวนมาก ADB จึงได้ประสานมายัง สพพ. อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอให้พิจารณาในการร่วมมือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบคู่ขนาน (Parallel-financing) สำหรับโครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ ในส่วนของโครงการพัฒนาเมืองอีก 2 เมือง ADB จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับเมียนมา
2. โครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ เป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทางคมนาคมที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนมุ่งลดผลกระทบเชิงสังคมอันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้เป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบและมีความยั่งยืน ซึ่งภารกิจดังกล่าวสอดคล้องกับแผนงานการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)
3. ปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วนของเมืองเมียวดี เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อมของเมืองให้เกิดความยั่งยืน มีดังต่อไปนี้
ปัญหา |
แนวทางแก้ไข |
· การผลิตและการจ่ายน้ำประปาที่ไม่ เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำประปาของประชาชน
- การไม่มีระบบน้ำประปาสาธารณะและ อ่างเก็บน้ำของรัฐส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนและอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
- การจ่ายน้ำประปาโดยบริษัทเอกชน 2 ราย ที่มีลักษณะทับซ้อนกัน และครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ทางทิศตะวันตก (เขต 4 และเขต 5) ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางทิศตะวันออก (เขต 1 ถึง เขต 3) ไม่ได้รับการจัดสรรน้ำประปาจากบริษัทเอกชนดังกล่าว ประชาชนจึงจำเป็นต้องสูบน้ำบาดาลและนำน้ำจากแม่น้ำเมยมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค
· การขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจากครัวเรือนภาคอุตสาหกรรม และขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล
- ครัวเรือน: มีการรวบรวมขยะมูลฝอยจาก ทุกพื้นที่และนำไปเทกองรวมบริเวณริมแม่น้ำเมย ประชาชนมักปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำโดยตรงซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเมย
- ภาคอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล: มีการรวบรวมและนำไปเทกองในหลุมฝังกลบขยะบริเวณชานเมือง และบริเวณที่อยู่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรมเมียวดี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม |
· การปรับปรุงระบบน้ำประปา
- การก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบ
- การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย
- การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
- การติดตั้งโครงข่ายการจ่ายน้ำประปา
· การพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ
- การจัดหาเครื่องมือสำหรับจัดเก็บขยะ
- การก่อสร้างเตากำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ จากโรงพยาบาล
- การก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยจากขยะ
- การปรับปรุงกระบวนการฝังกลบขยะ |
4. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 สพพ. ได้รับหนังสือจากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า กต. เมียนมามีหนังสือขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ ซึ่ง
คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวการประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และ
ได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมา โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ รูปแบบวิธีการ และแหล่งที่มาของเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้
4.1 เงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
1. เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
1.1 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี
1.2 อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี)
1.3 ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการของ สพพ. ร้อยละ 0.15 ของวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งหมด
1.4 การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
1.5 ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา นิติบุคคลสัญชาติไทย
1.6 กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาเงินกู้ กฎหมายไทย |
2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
2.1 เป็นรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) ทั้งจำนวน รวมวงเงินกู้ทั้งสิ้น 777,770,000 บาท
2.2 แหล่งเงินที่ใช้ ประกอบด้วย
- เงินงบประมาณ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 388,885,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี
ปีงบประมาณ |
การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (บาท) |
2564 |
19,444,250 |
2565 |
213,886,750 |
2566 |
155,554,000 |
รวมทั้งสิ้น |
388,885,000 |
- เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 388,885,000 บาท สพพ. จะกู้เงินมีระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก จะใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2.62 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะยาวทดแทน โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.67 ต่อปี ซึ่งแนวทางดังกล่าว สพพ. ได้หารือกับ สงป. แล้ว |
4.2 วงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือ (เงินกู้ทั้งจำนวน) ประกอบด้วย
รายการ |
จำนวนเงิน (บาท) |
1. ค่าก่อสร้าง |
676,321,800 |
2. ค่าวิศวกรที่ปรึกษา |
33,816,100 |
การออกแบบรายละเอียด |
|
การควบคุมงานก่อสร้าง |
|
3. ค่าบริหารจัดการของเมียนมา |
1,600,500 |
4. ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด |
66,031,600 |
|
777,770,000 |
5. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ มีดังต่อไปนี้
5.1 การปรับปรุงระบบน้ำประปา ซึ่งครอบคลุมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต การกักเก็บ และการวางโครงข่ายส่งน้ำประปาบนพื้นที่ 33.79 เอเคอร์ (ประมาณ 136,745 ตารางเมตร) จะช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำประปาของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองกว่า 19,303 ครัวเรือน (ร้อยละ 70 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในเมืองเมียวดี)
5.2 การพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ ซึ่งครอบคลุมการปิดหลุมฝังกลบเดิมและก่อสร้างหลุมฝังกลบใหม่ที่มีการควบคุม การก่อสร้างเตากำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล และการสร้างโรงงานการผลิตปุ๋ยจากขยะบนพื้นที่ 31.00 เอเคอร์ (ประมาณ 125,453 ตารางเมตร) จะสามารถแก้ไขคุณภาพน้ำและน้ำเน่าเสียบริเวณริมแม่น้ำเมยให้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีในขยะที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งน้ำและอากาศของเมืองเมียวดี และริมแม่น้ำเมยในฝั่งไทยให้ดีขึ้น
5.3 การปรับปรุงและการพัฒนาดังกล่าว จะเสริมสร้างบรรยากาศในการประกอบธุรกิจเพื่อดึงดูดผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในเมียนมา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเจริญในการพัฒนาชุมชนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจรวมถึงพื้นที่เชื่อมโยงอื่นภายในประเทศไทย รวมถึงพัฒนาห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากของไทย และเขตอุตสาหกรรมเมียวดีของเมียนมา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเมืองคู่แฝด “เมียวดี – แม่สอด”
10. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากในอดีต อีกทั้งโครงสร้างตะกร้าเงินเฟ้อไทยที่มีสัดส่วนของอาหารและพลังงานสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาอาหารสดในประเทศและราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ปัจจัยภายนอกประเทศต่าง ๆ เช่น สงครามทางการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป
การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นจะเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (policy trade-off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. จึงมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าว
เป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทยนอกจากนี้
การเปลี่ยนรูปแบบเป้าหมายเป็นช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง
3. การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กค. และ ธปท. จะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาส เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับแนวทางการตัดสินใจนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
4. การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปจะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
5. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
11. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐรายงานว่า
ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาของแผนการคลังระยะปานกลางจากเดิม 3 ปีเป็น 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดย
แผนการคลังฉบับนี้จะเป็นแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564-2567) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ)
2. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางฯ โดยมี
สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 - 4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับ
เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565 - 2567 มีแนวโน้มที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.3-4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8) และเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางร้อยละ 4.0) ในปี
2566-2567 จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกและแรงกระตุ้นจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 (ค่ากลางร้อยละ 1.4) ในปี 2565 มาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 ถึง 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) ในปี 2566 และร้อยละ 1.2 – 2.2 (ค่ากลางร้อยละ 1.7) ในปี 2567
2.2 สถานะและประมาณการการคลัง
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ |
2563 |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 |
รายได้รัฐบาลสุทธิ |
2,731,000 |
2,777,000 |
2,819,000 |
2,913,000 |
3,031,000 |
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
7.1 |
1.7 |
1.5 |
3.3 |
4.1 |
งบประมาณรายจ่าย |
3,200,000 |
3,300,000 |
3,336,000 |
3,415,000 |
3,506,000 |
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) |
6.7 |
3.1 |
1.1 |
2.4 |
2.7 |
ดุลการคลัง |
(469,000) |
(523,000) |
(517,000) |
(502,000) |
(475,000) |
ดุลการคลังต่อ GDP
(ร้อยละ) |
(2.7) |
(2.8) |
(2.7) |
(2.5) |
(2.2) |
หนี้สาธารณะคงค้าง |
7,530,290 |
8,242,358 |
9,049,688 |
9,824,190 |
10,446,329 |
หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) |
43.0 |
45.0 |
47.0 |
48.3 |
48.6 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) |
17,593,200 |
18,444,700 |
19,401,600 |
20,474,000 |
21,651,000 |
ที่มา : กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
2.2.1
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2564 - 2567 ข้างต้นจัดทำภายใต้สมมติฐานที่รวมรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่อยู่ระหว่างการผลักดันของ กค. เช่นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีการบริโภคจากสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงวิธีการคำนวณ วิธีการจัดเก็บค่าลดหย่อน การยกเว้นภาษีบางประเภท และการทบทวนมาตรการชั่วคราวที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ การบังคับใช้กฎหมายกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) และกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม การผลักดันกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศเป็นต้น
2.2.2
ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2564 – 2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดให้สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ กำหนดรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น
2.2.3
จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและประมาณการงบประมาณรายจ่ายตามข้อ 2.2.1 และ 2.2.2 จะ
ส่งผลให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 - 2567
2.2.4
ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2564 – 2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2567) ที่คณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติเห็นชอบไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 6,901,802 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP เป็นต้น
3.
เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหากในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ
3 ด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
3.1
มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สงป. จะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงานและขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึง การจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย
3.2
มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดย กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบเพื่อให้มีการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม อีกทั้งจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งรายได้จากภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการทำงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
3.3
มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะจะต้องยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้ง ดำเนินการทางการคลังอย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้
12. เรื่อง ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2563 สำหรับประชาชน จากกระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ 1) โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2563 สำหรับประชาชนของกระทรวงคมนาคม 2) มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนของกระทรวงคมนาคม และ 3) การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 จำนวน 2 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การคมนาคมทางถนน มีการดำเนินการ ดังนี้
1.1 การยกเว้นค่าผ่านทาง 4 เส้นทาง ได้แก่ ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน และยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)
ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 เวลา 24.00 น. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด
1.2 การให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษสำหรับระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ ร้อยละ 5 ต่อเที่ยว
ทุกด่านเก็บค่าผ่านทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการต่อจากการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษฯ
หลังเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน
1.3 การอำนวยความสะดวกในการชำระค่าผ่านทางโดยจำหน่ายคูปองในราคาถูกแทนการชำระด้วยเงินสดสำหรับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้ทางและลดความยุ่งยากในการเตรียมเงินสด โดยผู้ใช้ทางสามารถซื้อคูปองในราคาสมนาคุณพิเศษถูกกว่าราคาเต็มในอัตราร้อยละ 5
เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน
1.4 การจ่ายเครดิตเงินคืนจากการเดินทางด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับเครดิตเงินคืน 1 สิทธิต่อการชำระค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ (รถเมล์) ด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ 1 ครั้ง โดยได้รับเครดิตเงินคืน 1 สิทธิ เท่ากับ 2 บาท สูงสุด 15 สิทธิ/บัตร/เดือน (30 บาท/บัตร/เดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
2. การคมนาคมทางอากาศ มีการดำเนินการ ดังนี้
2.1 การยกเว้นค่าบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท่าอากาศยาน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 ดังนี้
ท่าอากาศยาน |
กิจกรรม |
สุวรรณภูมิ |
· ยกเว้นค่าบริการจอดรถยนต์ ณ ลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C และจัดรถ Shuttle Bus สายพิเศษเพิ่มเติม
· ร้านค้าจำนวน 89 ร้านเข้าร่วมโครงการ “The Suvarnabhumi Food Guide” ทำเมนูราคาอาหารราคาประหยัด (Saved Price ราคา 50 บาท Budget Price ราคา 125 บาท และ Valued Price ราคา 280 บาท) |
ดอนเมือง |
· ให้บริการที่จอดรถโดยไม่คิดค่าบริการในบริเวณที่กำหนด จำนวน 3 จุด รวม 450 คัน
· ให้บริการรถ Shuttle Bus รับ-ส่งระหว่างจุดจอดรถยนต์กับอาคารผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง |
ภูเก็ต (ทภก.) |
· จัดจุดจอดรถบัสโดยสารสาธารณะ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ให้บริการเพิ่มเติม จำนวน 3 ช่องจอด 3 เส้นทาง ได้แก่ สถานีขนส่งโดยสารจังหวัดภูเก็ต-ทภก. ทภก.-ป่าตอง-กะตะ และ ทภก.-หาดสุรินทร์-หาดป่าตอง-หาดราไวย์
· ยกเว้นค่าบริการจอดรถบัสโดยสารของนักท่องเที่ยวในการจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร |
2.2 การจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษ “Weekday Vacation” โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำหน่ายบัตรชั้นประหยัดเที่ยวบินในประเทศ (เที่ยวเดียว) สำหรับเดินทางวันจันทร์-พฤหัสบดี เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต และสายการบินไทยสมายล์ เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต หาดใหญ่ นราธิวาส ราคาเริ่มต้น 1,300 บาท และโครงการจำหน่าย ONE PASS ONE PRICE Value Card สำหรับการเดินทางในกลุ่มประเทศ CLMVT
2.3 การเพิ่มเที่ยวบินสายการบินไทยสมายล์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชนและให้บริการเมนูพิเศษสำหรับเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563
3. การคมนาคมทางราง มีการดำเนินการ ดังนี้
3.1 การขยายเวลาเปิดให้บริการรถไฟฟ้า ได้แก่ รถไฟฟ้า Airport Rail Link ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 05.30 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น. รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น. รวมไปถึงขยายเวลาให้บริการอาคารและลานจอดรถของ MRT ทั้ง 2 สาย โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 05.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 03.00 น.
3.2 การมอบของที่ระลึกให้ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟโดยนำข้าวขาวดอกมะลิ 107 จากชาวบ้าน จังหวัดแพร่ จำนวน 125 กรัม/ซอง จัดทำเป็น “ข้าวของแม่ นาของพ่อ” จำนวน 25,000 ซอง
4. การคมนาคมทางน้ำ มีการดำเนินการ ดังนี้
4.1 โครงการสูงวัยได้สิทธิ โดยลดหย่อนค่าโดยสารให้แก่ผู้สูงอายุที่ใช้บริการเรือในเขตกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยร้อยละ 50 โดยให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับสิทธิ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
4.2 กิจกรรมล่องเรือสวดมนต์ข้ามปีภายใต้กิจกรรม “เจ้าท่าพาล่องสายชล สวดมนต์ภาวนาข้ามปี” จำนวน 1 ลำ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ จำนวน 200-300 ราย ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
5. การส่งเสริมความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกของประชาชน มีการดำเนินการ ดังนี้
5.1 ตั้งจุดตรวจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จำนวน 259 จุด ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการฟรีในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน บริการรถยก/รถลาก
5.2 จั้งตั้งหน่วยบริการประชาชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางด่วนและหน่วยงานเอกชน ในการใช้ทางพิเศษเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ด่านเก็บทางพิเศษ ได้แก่ ด่านฯ บางแก้ว 1 ด่านฯ ฉิมพลี ด่านฯ บางปะอิน (ขาออกและขาเข้า) ด่านฯ ดาวคะนอง ด่านฯ จตุโชติ
5.3 บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรี 20 รายการ ณ ศูนย์บริการที่มีป้ายเข้าร่วมกิจกรรมของกรมการขนส่งทางบก และศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด
5.4 ปรับปรุงห้องสุขาภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ เปิดให้บริการในวันที่ 20 ธันวาคม 2562
5.5 จัดทำแอปพลิเคชัน “นำทาง (NUMTANG)” เพื่อให้บริการข้อมูลด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ
5.6 ดำเนินโครงการชูชีพเก่าแลกใหม่ปลอดภัยได้มาตรฐาน จำนวน 800 ชุด ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดยกำหนดการส่งมอบในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
13. เรื่อง โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2563 ของกระทรวงพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2563 ของกระทรวงพลังงาน ดังนี้
สาระสำคัญ
1. การปรับลดราคาน้ำมัน
1.1 กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันบี 10 และ อี 20 ลง 1 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)
1.2 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาน้ำมันตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มกราคม 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่
2. การตรึงราคาค่าไฟฟ้า
- กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการคงอัตราค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บ เดือนมกราคม ถึง เมษายน 2563 จำนวน – 11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วยอีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
14. เรื่อง การจัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อมอบให้ประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2563 (มท.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอการจัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ของ มท. เพื่อมอบให้ประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2563 ภายใต้แนวคิด
“ส่งความห่วงใย ส่งสุขทั่วไทย ส่งใจถึงประชาชน” รวม 9 โครงการ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การดูแลประชาชนตามภารกิจ “บำบัดทุกข์” จำนวน 2 โครงการ
โครงการ |
สาระสำคัญ |
ระยะเวลา/หน่วยงาน |
1.1 สถานธนานุบาลทั่วไทย พร้อมใจลดอัตราดอกเบี้ย |
สถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 248 แห่ง ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน กำหนดระยะเวลา 2 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 0.25 ต่อเดือน (จากร้อยละ 0.50) และเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 1 ต่อเดือน (จากเดิมร้อยละ 1.25) |
1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2563 (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) |
1.2 กฟน. กฟภ. ร่วมใจส่งสุขปีใหม่ 2563 จัดระเบียบสายสื่อสารทั่วไทย |
จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าทั่วไทย จำนวน 4,209 เส้นทาง ระยะทางรวม 10,020 กิโลเมตร (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ 318 เส้นทาง 2,157 กิโลเมตร และส่วนภูมิภาค 74 จังหวัด 3,891 เส้นทาง 7,863 กิโลเมตร |
1 กันยายน 2562 – 30 มิถุนายน 2563 (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) |
2. การดูแลประชาชนตามภารกิจ “บำรุงสุข” จำนวน 7 โครงการ
โครงการ |
สาระสำคัญ |
ระยะเวลา/หน่วยงาน |
2.1 สะดวกทุกที่แค่มีบัตรประจำตัวประชาชน คลิก
www.dopa.go.th |
- อำนวยความสะดวกประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้สำเนาเอกสาร
- เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ความถึงพอใจ และความน่าเชื่อถือการบริการภาครัฐ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย |
มกราคม 2563 เป็นต้นไป (กรมการปกครอง) |
2.2 ขอเอกสารงานทะเบียนฉบับภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว คลิก
www.dopa.go.th |
ให้บริการประชาชนคัดรับรองสำเนาเอกสารราชการฉบับภาษาอังกฤษ ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานเขตเทศบาล และเมืองพัทยา โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะเปิดให้บริการงานบริการเพิ่มเติมอีก 15 งานบริการ (รวมของเดิมเป็น 27 งานบริการ) |
1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป (กรมการปกครอง) |
2.3 ยื่นรังวัดโปร่งใส นัด 50 วัน |
ปรับปรุงการให้บริการรังวัดเฉพาะรายในสำนักงานที่ดินทั่วประเทศให้นัดรังวัดได้ภายใน 50 วัน ตามหลักวิชาการแผนที่ที่สากลยอมรับด้วย ระบบ RTK GNSS Network และสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานรังวัดได้ทุกขั้นตอนทำให้ประชาชนได้รับโฉนดที่ดินเร็วขึ้น |
มกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 และขยายผลต่อ มีนาคม – กันยายน 2563 (กรมที่ดิน) |
2.4 ค้นหารูปแปลงโฉนดที่ดินทั่วไทย บริการฟรี ฉับไวด้วย LandsMaps |
เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของรูปแปลงที่ดินและรายละเอียดเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งทางเว็บไซต์ http://dolwms.dol.go.th และ Mobile Application “LandsMaps” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีเป้าหมายผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่าปีละ 15 ล้านคน |
มกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 และขยายผลต่อ มีนาคม – พฤษภาคม 2564 (กรมที่ดิน) |
2.5 คู่มือผังเมือง |
จัดทำคู่มือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ฉบับประชาชน ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ในรูปของภาพการ์ตูน เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง (www.dpt.go.th) |
ธันวาคม 2562 – มีนาคม 2563 (กรมโยธาธิการและผังเมือง) |
2.6 ตลาดเทศบาลทั่วไทย สะอาด ถูกสุขอนามัย ถูกใจประชาชน |
ยกระดับตลาดเทศบาลให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความสะอาดและปลอดภัยในเทศบาล ซึ่งมีตลาดแบบมีโครงสร้าง จำนวน 742 แห่งทั่วประเทศ (เทศบาลเมือง 155 แห่ง เทศบาลนคร 49 แห่ง และเทศบาลตำบล 538 แห่ง) |
ธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) |
2.7 สวนสาธารณะลอยฟ้า (พระปกเกล้าสกายปาร์ค) |
ปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า สวนสาธารณะลอยฟ้า (พระปกเกล้าสกายปาร์ค) ให้เป็นแหล่งนันทนาการริมแม่น้ำเจ้าพระยาและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยการปรับปรุงโครงสร้างสะพานรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ลาวาลินเดิม) ให้เป็นจุดหมายตา (Landmark) ใหม่ |
ปี 2561 – 2563 (คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563) (กรุงเทพมหานคร) |
15. เรื่อง มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยซึ่งได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินมาตรการดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญ
1. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันมีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะทางยกระดับทั้งหมด มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
2. สัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ประกอบด้วยคู่สัญญาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) สัญญาสัมปทานรูปแบบ Gross Cost Contract โดยภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้ภาคเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานแบบคงที่ มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมิได้ระบุในสัญญา เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสารและจ้างเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามข้อบังคับ ดังนี้
(1) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2559
(2) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระ ค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. 2561
ปัจจุบันมีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร 14 – 42 บาท ตามระยะทางสำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ชื้อเหรียญโดยสาร (Token) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด ร้อยละ 50 สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกิน วันเกิดครบอายุ 14 แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลดร้อยละ 10 จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าวข้างต้น
3.
มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท ) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14 - 42 บาท) ในรายละเอียด ดังนี้
1) ประมาณการการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร โดยใช้แบบจำลองประมาณการ Ridership Forecast (eBUM) พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน โดยมีรายละเอียดแสดงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามรายะทางโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท) ดังแสดงในตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์จากมาตรการปรับลดอัตรา ค่าโดยสาร
2) การวิเคราะห์ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร พบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็น 38,703,701 บาท/เดือน โดยมีรายละเอียดดังแสดในตารางที่ 7 แสดงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท)
ผลกระทบ
การวิเคราะห์มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท) ตามข้อ 3 พบว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแต่รายได้จากค่าโดยสารลดลง โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน
อย่างไรก็ตามการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 38,703,701 บาท/เดือน และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับดังกล่าวต่อรายได้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้รับลดลงเมื่อดำเนินมาตรการ หรือมูลค่า SROI : รายได้ที่ลดลงจะเท่ากับจะมีผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับสูงเป็น 2.5 เท่าของรายได้ที่ลดลง
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เห็นว่ามาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดเวลาการเดินทางและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ ลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมทั้งลดปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหลักในการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเป็นส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากยิ่งขึ้น
16. เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อต่ออายุกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อต่ออายุกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของอาเซียน ให้อยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ และไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ดังกล่าวในนามอาเซียน และให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งเรื่องการให้ความเห็นชอบของไทยต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยดำเนินการผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ
ยูนิเซฟ (UNICEF) เป็นข้อเสนอจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขาความร่วมมือด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD) เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การยูนิเซฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนงานความร่วมมือระยะ 5 ปี ในการดำเนินงานส่งเสริมให้เด็กได้รับสิทธิ ตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่เกี่ยวกับเด็ก โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ การสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเด็ก การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือทางด้านวิชาการในด้านสุขภาพ สวัสดิการสังคมและการพัฒนา และจัดทำมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และการออกนโยบายที่เกี่ยวกับเด็กด้านสังคม
2. การต่ออายุกรอบความตกลงความร่วมมือฯ ออกไป นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กในอาเซียนแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม ผลักดันการดำเนินการเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 รวมถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 อีกด้วย
3. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อต่ออายุกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) มีสาระสำคัญใน 2 ประเด็น ดังนี้
(1) เสนอให้ขยายอายุกรอบความตกลงความร่วมมือฯ ออกไปอีก 5 ปี จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ยกเว้นหากมีการยุติโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อน
(2) เสนอให้ปรับแก้ไขข้อความในย่อหน้าที่ 5 เกี่ยวกับการมอบหมายผู้ประสานงานหลักเพื่อการดำเนินงานตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือสำหรับอาเซียน จากเดิมมอบหมาย “รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคง” เป็นมอบหมาย “รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” แทน นอกนั้นคงเดิม
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ดังนี้
1.
นายธิบดี วัฒนกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต
2.
นายวรวรรธน์ ภิญโญ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ตำแหน่งว่างเนื่องจากผู้ครองตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง
นางสาวภัคพดี อยู่คงดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (วิจัยและพัฒนาโบราณคดี) (นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์) (นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นายวันชัย เหล่าเสถียรกิจ สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง
นายสุจินต์ เพชรเนียน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2562
ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง
นางสาวกรุณา จุฑานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนายุทธศาสตร์และติดตามนโยบายพิเศษ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย ดังนี้
1. เลื่อน
นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
2. เลื่อน
นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการ (นักบริหารต้น) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
3. เลื่อน
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
4. เลื่อน
นางพัฒนา พันธุฟัก ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
5. เลื่อน
นายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
6. เลื่อน
นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
7. เลื่อน
นายนิยม สองแก้ว ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
8. เลื่อน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
9. เลื่อน
นายภูมา ธรรมกุล รองเลขาธิการ (นักบริหารต้น) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จำนวน 6 คน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ดังนี้
1. พลอากาศเอก เมธา สังขวิจิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการทหาร
2. พลเอก อดิศร สุวรรณตรา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
3. ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม
4. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
5. นางสาวจิราภรณ์ ตันติวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและงบประมาณ
6. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
และให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
24. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ รวม 8 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
1.
ประธานกรรมการ
1.1 นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี
2.
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
2.1 ศาสตราจารย์กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
2.2 นายเธียรชัย ณ นคร
2.3 รองศาสตราจารย์ปานใจ ธารทัศนวงศ์
2.4 ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์
2.5 นางสาวพรวิลัย เดชอมรชัย
2.6 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อดิศร เนาวนนท์
3.
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.1 นางวราภรณ์ สีหนาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
25. เรื่อง เพิ่มเติมองค์ประกอบผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอแต่งตั้ง
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ และ
พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้
1. พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล เป็นประธานกรรมการ
2. นายกฤชเทพ สิมลี เป็นกรรมการ
3. พล.ต.ท. เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ เป็นกรรมการ
4. นายชนินทร์ แก่นหิรัญ เป็นกรรมการ
5. นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ เป็นกรรมการ
6. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นกรรมการ
7. นายสมศักดิ์ ห่มม่วง เป็นกรรมการ
8. นายวรพจน์ เอี่ยมรักษา เป็นกรรมการ
9. นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
27. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 382/2562 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยให้ยกเลิกความในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“8. รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจปฏิบัติแทนนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการในหน่วยงานที่สั่งและปฏิบัติราชการ
9. ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการใด เป็นประธาน อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงของส่วนราชการนั้นด้วย ยกเว้น อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
******************