http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติ ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นเขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ….
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือบางส่วน ในท้องที่ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ….
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ….
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ….
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. ….
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการ สอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก พื้นที่ต่อเนื่อง และฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ แขวงบ้านพานถม แขวงวัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ์ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค แขวงวัดเทพศิรินทร์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในการขนส่ง พ.ศ. ….
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
12. เรื่อง ขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ทหารผ่านศึก
13. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีกรณีการชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
14. เรื่อง ขออนุมัติให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปเเบบการขนส่งสินค้า
เชียงของ จังหวัดเชียงราย
15. เรื่อง การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
16. เรื่อง รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 (อว.)
17. เรื่อง การพิจารณาความเหมาะสมของอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน
18. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว)
19. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน [กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้]
20. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 – 2563
21. เรื่อง การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)
22. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MOU between The Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and The Ministry of Science and ICT of the Republic of Korea on Cooperation in Science, Technology and Innovation)
23. เรื่อง ร่างอนุสัญญาโลกว่าด้วยการรับรองคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (Global Convention on the Recognition of Qualifications concerning Higher Education)
24. เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ค.ศ. 1989
25. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 3
26. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก
27. เรื่อง ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26
28. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และ ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 6
29. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน- สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ครั้งที่ 3
30. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1
31. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษก รองโฆษก และผู้ช่วยโฆษกของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงยุติธรรม
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
34. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
35. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
36. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
37. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561) โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ควบคู่กันทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้
1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกิจการที่มีผลให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย เมื่อบริษัทผู้รับโอนกิจการมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้เอาประกันภัย พร้อมแจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยคัดค้านแล้ว หากไม่มีการคัดค้านให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทสามารถจดทะเบียนควบรวมกิจการได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ทุกรายให้ ความยินยอมเป็นหนังสือโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลาคัดค้าน
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัที่รับโอนกิจการสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทที่โอนกิจการในคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลได้ และสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้
4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษในกรณีดังต่อไปนี้
4.1 กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท และบุคคลที่บริษัทมอบหมาย แสวงหาประโยชน์อันมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน
4.2 ผู้ก่อให้หรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบเมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจัดทำรายงาน รับรอง หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทเป็นเท็จ หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน (ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตฯ)
4.3 ผู้ก่อให้หรือสนับสนุนให้ผู้ประเมินวินาศภัยทำรายงานการตรวจสอบและประเมินวินาศภัยเป็นเท็จ หรือก่อให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบเมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจัดทำรายงาน รับรอง หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทเป็นเท็จ หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้เอาประภันภัยหรือประชาชน (ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ)
4.4 ผู้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
4.5 ผู้ทำลาย ทำให้เสียหาย ซึ่งตราหรือเครื่องหมายที่นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับไว้
5. แก้ไขบทบัญญัติให้การกระทำความผิดของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท บุคคลที่บริษัทมอบหมาย บุคคลที่ก่อหรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำผิดกฎหมาย และผู้ซึ่งกระทำความผิดต่อนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย เป็นความผิดที่คณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ไม่อาจเปรียบเทียบได้
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำนักงาน กกต. เสนอว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) ได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 ของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ ศร. มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่ 16 ตุลาคม 2562
2. เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง จึงต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีกการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือวันที่ ศร. มีคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 แทนตำแหน่งที่ว่าง
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ บางส่วน ในท้องที่ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ บางส่วน ในท้องที่ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้เพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ บางส่วน ในท้องที่ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ บางส่วน ในท้องที่ตำบลแสงภา ตำบลเหล่ากอหก และตำบลนาแห้ว อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2537
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงวัฒนธรรมรับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2557 ดังนี้
การแบ่งส่วนราชการเดิม |
การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง |
ก. ราชการบริหารส่วนกลาง
1. กองกลาง
2. กองกฎหมาย
3. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
4. สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
5. สำนักตรวจและประเมินผล
6. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
7. สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด |
ก. ราชการบริหารส่วนกลาง
1. กองกลาง (คงเดิม)
2. กองกฎหมาย (คงเดิม)
3. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (คงเดิม)
4. กองการต่างประเทศ (เปลี่ยนชื่อ)
5. กองตรวจราชการ (เปลี่ยนชื่อ)
6. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (เปลี่ยนชื่อ)
7. กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (เปลี่ยนชื่อ)
8. กองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตั้งใหม่
ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด |
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 ดังนี้
การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน |
การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง |
1. สำนักงานเลขานุการกรม
2. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
3. กองควบคุมวัตถุเสพติด
4. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
5. กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
6. กลุ่มตรวจสอบภายใน
7. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
8. กองแผนงานและวิชาการ
9. สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
10. สำนักด่านอาหารและยา
11. สำนักยา
12. สำนักอาหาร |
1. สำนักงานเลขานุการกรม (คงเดิม)
2. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ (คงเดิม)
3. กองควบคุมวัตถุเสพติด (คงเดิม)
4. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค (คงเดิม)
5. กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (คงเดิม)
6. กลุ่มตรวจสอบภายใน (คงเดิม)
7. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (คงเดิม)
8. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (เปลี่ยนชื่อ)
9. กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย (เปลี่ยนชื่อ)
10. กองด่านอาหารและยา (เปลี่ยนชื่อ)
11. กองยา (เปลี่ยนชื่อ)
12. กองอาหาร (เปลี่ยนชื่อ)
13. กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ตั้งใหม่)
14. กองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ (ตั้งใหม่) |
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 ดังนี้
การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน |
การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง |
1. สำนักบริหาร
2. กองแบบแผน
3. กองวิศวกรรมการแพทย์
4. กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน
5. กองสุขศึกษา
6. กลุ่มตรวจสอบภายใน
7. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
8. สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ |
1. สำนักงานเลขานุการกรม (เปลี่ยนชื่อ)
2. กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (เปลี่ยนชื่อ)
3. กองแบบแผน (คงเดิม)
4. กองวิศวกรรมการแพทย์ (คงเดิม)
5. กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน (คงเดิม)
6. กองสุขศึกษา (คงเดิม)
7. กลุ่มตรวจสอบภายใน (คงเดิม)
8. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (คงเดิม)
9. กองกฎหมาย (ตั้งใหม่)
10. กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ตั้งใหม่) |
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือกลเดินทะเลตามประเภทการใช้เรือ ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงตามมาตรฐานสมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกำหนดเชิงหน้าที่ของระบบติดตามเรือประมง
2. กำหนดให้เจ้าของเรือสนับสนุนที่ติดตั้งระบบติดตามเรือประมงแล้วต้องแจ้งข้อมูล รหัสกล่องหรือรหัสอุปกรณ์ ชื่อหรือหมายเลขทะเบียนเรือ ภาพถ่ายเรือสนับสนุน และพื้นที่จอดเรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง
3. กำหนดให้เจ้าของเรือสนับสนุนต้องดูแลระบบติดตามเรือประมงให้เปิดใช้งานได้ตลอดเวลากรณีจะปิดระบบติดตามเรือประมงให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้
4. กำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้เจ้าของเรือสนับสนุนต้องปฏิบัติเมื่อสัญญาณระบบติดตามเรือประมงขัดข้องจนไม่สามารถใช้การได้เป็นปกติ
5. กำหนดให้เรือสนับสนุนต้องแจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือทุกครั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
6. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับกรณีเรือสนับสนุนที่ได้มีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงตามมาตรฐานเดิมโดยให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะชำรุดจนต้องมีการเปลี่ยนใหม่ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาให้เรือสนับสนุนที่ยังไม่ได้ล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดให้ใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและ ความเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสิ้นสุดลง
1.3 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเมืองพัทยา และความเป็นนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา และที่ปรึกษานายกเมืองพัทยาสิ้นสุดลง
1.4 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายกเมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา ประธานสภาเมืองพัทยา และรองประธานสภาเมืองพัทยา กรณีจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งการเพิกถอนการกระทำหรือให้ระงับการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
2.
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดให้ใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
2.2 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง และกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี และที่ปรึกษานายกเทศมนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง
2.3 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล และรองประธานสภาเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอที่สั่งการตามกฎหมาย
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก พื้นที่ต่อเนื่อง และฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ แขวงบ้านพานถม แขวงวัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ์ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค แขวงวัดเทพศิรินทร์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก พื้นที่ต่อเนื่อง และฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ แขวงบ้านพานถม แขวงวัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ์ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค แขวงวัดเทพศิรินทร์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ แขวงบ้านพานถม แขวงวัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร แขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ์ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค แขวงวัดเทพศิรินทร์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสีของผนังภายนอกอาคารเป็นโทนสีครีม และห้ามใช้วัสดุสะท้อนแสงหรือวัสดุมันวาว สีของหลังคาอาคารเป็นโทนสีเทาเข้ม และด้านหน้าอาคารห้ามติดตั้งหรือวางอุปกรณ์ประเภทกันสาด เครื่องปรับอากาศ เสาอากาศโทรทัศน์หรือวิทยุ หรือส่วนยื่นอื่น ๆ
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในการขนส่ง พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในการขนส่ง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “การขนส่ง” “การใช้แต่ผู้เดียว” “ดัชนีการขนส่ง” “การก่อวินาศกรรม” “ความมั่นคงปลอดภัย” เป็นต้น
2. กำหนดมาตรการความมั่นคงปลอดภัย
2.1 ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุ นิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว โดยกำหนดหน้าที่ของผู้ส่งของและผู้รับขนส่ง เช่น ผู้ส่งของต้องตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนการใช้เป็นครั้งแรกในการขนส่ง ผู้รับขนส่งต้องแยกสิ่งที่ขนส่งจากสินค้าอันตรายอื่น ๆ และต้องตรวจสอบระดับการปนเปื้อนเป็นระยะ ๆ เป็นต้น
2.2 ความมั่นคงปลอดภัยทางรังสีในการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีหรือกากกัมมันตรังสี โดยแบ่งระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเป็น 3 ระดับ ตามความเป็นอันตรายของวัสดุกัมมันตรังสี มีวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแบบการจัดการอย่างรอบคอบ ทั้งในระหว่างการขนส่งและขณะการจัดเก็บ ให้ผู้ส่งของต้องจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยการขนส่ง เพื่อใช้ในการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูงทุกการขนส่ง ฯลฯ และให้ผู้ส่งของหรือผู้รับขนส่งต้องรายงานเหตุการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในทันทีที่เป็นไปได้
2.3 ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในการขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว โดยกำหนดวิธีป้องกันการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบในระหว่างการขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ประเภทที่ 3 และประเภทที่ 4 การค้นหาและการนำกลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกลักไปในระหว่างการขนส่ง การป้องกันการก่อวินาศกรรมในระหว่างการขนส่ง และการบรรเทาผลกระทบทางรังสีหลังมีการก่อการวินาศกรรมในระหว่างการขนส่ง
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนตำรับ การแจ้งรายละเอียดและการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด ยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตการขอแก้ไขรายการและการอนุญาตให้แก้ไขรายการในใบอนุญาต การย้ายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นำเข้า ขาย หรือเก็บรักษาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการชั่วคราว การขอต่ออายุ และการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต การขอรับและการออกใบแทนใบอนุญาต และการขอโอนใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนตำรับ การแจ้งรายละเอียดและการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอขึ้นทะเบียนตำรับและการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ การขอแก้ไขรายการและการอนุญาตให้แก้ไขรายการในทะเบียนตำรับ การขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ และการขอรับและการออกใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งรายละเอียดและการออกใบรับแจ้งรายละเอียด การจดแจ้งและการออกใบรับจดแจ้ง การแก้ไขการแจ้งรายละเอียด การแก้ไขการจดแจ้ง การต่ออายุใบรับแจ้งรายละเอียดและการต่ออายุใบรับจดแจ้ง และการขอรับและออกใบแทนใบรับแจ้งรายละเอียดหรือใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร
3.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด ยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. เป็นการกำหนดค่าธรรมเนียม ลด ยกเว้น ค่าธรรมเนียมการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร
12. เรื่อง ขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ทหารผ่านศึก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอการขอปรับเพิ่มสิทธิลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่
- ผู้ที่ไปร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ สาธารณรัฐเกาหลีและครอบครัว
- ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญสมรภูมิและครอบครัวในกรณีสงครามต่าง ๆ (เช่น
- หน่วยต่อเดือนดิม ครอบครัวละ 45 หน่วยต่อเดือน เป็น ครอบครัวละ 50 หนู้่ก่อนแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 สิงหาคม 2496 24 พฤษภาคม สงครามเวียดนาม สงครามในทวีปยุโรป สงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นต้น)
- ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญและครอบครัว
- ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1
- ผู้ได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกฯ บัตรชั้นที่ 2
- ทหารผ่านศึกฯ บัตรชั้นที่ 1 และครอบครัว รวมถึงครอบครัวทหารผ่านศึก บัตรชั้นที่ 1
รวมจำนวนทั้งสิ้น 27,307 ราย ซึ่งได้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรีอยู่
ก่อนแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 สิงหาคม 2496 24 พฤษภาคม 2531 และ 12 กรกฎาคม 2537)
จากเดิม ครอบครัวละ 45 หน่วยต่อเดือน
เป็น ครอบครัวละ 50 หน่วยต่อเดือนและให้กระทรวงกลาโหมกำกับดูแลให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในการดำเนินการดังกล่าวด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
สำหรับการขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 หรือเหรียญราชการชายแดน หรือเหรียญอื่นที่เทียบเท่าที่มีคุณสมบัติเป็นทหารผ่านศึกและได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการบัตรชั้นที่ 3 แล้วเท่านั้น จำนวน 102,000 ราย ให้ได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสฟ้ารายละ 50 หน่วยต่อเดือน (ใช้งบประมาณจำนวน 204 ล้านบาทต่อปี) นั้น ให้กระทรวงกลาโหม (องค์การทหารผ่านศึก) พิจารณาดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วมีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีการขยายสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้ครอบคลุมทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 3 เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกควรพิจารณาการให้สิทธิพิเศษและบริหารจัดการงบประมาณอย่างรอบคอบ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมิให้เป็นภาระงบประมาณที่สูงเกินไป รวมทั้งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่า การขอสิทธิพิเศษดังกล่าว ควรที่จะพิจารณาประเภทการสงเคราะห์ตามสิทธิที่พึงได้รับลดหลั่นตามชั้นบัตร เช่นเดียวกับแนวทางการให้สวัสดิการอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และการพิจารณากรอบอัตราการเพิ่มจำนวนของทหารผ่านศึกนอกประจำการบัตรชั้นที่ 3 ในอนาคต ให้ครอบคลุม ครบถ้วน รวมถึงการขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ถือบัตรชั้นที่ 3 กระทรวงกลาโหมควรพิจารณาการจัดลำดับหรือกลุ่มผู้ถือบัตรตามฐานรายได้ที่ได้รับในการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาแหล่งเงินขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ด้วย
13. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีกรณีการชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ดังนี้
1. เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561
จากเดิมที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอทำความตกลงกับ กค. และสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อปรับลดเงินรายได้นำส่งเข้ารัฐหรือเป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (Public Service Account : PSA) ในกรณีส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า จำนวน 829 ล้านบาท แก้ไข
เป็น ให้กระทรวงพลังงาน (พน.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า จำนวน 829 ล้านบาท ให้แก่ กฟผ. โดยถือปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 27 หรือมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
2. เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 18 มิถุนายน 2562
จากเดิมที่กำหนดให้ กฟผ. ขอทำความตกลงกับ กค. และสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) แก้ไข
เป็นให้ พน. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า ประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้แก่ กฟผ. โดยถือปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 27 หรือมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
โดยให้กระทรวงพลังงานเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า กรอบวงเงิน 2,029,000,000 บาท แทนการปรับลดเงินรายได้นำส่งเข้ารัฐ หรือการบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) โดยไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถส่งผ่านไปยังค่าไฟผันแปร (Ft) ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เดิม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามผลการดำเนินการตามมาตรการฯ เพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
รวมทั้ง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เพิ่มเติมในส่วนที่อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยส่วนต่างดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ กรอบวงเงิน 525,000,000 บาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เบิกจ่ายงบประมาณให้กับ กฟผ. แล้ว จำนวน 88,089,953.44 บาท โดยแก้ไขเป็นให้กระทรวงพลังงานเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เหลือ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณตรงตามภารกิจของหน่วยงานและสอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมงบประมาณ ศักยภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการของ กฟผ. ด้วย เพื่อมิให้เป็นภาระต่อภาพรวมของงบประมาณภาครัฐ โดยการดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วน มีความโปร่งใส คุ้มค่า ความประหยัด ไม่ซ้ำซ้อน โดยพิจารณาความเป็นธรรมในสังคม และความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐต่อประโยชน์ส่วนรวมที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ตลอดจนในโอกาสต่อไป กรณีมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐใดดำเนินโครงการที่รัฐจะต้องรับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย หรือมีการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการนั้น จะต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น มีความถูกต้องอย่างชัดเจนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่จะส่งผลต่อภาระงบประมาณ หรือภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
14. เรื่อง ขออนุมัติให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปเเบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ขออนุมัติให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงราย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอแล้วมีมติ ดังนี้
- อนุมัติให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยใช้ที่ดินถาวร ไม่มีกำหนดระยะเวลา
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่กรมการขนส่งทางบกขอยกเว้นค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโครงการฯ ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณความคุ้มค่าของโครงการฯ รวมถึงผลวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลต่อ
รูปแบบและ
แผนงานการดำเนินโครงการฯ ด้วย
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 เมษายน 2555) อนุมัติในหลักการให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 โดยมีพื้นที่ของโครงการฯ บางส่วนเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 206 ไร่ 1 งาน 57.6 ตารางวา โดย
เอกชนจะร่วมลงทุนโครงการฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost ในส่วนของอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงาน และระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และจะต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้กับกรมการขนส่งทางบกเมื่อสิ้นระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี
2. กรมการขนส่งทางบกได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ
จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อการยินยอมให้ใช้พื้นที่ จำนวน 779,760,400 บาท โดยเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเกษตรกรผู้ถือครองที่ดิน
ได้ยื่นสละสิทธิ์ในที่ดินหรือได้ทำหนังสือยินยอมแล้วครบทุกรายในปี 2560 จึงได้ยื่นคำขออนุญาตใช้ที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงรายในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีมติ
เห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบกใช้ที่ดินฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ยังไม่ได้เสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาอนุญาต ต่อมา กรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงรายให้ทราบถึงการเข้าใช้พื้นที่ของผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ
(เป็นการเข้าใช้พื้นที่ก่อนได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
3. ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 ให้ไว้ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2560 โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560
แต่โดยที่กรมการขนส่งทางบกยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
จึงต้องดำเนินการขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินฯ อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 2 (3) (ก) ซึ่งกำหนดให้การขอความยินยอมหรือขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินฯ ต้องเป็นโครงการของรัฐ ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์
4. โดยที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเร่งรัดพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่กรมการขนส่งทางบกขอยกเว้นค่าตอบแทนฯ ของโครงการฯ ให้เกิดความชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนและกรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือถึงสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562
ยืนยันการของดเว้นค่าตอบแทนฯ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และ
ไม่ให้ต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณความคุ้มค่าของโครงการฯ เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลต่อกระทบต่อแผนการดำเนินโครงการฯ ต่อมา
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้มี
มติเห็นชอบการขอรับความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อม
เห็นชอบให้เก็บค่าตอบแทนฯ ตามข้อ 9 (3) ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2561 เนื่องจาก
ระเบียบดังกล่าวไม่มีบทยกเว้นการเรียกเก็บค่าตอบแทนฯ ก่อนเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาต่อไป
5. คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ได้พิจารณาประเด็นที่กรมการขนส่งทางบกขอรับความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ แล้ว
มีมติอนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะพิจารณาให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้กรมการขนส่งทางบกใช้ที่ดินฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ และ
มอบหมายให้คณะอนุกรรมการประเมินมูลค่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ พิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนฯ ตามระเบียบฯ และนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาภาย
หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรมการขนส่งทางบกใช้ที่ดินฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ แล้ว เนื่องจาก
เห็นว่า ประเด็นค่าตอบแทนฯ ควรมีการทบทวนอีกครั้ง
6. กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้องตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และ
มีความเห็นเพิ่มเติมให้เร่งรัดการพิจารณาเกี่ยวกับค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามแผนงาน และเพื่อให้กรมการขนส่งทางบกสามารถจัดเตรียมแผนบริหารงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ นอกจากนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่า โครงการดังกล่าว
ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 อย่างไรก็ตาม
พื้นที่ดังกล่าวยังมีสถานะเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย
15. เรื่อง การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มีแผนงานในการดำเนินการจัดที่ดิน ซึ่ง ส.ป.ก. ได้จัดซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินเอกชนเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินโดยการเช่าซื้อ เมื่อเกษตรกรได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ส.ป.ก. จะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เกษตรกร โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เกษตรกรดังกล่าวจะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามที่กรมที่ดินกำหนด โดย ส.ป.ก. จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ส่วนเกษตรกรไม่ได้รับการยกเว้นและต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ซึ่งเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ ส.ป.ก. จึงเสนอมาตรการในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ จากปกติจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบตามกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 (7) (ฎ) และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
2. ปัจจุบัน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ตามประกาศดังกล่าวยังมีความจำเป็นต่อการดำเนินการของ ส.ป.ก. จึงขอขยายกำหนดเวลาใช้บังคับออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่าธรรมเนียมฯ ให้แก่เกษตรกรที่ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์และสนับสนุนการดำเนินงานของ ส.ป.ก. ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดิน
3. โดยที่การลดหย่อนค่าธรรมเนียมเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ โดยเห็นควรให้ตัดการอ้างข้อ 2 (7) (ฎ) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ 2497 ออก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในระยะยาวเพื่อให้สามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้ก่อนที่จะครบกำหนดเวลาที่ระบุในประกาศกระทรวงมหาดไทยที่จะขยายออกไป
16. เรื่อง รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 (อว.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.
การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 คณะกรรมการฯ และสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) ได้ดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบการใช้บังคับการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับแจ้งและรับคำขอใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และทยอยจัดทำระบบการให้บริการแบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และมีการ
ประกาศนโยบายการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
2.
ข้อมูลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 มีการจดแจ้งสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 297 แห่ง จาก 56 องค์กร มีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ จำนวน 7,799 คน มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์หลากหลายชนิด เช่น หนู ไก่ ยุง เป็นต้น โดยในช่วงปี 2561 มีการใช้สัตว์มากกว่า 1,000,000 ตัว ซึ่งมาจากแหล่งผลิตสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.
ปัญหาและอุปสรรคในปีงบประมาณ 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ได้โดยสมบูรณ์เนื่องจากกฎกระทรวงสำคัญที่จะต้องใช้ประกอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นยังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ จากการดำเนินการและรวบรวมข้อมูลพบว่าสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์มีจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน มีสัตวแพทย์ไม่เพียงพอ และสัตว์ทดลองยังมีปัญหาในด้านคุณภาพ ชนิด และปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ งานวิจัยที่จะนำไปสู่นวัตกรรมยังมีน้อย อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลยังขาดความเข้มแข็งและบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์
4.
การพัฒนาการดำเนินการในระยะต่อไป ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้รองรับต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพของสัตว์ทดลอง การส่งเสริมการผลิตสัตว์ทดลองเพื่อทดแทนการนำเข้า การสนับสนุนให้มีหน่วยงานกลางเพื่อตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานพันธุกรรมและมาตรฐานสุขภาพ การพัฒนาสถานที่เลี้ยงและใช้สัตว์ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) และการสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานกลางที่กำกับดูแลพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558
17. เรื่อง การพิจารณาความเหมาะสมของอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคงไว้ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555) ที่กำหนดให้ กค. และ ธปท. พิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งของ ธปท. โดยให้แจ้งความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยเป็นรายปี ซึ่ง กค. และ ธปท. ได้พิจารณาแล้วสรุปผลได้ ดังนี้
1. การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้กับ ธปท.
ธปท. มีอำนาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงิน เป็นอัตราร้อยละต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามที่ ธปท. ประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากต้องไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 และ ธปท. ยังได้ประกาศกำหนดอัตราเงินนำส่งที่สถาบันการเงินจะต้องนำส่งเงินให้แก่ ธปท. ในอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี ของ (1) ยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง และ (2) ยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 (รายละเอียดตามประกาศ ธปท. ที่ สกส. 3/2555 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินนำส่ง หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการส่งเงินนำส่ง และการนำส่งเงินเพิ่มเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2555)
2. การชำระคืนต้นเงินกู้ที่ กค. กู้ และยอดคงค้างต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3
ตั้งแต่พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ (วันที่ 27 มกราคม 2555 – 31 กรกฎาคม 2562)
ได้มีการชำระคืนต้นเงินกู้ที่ กค. กู้ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF3)
เป็นจำนวน 304,389.68 ล้านบาท แต่ยังมียอดคงค้างต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 อีกจำนวนทั้งสิ้น 819,616.21 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. นั้น ธปท. ได้นำเงินดังกล่าวไปชำระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการเกี่ยวกับ FIDF1 และ FIDF3 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 366,867.67 ล้านบาท
3. การพิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินและประเมินระยะเวลาในการชำระคืนเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 ตามความเห็นของ ธปท. ดังนี้
เรื่อง |
ความเห็น ของ ธปท. |
1. อัตราเรียกเก็บเงินนำส่ง |
เห็นควรให้คงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี สำหรับปี 2562 – 2563 เนื่องจากภาระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ยังคงเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับสูง และเงินนำส่งจากสถาบันการเงินยังเป็นแหล่งเงินสำคัญในการลดต้นเงินและชำระดอกเบี้ย หากปรับลดอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจะส่งผลกระทบต่อการลดภาระหนี้ ซึ่งปัจจุบันฐานเงินฝากสำหรับคำนวณเงินนำส่งยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ |
2. ระยะเวลาการชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 |
คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 เสร็จสิ้นภายในปี 2574 โดยมีสมมติฐานและศักยภาพในการชำระเงินจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
(1) เงินนำส่งจากสถาบันการเงิน (แหล่งหลักในการชำระหนี้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย) โดยมีสมมติฐานอัตราการขยายตัวของฐานการคำนวณเงินนำส่งจากสถาบันการเงินอยู่ที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี (ปี 2562 – 2574)
(2) ประมาณการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ เงินกำไรสุทธิของ ธปท. (ไม่มีเงินนำส่ง เนื่องจากมีผลขาดทุนสะสมจำนวนสูง) เงินจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี (ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดการเงิน ซึ่งมีความผันผวนสูง และเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฯ [ปีงบประมาณ 2563 กองทุนฯ จะนำส่งจำนวน 6,700 ล้านบาท ปีต่อ ๆ ไป คาดว่าจะนำส่งประมาณ 5,000 ล้านบาท ภายใต้ สมมติฐานที่กองทุนฯ ยังคงถือหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)]
(3) ประมาณการดอกเบี้ยจ่ายปีงบประมาณ 2563 – 2574 ประมาณ ปีละ 30,000 ล้านบาท (ทยอยลดลงตามการชำระคืนต้นเงินกู้) |
4. ความเห็นของ กค.
ไม่ขัดข้องกับผลการพิจารณาของ ธปท. ที่เห็นควรให้คงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. ไว้ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี เนื่องจากยังคงมีความเหมาะสมภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของฐานเงินฝากที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินทั้งในประเทศและตลาดการเงินโลก และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555) ดังนั้น กค. จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการคงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. ไวที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี
18. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 พร้อมทั้งได้ประมวลแนวทางในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างควบคุมตัวเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะ กสม. |
สรุปผลการพิจารณา |
1. ครม. ควรสร้างกลไกภายในประเทศเพื่อประกันสิทธิของบุคคลตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นโดย ครม. ควรเร่งรัดการจัดทำร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เสนอต่อรัฐสภาพิจารณา |
1. ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้หมดวาระลง จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่ในชั้นรัฐสภา ต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยธ. ได้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติฯ แก่ ครม. แล้ว และ ครม. ได้เสนอไปยังประธานรัฐสภาด้วยแล้ว |
2. ให้ ยธ. เร่งกำหนดมาตรการป้องกันการถูกกระทำทรมาน |
2. ยธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญตามคำสั่ง นร ที่ 131/60 ลว. 23 พ.ค. 60 และคำสั่ง นร ที่ 198/60 ลว. 18 ส.ค. 60 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกัน การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การติดตามตรวจสอบกรณีต่าง ๆ และการเยียวยาผู้เสียหาย จากการถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญและได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 คณะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีการกระทำทรมานแล้วเสร็จ จำนวน 53 ราย ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำทรมานตามที่กล่าวอ้าง สำหรับกรณีการติดตามตรวจสอบตามบัญชีรายชื่อบุคคลหายสาบสูญของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ จำนวน 86 รายนั้น คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งได้ส่งข้อมูลไปยังคณะทำงานสหประชาชาติฯ แล้วจำนวน 11 ราย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการถูกบังคับให้หายสาบสูญ สำหรับอีก 75 ราย อยู่ระหว่างเร่งรัดรวบรวมข้อมูลและจัดทำคำแปลเพื่อส่งไปยังคณะทำงานฯ ต่อไป เมื่อรัฐบาลได้หมดวาระลงและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีส่งผลให้คำสั่ง นร ที่ 131/60 และคำสั่ง นร ที่ 198/60 สิ้นสภาพ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยธ. จะได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ในโอกาสต่อไป |
19. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน [กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้]
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน [กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พาราควอต (paraquat) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้] ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สธ. รายงานว่า ได้จัดประชุมหารือร่วมกับ กษ. อก. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 สรุปผลการพิจารณาได้ว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สธ. เฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เมื่อพิจารณาผลจากการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyriphos) จากข้อมูลพิษวิทยาจากต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลจากกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร โดยผลจากการตรวจระดับเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2562 พบว่า ในแต่ละปีเกษตรกรประมาณร้อยละ 30 ของผู้ได้รับการตรวจมีระดับเอนไซม์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงกว่าคนทั่วไป และอยู่ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนั้นสัดส่วนของเกษตรกรที่มีความเสี่ยงจะเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและสถานการณ์เจ็บป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชที่รายงานสถานการณ์โรคของ สธ. จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 พบว่า มีอุบัติการณ์ระหว่าง 8.9 – 17.12 รายต่อแสนประชากร หรือ ประชาชนประมาณ 10,000 รายต่อปี ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดพบว่า ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีมักจะเจ็บป่วยจากการฉีดพ่นพาราควอต (paraquat) จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อยหรือในนาข้าวเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทางการเกษตรมีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้ ผู้สัมผัสและผู้บริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตรายดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบสารพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิด ซึ่งจะมีผลต่อการถูกทำลายของต่อมไร้ท่อในลูกอัณฑะทำให้มีอสุจิลดลง และต่อมไทรอยด์ทำให้มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่ทำให้เกิดปัญญาอ่อน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและภาวะการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต
2. สธ. เห็นว่า การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต (paraquat) ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyriphos) เป็นการก่อให้เกิดโรคจากสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน และควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ จึงเห็นควรยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ทันที
20. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 – 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2562 และแนวโน้ม ปี 2562 – 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
- ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2562
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YOY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2562 ร้อยละ 0.1 (%QoQ_SA)
รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.5
- ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภาคเอกชน และการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำรวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 60.8 เทียบกับระดับ 64.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างทรงตัว ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.6 และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.6 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 16.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 19.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- .2 ด้านภาคต่างประเทศ
1.2.1
การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัว เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4
กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 5.1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 0.3) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 0.5) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 19.5) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 4.0) และผลไม้ (ร้อยละ 41.4) เป็นต้น
กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 35.1) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 27.3) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 3.9) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ 8.4) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 7.2) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 14.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 4.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 10.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 29.3) และเคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 18.8) เป็นต้น
- การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 55,333 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง
ร้อยละ 6.8 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม) เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก ขณะที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
1.3
ด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเร่งขึ้น การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง
ในขณะที่การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมฯ สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ
ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดย
สาขาเกษตรกรรม
การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.1 โดยผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 5.9) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 6.9) และปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 10.8) เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 6.3) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 5.2) เป็นต้น ด้านหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 5.1 ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 1.0
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 9.9) ราคาสุกร (ร้อยละ 15.9) และราคากลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 5.7) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้
ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า โดย
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 5.9 และ
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.3
อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ลดลงจากร้อยละ 65.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 68.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 6.3) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 7.4) และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 18.2) เป็นต้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 36.1) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 3.8) และการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 10.3) เป็นต้น
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวน
นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มี
รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 738.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1)
รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 476.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูงประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น และ (2)
รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 261.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.0 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.08 ลดลงจากร้อยละ 69.83 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 65.38 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งผู้โดยสาร เป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2
ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 3.0 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งและบริการไปรษณีย์ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.9 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ
- ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
(2.8 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 220.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,902 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.9 ของ GDP
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562
เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า
จะลดลงร้อยละ 2.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563
เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.7 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐและเอกชน (2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น (3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP โดยรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
3.1
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.3 ในปี 2562 โดยเป็นการชะลอตัวจากฐานการขยายตัวสูงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ที่มีการขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีงบประมาณ 2562
- EEC) รวมทั้งการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการ
กีดกันทางการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้นตลอดช่วงปี 2562 ภายใต้การดำเนินมาตรการสนับสนุนการลงทุน
ของภาครัฐเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้น
3.3
มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในปี 2562 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ
ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกและการปรับตัวของการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า
ที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง
จากครึ่งหลังของปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในปี 2562
- ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ
4.1
การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า (2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (3) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และ (4) การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า
4.2
การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง
การกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น การรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
การป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกและลดปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
4.3
การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่าย
และการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเตรียมโครงการให้มีความพร้อมต่อการเบิกจ่ายเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ (2) การเร่งรัดอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีงบประมาณ 2563 ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92.3 โดยงบประจำ และงบลงทุน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.0 และร้อยละ 70.0 ตามลำดับ งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 73.0 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (3) การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเบิกจ่ายจากโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
4.4
การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (2) การผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว (3) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตและย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ และ (5) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน
4.5
การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก
21. เรื่อง การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีโคราชสมัครเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) โดยส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562 และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
[ขั้นตอนการสมัครเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกกำหนดให้ผู้สมัครเสนอเอกสารประกอบการสมัครผ่านคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562]
รายละเอียดของอุทยานธรณีโคราช สรุปดังนี้ ข้อมูลทั่วไป : อุทยานธรณีโคราชครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ ขามทะเลสอ สูงเนิน และสีคิ้ว รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,167 ตารางกิโลเมตร ความเหมาะสมในการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก : มีแหล่งธรณีวิทยาแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชจำนวน 35 แหล่ง ในจำนวนนี้เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติจำนวน 4 แหล่ง คือ 1) แหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินสมัยไพลสโตซีนตอนต้นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายของชนิดและสีสัน 2) แหล่งไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล และ 3 ชนิด รวมทั้งเต่าทะเลและจระเข้พันธุ์ใหม่ 1 สกุล 2 ชนิด 3) แหล่งฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลกที่พบถึง 10 สกุล จาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก 4) แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ 200,000 ปีที่มีความหลากหลายชนิดที่สุด (15 ชนิด) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้อุทยานธรณีโคราชยังมีลักษณะภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือรูปอีโต้ที่มีการยกตัวของที่ราบสูงโคราช โดยเส้นทางเขาเควสตามีระยะทาง 60 กิโลเมตร (ตั้งแต่จุดชมวิวเขายายเที่ยง-ปราสาทหินพนมวัน) โดยมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ความพร้อมของพื้นที่ : อุทยานธรณีโคราชมีสถานะเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ยื่นความจำนงและใบสมัคร เนื่องจากมีความพร้อมในการเสนอเพื่อรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกทั้งในด้านวิชาการธรณีวิทยา ด้านศักยภาพ และองค์ประกอบตามที่ยูเนสโกกำหนด ประกอบกับการประเมินตนเองตามแนวทางของยูเนสโกของอุทยานธรณีโคราชได้ผ่านเกณฑ์กำหนดแล้ว โดยมีผลการประเมิน ร้อยละ 84
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอให้อุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก(UNESCO Global Geoparks) ตามความต้องการของจังหวัดนครราชสีมา และให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะต้องชำระค่าสมาชิกปีละ 1,500 ยูโร หรือประมาณ 56,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยานธรณีโคราชในภาคสนามและค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกและเครือข่ายอุทยานธรณีในระดับภูมิภาคเชียแปซิฟิกด้วย
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ให้ ทส. รับเรื่องนี้ไปพิจารณาว่า การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) จะมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณดังกล่าวในอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้ ทส. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดนครราชสีมาและคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณีพิจารณาทบทวนการเสนอให้อุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก สรุปได้ว่า การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ไม่มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าใช้ประโยชน์ บริหารจัดการหรือดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนเจ้าของพื้นที่
22. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MOU between The Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and The Ministry of Science and ICT of the Republic of Korea on Cooperation in Science, Technology and Innovation)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง อว. แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจ ฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ อว. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และมอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ลงนาม ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ
(บันทึกความเข้าใจ ฯ จะมีการลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2562 ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี)
เดิมประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการวางแผนอนาคตแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานและขอบเขตความรับผิดชอบ จึงเห็นพ้องกันให้มีการปรับและทบทวนเอกสารบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โดยสาระสำคัญส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ มีการปรับในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบและปรับเพิ่มสาขาความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น สาขาชีววิทยาศาสตร์ สารสนเทศทางปัญญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหาร การบินและอวกาศ โดยจะมีการร่วมวิจัยและพัฒนา แลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย ร่วมจัดประชุม ฝึกอบรม สัมมนา การจัดพิมพ์และแสดงนิทรรศการของโครงการร่วม
23. เรื่อง ร่างอนุสัญญาโลกว่าด้วยการรับรองคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (Global Convention on the Recognition of Qualifications concerning Higher Education)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างอนุสัญญาโลกว่าด้วยการรับรองคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (Global Convention on the Recognition of Qualifications concerning Higher Education) (ร่างอนุสัญญาฯ) และอนุมัติให้คณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 40 [40th Session of The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization’s (UNESCO) General Conference] ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-27 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้ความเห็นชอบต่อร่างอนุสัญญาโลก ฯ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ
(คาดว่าจะมีการให้ความเห็นชอบต่อร่างอนุสัญญาฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ฯ ครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 12-27 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส)
สาระสำคัญร่างอนุสัญญาฯ แบ่งออกเป็น 6 หมวด (25มาตรา) ประกอบด้วย หมวดที่ 1 นิยามศัพท์ หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์ หมวดที่ 3 หลักการพื้นฐานในการรับรองคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หมวดที่ 4 ข้อผูกพันที่รัฐภาคีมีต่ออนุสัญญาฯ หมวดที่ 5 กรอบการนำอนุสัญญา ฯ ไปปฏิบัติและความร่วมมือ และหมวดที่ 6 บทส่งท้าย ทั้งนี้ ร่างอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคด้วยการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรทั่วโลกในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาต่อหรือเพื่อการมีงานทำ รวมทั้งสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ทุกคนซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นด้วย
24. เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ค.ศ. 1989
คณะรัฐมนตรีอนุมัติการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ค.ศ. 1989 โดยขอตั้งข้อสงวนตามข้อ 30 (เอ) ในเรื่องขอบเขตการใช้บังคับให้อนุสัญญา ฯ ไม่ใช้บังคับบริเวณน่านน้ำภายในของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 5 (1) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. 2550 และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการยื่นตราสาร การภาคยานุวัติ (Instrument of Accession) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ค.ศ. 1989 ต่อเลขาธิการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ตามข้อ 28 ของอนุสัญญาฯ ต่อไป หลังจากที่รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
[คาดว่าจะมีการยื่นตราสารภาคยานุวัติเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ ในช่วงการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 31 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562 ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) จะทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว]
อนุสัญญา ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือกู้ภัยโดยกำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย เจ้าของเรือ และนายเรือ และกำหนดมาตรการจูงใจเป็นเงินตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย เพื่อมุ่งหวังให้การปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะนำไปสู่ความสามารถในการลดความสูญเสียที่จะเกิดแก่ชีวิต ตลอดจนบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่สิ่งแวดล้อมได้ ในส่วนของการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. 2550 เพื่อวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล การปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือกู้ภัยและสิทธิในการได้รับเงินตอบแทนของ ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล เพื่อให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาฯ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 แล้ว
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ คือ การก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลและจูงใจให้เกิดการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ลดความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือ ทรัพย์สิน บุคคลบนเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจ และยกระดับความน่าเชื่อถือต่อกฎหมายพาณิชนาวีของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จะเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) อีกสมัยหนึ่งในช่วงการประชุมสมัชชาของ IMO เดือนพฤศจิกายน 2562 และจากการที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. 2550 ใช้บังคับอยู่และสอดคล้องกับข้อผูกพันตามอนุสัญญาฯ แล้ว จึงสามารถดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ โดยไม่ต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการเป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะขอตั้งข้อสงวนตามข้อ 30 (เอ) ในเรื่องขอบเขตการใช้บังคับให้อนุสัญญา ฯ ไม่ใช้บังคับบริเวณน่านน้ำภายในของประเทศไทย (จะใช้บังคับตั้งแต่ทะเลอาณาเขตในระยะ 12 ไมล์ทะเลออกไปจากเส้นฐานเท่านั้น) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 5 (1) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. 2550 ซึ่งสามารถกระทำได้ในขณะที่ยื่นภาคยานุวัติสาร
25. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 และเห็นชอบต่อท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีของไทยฯ ที่มิใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 มีกำหนดพิจารณาวาระแรกเพื่อรับรองรายงานและข้อตัดสินใจต่าง ๆ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562
สาระสำคัญ
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 รวมทั้งสิ้น 25 คน ประกอบด้วย (1) อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยฯ (2) ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ (3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (4) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม (5) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (6) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (7) ผู้แทนกระทรวงพลังงาน (8) ผู้แทนกระทรวงการคลัง และ (9) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยด้วยแล้ว
2. ท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 จะสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศและการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 จะพิจารณา 6 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1) ประเด็นด้านเทคนิควิชาการ 2)ประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3) ประเด็นกลไกสนับสนุนทางการเงิน 4) ประเด็นการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 5) ประเด็นสนับสนุนการดำเนินงานของอนุสัญญามินามาตะฯ และ 6) ประเด็นอื่น ๆ
26. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สกพอ. สามารถพิจารณาดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง พร้อมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวของฝ่ายไทย ตามที่ สกพอ. เสนอ
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง KOTRA และ สกพอ. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การสร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่าง สกพอ. กับ KOTRA เพื่อส่งเสริมการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างกัน พร้อมทั้งแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทันสมัย ตลอดจนให้การสนับสนุนกันอย่างใกล้ชิด
2. การส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2562 และทั้งสองฝ่ายมีกำหนดลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง สกพอ. กับ KOTRA ในโอกาสการพบหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
27. เรื่อง ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 และเห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามประเด็นในกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานและความร่วมมือเป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงฯ ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ
สาระสำคัญ
กรอบการหารือดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานและความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภายใต้พันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ในประเด็นสำคัญได้แก่ 1) แผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2563 – 2564 2) ยุทธศาสตร์การจัดการภัยแล้ง พ.ศ. 2563 – 2568 3) การดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง และ4) ประเด็นอื่นๆ ตามที่ประเทศสมาชิกเห็นชอบให้มีการหารือร่วมกันการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 จะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2562
28. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และ ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 6 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 6 ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 การพัฒนาสวัสดิการสังคมเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 และความเชื่อมโยงของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 และยอมรับถึงความสำคัญของการดำเนินงานแบบพหุภาคีและพหุมิติในการขับเคลื่อนวาระด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และชุมชน
1.2 การส่งเสริมสวัสดิการสังคมและการพัฒนาที่มีพลวัต ยืนยันถึงบทบาทของสวัสดิการสังคมและการพัฒนาในการขจัดความยากจน เสริมพลังประชาชนและในการลดผลกระทบของการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1.3 การบูรณาการสิทธิคนพิการ รับทราบรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 เพื่อบูรณาการสิทธิคนพิการ และยอมรับถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนการดำเนินงานจากฐานการสงเคราะห์ไปสู่การดำเนินการเสริมพลังฐานสิทธิในนโยบายและแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
1.4 การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก รับทราบเกี่ยวกับความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก พ.ศ. 2559 – 2563 และการรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งประกอบด้วย ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและ การพัฒนา ครั้งที่ 6 มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) โดยพิจารณาถึงความคืบหน้าของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนและประเทศอาเซียนบวกสามในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ในภูมิภาค
2.2 ความร่วมมือในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในประเด็นด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา รับทราบผลการพิจารณาของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 12 ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 13 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ชื่นชมและยินดีต่อการสนับสนุนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ในด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา และมุ่งหวังต่อการเสริมสร้างความร่วมมือในการเสริมพลังผู้สูงอายุในอาเซียน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย จะรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 10 และร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 6 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ตามลำดับ
29. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นหุ้นส่วน 2) ร่างถ้อยแถลงประธานร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองและออกเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งจะมีการเสนอให้ที่ประชุมรับรองและออกระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 สรุปได้ดังนี้
1. ร่างถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นหุ้นส่วน เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและเสนอวิสัยทัศน์ร่วมของความสัมพันธ์อาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีในอีก 30 ปีข้างหน้าเกี่ยวกับ (1) การพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีในอนาคต (2) การส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค (3) การเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (4) การเสริมสร้างความเชื่อมโยง (5) การส่งเสริมความยั่งยืนและความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และ (6) การเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนด้านสังคมและวัฒนธรรม
2. ร่างถ้อยแถลงประธานร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ เพื่อเป็นเอกสารที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของการประชุมฯ ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
โดยที่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2562 ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
30. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ให้ความสำคัญกับประเด็น ดังนี้
1. ทบทวนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี และติดตามผลลัพธ์ของการดำเนินการตามปฏิญญาแม่น้ำฮันเพื่อสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี และแผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี
2. ทิศทางความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีในอนาคต และปรับสาขาความร่วมมือให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของสาธารณรัฐเกาหลีและกระแสการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค บน 3 เสาหลักใหม่ ประกอบด้วย ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ และมีความร่วมมือใน 7 สาขาใหม่ ได้แก่ (1) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (3) การพัฒนาชนบทและเกษตรกรรม (4) โครงสร้างพื้นฐาน (5) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (6) สิ่งแวดล้อม (7) ความท้าทายต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่
3. ย้ำเจตนารมณ์ที่ให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน (2) ความเจริญรุ่งเรืองจากการแบ่งปันประสบการณ์ด้านต่าง ๆ อาทิ การเกษตรและการพัฒนาชนบท การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมความร่วมมือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs (3) การสร้างสันติภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคผ่านความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการป่าไม้และโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ และการกำจัดทุ่นระเบิด โดยใช้กลไกของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ อาทิ กรอบความร่วมมือ ACMECS
ทั้งนี้ จะมีการรับรองเอกสาร ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
31. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษก รองโฆษก และผู้ช่วยโฆษกของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงยุติธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแต่งตั้งโฆษก รองโฆษก และผู้ช่วยโฆษก รวม 7 ตำแหน่ง ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
รายชื่อ |
ตำแหน่ง |
ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็น |
คำสั่งอ้างอิง |
กระทรวงมหาดไทย |
นายสมคิด จันทมฤก |
รองปลัด มท. |
โฆษก มท. |
คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 2214/2562 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก รองโฆษก และผู้ช่วยโฆษก กระทรวงมหาดไทย |
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป |
ผู้ตรวจราชการ มท. |
รองโฆษก มท. |
นายทรงกลด สว่างวงศ์ |
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัด มท. |
ผู้ช่วยโฆษก มท. |
นายชานน วาสิกศิริ |
ผู้ช่วยปลัด มท. |
ผู้ช่วยโฆษก มท. |
กระทรวงพลังงาน |
นายวัชระ กรรณิการ์ |
ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี |
โฆษก พน. |
คำสั่งกระทรวงพลังงาน ที่ 30/2562 ลงวันที่ 12 กันยายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกระทรวงพลังงาน |
กระทรวงยุติธรรม |
นายวัลลภ นาคบัว |
ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม |
โฆษก ยธ. |
คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 281/2562 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานโฆษกกระทรวงยุติธรรม |
พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ |
รองปลัด ยธ. |
รองโฆษก ยธ. |
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง
นางอุษามาศ ร่วมใจ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ รวม 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1.
นางวิกุล วิสาลเสสถ์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562
2.
นายสมพงษ์ ชัยโอภานนท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2562
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
34. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวม 2 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ดังนี้
1. นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ
2. นางณัฐนันท์ อัศวเลิศศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
35. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง
นายปิยะมิตร ศรีธรา เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ แทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
36. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวม 6 คน ดังนี้
1. นายรอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ
2. นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นายธาดา เตียประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายชิดชนก เหลือสินทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นางสาวสิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
37. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง
รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แทนผู้ที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
.................