http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2562) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมอรพิม ชั้น 2 อาคารบริการวิชาการและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่
ครั้งที่ 1/2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วน ของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. .... และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
2. เรื่อง ร่างอนุบัญญัติออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
3. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
5. เรื่อง กลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก
6. เรื่อง การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
7. เรื่อง รณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิโครงการหลวง และผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นของขวัญ ของที่ระลึกเทศกาลปีใหม่ 2563
8. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”
9. เรื่อง โครงการประกันรายได้และมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2562/63
10. เรื่อง รายงานการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี : แนวทางการสร้างความเข้มแข็งของบวร เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง
11. เรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมและพลัง “บวร” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคม : กรณีกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้าน
การป้องกันประเทศ
13. เรื่อง ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย - สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ
14. เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการ Promotion of Sustainable Agricultural Value Chains in ASEAN
15. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เรื่อง ผลการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ของนายกรัฐมนตรี
16. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญากรุงเทพ: การตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อปัญหายาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขงและร่างแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุม
ยาเสพติด ฉบับที่ 11
17. เรื่อง การลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทยระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
18. เรื่อง การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านภาษีอากรเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
21. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน
พ.ศ. .... และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. .... และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. ยกเลิกบทนิยาม |
ยกเลิกบทนิยามคำว่า “พรีเมียมน้ำตาลทรายไทย” และ “คณะกรรมการกำหนดราคาขาย” เนื่องจากไม่ใช้อ้างอิงในการคำนวณราคาน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรแล้ว |
2. แก้ไขปริมาณและราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศที่จะใช้ในการคำนวณรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย |
- ปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศ เดิม ใช้ปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายจริงของฤดูการผลิตที่แล้ว แก้ไขเป็น ใช้ปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้นที่มีการแบ่งตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของทุกโรงงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนด
- ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ เดิม ใช้ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย แก้ไขเป็น ใช้ราคาเฉลี่ยของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศในต้นฤดูการผลิตนั้น |
3. บทเฉพาะกาล |
แก้ไขบทเฉพาะกาลโดยกำหนดให้เฉพาะฤดูการผลิตปี 2561/2562 ให้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. 2561 มาใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตขั้นสุดท้าย |
2. ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ
เป็นการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561
2. เรื่อง ร่างอนุบัญญัติออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการพิจารณาตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ....
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นรวมทั้งสิทธิการดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน พ.ศ. ....
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาเหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ การบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และหลักฐานการทุ่มตลาดหรือการได้รับการอุดหนุน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1.
1.1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
1.2) กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนมีคำวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ เช่น คำวินิจฉัยให้ใช้มาตรการชั่วคราว คำวินิจฉัยให้เรียกเก็บหรือไม่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือให้ยุติหรือเปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน คำวินิจฉัยเกี่ยวกับการยอมรับข้อเสนอทำความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ แสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้เป็นพื้นฐานการพิจารณาผลการไต่สวน และกำหนดรายละเอียดที่ต้องปรากฏในประกาศกรมฯ สำหรับคำวินิจฉัยแต่ละประเภท
1.3) กำหนดให้การแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 (ข้อมูลข่าวสารที่มีสาระและเนื้อหาหรือผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด)
1.4) ให้กรมการค้าต่างประเทศจัดส่งประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
2) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2.
2.1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
2.2) กำหนดให้การเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ไต่สวนการอุดหนุนและความเสียหาย หรือไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2.3) กำหนดให้ในระหว่างการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ไต่สวนการอุดหนุนและความเสียหาย หรือการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีสิทธิดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ร้องขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลอื่นนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้เสนอไว้แล้วในการประชุมร่วมกันด้วยวาจา ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นได้
2.4) ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการให้ตามที่มีการร้องขอโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการรักษาความลับและความสะดวกของทุกฝ่าย
2.5) กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้ และการไม่เข้าร่วมประชุมนั้นไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้นั้นในการไต่สวน
2.6) กำหนดให้ความคิดเห็นและข้อโต้แย้งและข้อมูลที่เสนอเพิ่มเติมของผู้ร้องขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำมาใช้ในการไต่สวนได้ เมื่อผู้นำเสนอข้อมูลได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้กรมการค้าต่างประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนด และจัดไว้ให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นแล้ว
3) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.
3.1) กำหนดให้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนให้พิจารณา เหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยให้พิจารณาจากความคุ้มค่าทางธุรกิจในการดำเนินการ หรือการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นรายกรณีก็ได้
3.2) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ที่มีผลเป็นการบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้ในด้านของราคาหรือปริมาณ โดยให้อาศัยหลักฐานสนับสนุนและตรวจสอบข้อมูล
3.3) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักฐานการทุ่มตลาดกรณีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
3.4) กำหนดให้การพิจารณาหลักฐานการได้รับการอุดหนุนกรณีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ให้ผู้ผลิตในต่างประเทศหรือผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ประกอบสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้เป็นผู้พิสูจน์ว่า การได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้สิ้นสุดลงแล้ว หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ให้ถือว่ามีหลักฐานการได้รับการอุดหนุน
3.5) กำหนดให้การพิจารณาองค์ประกอบของการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนให้ใช้ข้อมูลย้อนหลังได้ไม่เกินกว่า 3 ปี ก่อนวันประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนครั้งแรก
3. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
พณ. เสนอว่า
1. ได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 22 กันยายน 2558 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 เพื่อควบคุมการส่งออก การถ่ายลำและการผ่านแดนสินค้าที่ใช้ได้สองทางในเบื้องต้นก่อน โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 และต่อมาได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เพื่อเลื่อนวันบังคับใช้ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับแรก เป็นวันที่ 1 มกราคม 2562 และวันที่ 1 มกราคม 2563 ตามลำดับ
2. ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงดังกล่าวรวมถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทางด้วย ดังนั้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนในการใช้บังคับกฎหมาย จึงสมควรยกเลิกประกาศ รวม 3 ฉบับ ตามข้อ 1.
สาระสำคัญของร่างประกาศ
เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 22 กันยายน 2558 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างประกาศ
|
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
|
1. กำหนดวันใช้บังคับ |
ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป |
|
|
2. กำหนดประเภทรถแทรกเตอร์ใช้แล้วทางการเกษตรสามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักร |
(1) รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบล้อยาง
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.30.00.000
(2) รถแทรกเตอร์ล้อยางกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 18 กิโลวัตต์
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.91.10.000
(3) รถแทรกเตอร์ล้อยางกำลังเครื่องยนต์ 19 – 37 กิโลวัตต์
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.92.10.000
(4) รถแทรกเตอร์ล้อยางกำลังเครื่องยนต์ 38 – 75 กิโลวัตต์
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.93.10.000
(5) รถแทรกเตอร์ล้อยางกำลังเครื่องยนต์ 76 – 130 กิโลวัตต์
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.94.10.000
(6) รถแทรกเตอร์ล้อยางกำลังเกินเครื่องยนต์เกิน 130 กิโลวัตต์
พิกัดอัตราศุลกากร 8701.95.10.000 |
|
เศรษฐกิจ- สังคม |
|
|
|
|
5. เรื่อง กลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการ
งดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single – Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม
บูรณาการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 มอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์ ทส. โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมมือกับภาคเอกชนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจมาตรการดังกล่าวกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
2.2 มอบหมายให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน 43 ราย พิจารณากำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติสำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก
3. ให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานในการติดตามผลและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดประชุมการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 250 คน เป็นผู้แทนจากศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่
ประชุมมีมติเห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้นำเสนอกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกดังกล่าว ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบและเห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก พร้อมทั้งให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
2.
กลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประชุมหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย 43 ราย เพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก โดยแนวทาง วิธีการที่จะดำเนินการขึ้นอยู่กับห้างร้านที่จะพิจารณาเลือกแนวทางวิธีการที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปตามหลักการงดให้ถุงพลาสติก รวมทั้งการกำหนดวิธีการปฏิบัติผ่อนผัน การรองรับที่ชัดเจนสำหรับภาชนะหรือถุงบรรจุของร้อน อาหารเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้
2.2
การสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
2.2.1 ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชนร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วง 4 เดือนก่อนหยุดให้ถุงพลาสติกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ 76 จังหวัด ทั่วประเทศ
2.2.2 สำหรับผู้ประกอบการห้างอื่น ๆ (นอกเหนือจาก 43 ราย) รวมทั้งร้านขายของชำและตลาดสด ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดส่งข้อมูลแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เพื่อร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดร่วมประชาสัมพันธ์ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563
2.3 ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการดำเนินมาตรการงดให้ถุงพลาสติกในห้างอื่น ๆ รวมทั้งร้านขายของชำและตลาดสดในพื้นที่ในลักษณะ Road – show ใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการยก (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการขยะพลาสติกโดยกำหนดเป้าหมายให้ถุงพลาสติกหูหิ้วหมดไปจากท้องตลาด ในวันที่ 1 มกราคม 2564
2.4 ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษประชุมหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันพลาสติก และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกและส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้สำหรับกระบวนการ Pyrolysis ในการหลอมขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน และนำน้ำมันมาผลิตเม็ดพลาสติก (พลาสติกมีส่วนประกอบหลักทางเคมีเหมือนกับน้ำมัน ดังนั้น ถ้าหากนำพลาสติกไปเผาแล้วกลั่นแยกส่วนจะได้ผลผลิตเป็นน้ำมัน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเนื่องจากน้ำมันมีราคาถูก จึงเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาทางเลือก)
2.5 ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษเร่งจัดทำกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยการทบทวน ปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการลดและนำของเสียมาใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2.6 ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี และหน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่
2.7 ดำเนินการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการดำเนินการ
6. เรื่อง การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สงป. รายงานว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น โดยที่หากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเสร็จ จะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงได้จำนวนหนึ่ง สงป. จึงจำเป็นต้องกำหนด แนวทางการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายตามที่คาดว่าจะมีการปรับลดงบประมาณลงได้ ในครั้งนี้ สงป. จึงเสนอแนวทางและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้
1. แนวทางการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ดังนี้
1.1 เป็นรายจ่ายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
1.2 เป็นรายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพัน รายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ สังคม รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ตลอดจนรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยรับงบประมาณ
1.3 เป็นรายจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติภัยธรรมชาติ ในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแล้ว
ทั้งนี้ แนวทางการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังกล่าวข้างต้น มีเงื่อนไขดังนี้
(1) รายการที่เสนอขอเพิ่มงบประมาณต้องเป็นรายการที่มีอยู่ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (9 สิงหาคม 2562) ยกเว้นรายจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ในข้อ 1.3
(2) ไม่ควรทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(3) ไม่ควรผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีในปีต่อ ๆ ไป
(4) หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที
(5) หน่วยรับงบประมาณต้องเสนอโครงการ/รายการ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ
(6) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
2. แนวทางการเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายเฉพาะหน่วยรับงบประมาณที่เสนอขอตั้งงบประมาณไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และกรณีที่มีการโอนภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ดังนี้
2.1 มีกฎหมายกำหนดให้โอนภารกิจทั้งกรณีที่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณขึ้นใหม่และไม่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณ
2.2 มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันตามนัยมาตรา 8 ทวิ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.3 มีการโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตามแผนกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้หน่วยรับงบประมาณที่ถูกโอนภารกิจเสนอขอปรับลดงบประมาณเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องโอน
(2) ให้หน่วยรับงบประมาณที่รับโอนภารกิจ เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้ปรับลดตามข้อ (1)
3. ขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของหน่วยรับงบประมาณ
3.1 ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้ตรวจสอบและรับรองข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และรวบรวมจัดส่งให้ สงป. พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e – Budgeting ภายในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562
สำหรับกรณีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เสนอหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อรวบรวมเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแผนงานบูรณาการนั้น ๆ พิจารณาให้ความเห็นชอบและส่ง สงป. พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e – Budgeting ภายในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562
ทั้งนี้ สำหรับกรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองข้อมูลแล้วว่า การดำเนินงานนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และรวบรวมจัดส่งให้ สงป. ภายในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562
3.2 สำหรับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ ให้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยตรง ภายในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เพื่อที่ สงป. จะได้ประมวลผลภาพรวมการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่อไป
3.3 ให้ สงป. พิจารณาคำขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
7. เรื่อง รณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิโครงการหลวง และผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นของชวัญ ของที่ระลึกเทศกาลปีใหม่ 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิโครงการหลวง และผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นของขวัญ ของที่ระลึกเทศกาลปีใหม่ 2563 โดยขอความร่วมมือให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อสร้างช่องทางการตลาดให้มากขึ้นและเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในบนบท และเพื่อเป็นการส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ 2563
สาระสำคัญของเรื่อง
- กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP โดยปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 87,468 ราย และมีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 185,963 ผลิตภัณฑ์ (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562)
2. มูลนิธิโครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชาวไทยภูเขาที่เป็นคนยากไร้ให้มีอาชีพมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ ผัก สมุนไพร เห็ด ชา กาแฟ ถั่วและธัญพืช ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้งและผลิตภัณฑ์ แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และดอยคำ
3. มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในชนบทให้มีอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท โดยเฉพาะราษฎรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือที่ว่างจากฤดูเพาะปลูกให้ได้มีงานทำ ทำให้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเข้าไปทำงานรับจ้างในเมือง โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากมูลนิธิ ได้แก่ งานผ้า งานไม้ งานจักสาน งานเซรามิก ดอกไม้ประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์จากโครงการฟาร์มตัวอย่าง และเบ็ดเตล็ด อาทิ สมุดบันทึก กล่องผ้าไหม เป็นต้น
4. เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นช่วงเวลาในการส่งมอบความสุขด้วยการมอบของขวัญของที่ระลึก ซึ่งในการเลือกซื้อของขวัญ หากสนับสนุนผลิตภัณฑ์ตามข้อ 1-3 ทำให้เกิดการกระจายรายได้และส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับฐานราก
8. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”
ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
กค. รายงานว่า
เนื่องจากมาตรการส่งเสริม “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมฯ) และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ) ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องขยายการดำเนินมาตรการและปรับปรุงวิธีดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อให้มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีความต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงเสนอการขยายการดำเนินมาตรการและปรับปรุงวิธีดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาระสำคัญ
1. มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชนรวมจำนวนไม่เกิน 13 ล้านคน (มาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 3 ล้านคน) โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (g-Wallet) ดังนี้
1.1 รัฐบาลสนับสนุนวงเงินสำหรับ g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง ช่อง 1” (g-Wallet ช่อง 1) จำนวน 1,000 บาทต่อคน เพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้เมื่อตอนลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”
1.2 กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเข้าบัญชี g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง ช่อง 2” (g-Wallet ช่อง 2 ) เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก รวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 ดังนี้
(1) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
(2) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน)
ทั้งนี้การซื้อสินค้าและบริการตามข้อ 1.1 และ 1.2 ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
อนึ่งมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
- ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ มีผู้ได้รับสิทธิ์
12,901,825 ล้านคน สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ใช้สิทธิ์ 10,942,486 คน มียอดใช้จ่ายรวม 11,335 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 10,732 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 981 บาท สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์ 81,656 คน มียอดใช้จ่ายประมาณ 603 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 7,385 บาท
3. ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการติดตามการดำเนินมาตรการ รวมทั้งตรวจสอบความผิดปกติจากการรับชำระเงินด้วยแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” โดยมีคำสั่งที่ 1458/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานประเมินผลและความคุ้มค่าของมาตรการส่งเสริมฯ “ชิมช้อบใช้” (คณะทำงานฯ) ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 และในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการประเมินผลและความคุ้มค่าของมาตรการรวมทั้งได้รับทราบการดำเนินการเบื้องต้นกรณีพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมภายใต้มาตรการดังกล่าว และมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยด้านการประเมินผลความคุ้มค่ามาตรการ “ชิมช้อปใช้” เพื่อประเมินผลการดำเนินการและความคุ้มค่าของมาตรการ “ชิมช้อปใช้”และคณะทำงานย่อยด้านกฎหมาย เพื่อติดตามตรวจสอบร้านค้ากรณีพบความผิดปกติจากการรับชำระเงินให้ดำเนินการสั่งระงับการจ่ายเงินและตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว
เนื่องจากยังมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยแต่ยังไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ กระทรวงการคลังจึงเสนอแนวทางการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เพิ่มเติม ดังนี้
วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่าน g-Wallet ช่อง 2 โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย
กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน โดยจะกันสิทธิ์บางส่วนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
ระยะเวลามาตรการ: ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
วิธีดำเนินมาตรการ:
(1) ขยายการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ สำหรับประชาชน โดยรัฐบาลจะเสนอเฉพาะเงินชดเชดสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2
(2) การใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ให้สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน โดยให้รวมถึงค่าบริการแพ็คเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
(3) กรณีพบความผิดปกติจากการรับชำระเงินด้วยแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” ให้กรมบัญชีกลางในฐานะผู้รับสมัครร้านค้าเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ และผู้อนุมัติและดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกันเป็นผู้ดำเนินการการจ่ายเงินและตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำผิด ให้กรมบัญชีกลาง ระงับสิทธิร้านค้าในการรับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
(4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ให้ความอนุเคราะห์การตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ
งบประมาณ : ใช้งบประมาณเดิมสำหรับมาตรการส่งเสริมฯ ในส่วนของ ททท.ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ในกรอบวงเงินสำหรับเงินชดเชยจำนวน 9,050 ล้านบาท
9. เรื่อง โครงการประกันรายได้และมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2562/63
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
- อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 วงเงินรวมทั้งสิ้น
9,671,582,800 บาท
- อนุมัติและรับทราบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง
- มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามลำดับ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 และมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง (2) โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง และมอบหมาย ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียดโครงการฯ และงบประมาณให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ นบมส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามระเบียบต่อไป
สาระสำคัญ
จากการหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน เกษตรกร และภาครัฐ และมติคณะกรรมการ นบมส. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63
1.1 ชนิดมันสำปะหลังและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ
1.2 ราคาและปริมาณประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ณ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน
1.3 เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ได้แก่ เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกและแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1.4 เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ เกษตรกร 1 ครัวเรือน ใช้สิทธิ์ได้ 1 ครั้ง
1.5 การชดเชยส่วนต่าง ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง
1.6 ระยะเวลาดำเนินการ
(1) ช่วงเวลาขึ้นทะเบียน 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นมา
(2) ระยะเวลาใช้สิทธิ ใช้สิทธิได้ในช่วงการเก็บเกี่ยวที่ระบุไว้ในทะเบียนเกษตรกร โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวลา 12 เดือน สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ให้มีสิทธิรับเงินชดเชยในวันที่ 1 ธันวาคม 2562
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2562 - 31 ธันวาคม 2563
1.7 งบประมาณ วงเงิน
9,671,582,800 บาท จำแนกเป็นค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาอ้างอิงโดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. วงเงิน 9,442,342,800 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 229,240,000 บาท โดยเป็นการชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.40 ต่อปี เป็นเงิน 226,620,000 บาท และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท เป็นเงิน 2,620,000 บาท
2. มาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง
2.1 การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายมันสำปะหลัง กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพ การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน การกำหนดให้โรงงานมันเส้นและแป้งมันมีเครื่องร่อนสิ่งเจือปนก่อนรับซื้อ รวมถึงการแสดงราคารับซื้อ การใช้เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดอัตราส่วนเชื้อแป้ง ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังที่ต้องมีระบบการคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากหัวมันสำปะหลัง
2.2 การบริหารจัดการการนำเข้าส่งออก ให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยมีการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2.3 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ให้ ธ.ก.ส จัดสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลัง และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง โดย ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/63 เป้าหมาย 5,000 รายๆ ละ ไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 1,150 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR ที่อัตราร้อยละ 6.875 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน
วงเงินชดเชย 69,000,000 บาท โดย ธ.ก.ส ประสานขอเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการคลัง
2.4 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ให้ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ หรือ/เพื่อแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ หรือใช้ในกิจการของสถาบันเกษตรกร เพื่อช่วยดูดซับ (รองรับ) ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังในช่วงที่ผลผลิตออกมาก โดย ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อ วงเงิน 1,500 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR-1 หรือร้อยละ 4 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน
วงเงินชดเชย 45,000,000 บาท โดย ธ.ก.ส.ประสานขอเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการคลัง
2.5 ส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและอุตสาหกรรมอาหาร
2.6 เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาลซึ่งปัจจุบันมีตลาดรองรับจำกัด โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลจากมันสําปะหลังสามารถดูดซับหัวมันสดได้เพียง 2.5 ล้านตันเท่านั้น
ปัจจุบันความต้องการใช้แอลกอฮอล์มีจากหลายแหล่ง ทั้งเพื่อการบริโภค การส่งออกการแพทย์ อุตสาหกรรมเคมี ซึ่งสามารถที่จะขยายตลาดรองรับมันสำปะหลังได้อีกมาก แต่ติดข้อจำกัดของพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ที่จำกัดให้เอทานอลที่ผลิตได้จากพืชให้ใช้ได้เฉพาะเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น เป็นการสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อเปิดกว้างให้กับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากสินค้าเกษตรซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับและราคาปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อ้อยและข้าวโพด และเมื่อพิจารณาถึงความต้องการแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคซึ่งมีประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปี แต่องค์การสุรามีกำลังในการจัดหาแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการ ส่วนที่เหลือต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรกรเสียโอกาสในการจำหน่ายและเป็นภาระของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
แนวทางแก้ไข เห็นควรเพิ่มช่องทางจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากมันสำปะหลังและสินค้าเกษตรอื่น โดยการแก้ไขข้อจำกัดที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 เพื่อเปิดช่องให้โรงงานเอทานอลที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบสามารถผลิตและจำหน่ายเอทานอลให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้นอกเหนือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยอาจเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราหรือการจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้แอลกอฮอล์เป็นวัตถุดิบ เช่น การผลิตยา การใช้ในอุตสาหกรรมเคมี และการส่งออกให้กับผู้ซื้อโดยตรง
3. โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อนุมัติให้ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่าง มันสำปะหลัง วงเงินทั้งสิ้น 248,448,330 บาท โดยให้ชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
3.1 ความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินงาน โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเริ่มค้นพบ
ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ณ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้ว 17 จังหวัด พื้นที่ 69,976.25 ไร่ มีการทำลายไปแล้วรวม 13,968.81 ไร่ คงเหลือรอการพิสูจน์และการทำลายจำนวน 56,007.44 ไร่
3.2 การแก้ไข การจำกัดพื้นที่การระบาดและการป้องกันโรคฯ ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเนื่องจาก
(1) การจำกัดการชดเชยความเสียหายให้เฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทำให้การทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรคไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยังคงเป็นแหล่งระบาดของโรคฯ อยู่ต่อไป
(2) การใช้กลไกในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคฯ ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มีขั้นตอนและใช้เวลาในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การบ่งชี้ว่ามีการเกิด โรคฯ การเก็บตัวอย่าง การวินิจฉัยพิสูจน์ และการทำลาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทันกับการแพร่เชื้อของแมลงหวี่ขาว อีกทั้งการกระจายต้นพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรคฯ ไปยังพื้นที่อื่นยังขาดการควบคุมที่เข้มงวดและรัดกุม เป็นเหตุหนึ่งทำให้การกระจายของโรคฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค
จากข้อ 3.2 (1) และ (2) ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของมันสำปะหลังลดลง กระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
3.3 ข้อเสนอ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างกระชับ รวดเร็ว และบรรลุผลตามเป้าหมาย ควรนำมาตรการพิเศษที่รองรับภาวะฉุกเฉินมาใช้ โดย
(1) ให้ทำลายมันสำปะหลังที่พบว่ามีสภาพที่สงสัยหรือส่อว่าจะมีการติดเชื้อและจะเป็นต้นตอของการระบาดทุกแปลง ไม่จำกัดว่ามีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ และไม่จำกัดช่วงเวลาการปลูก
(2) เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ (1) ให้คณะกรรมการ นบมส. ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาในส่วนกลาง เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข พื้นที่เป้าหมายวิธีการทำลาย การใช้เงิน วิธีการจ่ายเงินชดเชย ตลอดจนการตรวจสอบว่ามีการทำลายจริง โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะอนุกรรมการ แล้วนำเสนอประธานคณะกรรมการนบมส. ภายใน 1 สัปดาห์ และในส่วนภูมิภาคให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด เพื่อปฏิบัติตามที่คณะอนุกรรมการฯ ส่วนกลางมอบหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
(3) งบประมาณและอัตราการจ่ายชดเชย ในเบื้องต้นให้ปรับใช้ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ทั้งนี้ การบริหารจัดการให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ถูกราชการสั่งให้ทำลายโดยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำลายก่อนหน้านี้ วิธีการทำลายให้เปิดกว้าง โดยเกษตรกรเจ้าของไร่หรือบุคคลอื่นที่มีความพร้อมสามารถรับจ้างเป็นผู้ทำลายได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
10. เรื่อง รายงานการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี : แนวทางการสร้างความเข้มแข็งของบวร เพื่อความ
มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของบวร เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) ได้กำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวทาง “สืบสาน รักษา ต่อยอด และปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยหลักธรรมาภิบาล” ประกอบด้วย (1) การสืบสานงานวัฒนธรรมของชาติ (2) ด้านการรักษาหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม (3) การต่อยอดวัฒนธรรม ด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม (4) ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยหลักธรรมาภิบาลและการสร้างคุณค่าทางสังคม โดยเน้นบูรณาการนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้ทรัพยากรทุกแขนงในพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างคุณค่าในพื้นที่ และสร้างรายได้ในเชิงมิติทางวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืน อีกทั้งการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของ “บวร” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการประชุมหน่วยงานบูรณาการเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ ยังได้มีการดำเนินการทดลองปฏิบัติการตามแนวทางดังกล่าวในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดนำร่องที่ได้คัดเลือกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางที่มีความหลากหลายของชุมชนในเขตเมือง เขตชนบท และปริมณฑล ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี นครนายก นครปฐม และกาญจนบุรี
สาระสำคัญของแนวทางฯ ประกอบด้วย
1. เป้าหมาย
1.1 ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานโดยใช้หลักการ “บวร”เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งปลูกฝัง บ่มเพาะและเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาจิตใจและจิตสำนึกด้านจริยธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ ให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมรู้รักสามัคคี เสียสละ และกตัญญูรู้คุณเพิ่มมากขึ้น
1.2 ชุมชนใช้กลไก “บวร” เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาและเป็นแหล่งรับและกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ไปสู่ประชาชน ส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจและเข้าถึงโครงการต่างๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพิ่มมากขึ้น
1.3 คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. หลักการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ใช้หลักการขับเคลื่อน : พีระมิดขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม
2.1 ใช้ “บวร” (บ้าน-ชุมชน/วัด-ศาสนสถาน/โรงเรียน-ราชการ) เป็นพลังขับเคลื่อน “ชุมชนคุณธรรม”
2.2 ยึดข้อปฏิบัติหลัก 3 ประการ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย มาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.3 ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติใน 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นพลังนำพาชาติก้าวสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
2.4 สร้างสังคมคุณธรรม ด้วยการพัฒนาคน/ครอบครัว/ชุมชน/องค์กรให้มีคุณธรรม
3. กระบวนการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
3.1 ดำเนินการตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินชุมชนคุณธรรม 9 ขั้นตอน
ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2564) ได้แก่ ประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงของชุมชน/กำหนดเป้าหมายของชุมชน ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ/จัดทำแผนชุมชน/ดำเนินการตามแผนชุมชน/ติดตามประเมินผล ทบทวนปรับปรุงแผน/ยกย่องบุคคลทำความดีมีคุณธรรม/ประเมินผลสำเร็จ/เพิ่มเติมกิจกรรมใน 3 มิติ/ชุมชนมีองค์ความรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นและขยายเครือข่ายเพื่อให้เกิดสังคมคุณธรรม
3.2 สร้างความเข้มแข็งของ “บวร” เป็นกลไกการทำงานที่สำคัญของชุมชนคุณธรรม โดยใช้กลไก “บวร” ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ให้เป็นแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารและนโยบายต่างๆ ขอรัฐบาลไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดถึงเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการทำงาน โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน
4. ระดับของการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งของ “บวร” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย
4.1
ระดับกระทรวง ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องแจ้งหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายร่วมศึกษาทำความเข้าใจแนวทางฯ และให้หน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบงานในส่วนภูมิภาค ให้ใช้หลักการ “บวร” ในการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดทั้ง ให้บุคลากรในสังกัดและเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ให้ความร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งของพลังบวร
4.2
ระดับจังหวัด ขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยขอความร่วมมือให้ทุกส่วนราชการระดับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับ “บวร” ในการเป็นศูนย์กลางการบูรณาการกิจกรรม โครงการต่างๆ และสนับสนุนเครือข่ายในสังกัดให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังบวรในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ และให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์พื้นที่ชุมชนคุณธรรมเป้าหมาย ให้ทุกภาคส่วนนำกิจกรรม โครงการต่าง ๆ สู่การปฏิบัติ
4.3
ระดับอำเภอ คณะทำงานส่งเสริมคุณธรรมระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวร กำกับ ติดตามการดำเนินงาน ตลอดทั้งส่งเสริมให้ส่วนราชการและเครือข่ายในพื้นที่ ให้ความร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งของพลังบวร
4.4
ระดับชุมชน คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวรเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการดำเนินงานและกระจายข่าวสารให้ประชาชนในชุมชน และเครือข่ายตามบทบาทของผู้นำ
5. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
5.1 ประชาชนในชุมชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
5.2 หน่วยงานทุกภาคส่วนมีการบูรณาการ การดำเนินงานโดยใช้หลักของพลัง “บวร” เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดชุมชนคุณธรรมและสังคมคุณธรรมที่มีความรักสามัคคี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
5.3 ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์จากการดำเนินโครงการ กิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐอย่างทั่วถึง และตอบสนองตรงตามความต้องการของประชาชน
5.4 คนในชุมชนยึดมั่นปฏิบัติตามหลักทางศาสนาที่ตนนับถือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม เคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
6. ตัวชี้วัด
6.1 ประชาชนในชุมชนร้อยละ 70 ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
6.2 หน่วยงานที่ดำเนินงานในชุมชนนำหลักการ “บวร” ในการดำเนินงาน โครงการ
ในชุมชนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80
6.3 ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ระดับคุณธรรมต้นแบบ เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 (ฐานข้อมูลวันที่ 30 กันยายน 2562)
7. การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงวัฒนธรรมจะได้มีการหารือร่วมกับจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนการพัฒนาแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของ “บวร” ให้เป็นต้นแบบของการสร้างสังคมคุณธรรมที่สงบสุข อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
11. เรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมและพลัง “บวร” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคม : กรณีกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมและพลัง “บวร” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคม : กรณีกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับภาคประชารัฐกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนลาง 1 ได้จัดทำแนวทางการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและพลัง “บวร” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคม ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนลาง 1 เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ บนฐานทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยกำหนดประเด็นการพัฒนาไว้ 4 ด้าน ดังนี้
ประเด็นที่ 1 พัฒนาศักยภาพแหล่งประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี อาทิ โบราณสถานกำแพงเมืองสุพรรณบุรี เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โบราณสถานวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี โบราณสถานวัดขนอน จังหวัดราชบุรี เป็นต้น ตลอดจนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบนมิติวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมการยกระดับกิจกรรม ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยว อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีทิ้งกระจาด เทศกาลตรุษจีน รวมถึงจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลต่างๆ และนำทุนทางวัฒนธรรมมาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงจัดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนวัฒนธรรม
ประเด็นที่ 3 ส่งเสริมสนับสนุนศิลปินและวิถีชีวิตชุมชน โดยจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ส่งเสริมอาหารพื้นบ้าน ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น ส่งเสริมการแสดงและศิลปินพื้นถิ่น ผ่านกิจกรรมการประกวด และเวทีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนมหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ 10 ชาติพันธุ์ ชุมชนท่องเที่ยว
ประเด็นที่ 4 นำหลักพลัง “บวร” ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพื่อสร้างคนดี สังคมดี ให้คุณธรรมนำการพัฒนา ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในการนำหลักการพลัง “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” ไปขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยจัดทำแนวทางการส่งเสริมบทบาท “บวร” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ผ่านคณะกรรมการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 3 องค์ประกอบ คือ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ พลัง“บวร” ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนคุณธรรมฯ ให้มีบทบาทและศักยภาพในการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ ของ ทุกกระทรวง หน่วยงาน ที่ลงในพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งเป็นศูนย์กลาง แกนนำในการประสานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ขอรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
หากทุกภาคส่วนได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างคุณค่าทางสังคม ในกลุ่มจังหวัดกลุมจังหวัดภาคกลางตอนลาง 1 โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม (กห.) จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ (บันทึกความเข้าใจฯ) และให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ
(จะมีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศ คู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting - Plus : MDMM - Plus) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบการทำงานในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศบนพื้นฐานของหลักความเท่าเทียมกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและการเคารพอย่างเต็มที่ต่ออำนาจอธิปไตยและและบูรณภาพเหนือดินแดนอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันด้านความมั่นคง ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลกในภาพรวม
13. เรื่อง ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย - สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย - สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ (ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ) และให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ให้กระทรวงกลาโหม (กห.) พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ
(จะมีการจัดพิธีลงนามในร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting - Plus : ADMM - Plus) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการฝึกและศึกษา การเสริมสร้าง ขีดความสามารถ การปฏิบัติการร่วมกัน และการพัฒนาหน่วยงานด้านความมั่นคงและการทหารให้มีความทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกลไกความมั่นคงในภูมิภาค ที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักและพยายามรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและบทบาทสำคัญของกลไกสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของภูมิภาคที่นำโดยอาเซียน ซึ่งรวมถึงกลไกการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาที่สนับสนุนความไว้วางใจและการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
14. เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการ Promotion of Sustainable Agricultural Value Chains in ASEAN
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Promotion of Sustainable Agricultural Value Chains in ASEAN รวม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Exchange of Notes) และ (2) ร่างความตกลงเพื่อดำเนินโครงการ (Implementation Agreement) รวมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN) ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ และรองเลขาธิการอาเซียน (Deputy Secretary-General of ASEAN) ลงนามในร่างความตกลงเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และให้เลขาธิการอาเซียนและรองเลขาธิการอาเซียนลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้นตามลำดับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ (Exchange of Notes) และร่างความตกลงเพื่อดำเนินโครงการ (Implementation Agreement) ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและ ไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อ 3.10) ด้วย
สาระสำคัญของร่างเอกสาร ทั้ง 2 ฉบับ
1. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Exchange of Notes) มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ งบประมาณ และประเด็นด้านการบริหารโครงการฯ โดยหนังสือของฝ่ายเยอรมนีจะระบุถึงข้อเสนอ และหนังสือของฝ่ายอาเซียนจะตอบรับข้อเสนอของฝ่ายเยอรมนี
2. ร่างความตกลงเพื่อดำเนินโครงการ (Implementation Agreement) ระหว่างอาเซียนกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีเนื้อหาเป็นการกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนบุคลากรและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีให้ดำเนินโครงการฯ การสนับสนุนบุคลากรและสถานที่ปฏิบัติงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลโครงการ การแก้ไขเพิ่มเติมความตกลง เป็นต้น
โครงการการสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรอย่างยั่งยืนในอาเซียน (Promotion of Sustainable Agricultural Value Chains in ASEAN) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการมาตรฐานด้านคุณภาพและความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร (Agricultural Value Chains) ในภูมิภาคอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น โดย GIZ จะสนับสนุนการจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ในภูมิภาคและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การบริหารจัดการ และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพอื่น ๆ (อาทิ การอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ) ภายใต้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 3 ล้านยูโร (ประมาณ 100 ล้านบาท) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานด้านพืชของอาเซียน (ASEAN Sectoral Working Group on Crops : ASWGC) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตรและป่าไม้ (Senior Officials’ Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : SOM - AMAF) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 แล้ว
15. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เรื่อง ผลการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ของนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เรื่อง ผลการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ของนายกรัฐมนตรี ข้อ 2
จากเดิม “ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับไปหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทย (Thai KOSEN) ให้เหมาะสมและชัดเจนเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้สถาบันโคเซ็นดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อว.”
เป็น “ให้ อว. รับไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยให้เหมาะสม และร่วมสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นดังกล่าวต่อไป” ตามที่ ศธ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบันทึกความร่วมมือดังกล่าวได้กำหนดความร่วมมือที่สำคัญเกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบันการศึกษารูปแบบโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย (Thai KOSEN) และการสนับสนุนนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น [คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำบันทึกความร่วมมือดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561] ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ให้ อว. รับไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดตั้ง Thai KOSEN ให้เหมาะสมและชัดเจนเพื่อดำเนินการต่อไป และให้ Thai KOSEN อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อว. แต่เนื่องจากปัจจุบันองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและประเมินรายละเอียดสินเชื่อ (Loan Appraisal) สำหรับการก่อตั้ง Thai KOSEN และการสนับสนุนนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาวงเงินกู้เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาเงินกู้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และจะสามารถเริ่มจ่ายเงินกู้ได้ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ โดยให้ Thai KOSEN อยู่ภายใต้การกำกับของ อว. JICA จะต้องเริ่มขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลประเมินรายละเอียดสินเชื่อ (Loan Appraisal) สำหรับการดำเนินการดังกล่าวใหม่ (ใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกประมาณ 1 ปี) และส่งผลให้การดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินไม่เป็นไปตามกำหนดการที่วางแผนไว้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาวงเงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ และมิก่อให้เกิดการติดขัดของการดำเนินการอันจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาดังกล่าว ศธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เป็น “ให้ อว. รับไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยให้เหมาะสม และร่วมสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นดังกล่าวต่อไป”
16. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญากรุงเทพ: การตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อปัญหายาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขงและร่างแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญากรุงเทพ: การตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อปัญหายาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขงและร่างแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11 รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญากรุงเทพ: การตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อปัญหายาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขงและร่างแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11 โดยไม่มีการ ลงนาม ในห้วงการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร และอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรม แก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญากรุงเทพฯ และร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 11 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยหากมีความจำเป็น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ
สาระสำคัญของร่างฯ ทั้ง 2 ฉบับ
1. ร่างปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกที่จะระดมความพยายามในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาค ด้วยแนวทางที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ สอดคล้องกับเจตนาของกรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ บนหลักการความเป็นหุ้นส่วนและแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน การดำเนินงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกับอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศทั้งสามฉบับ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติ และตามแผนงานหลัก 4 ด้าน ของแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 11 ได้แก่ 1) ยาเสพติดและสุขภาพ 2) ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด 3) ความร่วมมือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ 4) การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน
2. ร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 11 เป็นกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งกำหนดกรอบกิจกรรมและโครงการที่จะดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยแผนงานหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ยาเสพติดและสุขภาพ 2) ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด 3) ความร่วมมือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ 4) การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เติบโตอย่างรวดเร็วให้สามารถลดความต้องการและปริมาณของยาเสพติดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายยาเสพติดโลกที่เน้นความสมดุลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่คำนึงถึงสุขภาพ สวัสดิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน
17. เรื่อง การลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทยระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทยระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทยระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขร่างพิธีสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
3. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2
สาระสำคัญของร่างพิธีสารฯ เป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยฯ ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) รำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มของไทยที่ส่งออกไปจีน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากกากสกัดน้ำมันด้วยกระบวนการบีบจากรำข้าวและปาล์มน้ำมัน โดยต้องปราศจากศัตรูพืชกักกัน และมาจากโรงงานที่ผ่านการตรวจประเมินโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำส่งรายชื่อโรงงานให้สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( GACC) พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนบนเว็บไซต์ ของ GACC
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องตรวจสอบและรับรองว่าโรงงานได้มีการควบคุมสุขอนามัย ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า ผลผลิตขั้นสุดท้าย โกดัง และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งเพื่อให้รำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มสะอาดและปราศจากสิ่งแปลกปลอม โดยต้องแนบใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองการรมยาไปกับกากเนื้อในเมล็ดปาล์มและรำสกัดน้ำมันที่ส่งไปจีนทุกครั้ง
3) เมื่อผลิตภัณฑ์รำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปถึงด่านนำเข้าของสาธารณประชาชนจีน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและกักกัน ณ ด่านนำเข้า หากตรวจพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขพิธีสารฉบับนี้ จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย การแก้ไข ส่งกลับ ทำลายสินค้า หรือระงับการนำเข้าเป็นรายสถานประกอบการ
18. เรื่อง การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านภาษีอากรเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ
คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบหนังสือลงนามระดับรัฐมนตรี 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ (1) หนังสือถึง Secretary-General ของ OECD เพื่อขอให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเชิญประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี MAC และ (2) หนังสือถึงประธาน Global Forum ในการให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตาม AEOI Standard ภายในปี 2566 โดยเนื้อหาสาระสำหรับหนังสือทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปตามที่ OECD และ Global Forum กำหนดตามลำดับ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) และ OECD ตอบรับประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในลำดับที่ 139 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 โดยภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Forum กระทรวงการคลังจะต้องยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR) และดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information : AEOI) ภายใต้สัญญาระหว่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ OECD โดยในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพกรแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีภายใต้อนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Convention/Agreements) ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีภายใต้สัญญาระหว่างประเทศโดยการเข้าเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC)
สาระสำคัญการส่งหนังสือทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้
1. การส่งหนังสือถึง Secretary-General ของ OECD ขอให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งหนังสือเชิญประเทศที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมเป็นภาคี MAC นั้น OECD ได้กำหนดเนื้อหาสาระของหนังสือซึ่งเป็นไปตามรูปแบบกลางที่ OECD กำหนด สรุปใจความได้ว่า ต้องแจ้งความประสงค์ที่ประเทศไทยสนใจเข้าร่วมเป็นภาคี MAC โดยจะดำเนินการตามมาตรการรักษาความลับในการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอย่างเคร่งครัด และประเทศไทยต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศก่อนจึงจะสามารถให้สัตยาบันใน MAC ได้
2. หนังสือถึงประธาน Global Forum ในการให้คำมั่นว่าไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตาม AEOI Standard เป็นไปตามรูปแบบกลางที่ Global Forum กำหนด ซึ่งระบุว่าประเทศไทยจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวได้ภายในเดือนกันยายน 2566 กับรัฐคู่สัญญาที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดและมีการรักษาความลับของข้อมูลอย่างเคร่งครัด
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง
นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1.
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นายเอกภัทร วังสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่ง
ที่ว่าง
21. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำนวน 3 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้
1. รองศาสตราจารย์วีริศ อัมระปาล
2. นายธนพล คงเจี้ยง
3. นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง
นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้
1.
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานศึกษาธิการภาค 14 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2.
นายสุทิน แก้วพนา ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
3.
นายวีระ แข็งกสิการ รองศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
4.
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
5.
นายสุรินทร์ แก้วมณี รองศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศึกษาธิการภาค 5 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
6.
นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดังนี้
1. นางฤชุกร สิริโยธิน กรรมการ
2. พลโท กานต์ กลัมพสุต กรรมการ
3. นายจรูญเดช เจนจรัสสกุล กรรมการ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
................